5 พ.ย. 2022 เวลา 00:00 • ปรัชญา
เราเป็นผีเสื้อที่ฝันว่าเป็นคนหรือไม่
Blockdit Originals ซีรีส์บทความพิเศษ
ตอนเด็กๆ ผมเคยฝันว่าตนเองบินได้ ผมบินไปมาเหมือนนกอย่างร่าเริงและมีความสุข เมื่อผมตื่นขึ้น ก็พบว่าผมเป็นคนที่บินไม่ได้ ทั้งที่ในความฝัน มันดูจริงอย่างยิ่ง
ครั้งหนึ่งปรมาจารย์เต๋า จวงจื่อ (莊子) ฝันว่าเขาเป็นผีเสื้อ เขารู้สึกว่าตนเป็นอิสระ บินจากดอกไม้ไปยังอีกดอกอย่างเริงร่า ในความฝันเขาเชื่อว่าเขาเป็นผีเสื้อแน่นอน
เมื่อตื่นขึ้น เขาพบว่าเขาก็คือจวงจื่อ ไม่ใช่ผีเสื้อ
1
จวงจื่อขบคิดอยู่นาน แล้วตั้งคำถามว่าเขาเป็นจวงจื่อผู้ฝันว่าเป็นผีเสื้อ หรือจริงๆ แล้วเขาเป็นผีเสื้อที่ฝันว่าเขาคือจวงจื่อ
3
ต่อมาจวงจื่อก็เขียนหนังสือเรื่อง การแปลงลักษณ์แห่งสรรพสิ่ง (物化 Transformation of Things) ชี้ว่าความแตกต่างระหว่างจวงจื่อกับผีเสื้อคือการเปลี่ยนความจริงกับภาพลวงตา
สองพันกว่าปีหลังจากจวงจื่อตายไป ชาวโลกก็ยังคงตีความเรื่องผีเสื้อของจวงจื่อในแง่มุมต่างๆ ถกคำถามว่าความจริงคืออะไร
หลายคนอาจงงว่าถามทำไม สำหรับเราๆ อาจเห็นว่า “คิดมากไปได้” ใครก็ตามที่ตั้งคำถามว่า “ความจริงคืออะไร” ย่อมเป็นคนบ้าแน่นอน เพราะเรารู้สึกตัวร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าเราเป็นเรา ในมุมมองและความรู้สึกของเรา ความจริง (reality) ก็คือสิ่งที่เราเห็นรอบตัวเรา จับต้องได้ สัมผัสได้ด้วยรูปรสกลิ่นเสียง ไม่ใช่หรือ?
จวงจื่อฝันถึงผีเสื้อ
แต่ความหมายของ ‘จวงจื่อกับผีเสื้อ’ คือ เรารู้ได้อย่างไรว่าสิ่งที่เรารับรู้ได้ด้วยรูปรสกลิ่นเสียงสัมผัสเป็นความจริง
เราอยู่ในห้อง นั่งบนเก้าอี้ มองออกไปเห็นตึกรามบ้านช่อง ถนนหนทาง ต้นไม้ ทางเดิน ก้อนเมฆ นี่ย่อมเป็นเรื่องจริง ไม่ใช่มายาหรือภาพลวงตา
เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่าเราไม่ใช่ผีเสื้อที่กำลังฝันเป็นเรื่องราวชีวิตมนุษย์คนหนึ่ง
1
เอาละ สมมุติว่าโลกนี้เป็นความจริงไปก่อน คำถามคือเราสัมผัสความจริงอย่างไร? มีแนวคิดหนึ่งเสนอว่า ความจริงเกิดขึ้นเมื่อมีการรับรู้โดย perception ของเรา
2
(perception แปลว่าการมองเห็น การมอง การรับ คำกริยาคือ perceive)
แปลว่าอะไร?
ก่อนตอบ ขอถามผู้อ่านว่า “ต้นไม้ล้มในป่ามีเสียงไหม?”
1
บางคนอาจคิดว่านี่เป็นคำถามโง่ๆ ก็ต้องมีเสียงซี!
คิดดูดีๆ อีกครั้ง
มันอาจตอบได้ในเชิงวิทยาศาสตร์ แล้วกลายเป็นปรัชญา
คำตอบแบบวิทยาศาสตร์ของวิธีคิดแบบนี้คือ เมื่อต้นไม้ล้ม มันสร้างแรงสั่นสะเทือนในอากาศ หากแรงสั่นสะเทือนเข้าหูเรา มันก็เกิดเสียง หากมันไม่สั่นสะเทือนแก้วหู ก็ไม่มีเสียงในหูของเรา
1
เช่นกัน แสงอาทิตย์หากไม่กระทบต่อนัยน์ตาของเรา มันก็ไม่มีแสง
1
นักปรัชญาอังกฤษ อลัน วัตต์ส พูดง่ายๆ ว่า อาทิตย์เป็นแสงก็เพราะนัยน์ตาของเรา เรารู้สึกว่าก้อนหินแข็งเพราะมืออ่อนนุ่มของเราไปสัมผัสความแข็งนั้น มันคือสัมพัทธ์
เราอาจจะไม่มีทางรู้ว่าโลกจริงเป็นอย่างไร หากไม่เฝ้าสังเกตมัน เสียงเกิดขึ้นเราเราไปรับแรงสั่นสะเทือน แสงปรากฏแก่เราเพราะนัยน์ตาเรารับ ฯลฯ
เราอาจไม่มีทางคิดหรือมีความสามารถรู้ว่าโลกจะเป็นอย่างไร หากเราไม่สังเกตมัน แม้แต่เรื่องระยะเวลา (time) ก็เกิดจากการที่เราสังเกตมัน แม้แต่เรื่องที่ว่าง (space) ก็เกิดจากเราไปสังเกตมัน
สมมุติว่าเราเป็นสิ่งมีชีวิตที่ไม่มีประสาทรับรูปรสกลิ่นเสียงสัมผัสอย่างมนุษย์ แต่สามารถรับ ‘ความจริง’ ผ่านคลื่นเอกซเรย์หรือคลื่นแกมมา ‘ความจริง’ ที่เรารับรู้ก็อาจจะต่างกันกับความจริงที่พวกเราตอนนี้รับรู้
1
เรื่องนี้ไม่ได้พูดลอยๆ มีหลักฐานยืนยัน นักดาราศาสตร์ใช้กล้องโทรทัศน์ส่องมองจักรวาลมาเป็นร้อยปี เห็นจักรวาลอย่างที่เราเห็น แต่ยังมีอีกหลายอย่างที่เรามองไม่เห็น พวกเขาจึงใช้คลื่นเอกซเรย์บ้าง คลื่นแกมมา บ้างส่องจักรวาล ก็จะพบเห็นภาพที่ต่างจากที่เราคุ้นชิน
1
มองในมุมนี้ ‘ความจริง’ ว่าโลกเราเป็นอย่างที่เราเห็นหรือรู้สึก ก็เพราะโครงสร้างชีวิตเรา ‘ทำให้’ มันเป็นอย่างนั้น!
หาก reality เกิดขึ้นแบบนี้ เราก็มีอีกหลายคำถามตามมา
ใช่ไหมว่ามันอาจไม่ได้มี reality เดียว?
มนุษย์เราชอบสร้างความจริงชุดใหม่เสมอ ยกตัวอย่าง เช่น กลุ่มดาวบนท้องฟ้า เรามองจุดดาวบางจุด แล้วโยงเชื่อมกันเป็นรูป เรียกชื่อมันเป็นกลุ่มดาวต่างๆ แต่ความจริงกลุ่มดาวเป็นมายา เป็นสิ่งที่เราสร้างขึ้นเอง
1
โลกอาจเป็นจริง แต่เรามองด้วยสายตาของเรา และอาจต่างจากที่สิ่งมีชีวิตอื่นๆ เห็น
สมมุติว่าสิ่งรอบตัวที่เราเห็นเป็นความจริง เราอาจแปลกใจที่สิ่งมีชีิวิตต่างกันเห็นมันไม่เหมือนกัน ยกตัวอย่าง เช่น ผึ้งมองเห็นดอกไม้สีแดงจะเห็นเป็นสีดำ เพราะโครงสร้างนัยน์ตาผึ้งต่างจากมนุษย์เรา เรื่องนี้มีหลักฐานพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์
2
นี่แปลว่าแม้แต่การมองเห็นโลกภายนอกเดียวกันก็ยังเห็นความจริงต่างกัน ความจริงเรื่องสีแดงของเรากับของผึ้งไม่เหมือนกัน
2
หากคิดว่าการตั้งคำถามเกี่ยวกับความจริงนี้บ้า ก็มีคนบ้าที่คิดและถามอย่างนี้มากว่าสองพันปีแล้ว
หลักคิดแรกๆ ที่เรียกว่า Solipsism ถือกำเนิดมาในราว 375 ปีก่อนคริสตกาล โดยนักปรัชญากรีกนาม Gorgias
Solipsism บอกว่า
1 ไม่มีสิ่งใดดำรงอยู่
2 ถ้ามีอะไรดำรงอยู่จริง เราก็ไม่มีทางรู้เกี่ยวกับมัน
3 ถ้ามีอะไรที่เราสามารถรู้เกี่ยวกับมัน ความรู้นั้นก็ไม่สามารถสื่อให้คนอื่นรู้ได้
มันตั้งคำถามว่า เป็นไปได้ไหมว่าเราเป็นคนคนเดียวในจักรวาล
Solipsism มาจากภาษาละติน solus (โดดเดี่ยว) + ipse (ตัวตน) เป็นแนวคิดว่า มีแต่จิตของเราคนเดียวที่ดำรงอยู่ ทุกสิ่งนอกตัวเราไม่แน่นอนหรือไม่มีจริง หรือไม่ตรงกับที่เราเห็น เพราะเราพิสูจน์ไม่ได้ว่าคนอื่นๆ มีความรู้สึกตัว (consciousness) เหมือนเรา
2
(ทฤษฎีนี้มีคนแย้งเรื่องนี้ว่า เราไม่ได้เติบโตมาคนเดียว คนอื่นเลี้ยงเรา สอนเรา)
ผ่านมาอีกราวสองพันปี นักปรัชญา อิมมานูเอล คานต์ (Immanuel Kant) เขียนว่า “สิ่งต่างๆ ที่เรามองเห็นไม่ใช่สิ่งที่เป็นตามที่เราเห็น มันยังเป็นเรื่องที่เราไม่รู้โดยสิ้นเชิงว่า สิ่งของโดยตัวมันเองเป็นอย่างไร นอกเหนือจากประสาทรับรู้ของเรา เราไม่รู้อะไรเลยนอกจากมองดูมัน”
2
ในยุคของคานต์ คนยังเชื่อว่าพระเจ้าสร้างเรา เขาเห็นว่า จิตหรือสมองของเราสร้างภาพโลกจากประสาทรับรู้ของเรา
พูดง่ายๆ คือ ในเมื่อเราไม่สามารถใช้ประสาทรับรู้สัมผัสพระเจ้า เราก็ไม่มีทางรู้ว่าพระเจ้ามีจริง
3
นอกจากคานต์ก็มี บิช็อบ จอร์จ เบิร์กลีย์ (George Berkeley 1685–1753) นักปรัชญาชาวไอริช ผู้เริ่มแนวคิด Immaterialism ที่ต่อมาเรียกว่า Subjective Idealism
1
บิช็อบเบิร์กลีย์ตั้งคำถามว่า มีการดำรงอยู่จริงแท้ (absolute existence) หรือไม่ การดำรงอยู่ที่อยู่นอกเหนือจิตหรือไม่
ทฤษฎีนี้ปฏิเสธการดำรงอยู่ของวัตถุต่างๆ มันตั้งคำถามว่าโต๊ะ เก้าอี้ ฯลฯ เป็นความคิดที่จิตเรามอง ดังนั้นหากไม่มีการ perceive มันก็ไม่ได้ดำรงอยู่
3
นักปรัชญา เรอเน เดการ์ต (René Descartes) ก็ไม่ยอมน้อยหน้าใครในเรื่องสร้างความปวดหัว เขาตั้งคำถามถึงการดำรงอยู่ของทุกสิ่งในโลก
เดการ์ตเห็นว่าการที่เราฝันแปลว่าเราประสาทรับรู้ของเราเชื่อไม่ได้ทีเดียวนัก เรามักตื่นจากฝันและบอกว่ามันจริงเหลือเกิน แต่เรารู้ว่ามันไม่จริง
เดการ์ตเขียนว่า “เราไม่สามารถสงสัยการดำรงอยู่ของเราขณะที่เรากำลังสงสัย”
เป็นที่มาของประโยคเด็ดของเขา “Cogito, ergo sum.”
หรือที่เราคุ้นกว่าในประโยค “I think, therefore I am” (ฉันคิด ดังนั้นฉันจึงมีอยู่) บางฉบับใช้ว่า “ฉันกำลังคิด”
2
มีคนตีความว่า ในเมื่อเราสามารถคิดได้ ดังนั้นเราจึงมีตัวตนอยู่
ประโยคนี้อาจมีนัยของ ‘ความจริง’ (reality) ถ้าคิดได้ หรือสงสัยได้ ก็แสดงว่าความจริงมีอยู่จริง
แต่จริงหรือ ?
อิมมานูเอล คานต์, จอร์จ เบิร์กลีย์, เรอเน เดการ์ต
เรารู้ว่าทุกอย่างของมนุษย์เกิดขึ้นสมอง ความรัก ความเกลียด อารมณ์ แม้กระทั่งเรื่องเซ็กซ์ก็เกิดขึ้นในสมอง ดังนั้นต่อให้เราไม่มีร่างกาย มีแต่สมอง ก็น่าจะมีความคิดแบบคนที่มีร่างกายได้
แต่เราก็รู้ว่ามันเป็นความฝัน และมันไม่จริง แสดงว่าเราเชื่อประสาทรับรู้ของเราไม่ได้ทั้งหมด ถ้าเราเชื่อไม่ได้ เรารู้ได้อย่างไรว่าโลกภายนอกเรามีอยู่จริง
เป็นเรื่องธรรมดาที่เราเกิดภาพลวงตา และสับสน บ่อยครั้งพิสูจน์ว่าเราจำเรื่องผิดบิดเบี้ยว
1
นักวิทยาศาสตร์รู้มานานแล้วว่า สมองคนเรามีความสามารถในการหลอกเรา มันทำให้เราเชื่อหลายๆ อย่างที่พิสูจน์ด้วยหลักฐานแล้วว่าไม่จริง
2
ดังนั้นจึงไม่แปลกหากนักวิทยาศาสตร์ยัดสมองคนใส่ในถัง เชื่อมสมองในแต่ละถังเข้าด้วยกัน ถังนั้นก็จะเป็นโลกของสมอง สมองบอกเราว่าเรามีตัวตน เรามีบ้าน เรามีการงาน มีคนรัก มีลูก
ตัวละคร ‘มอร์เฟียส’ ในเรื่อง The Matrix บอกตัวละคร ‘นีโอ’ ว่า “คุณจะให้คำจำกัดความคำว่า ‘ความจริง’ ยังไงหรือ? ถ้า ‘ความจริง’ หมายถึงสิ่งที่คุณรู้สึกได้ สิ่งที่คุณได้กลิ่น รสชาติ และมองเห็นได้ละก็ ความจริงก็เป็นเพียงสัญญาณทางไฟฟ้าที่ตีความโดยสมองของคุณ...”
4
มอร์เฟียสถามนีโอว่า แน่ใจหรือว่านี่คืออากาศที่คุณหายใจจริงๆ
ในหนังเรื่องนี้ สิ่งที่เรียกว่า ‘ความจริง’ คือโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ชาวโลกที่วุ่นวายกับการเดิน-กิน-ทำงานทั้งหมดเป็นเพียง ‘ตัวตนที่เหลืออยู่’ ซึ่งเป็นภาพลวงตาของตัวตนดิจิทัล แปลว่าพวกเขาไม่ใช่คนจริงๆ แต่เชื่อมั่นว่าพวกเขาใช่
พวกเขาอยู่เป็นเพียงโลกเสมือนจริง ในโปรแกรม Neural Interactive Simulation เรียกว่า เมทริกส์
ความจริงคือไม่มี ‘ความจริง’ ในโลก
ชาวโลกในหนังเรื่องนี้อาศัยอยู่ในมายา เหมือนสมองในถัง
ทฤษฎีเกี่ยวกับ “ความจริงคืออะไร?” นี้มีมากมาย นอกจากแนวคิดของ The Matrix แล้ว ยังมีทฤษฎีแปลกประหลาดอีกหลายทฤษฎี เช่น เราเป็นส่วนหนึ่งของการทดลองของใครสักคน หรือแม้กระทั่งมนุษย์ต่างดาว หรืออาจเป็นเรื่องโลกในมิติอื่น
1
โลกในมิติอื่น? ยังไง?
มีการทดลองทางความคิด (thought experiment) เรื่องหนึ่ง สมมุติว่าในจักรวาลมีโลกที่มีเพียงสองมิติคือกว้างกับยาว โลกนี้ไม่มีความสูง จึงเรียกว่า โลกแบน (flatland)
ชาวโลกสองมิติย่อมไม่สามารถรับรู้หรือมองเห็นโลกสามมิติ ดังนั้นสำหรับชาวโลกแบน ย่อมคิดว่าโลกสามมิติไม่ได้ดำรงอยู่
ทีนี้สมมุติว่ามันมีโลกห้ามิติ (เช่นในหนัง Interstellar) หรือหกมิติ หรือสิบมิติ เราคนในโลกสามมิติก็คงไม่มีความสามารถที่จะรับรู้ มองเห็น ไม่ว่าจะใช้ประสาทส่วนใด
เหมือนกับเราไม่มีทางนึกออกว่าเหรียญที่มีสามด้านเป็นอย่างไร เรามีความสามารถรับรู้ได้แค่เหรียญสองด้าน
สมมุติว่าไม่มีโลกกายภาพ มีแต่จิต หรือมีแต่ความคิด เราสมมุติไปเอง?
การทดลองที่น่าสนใจและโด่งดังเรื่องหนึ่งเป็นการทดลองทางความคิดของนักฟิสิกส์รางวัลโนเบล เออร์วิน เชรอดิงเออร์ เรื่อง Schrodinger’s Cat (แมวในกล่องปิด) ก็สาธิตให้ลองมองว่า ความจริงในโลกควอนตัมอาจจะพิสดารและต่างจากความจริงในโลกที่เรารู้จัก
มิติใน The Matrix และ Interstellar
แต่ทั้งหมดนี้ก็เป็นเพียงการตั้งคำถาม เรายังไม่มีคำตอบ หรือเราอาจไม่สามารถพบคำตอบ ไม่ว่าเพราะมันไม่มีคำตอบหรือเพราะข้อจำกัดของสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าคนทำให้เราไม่สามารถพบคำตอบ
ในตอนท้ายเรื่อง The Matrix นีโอก็รู้ ‘ความจริง’ โดยการ ‘รู้แจ้ง’ (enlightenment)
แต่ในโลกของ ‘ความจริง’ ของเรา (สมมุติว่ามีจริงไปก่อน) อาจไม่มีทางรู้ความจริงสูงสุด เพราะมันอาจอยู่เหนือความสามารถของเรา
หรือเพราะเราเป็นสิ่งมีชีวิตที่ชอบหาเรื่องปวดหัวมาขบคิด แล้วพูดเองเออเอง
วันหนึ่งคุณอาจตื่นขึ้นมาเพราะได้ยินเสียงเพื่อนผีเสื้อปลุก บอกว่า “เฮ้ย! หยุดฝันเสียที ไปหาน้ำหวานในดอกไม้มากินกัน”
โฆษณา