1 ต.ค. 2022 เวลา 00:00 • ประวัติศาสตร์
ฝรั่งสอนธรรม
1
Blockdit Originals ซีรีส์บทความพิเศษ
1
ครั้งที่หลวงพ่อชา สุภัทโท และพระกลุ่มหนึ่ง ทั้งไทยและฝรั่ง ไปช่วยเผยแผ่ธรรมที่ประเทศอังกฤษ แรกๆ ก็พบแรงต่อต้านจากคนในพื้นที่ ชาวบ้านมองว่าศาสนาพุทธเป็นพวกนอกรีต สวมจีวรประหลาด และมองการบิณฑบาตว่าเป็นการขอทาน ฯลฯ
1
ปฏิกิริยานี้คงเป็นสัญชาตญาณปกติของคนทั่วไปที่มักต่อต้านสิ่งที่ไม่เคยเห็นหรือไม่คุ้นชิน น้อยคนจะเปิดโอกาสให้ตนเองได้เรียนรู้ก่อนว่าอีกฝ่ายมีแนวคิดอะไร
1
เช่นกัน เมื่อฝรั่งมาเผยแผ่ธรรมของเขาในบ้านเรา หลายคนก็รู้สึกอึดอัด และยิ่งรู้สึกแปลกๆ หากฝรั่งคนนั้นมาเผยแผ่หลักศาสนาตะวันออก เช่น พุทธ เซน เต๋า ฮินดู ทำนองเอามะพร้าวมาขายสวน
1
ชาวตะวันออกไม่น้อยมีภาพฝังหัวว่าชาวตะวันตกไม่รู้เรื่องศาสนาตะวันออก แต่ความจริงก็คือมีฝรั่งหลายคนมาเมืองไทยเพื่อศึกษาพุทธ ไปญี่ปุ่นศึกษาเซน ไปทิเบตปฏิบัติธรรมขั้นสูง หลายคนก็ศึกษาธรรมได้ลึกซึ้งไม่แพ้คนตะวันออก นี่ชี้ว่าหลักธรรมเป็นเรื่องสากล ไม่ถูกจำกัดด้วยสีผิวและชาติกำเนิด
5
ดังนั้นโดยส่วนตัวผมถือคติว่า ครูมาจากไหนไม่สำคัญ ผมแดงหรือผมดำก็ไม่สำคัญ สำคัญที่บทเรียน
3
นี่เป็นเรื่องทัศนคติในการรับข้อมูล
2
และมองอีกมุมคือ ฝรั่งสอนธรรมกลับมีข้อดีอย่างหนึ่งคือทำให้เราระวังตัวในการรับคำสอน เราจะตั้งคำถามในใจ (เชิงปรามาส) นิดๆ ว่า “ฝรั่งจะรู้จริงเร้อ?” นี่ทำให้เราจะพิจารณาคำสอนของเขาแบบจับผิด
6
จะว่าไปแล้ว นี่ก็คือการปฏิบัติตามหลักกาลามสูตร คือไม่เชื่อใครง่ายๆ และคิดก่อนเชื่อ บางทีอาจจะดีกว่าคำเทศน์ที่เราได้ยินจากพระไทยแล้วเชื่อทันที เพราะมีภาพฝังใจว่า พระไทยรู้เรื่องมากกว่า
1
บางคนก็ยึดมั่นถือมั่นว่าหลักธรรมตะวันออกของเราดีที่สุด และเป็นหนทางเดียวที่จะบรรลุธรรม หรือมีความสุข ฯลฯ มันอาจจะจริงก็ได้ แต่ประเด็นคือความคิดแบบยึดมั่นถือมั่นอาจทำให้เราเสียโอกาสศึกษาแนวคิดอื่น
3
ซึ่งแม้ต่างจากแนวคิดของเรา แต่อาจมีจุดหมายเดียวกัน หรือกระทั่งมีจุดหมายอื่นที่น่าสนใจและอาจจะช่วยเพิ่มความรู้ของศาสนาเดิมของเรา การปิดกั้นตั้งแต่แรกอาจปิดโอกาสเราให้ลองมองทางสายอื่น จนรู้ถ่องแท้ก่อน แล้วจึงจะสรุปได้ว่า ธรรมที่เราเรียนดีกว่าหรือไม่ หรือเป็นทางสายเดียวหรือไม่
2
การเรียนศาสนาสมควรเรียนแบบเปรียบเทียบ และการมองมุมต่าง เมื่อเรานำมาเปรียบเทียบหรือใช้ควบคู่กับคำสอนที่เราเคยเรียนมา ก็อาจได้ประโยชน์เพิ่ม ขยายมุมมอง ขยายโลกทัศน์
2
โลกตะวันตกมีฝรั่งหลายคนที่สอนเรื่องจิตวิญญาณ โดยใช้หลักทางพุทธผสมผสานกับแนวคิดหรือปรัชญาอื่น เช่น Eckhart Tolle ผู้เขียนหนังสือเบสต์เซลเลอร์ เช่น The Power of Now, A New Earth ก็มักใช้หลักทางพุทธ เช่น เรื่องการรับรู้ (awareness) การเจริญสติ (mindfulness) การอยู่กับปัจจุบัน เป็นต้น
3
ในบทความนี้ผมจะพูดถึงฝรั่งสองคนที่ศึกษาด้านศาสนาตะวันออก และมีมุมมองน่าขบคิด
1
ที่แปลกก็คือทั้งสองคนเกิดในเดือนเดียวกัน ปีเดียวกัน และมาทางสายเดียวกัน
1
ในเดือนมกราคม ปี 1915 เด็กชายสองคนถือกำเนิดในโลกตะวันตก ทั้งคู่คนโตขึ้นเป็นคนทำงานด้านจิตวิญญาณ เชื่อมโลกตะวันออกกับตะวันตกเข้าด้วยกัน
1
คนหนึ่งชื่อ ธอมัส เมอร์ตัน (Thomas Merton) เกิดวันที่ 31 มกราคม 1915 เป็นนักบวชคาทอลิกนิกายแทรปปิสต์ (Trappist) บิดาเป็นชาวนิวซีแลนด์ มารดาเป็นชาวอเมริกัน มีโอกาสท่องโลกพบปะกับทาไลลามะ ดี. ที. ซูซุกิ ติช นัท ฮันห์ รวมทั้งท่านพุทธทาสภิกขุ แล้วเชื่อมโยงศาสนาตะวันออกกับศาสนาตะวันตก
1
แม้จะมาทางสายคริสต์ เมอร์ตันศึกษาธรรมตะวันออกอย่างลึกซึ้ง และเขียนหนังสือด้านจิตวิญญาณกว่า 50 เล่มในช่วงเวลา 27 ปี ทั้งเต๋า เซน ขงจื๊อ ฯลฯ งานเด่นๆ เช่น The Seven Storey Mountain (1948)
1
เรื่องหนึ่งที่ได้รับการแปลเป็นไทยคือ มนุษย์ที่แท้ : มรรควิถีของจางจื๊อ โดย ส. ศิวรักษ์ เป็นงานดีเล่มหนึ่ง
2
ชะตาของ ธอมัส เมอร์ตัน ก็เดินตามหลักธรรมของความไม่แน่นอน เขาเสียชีวิตในวันที่ 10 ธันวาคม 1968 ที่สวางคนิวาส สมุทรปราการ เขาถูกไฟฟ้าช็อตจากพัดลม สะท้อนว่าชีวิตเป็นเรื่องไม่แน่นอนจริงๆ
2
ฝรั่งอีกคนหนึ่งเป็นชาวอังกฤษชื่อ อลัน วัตต์ส (Alan Watts) เกิดวันที่ 6 มกราคม 1915 นักปรัชญา นักเขียน นักพูด เป็นคนหนึ่งที่เผยแพร่แนวคิดทางพุทธ เซน ฮินดู สู่โลกตะวันตกอย่างต่อเนื่อง
1
วัตต์สเดิมเป็นคริสต์ ศึกษาศาสนาตะวันออก และพบว่ามันตรงจริตเขามากกว่า เขาเล่าว่าตอนเป็นเด็ก เขาเคยเห็นภาพวาดจีน ผ้าปักร้อยที่แม่ได้จากเมืองจีน ภาพวาดจีนและญี่ปุ่นทำให้เขารู้สึกเหมือนเชื่อมผูกพันกับโลกตะวันออก เป็นความรู้สึกประหลาด
2
วัตต์สอ่านงานศาสนาและลัทธิตะวันออกมากมาย สนทนากับนักคิดนักเขียน เขาเดินทางไปทั่วโลกตะวันออก ศึกษาเรื่องการทำสมาธินานปี เขา ‘อิน’ กับโลกตะวันออกจนเรียนการเขียนภาษาจีนด้วยพู่กัน
2
ในวัย 21 เขาพบอาจารย์เซน ดี. ที. ซูซุกิ เขาสนใจเรื่องเซนมาก นอกจากนี้ยังสนใจเต๋า ฮินดู ศาสตร์โบราณของอินเดีย รวมถึงโยคะ
1
ธอมัส เมอร์ตัน กับทาไลลามะ 1968 (CNS/Thomas Merton Center at Bellarmine University)
วัตต์สเขียนหนังสือด้านจิตวิญญาณกว่า 25 เล่ม บทความและบทพูดอีกมากมาย งานเด่นๆ เช่น The Spirit of Zen (1936), The Way of Zen (1957) ฯลฯ หลังจากเขาตายไปแล้ว ปาฐกถาของเขากลับโด่งดังในโลกออนไลน์
1
วัตต์สอยากเป็นสะพานเชื่อมตะวันออกกับตะวันตก วัฒนธรรมกับธรรมชาติ และดูเหมือนเขาได้ทำเช่นนั้นตลอดชีวิต
1
บุคลิกและเส้นทางของสองคนนี้คล้ายกับนวนิยายเรื่อง Narcissus and Goldmund ของ เฮอร์มานน์ เฮสเส นวนิยายเรื่องนี้มีตัวละครหลักสองคน หนึ่งคือนักบวชชื่อ Narcissus ดำเนินชีวิตไปตามทางสายธรรมมาตรฐาน อีกคนหนึ่งชื่อ Goldmund ดำเนินชีวิตในทางตรงกันข้าม พบปะสตรีมากมายไม่เลือกหน้า แต่ทั้งสองกลับดูเหมือนแสวงหาสิ่งเดียวกัน
1
ธอมัส เมอร์ตัน มีวิถีชีวิตแบบนักบวช ขณะที่ อลัน วัตต์ส สนใจธรรม แต่ใช้ชีวิตทางโลก แต่งงานและหย่าร้างหลายครั้ง คบหาสตรี ดื่มสุรา แต่ก็ทำงานสายธรรมตลอดชีวิต เป็นภาพแปลกๆ แต่เช่นเคย คนสอนเป็นใครไม่สำคัญ สำคัญที่บทเรียน
2
อลัน วัตต์ส
จุดที่ผมสนใจเวลาอ่านหนังสือหรือฟังฝรั่งเทศน์ธรรมสายพุทธ เซน คือดูว่าพวกเขามองอย่างไร ในฐานะคนที่มาจากแผ่นดินที่ไม่มีบรรยากาศและวัฒนธรรมตะวันออก
1
บางคนจะมองแบบวิทยาศาสตร์ บางคนมองในมุมของนักประวัติศาสตร์ บางคนจะวิเคราะห์โครงสร้างของศาสนาตะวันออก
2
ยกตัวอย่าง อลัน วัตต์ส ในมุมของเขา พุทธไม่ใช่ ‘ศาสนา’ แต่เป็นวิธีคิดที่ลุ่มลึกแบบหนึ่ง หากเทียบกับศาสตร์ต่างๆ ในโลกปัจจุบัน พุทธก็ตรงกับ Psychotherapy (จิตบำบัด) ที่สุด
3
เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยไม่ใช่ประเด็น ประเด็นคือฟังแล้วเราเพิ่มนิวรอนของเราหรือเปล่า หรือสิ่งที่ได้ยินช่วยทำให้เราแตกหน่อความคิดต่อไปหรือไม่
2
บางครั้งการมองมุมมองของฝรั่งก็ช่วยเสริมมุมมองศาสนาตะวันออกที่เรารู้มาก่อน ยกตัวอย่าง เช่น เรื่องเซน ผมอ่านตำราเซนมามากมายหลายเล่ม อ่านแล้วงง
1
แต่เมื่ออ่านประโยคเดียวจากการสรุปของ อลัน วัตต์ส ในหนังสือเล่มหนึ่งว่า หัวใจของเซนก็คือ self-liberation (ปลดปล่อยใจเป็นอิสระ) เท่านี้ก็เก็ตทันที เพราะการที่เราไม่ปรุงแต่ง หรือเข้าใจกระบวนการปรุงแต่ง ไม่ยึดมั่นถือมั่นกับกรอบคิดต่างๆ เหล่านี้ ปลายทางก็เพื่อ self-liberation นั่นเอง
5
มุมมองและการวิคราะห์ของคนนอกพื้นที่ บางทีก็ทำให้เราเข้าใจสิ่งที่เรียนมาดีขึ้น หรือบางครั้งก็เป็นเหมือนน้ำเย็นที่สาดหัวเราให้ตื่นกะทันหัน
3
อีกตัวอย่างหนึ่งคือคำถามว่า เราทำสมาธิไปทำไม มีคำตอบมากมายจากหลายคนหลายสำนัก บ้างก็ไปไกลถึงเรื่องการสะสมบุญบารมีสำหรับชาติหน้า แต่คำตอบที่ทำให้ผม ‘เก็ต’ ก็มาจาก อลัน วัตต์ส อีกเช่นกัน
2
เขาบอกว่า “การทำสมาธิคือการหยุดพูดกับตัวเอง”
6
และ “ความลับของชีวิตก็คือรู้ว่าเมื่อไรควรหยุด”
5
อลัน วัตต์ส มีวิธีการย่อยหลักปรัชญาตะวันออกให้เข้าใจง่ายขึ้น ด้วยสาธกที่ง่ายๆ เสมอ เขายกตัวอย่างซิการ์ มันมีสองปลายเสมอ แต่เป็นวัตถุชิ้นเดียว เราไม่สามารถแยกสองปลายออกจากกันได้ เราอาจตัดปลายหนึ่งทิ้ง แต่ก็จะปรากฏปลายใหม่ขึ้นมาทันที มันแยกไม่ได้
5
คนกับโลกก็เหมือนกัน ความแตกต่างระหว่างผู้รู้กับการรู้ ระหว่างคนกับโลก ความแตกต่างนี้ไปด้วยกันเสมอ และแยกจากกันไม่ได้ เมื่อเราอยู่ในสถานการณ์ที่เราสำนึกรู้สึกความสัมพันธ์ทางกายภาพที่แท้จริงซึ่งดำรงอยู่ระหว่างคนกับสิ่งแวดล้อม ประสบการณ์ของความเป็นหนึ่งเดียวหรือเป็นเอกภาพกับจักรวาล
3
อืม! น้ำเย็นสาดหัวไปหนึ่งโครม หยุดคิดไปครู่หนึ่ง ก็มีเหตุผล ธรรมชาติมนุษย์คือต้องคิดตลอดเวลา แต่หากเราไม่ยอมหยุดพักบ้าง ก็จะไม่มีเบรก ไม่มีที่ว่างให้จิต การทำสมาธิช่วยจุดนี้
7
จิตของเรากับโลกภายนอกไปด้วยกันตลอดเวลา เป็นความแตกต่างที่แยกจากกันไม่ได้
1
อีกประโยคหนึ่งที่เขาบอกและสะดุดหูผมไปนานคือ “การทำสมาธิไม่มีจุดหมายปลายทาง”
2
วัตต์สมักยกตัวอย่างเปรียบการเดินธรรมกับการเดินทาง เขาบอกว่า เวลาเราเดินทางจากจุด ก. ไปจุด ข. จุดหมายคือจุด ข. เราต้องการไปถึงให้เร็วที่สุด การเดินทางจาก ก. ไป ข. ที่เร็วที่สุดก็ถือว่าเป็นการเดินทางที่ดี
2
แต่เวลาเราฟังเพลง เราจะอยู่กับดนตรีและเนื้อเพลงทีละชั่วขณะ เราดื่มด่ำกับเพลงนั้นโดยไม่สนใจจะรีบไปให้ถึงท่อนจบของเพลง เราอยู่ใน ‘ปัจจุบัน’ ของเพลง ไม่มีใครบอกให้เล่นเพลงให้เร็วขึ้น เพื่อที่จะจบให้เร็วที่สุด เพราะหากเราวัดคุณค่าเพลงอย่างนั้น นักดนตรีที่เล่นเพลงเร็วที่สุดก็คือนักดนตรีที่เก่งที่สุด
4
ในการเต้นรำ เราไม่มีตำแหน่งที่ต้องไปถึง สาระของการเต้นรำก็คือชั่วขณะที่เต้นรำ ไม่ใช่จุดหมายที่ต้องไปถึง เพราะมันไม่มีจุดหมาย
2
การทำสมาธิก็เช่นกัน มันไม่มีจุดหมายที่ต้องไปถึง สาระของการทำสมาธิก็คือชั่วขณะปัจจุบันนั้น และมันทำให้เราพบสันติของใจ
7
มุมมองและการเปรียบเทียบเหล่านี้ทำให้เห็นภาพธรรมที่เราเรียนมาได้ชัดขึ้น ทั้งที่เป็นเรื่องเดียวกัน และมันไม่มีเชื้อชาติ วัฒนธรรม โลกตะวันออกหรือตะวันตกมากำหนด
2
ดังนั้นจะเห็นว่า ครูเป็นใครไม่สำคัญ จะเป็นคนไทย คนเวียดนาม ฝรั่ง ก็ไม่สำคัญ สำคัญที่เนื้อหาของคำสอน
3
เพราะท้ายที่สุดแล้ว เราไม่ได้ดูว่าใครเทศน์ แต่ดูว่าเราเข้าใจอะไร
3
โฆษณา