28 ก.ย. 2022 เวลา 08:55 • ความคิดเห็น
สองทางเดินธนาคารไทย
ช่วงสองสามเดือนที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสพบปะผู้บริหารธนาคารหลายธนาคาร และได้ฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับทิศทางในอนาคตของธนาคารที่แยกเป็นสองค่ายอย่างชัดเจน
ในกลุ่มแรก เชื่อมั่นในเทคโนโลยีเป็นอย่างมาก จนถึงกับชูเทคโนโลยีนำหน้าธนาคาร ตั้งหน่วยงานเทคโนโลยีออกมาเป็นอิสระ ลงทุนในฟินเทค และสตาร์ทอัพมากมาย
อีกกลุ่มหนึ่ง กลับคิดแตกต่างออกไป คิดว่าเทคโนโลยีสำคัญจริง แต่เป็นไปเพื่อทำให้ธนาคารมีการทำงานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้ลูกค้าพึงพอใจมากขึ้น ธนาคารพาณิชย์เป็นธุรกิจที่ต้องมีใบอนุญาต มีการผูกขาดในระดับหนึ่ง
แต่ธนาคารเกือบทั้งระบบกลับมีมูลค่าตลาด (market capitalization) ต่ำกว่ามูลค่าทางบัญชี (book value) เสียอีก ธนาคารยังทำให้ธุรกิจหลักของตัวเองดีไม่ได้ ควรแล้วหรือที่จะไปโฟกัสในจุดอื่น ควรจะใช้เวลา และทรัพยากรส่วนใหญ่ในการทำให้ตัวเองมีประสิทธิภาพมากขึ้น
กลุ่มแรก ลงทุนด้านเทคโนโลยีจำนวนมาก โดยเฉพาะธุรกิจใหม่ ๆ รวมถึงคริปโต และบล็อกเชน มีการออกข่าวอยู่เสมอ จนมีภาพลักษณ์ที่ทันสมัย และตลาดทุนก็ให้ค่ากับการลงทุนเหล่านี้ กลุ่มสอง ถึงแม้ลงทุนเช่นกัน แต่คนกลับไม่มีภาพจำว่ามีการพัฒนาเลย เพราะไม่ได้ไปลงทุนในเทคโนโลยีที่กำลัง hype อยู่ในขณะนั้น
1
เรื่องนี้พี่ท่านหนึ่งเคยให้ความเห็นว่า สถาบันการเงินเป็นเหมือนน้ำมันหล่อลื่นที่ทำให้เศรษฐกิจขับเคลื่อนไปได้คล่องตัว แต่ในทุกวันนี้ธุรกิจการเงินไทยมีต้นทุนคิดเป็นร้อยละของ GDP สูงที่สุดประเทศหนึ่งของโลก ถ้าให้เปรียบเทียบคงไม่ต่างกับ สถาบันการเงินไทยเป็นเหมือนน้ำมันหล่อลื่นที่ใส่ทรายเข้าไป ย่อมจะทำให้เศรษฐกิจติดๆ ขัดๆ แถมบางครั้งก็อาจจะพังลงเสียด้วยซ้ำ
จนทำให้ผมเริ่มสงสัยว่า เรากำลังให้ค่าอะไรผิดไปหรือไม่กับการลงทุนด้านเทคโนโลยีจนไม่ได้สนใจผลตอบแทน ไปให้ค่ากับธุรกิจใหม่ ๆ ที่จะสร้าง disruption จนละเลย incremental innovation ที่ถึงแม้ไม่ดูโก้หรู แต่อาจจะช่วยทำให้เศรษฐกิจขับเคลื่อนไปได้ดีขึ้นหรือไม่ ธนาคารไทยกลัวถูก disrupt จนต้องพยายามหาธุรกิจใหม่ ๆ เกินไปหรือไม่
แต่หากมองอีกมุมหนึ่ง การทำแบบนี้มันอาจจะเป็นเหมือนการเสียเงินซื้อประกัน ลงทุนเพียงเล็กน้อย แต่หากธุรกิจหลักที่ทำอยู่เกิดไปไม่ได้ในที่สุด จะได้มีเรือลำหนึ่งไว้ไปต่อ
ไว้เราคงต้องติดตามกันต่อไปว่า ใครกันแน่ที่ตัดสินใจถูก…
Cr : fergregory
โฆษณา