26 พ.ย. 2022 เวลา 00:00 • ปรัชญา
ปรัชญาชีวิตจาก Fight Club
Blockdit Originals ซีรีส์บทความพิเศษ
(มีสปอยเลอร์หนังเรื่อง Fight Club)
มนุษย์เงินเดือนคนหนึ่งใช้ชีวิตในสังคมตามเส้นทางและค่านิยมของสังคม ในโลกการงาน เขาทำงานตามเวลาเหมือนพนักงานคนอื่น แต่ในโลกส่วนตัวของเขา เขาเดินชีวิตตามเส้นทางของลัทธิบริโภคนิยมและเทรนด์สังคม เขาชอบสินค้าแบรนด์เนม เขาซื้อเฟอร์นิเจอร์ Ikea เต็มบ้าน
เขาเดินทางบ่อย ผ่านประสบการณ์ ‘single-serving’ ในทุกเรื่อง อาหารบนเครื่องบินเป็นแบบจานเล็ก กินคนเดียว ยาสีฟันในโรงแรมเป็นแบบเสิร์ฟทีเดียวทิ้ง แม้แต่คนที่เขาพบระหว่างทางเดินทางก็เป็น ‘single-serving friend’ ฉาบฉวย ชั่วคราว เหมือนจอกแหนที่ลอยมาพบกันครู่เดียว แล้วแยกทางกัน
เขานอนไม่หลับ เขารู้สึกเหมือน ‘นีโอ’ ในหนังเรื่อง The Matrix บางสิ่งไม่ถูกต้องในโลกที่เขาอยู่
1
แต่โลกที่เขาอยู่ก็คือโลกที่เราอยู่ มันไม่ใช่โลกในโปรแกรมคอมพิวเตอร์ เรามีความทุกข์สุขในโลกใบนี้คล้ายๆ กัน เราอาจรู้สึกถึงความไร้สาระของโลกใบนี้เหมือนกัน
1
แล้วเราจะทำอย่างไร?
ผมไม่รู้ ผมไม่มีคำตอบ แต่สำหรับมนุษย์เงินเดือนคนนี้ เขาพบทางออกโดยไปร่วม support groups ของคนเป็นโรคต่างๆ เมื่อรับฟังคนที่ป่วยเป็นโรคร้ายทั้งหลายแล้ว ความรู้สึกเก็บกดทั้งชีวิตของเขาก็ระเบิดออกมา เขานอนหลับได้
3
แต่ในเหล่าคนที่เข้าร่วมกลุ่ม เขาพบผู้หญิงคนหนึ่งชื่อ มาร์ลา ซิงเกอร์ เข้ามาร่วมกลุ่มคนป่วยเหมือนเขา เธอกับเขาเป็นเหมือน ‘single-serving friend’ ที่เจอกันบ่อยๆ
2
คืนหนึ่งขณะบินกลับบ้านในเที่ยวบินหนึ่ง เขาพบผู้โดยสารคนหนึ่งชื่อ ไทเลอร์ เดอร์เดน เป็นเซลล์แมนขายสบู่ ไทเลอร์บอกว่าตัวเอกเป็นนักบริโภคนิยม
ตัวเอกสนทนาอย่างถูกคอกับไทเลอร์ และบอกอีกฝ่ายว่าเป็น ‘single-serving friend’ ที่น่าสนใจที่สุดเท่าที่เคยเจอมา
1
ตัวเอกกลับถึงอพาร์ทเมนต์ของเขา ก็พบข่าวร้ายว่าเกิดไฟไหม้ ห้องและข้าวของต่างๆ ของเขาถูกไฟไหม้หมด เขาจึงโทร.หาไทเลอร์เพื่อหาที่นอนในคืนนั้น ทั้งสองพบกันที่บาร์
1
ที่ลานจอดรถ ไทเลอร์ขอให้ตัวเอกชกตนเต็มแรง ทั้งสองสู้กัน และพบว่ามันทำให้ทั้งสองปลดปล่อยใจดีขึ้น และตกลงจะทำอีก
ตัวเอกย้ายไปอยู่กับไทเลอร์ในบ้านเก่าโสโครกหลังหนึ่ง ทั้งสองตั้งก๊วนนักสู้ในชั้นใต้ดินของบาร์ ตั้งชื่อว่า Fight Club ผู้คนมาร่วมกิจกรรมนี้มากขึ้น ดูเหมือนมีคนเก็บกดมากมายในสังคม เป็นภูเขาไฟเดินได้ พวกเขาอยากระบายความรู้สึกภายในออกด้วยความรุนแรง
และนี่คือภาพยนตร์เรื่อง Fight Club หนังประหลาดเรื่องหนึ่ง สร้างจากนิยายของ Chuck Palahniuk กำกับโดย เดวิด ฟินเชอร์ เป็นหนังที่ทำให้เราต้องขบคิดมากกว่าภาพที่เราเห็น
มองลึกทะลุความรุนแรงของหนังแล้ว นี่เป็นหนังคล้ายๆ เรื่อง The Matrix ดูเหมือนมันก้าวพ้นจากหนังทริลเลอร์เป็นหนังปรัชญา
1
บางทีนี่เป็นหนังเกี่ยวกับคนหลงทางในป่าคอนกรีต
5
มนุษย์จำนวนมากหลงทางในชีวิต สับสน ไร้จุดหมาย สิ้นหวัง
1
ตัวเอกของเรื่อง Fight Club พบว่าตนเองไม่เข้าพวกกับคนอื่น เขาไม่ชอบชีวิตแบบที่เป็นอยู่ เขารู้สึกว่าถูกจองจำอยู่ในโลกของความไร้สาระ
2
เหมือนนักบวชค้นหาซาโตริหรือนิพพาน เขาพยายามค้นหาเส้นทางใหม่
2
เขาไม่ได้เดินไปตามทางของตัวละคร ‘โกลด์มุนด์’ ในนวนิยายเรื่อง Narcissus and Goldmund ของ เฮอร์มานน์ เฮสเส
1
‘โกลด์มุนด์’ ในนวนิยายเรื่องนั้นพยายามหาความหมายของชีวิตโดยไม่ใช้เส้นทางของนักบวช หากไปในทิศทางของการเกี่ยวข้องกับสตรีและศิลปะ
2
นักบวชเดินไปในโลกสว่างไสวเพื่อค้นหาความหมายของชีวิต แต่ตัวเอกในเรื่อง Fight Club เลือกเดินไปในทางขวางโลกเพื่อหาความหมาย และเพื่อเป็นอิสระ
1
โลกยุคกลางของ ‘โกลด์มุนด์’ กับโลกบริโภคนิยมสมัยใหม่ของ Fight Club อาจมีรายละเอียดต่างกัน แต่มนุษย์ก็ยังหลงทางเหมือนกัน
1
เราเปรียบตัวเองกับคนอื่น คนอื่นมีอะไร เราต้องมีบ้าง เราเป็นทาส เราคิดว่าข้าวของต่างๆ แสดงว่าเรามีค่า
1
เราถูกสังคมควบคุม เราถูกโฆษณาล้างสมอง เราต้องการการยอมรับ จะหนีสิ่งเหล่านี้ได้ ต้องปฏิเสธค่านิยมสังคม ลดอัตตาของตัวเอง ต่อต้านระบบ กล้าท้าทาย จึงจะเป็นอิสระ
4
ตัวเอกพยายามทำทุกอย่างที่ได้รับการปลูกฝังหล่อหลอมมา กลายเป็นคนมีตัวตนที่ไม่ใช่เขาเอง เขาจึงสับสน จึงไม่มีความสุข
1
ความสับสนหรืออะไรก็ตาม ทำให้เขาสร้างทางเลือกใหม่
เขาอยากเป็นใครบางคนที่เป็นตัวของเขาเองจริงๆ และทันใดนั้น เขาก็พบบุคลิกอย่างนั้นในตัว ไทเลอร์ เดอร์เด็น
2
ไทเลอร์ เดอร์เด็น เป็นคนที่เขาอยากเป็น
1
เส้นทางของตัวเอกใน Fight Club คือการหาความหมายของชีวิตผ่านการทำลายล้าง ดังที่ตัวละครในเรื่องกล่าวว่า บางทีการพัฒนาตัวเองไม่ใช่คำตอบ การทำลายตัวเอง (self-destruction) ต่างหากคือคำตอบ
1
วลี self-destruction ในที่นี้อาจไม่ใช่ความหมายในเชิงลบ แต่อาจมีนัยของการทำลายอีโก้และเปลือกของตนเองก่อน เมื่อนั้นเราจึงจะสามารถก้าวต่อไปได้จริงๆ
4
คำว่า self ก็คือการยึดติดอย่างหนึ่ง
1
ตลอดประวัติศาสตร์โลก มีหลายประเทศลงโทษคนที่ต่อต้านโดยส่งไปรับการศึกษาใหม่ หรือ ‘ปรับทัศนคติ’ Fight Club ก็เช่นกัน คล้ายกับการศึกษาใหม่ แต่ด้วยการต่อสู้
1
บางครั้งการค้นหาความจริง ก็คือการสัมผัสความเจ็บปวดของการต่อสู้ Fight Club อาจเป็นสิ่งจำเป็นต่อความเปลี่ยนแปลง เช่นที่จะบ่งเสี้ยนออกจากนิ้ว ก็ต้องเจ็บบ้าง Fight Club เป็นสัญลักษณ์ของการทำลายเพื่อสร้าง การปลดปล่อยให้รู้สึกว่าตนมีอำนาจ ความเจ็บปวดทำให้หายกลัวความเจ็บปวด
ทำลายตัวตนได้เมื่อไร ก็อาจ ‘บรรลุธรรม’ ได้เมื่อนั้น
5
พวกเขาสู้กันส่วนหนึ่งอาจเพราะต้องการหนีสภาพสังคม
ไทเลอร์เห็นว่าจะหลุดจากวงจรอุบาทว์หรือความเป็นทาส ก็ต้องสู้ “เราจะรู้ตัวเราเองจริงๆ ได้ยังไง ถ้าเราไม่เคยสู้”
2
บางทีหนังอาจอยากสื่อกับเราว่า ความเจ็บปวดและบาดเจ็บจากการต่อสู้ก็คือสัญลักษณ์ของความรู้สึกของเราในสังคม เราเสพติดความเจ็บปวด เราชอบทำร้ายตัวเองโดยเดินตามทางที่คนอื่นบอก
4
ซื้อสินค้าตามที่คนอื่นวาง ‘เทรนด์’ ไว้ให้เราเดิน เราถูกสะกดจิตให้เชื่อว่าต้องซื้อสินค้าแบรนด์เนม ใช้สินค้าสำเร็จรูปเท่ๆ เรารู้สึกเท่ แต่ความจริงเราก็คือทาส เราคือหุ่นยนต์
3
เราจมอยู่ในหล่มทรายดูดของสังคมบริโภคนิยมเต็มตัว ไทเลอร์จึงบอกตัวเอกว่า โฆษณาบอกให้เราซื้อหารถยนต์และเสื้อผ้า เราทำงานที่เราเกลียดเพื่อที่เราสามารถซื้อสิ่งที่เราไม่ต้องการ แล้วสิ่งที่เราเป็นเจ้าของกลับเป็นเจ้าของเรา
4
“ถ้ามึงไม่รู้ว่ามึงต้องการอะไร... มึงก็จะลงเอยด้วยอีกหลายอย่างที่มึงไม่ต้องการ”
4
“มึงไม่ใช่งานที่มึงทำ มึงไม่ใช่เงินที่มึงฝากไว้ในธนาคาร มึงไม่ใช่รถที่มึงขับ มึงไม่ใช่ไอ้ที่อยู่ในกระเป๋าตังค์ของมึง มึงไม่ใช่ชุดที่มึงสวม พวกมึงล้วนเป็นปฏิกูลที่กำลังร้องเพลงเต้นระบำในโลก”
3
ในมุมมองของลัทธิเต๋า แม้จะเขียนมาหลายพันปีแล้ว แต่ก็เข้ากับยุคสมัยแห่งบริโภคนิยมได้ดี โลกทุกวันนี้เต็มไปด้วยกฎ ค่านิยมสังคม รวมทั้ง ‘เทรนด์’
มนุษย์สร้างกฎ กติกา ค่านิยม ศีลธรรม คุณค่าต่างๆ เพื่อประโยชน์ของสังคม แต่ในมุมมองของเต๋า มันควรลบทิ้ง เพราะไม่เกิดอะไร มันสวนทางกับวิถีที่เป็นจริง มันขวาง flow of life
2
มันเป็นสิ่งประดิษฐ์ของคน เหมือนว่ายทวนน้ำ มันเป็นวิถีชีวิตแบบ artificial กลายเป็นการสร้างคุกขึ้นมาขังตัวเอง
1
ในความคิดของเล่าจื๊อ คนที่แคร์ว่าคนอื่นคิดถึงเราอย่างไร จะเป็นนักโทษของคนผู้นั้นไปตลอด
12
บางครั้ง ‘เทรนด์’ อาจอยู่ในรูปของอุดมคติ ความสุข เสรีภาพ ศาสนา การทำบุญ การแสวงหาชาติหน้าที่ดีกว่า ไปจนถึงการแก้กรรม แม้กระทั่งประชาธิปไตย!
3
หนัง Fight Club แตะส่วนลึกที่สุดของเรา มันแตะฝันร้ายของเรา มันแตะส่วนที่ทำให้เราเจ็บปวด และมันปลุกเรา
1
ดังที่ตัวละครกล่าวว่า “กูปล่อยวาง หลงทางในสภาวะลืมเลือน ดำมืดและเงียบงันและเต็มเปี่ยม กูค้นพบอิสรภาพ การสูญสิ้นความหวังทั้งมวลก็คืออิสรภาพ”
1
แต่มนุษย์เราสามารถมีอิสรภาพได้จริงหรือ?
เราดิ้นรนพยายามดิ้นรนเพื่อเปลี่ยนแปลงความจำเจหนึ่งไปสู่อีกความจำเจหนึ่ง
ตัวละคร ไทเลอร์ เดอร์เด็น อาจสะท้อนปรัชญาสาย Stoicism เราคุมเรื่องที่คุมได้เท่านั้น ที่เหลือเราก็ปล่อยวาง ไทเลอร์จึงเป็นคนที่มีชีวิตอยู่กับปัจจุบันขณะ ถือคติ “let go” ไม่ยึดมั่นถือมั่นกับอะไร ไม่มีห่วง ไม่มีอะไรในโลกคุ้มค่าให้ห่วง
2
เขาอาจเห็นว่าชีวิตคนเราสั้น มันไหลไปทีละนาที ทำไมเราต้องเดินชีวิตตามกฎกติกาของคนอื่นหรือของสังคม
1
ไทเลอร์ เดอร์เด็น บอกว่า “เราถูกโทรทัศน์ล้างสมองให้เชื่อว่า วันหนึ่งเราจะเป็นมหาเศรษฐี เป็นดาราหนัง เป็นร็อคสตาร์ แต่เราจะไม่ได้เป็น เราจะค่อยๆ เรียนรู้ความจริงนั้น และเราจะโกรธมาก”
5
ในช่วงกลางของเรื่อง ไทเลอร์ เดอร์เด็น ก่อตั้งองค์กรต่อต้านวัตถุนิยมและบริโภคนิยม เรียกว่า Project Mayhem สมาชิกองค์กรนี้ทำเรื่องก่อกวนป่วนสังคม ทำลายข้าวของ ทำร้ายคน และในตอนท้ายวางแผนจะทำลาย
ไทเลอร์ขยายขอบข่ายของการสู้กันในกลุ่ม เป็นการสู้กับระบบ
ไทเลอร์มีแผนจะลบบัญชีหนี้ของประชาชน โดยตั้งใจจะระเบิดอาคารธนาคารทั้งหลาย ที่เก็บบัญชีเครดิตการ์ดทั้งหมด
“ต่อเมื่อเราสูญเสียทุกอย่าง จึงเป็นอิสระที่จะทำอะไรก็ได้”
2
ถ้าจะกินไข่ ก็ต้องทำให้ไข่แตกก่อน
ตัวเอกพบว่าองค์กรของไทเลอร์แพร่ไปตามเมืองต่างๆ ทั่วประเทศ ตัวเอกพยายามหยุดแผนการร้ายของไทเลอร์ แต่เขาจะทำได้หรือ เพราะมีคนจำนวนมากในโลกที่อยากเปลี่ยนแปลง โดยรื้อถอนสังคมแนวคิดเก่า
ตัวเอกพยายามจะบอกตำรวจ แต่พบว่าตำรวจก็เป็นสมาคมองค์กรนั่นเอง
เราไม่รู้แน่ว่าทำไมตัวเอกพยายามหยุด Project Mayhem เพราะอุดมคตินี้ไปไกลเกินไป? หรือเพราะเขาพลันตื่นและเข้าใจโลกแห่งความจริง หรือความไร้สาระของทุกสิ่ง?
ในตอนจบ ตัวเอกกับมาร์ลามองดูอาคารการเงินที่ถล่มลงมาทีละตึก
1
บางทีเราไม่มีทางเปลี่ยนแปลงโลกได้ เพราะในส่วนลึกของเรา เรายังอยากจมในหลุมทรายดูด มันเหนื่อยน้อยกว่าเมื่อไม่ออกแรงสู้ทรายดูด ยอมรับชะตากรรม
3
เช่นกัน หากมองด้วยหลัก Stoicism เรื่องบางเรื่องอยู่เหนือการคุมของเรา
1
บางทีเราไม่มีทางเปลี่ยนหรือทำลายระบบ เพราะต่อให้เราทำลาย ระบบก็งอกขึ้นมาใหม่เสมอ ประวัติศาสตร์โลกบอกเราเช่นนั้น
2
เราเปลี่ยนรายละเอียดของเหตุการณ์ได้ แต่เราเปลี่ยนสันดานและพฤติกรรมของมนุษย์ไม่ได้
4
“มึงซื้อเฟอร์นิเจอร์ มึงบอกตัวเองว่านี่จะเป็นโซฟาตัวสุดท้ายในชีวิตมึง ซื้อโซฟา แล้วสักหลายปีมึงก็พอใจว่าไม่ว่าเกิดอะไรผิดพลาด อย่างน้อยมึงก็มีโซฟา ตามมาด้วยชุดจานชาม เตียงนอนที่เพอร์เฟ็คท์ ผ้าม่าน พรม แล้วมึงก็ติดกับในรังน่ารักของมึง และสิ่งต่างๆ ที่มึงเคยเป็นเจ้าของ กลับเป็นเจ้าของมึง”
1
Fight Club เป็นหนังที่แตะหลายบริบทหลายมิติในสังคม เรื่องลัทธิบริโภคนิยม เรื่องการเมือง ไปจนถึงปรัชญาชีวิต
1
Fight Club อาจเป็นสัญลักษณ์ที่ชี้ว่าเราต้องการข้ามกำแพงคุกของเรา และสิ่งแรกที่เราต้องมีประสบการณ์คือความเจ็บปวด
แม้เป็นการต่อสู้ แต่นี่ไม่ใช่เรื่องความรุนแรง Fight Club เป็นเหมือนสัญลักษณ์ของการแสวงหาประสบการณ์ความรู้สึกว่าตนเองไม่ถูกสังคมกดขี่ หรือต่อต้านสังคมเซมเซม บริโภคนิยม สังคมที่นักการตลาดขีดเส้นให้เดิน
3
Fight Club เป็นหนังวิพากษ์วิจารณ์และเสียดสีสังคม มันไม่ได้บอกทางแก้ มันแค่บอกว่าคนจำนวนมากเบื่อระบบ อยากเปลี่ยนแปลง ความรุนแรงอาจเป็นเครื่องมือ ไม่ใช่เพื่อเปลี่ยนสังคม แต่เพื่อปลดปล่อยเสียงกรีดร้องของพวกเขาออกมา
โฆษณา