29 ก.ย. 2022 เวลา 04:43 • ข่าวรอบโลก
หมากในกระดานของรัสเซีย🇷🇺
สงครามในยูเครน มีความกดดันเพิ่มขึ้นอย่างทันที เมื่อรัสเซียทำประชามติแบ่งแยกดินแดนใน 4 แคว้นของยูเครน ได้แก่ ลูฮันสก์ (Luhansk) โดเนสก์ (Donetsk) ซาปอริซเซีย (Zaporizhia) และเคอร์ซอน (Kherson) และผลประชามติเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2565 ระบุ 4 แคว้นยูเครนต้องการแยกตัวกลับไปอยู่กับรัสเซีย ด้วยคะแนนเสียงอย่างล้นหลาม ซึ่งจะทำให้สงครามในยูเครนมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น
หากรัสเซียจะใช้ผลการทำประชามตินี้เป็นเครื่องยืนยันว่าดินแดนเหล่านี้คืออาณาเขตของรัสเซีย ดังนั้น เมื่อมีการโจมตีในพื้นที่เหล่านี้เกิดขึ้นจะเท่ากับว่ายูเครนใช้อาวุธของบรรดาชาติตะวันตกโจมตีแผ่นดินรัสเซีย และจะนำไปสู่การตอบโต้อย่างเต็มรูปแบบของรัสเซีย
ทันทีที่ปรากฏผลประชามติ รัฐบาลยูเครน สหรัฐอเมริกา และชาติตะวันตกต่าง ๆ ประนามการทำประชามติครั้งนี้ว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายและประชาคมโลกจะไม่ยอมรับ อย่างไรก็ตามประธานาธิบดี ปูติน ก็ประกาศว่าตนพร้อมที่จะใช้อาวุธนิวเคลียร์เพื่อปกป้อง "บูรณภาพแห่งดินแดน " ของรัสเซีย เช่นกัน
1
อีกด้านหนึ่งเกี่ยวกับพลังงานซึ่งรัสเซียถืออำนาจอยู่ ปรากฏรายงานเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2565 ว่าท่อนอร์ดสตรีม 1 และท่อนอร์ดสตรีม 2 ซึ่งเป็นท่อส่งก๊าซที่รัสเซียลำเรียงก๊าซสู่ยุโรปได้เกิดเหตุรั่วไหลในทะเลบอลติก และมีหลายฝ่ายคิดเห็นว่าเป็นการลอบก่อวินาศกรรม โดยล่าสุด สหรัฐอเมริกาได้ออกมาแถลงว่าตนไม่มีความเกี่ยวข้องกับเหตุท่อส่งก๊าซรั่วไหลดังกล่าว
ท่อส่งก๊าซนอร์ดสตรีม มีบริษัทพลังงานของรัสเซีย ก๊าซพรอม (Gazprom) เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ และบริษัทนอร์ดสตรีม เอจี (Nord Stream AG) ผู้ดูแลท่อก๊าซนี้ ระบุว่าความเสียหายต่อเครือข่ายท่อนอร์ดสตรีม ทั้ง 3 จุดในวันเดียวกันเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนและยังไม่สามารถประเมินความเสียหายและเวลาที่จะต้องใช้ในการซ่อมแซมเพื่อให้กลับมาใช้งานใหม่ได้
"นอร์ดสตรีม" เป็นท่อลำเลียงก๊าซที่รัสเซียและยุโรปเป็นหุ้นส่วนร่วมลงทุนในการก่อสร้าง ท่อส่งก๊าซนอร์ดสตรีม 1 ใช้ในการส่งก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียไปยุโรปโดยเมื่อต้นเดือนกันยายน 2565 รัสเซียได้สั่งปิดท่อนอร์ดสตรีม 1 โดยอ้างว่าเป็นการซ่อมบำรุงตามกำหนด ส่วนท่อนอร์ดสตรีม 2 ยังไม่ได้เปิดใช้เพื่อการพาณิชย์ ยังไงก็ตามเหตุการณ์นี้ก็จะส่งผลกระทบต่อการป้อนก๊าซจากรัสเซียสู่ยุโรปก่อนเข้าสู่ฤดูหนาว
1
นอกจากนี้การประกาศระดมพลทหาร 300,000 นาย จนทำให้เกิดปรากฏการณ์ต่อต้านของประชาชนในรัสเซียและทยอยเดินทางออกนอกประเทศ นั้น ยังเป็นที่สนใจว่า เป็นความพยายามของรัสเซียที่จะหาพลทหารเพื่อเตรียมการส่งไปช่วยรบจริงหรือไม่ หรือแค่เป็นเกมการเมือง สร้างสถานการณ์บีบรัดให้ยูเครนและพันธมิตรหวั่นเกรง
เปรียบเทียบเวทีสงครามครั้งนี้คล้ายเวทีละคร ตัวละครแต่ละตัวซ่อนบทบาทเอาไว้ได้เฉียบคม โดยมีดินแดนยูเครนเป็นโรงละคร ส่วนประธานาธิบดี โวโลดิมีร์ ซาเลนสกี ซึ่งบทต้นเรื่องเป็นตัวชูโรง เมื่อเดินเรื่องมาจนถึงขณะนี้บทบาทของประธานาธิบดี เซเลนสกี กลับดูเหมือนจะย้อนไปแสดงบทบาทก่อนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดียูเครน🤦
ข้อมูลบางส่วนมาจาก สำนักข่าวเอพี เอเอฟพี และรอยเตอร์ส
โฆษณา