28 ก.ย. 2022 เวลา 06:00 • สุขภาพ
โควิด-19 เริ่มดีขึ้น ผู้คนเริ่มออกจากบ้าน เรียนหนังสือ ทำงาน และกลับมาใช้ชีวิตตามปกติ แต่เวลาเดียวกันนี้พายุหลายลูกก็ต่างเรียงคิวกันพัดผ่านประเทศไทยจนฝนตกหนัก แถมในบางพื้นที่ยังต้องพะวงอีกว่าจะเกิดน้ำท่วมเฉียบพลันหรือไม่
เกิดอะไรขึ้นกับ ‘อารมณ์ของเรา’ ในวันที่ฝนตกหนัก?
แม้เสียงฝนจะฟังดูโรแมนติก แต่หากคุณเป็นคนหนึ่งที่รู้สึกไม่ค่อยดีนักในวันฝนตกหนัก ฟ้าครึ้ม ก็ขอให้รู้ไว้ว่านี่คือสภาวะที่เกิดขึ้นได้ เพราะไม่ใช่เรื่องแปลกที่สภาวะอากาศจะส่งผลต่อความรู้สึกของมนุษย์
ข้อมูลจากบทความโดย เทคเซีย อีแวนส์ นักจิตวิทยาคลินิกในซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา อธิบายไว้ว่า การที่สภาวะอากาศส่งผลต่อความรู้สึกของมนุษย์ โดยหลักแล้วเป็นเพราะร่างกายมนุษย์จะมีฮอร์โมนชนิดหนึ่งที่เรียกว่า “เซโรโทนิน (Serotonin)” ซึ่งเป็นสารเคมีที่มีบทบาทสำคัญเกี่ยวกับการทำงานของสมองและระบบประสาท ส่งผลต่อกระบวนการคิด พฤติกรรม และอารมณ์ โดยเซโรโทนินจะหลั่งออกมามากขึ้นเมื่อมนุษย์ได้รับคาร์โบไฮเดรตหรือแสงแดด และจะลดลงเมื่อมีท้องฟ้ามืดครึ้มหรืออยู่ในช่วงฤดูหนาวที่กลางวันมีระยะเวลายาวนานกว่ากลางคืน
นั่นหมายความว่า อุณหภูมิที่เย็นจัดจะลดการตอบสนองทางประสาทสัมผัส ความคล่องแคล่ว ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อซึ่งอาจส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานของร่างกาย ในวันที่ฝนตก ฟ้ามืด เราจึงอาจรู้สึกเฉื่อยชา ตรงกันข้ามกับวันที่มีอุณหภูมิสูงขึ้นและมีแสงแดด ซึ่งจะทำให้ร่างกายกระปรี้กระเปร่า
ผลการศึกษาจากสถาบันสังคมวิทยาของเยอรมนี ในปี 2556 ยังพบว่า ผู้ที่ทำแบบสำรวจในวันที่มีแสงแดดจัดเป็นพิเศษ จะรู้สึกพึงพอใจในชีวิต “มากกว่า” ผู้ที่ตอบแบบสอบถามในวันที่มีสภาพอากาศที่ไม่ค่อยมีแสงแดด แม้ว่าความรู้สึกเหล่านี้ดูเหมือนจะเกิดขึ้นชั่วครู่และแปรผันไปอย่างรวดเร็วในแต่ละวัน แต่ก็บ่งบอกว่า สภาพอากาศที่ดีส่งผลต่ออารมณ์โดยรวมของมนุษย์อย่างชัดเจน
โดยที่ข้อมูลชุดนี้สอดคล้องกับการสำรวจในวารสารบุคลิกภาพและจิตวิทยาสังคมอเมริกา ปี 2522 ซึ่งระบุว่า ชาวรัฐมินนิโซตา ให้ทิปในร้านอาหารมากขึ้นในวันที่มีแสงแดดจ้ามากกว่าวันที่มีอากาศไม่ค่อยแจ่มใสมากนัก
1
เมื่อเป็นเช่นนี้…แล้ววันที่ “ฝนตกหนัก” ส่งผลอย่างไรกับอารมณ์ของเรา ซึ่งเรื่องนี้อธิบายในหลักการใกล้เคียงกันนี้ได้ว่า อากาศชื้นๆ จะทำให้ร่างกายภายนอกของมนุษย์เหนียวเหนอะหนะไม่สบายตัว ส่งผลให้การควบคุมอารมณ์เป็นไปได้ยากมากขึ้นและใช้พลังงานเพิ่มขึ้นจากปกติ และในวันที่ฝนตกหนัก อากาศครึ้มแบบนี้ฮอร์โมนเซโรโทนิน ก็จะไม่หลั่งได้ตามปกติ
บทความทางการแพทย์อีกชิ้นจาก ดร.ชาร์ลส แพททริก เดวิส ศาสตราจารย์คลินิกเวชศาสตร์ฉุกเฉินชาวอเมริกัน ยังอธิบายเรื่องเดียวกันนี้ว่า ฝนตกอาจทำให้คนรู้สึกแย่และมีความสุขน้อยลง โดยพบว่า 1 ใน 10 ของชาวอเมริกันมีความรู้สึกกลัวสภาพอากาศอย่างฟ้าร้องและฟ้าผ่า ตลอดจนมีความรู้สึกกลัวปรากฏการณ์ทางอุตุนิยมวิทยา เช่น น้ำท่วมและพายุทอร์นาโด
สำหรับในประเทศไทย ข้อมูลจากโรงพยาบาลจิตเวชนครสวรรค์ราชนครินทร์ ระบุตอนหนึ่งว่า การเกิดฝนตกหนักเป็นเวลานาน ๆ ในแต่ละครั้ง มักเป็นปัญหาทำให้เกิดน้ำท่วมขัง ซึ่งนอกจากจะทำให้เกิดเสียหายแก่บ้านเรือน และทรัพย์สินต่าง ๆ แล้ว ยังอาจส่งผลกระทบทางด้านจิตใจของผู้ได้รับความเสียหายอย่างมาก เช่น เครียด วิตกกังวล ภาวะซึมเศร้า เป็นต้น
อารมณ์ความเครียดที่เกิดจากฝนตกนั้น ยังยกตัวอย่างอธิบายได้เป็นรูปธรรมว่าเกิดจาก ความเครียดจากการไม่สามารถเดินทางไปเรียน หรือไปทำงานได้ตามปกติ, ไม่สามารถทำกิจกรรมต่าง ๆ ในครอบครัวหรือไปมาหาสู่เพื่อน ๆ ได้ตามปกติ
ความเครียดทางด้านเศรษฐกิจ เช่น ปัญหาเกี่ยวกับการได้รับการช่วยเหลือหรือเงินชดเชย การคิดถึงการต้องซ่อมแซมที่อยู่อาศัย ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดมาจากความเครียดจากการรู้สึกควบคุมสถานการณ์ไม่ได้ และเกิดความกลัวว่ามีเหตุการณ์ที่รุนแรงเกิดขึ้นตามมาอีก ทั้งนี้ยังความเครียดยังมาจากการติดตาม การรายงานข่าวเรื่องน้ำท่วมของสื่อต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าฝนตกหนักจะสร้างอารมณ์ทางลบ แต่ในขณะเดียวกันก็ยังสร้างแรงบวกในบางกิจกรรม เช่น เสียงฝนตกช่วยให้หลับลึกและเพิ่มความจำได้ดี แต่ถึงเช่นนั้น แรงขับในการตัดสินใจทำสิ่งต่าง ๆ ของมนุษย์มีความซับซ้อน และสภาพอากาศไม่ใช่เหตุผลเดียวที่จะทำให้เกิดการแสดงออกทางอารมณ์
ถึงเช่นนั้นก็อย่าแปลกใจ หากบางครั้ง ฝนตกหนักจะทำให้เรารู้สึกหวั่นไหวไปกับสภาพอากาศแบบนี้ไปบ้าง
อ้างอิง : “ไขข้อสงสัย "สภาพอากาศ" มีผลต่ออารมณ์อย่างไร” เว็ปไซต์ กรุงเทพธุรกิจ, “การดูแลสุขภาพใจเมื่อเจอภัยน้ำท่วม” โรงพยาบาลจิตเวชนครสวรรค์ราชนครินทร์
โฆษณา