3 ต.ค. 2022 เวลา 07:29 • ประวัติศาสตร์
อับราฮัม ลินคอล์น การเลิกทาส และ สงครามกลางเมือง
การที่อับราฮัม ลินคอล์น ได้มีโอกาสพบเห็นการค้าทาสที่นิวออร์ลีนส์ เมื่อ ค.ศ. 1831 นั้น ทำให้เขารู้สึกเศร้าสลดใจเป็นอย่างมาก ที่เพื่อนมนุษย์ด้วยกันต้องมีสภาพเป็นสินค้า ภาพหญิงสาวชาวแอฟริกันเดินโชว์สัดส่วนให้นายทาสคัดเลือก ยังคงวนเวียนอยู่ในความคิดคำนึงของเขาเรื่อยมา
นี่อาจเป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจสำคัญ ที่ทำให้เขาพยายามเข้าสู่เส้นทางการเมือง เพื่อใช้เป็นเวทีรณรงค์ ให้สังคมตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องยกเลิกระบบทาส เห็นได้จากการเสนอร่างกฎหมายปลดปล่อยทาสในบางมลรัฐ
ถึงแม้ว่าจะไม่ได้รับการเห็นชอบจากสภา แต่ก็ไม่ได้ทำให้ลินคอล์นลดละความตั้งใจลงแต่อย่างใด เพราะในช่วงเวลานั้นมีการตั้งคำถามถึงการมีอยู่ของระบบทาสกันในวงกว้าง แม้กระทั่งในเวทีช่วงชิงตำแหน่งวุฒิสมาชิกรัฐอิลินอยด์ในปี ค.ศ. 1858 ก็ยังมีการโต้วาทีระหว่าง อับราฮัม ลินคอล์น กับ สตีเฟน เอ ดักลาส ประเด็นการขยายระบบทาสเข้าไปในดินแดนฝั่งตะวันตก
แน่นอนว่าการจะยกเลิกขนบธรรมเนียมที่ยึดมั่นมาอย่างยาวนาน ไม่ใช่สิ่งที่จะกระทำกันได้ง่าย ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบทาส ที่ผูกพันอย่างล้ำลึกกับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการเมือง
เพราะทันทีที่ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1860 ปรากฏเป็นที่แน่ชัดว่า อับราฮัม ลินคอล์น และพรรครีพับลิกันเป็นฝ่ายชนะ ก็เกิดความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างรัฐฝั่งเหนือที่ไม่นิยมระบบทาส กับรัฐฝั่งใต้ที่ครอบครองแรงงานทาสไว้จำนวนมหาศาล กลิ่นไอสงครามกลางเมืองคละคลุ้ง จนประธานาธิบดี “ เจมส์ บูชานัน “ ที่ยังคงดำรงตำแหน่งอยู่เพื่อถ่ายโอนอำนาจ ถึงกับปรารภออกมาว่า “ ฉันคงจะเป็นประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาคนสุดท้าย “
ความแตกแยกทางการเมืองเริ่มต้นอย่างกระจ่างชัด เมื่อรัฐที่รับรองระบบทาสอย่าง เซาท์แคโรไรน่าประกาศแบ่งแยกดินแดน ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1860 ตามมาด้วยการแยกตัวของ มิสซิสซิปปี้ ฟลอริด้า อะลาบามา จอร์เจีย หลุยส์เซียน่า และเท็กซัส ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1861 รวม 7 รัฐ ก่อตั้งเป็นสมาพันธรัฐแห่งอเมริกา โดยมี “ เจฟเฟอร์สัน เดวิส “ เป็นประธานาธิบดี ถือว่าเป็นการชิงจังหวะทางการเมือง ก่อนที่อับราฮัม ลินคอล์น จะเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา ในวันที่ 4 มีนาคม ต.ศ. 1861
แม้ว่าเรื่องทาสจะไม่ใช่สาเหตุเดียวที่นำไปสู่สงครามระหว่างรัฐฝั่งเหนือและฝั่งใต้ เพราะมีนโบบายเรื่องภาษีและธนาคารแห่งชาติ ซึ่งก็ถือเป็นเรื่องใหญ่พัวพันกับผลประโยชน์ของนายทุนและผู้มีอำนาจ แต่กระนั้นระบบทาสก็ยังเข้าไปยึดโยงกับระบบเศรษฐกิจและการเมือง รวมทั้งความสัมพันธ์กับยุโรปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
สงครามกลางเมืองอเมริกาในปีแรกอาจยังไม่ได้แสดงเจตจำนงเรื่องการปลดปล่อยทาส เพราะรัฐบาลลินคอล์นต้องการรบเพื่อยุติการแบ่งแยกดินแดน แต่กระนั้นก็ยังมีบางรัฐสมัครใจเข้าร่วมสมทบกับฝ่ายใต้อีก 4 รัฐ คือ เวอร์จิเนีย อะคันซอ เทนเนสซี่ และ นอร์ธแคโรไรน่า
เมื่อขึ้นสู่ปีที่สองนั้นมีทีท่าว่าอังกฤษจะเข้ามาแทรกแซง ลินคอล์นจึงตัดสินใจประกาศปลดปล่อยทาสในเมืองหลวง และในเขตที่ยังไม่จัดตั้งรัฐ เพื่อให้สอดคล้องกับอุดมการณ์ของอังกฤษรวมทั้งฝรั่งเศส มิหนำซ้ำยังประกาศให้วันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1863 เป็นวันเริ่มต้นการปลดปล่อยทาสในรัฐฝั่งใต้ทั้ง 11 รัฐ และทั่วประเทศ
เมื่อสงครามเข้าสู่ปีที่สี่ รัฐฝ่ายเหนือก็สามารถยึดจุดยุทธศาสตร์สำคัญไว้ได้เกือบทั้งหมด เริ่มเห็นชัยชนะของฝ่ายให้เลิกทาสอย่างชัดเจน และเมื่อถึงวาระเลือกตั้งประธานาธิบดี อับราฮัม ลินคอล์น ก็ยังคงได้รับความไว้วางใจจากประชาชน ให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกาเป็นสมัยที่สอง
ส่วนสงครามกลางเมืองนั้นสิ้นสุดลง เมื่อนายพล “ โรเบอร์ต อี.ลี “ แม่ทัพของฝ่ายใต้ยอมจำนนในวันที่ 9 เมษายน ค.ศ. 1865 แต่หลังจากนั้นเพียง 4 วัน อับราฮัม ลินคอล์น ก็ถูกลอบสังหารจนถึงแก่อสัญกรรม ขณะที่กำลังชมละครอยู่กับบุตรชาย ถือเป็นความสูญเสียครั้งสำคัญของระบบการเมืองอเมริกา อย่างไรก็ตามปณิธานการปลดปล่อยทาสของลินคอล์นและอเมริกันชนส่วนใหญ่ก็ยังคงดำเนินต่อไป ทั้งการแก้ไขกฎหมายปลดปล่อยทาสเพิ่มเติมในปลายปี 1865 รวมทั้งการบังคับใช้กฎหมายให้มีผลในทางปฏิบัติ
โดยสรุปก็คือ ในสังคมอเมริกันนั้น ระบบทาสเจริญเติบโตขึ้นมาพร้อม ๆ กับทุนนิยม และแฝงไปด้วยชาตินิยม ซึ่งลงหลักปักฐานในแผ่นดินอเมริกาก่อนที่จะสถาปนาเป็นสหรัฐนับร้อยปี การดำรงวิถีแห่งประชาธิปไตยซึ่งเกิดขึ้นภายหลัง จึงเป็นปฏิปักษ์กับระบบทาสอย่างชัดเจน แต่ในช่วงที่ต้องมีการบูรณาการอาณานิคมต่าง ๆ เข้าไว้ด้วยกัน ระบบทาสจึงได้รับการประนีประนอมให้สถิตอยู่ร่วมกันในรัฐประชาธิปไตย แต่กระนั้นก็ยังต้องต่อสู้กับขบวนการปล่อยทาสที่มีมาอย่างต่อเนื่อง
อับราฮัม ลินคอล์น นั้นเป็นส่วนปลายของปรากฏการณ์ ที่รวมปัญหาความขัดแย้งทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม ซึ่งพัวพันกับระบบทาสไว้ด้วยกัน จึงเกิดการแตกแยกทางอุดมการณ์ครั้งใหญ่ และกลายเป็นสงครามกลางเมืองในที่สุด
ข้อมูลอ้างอิง
ก.ศ.เวชยานนท์ . ชีวะประวัตินักการเมืองเอกของโลก . สำนักงานโชตินิติ . พ.ศ. 2490
ชาญ เกศพงศ์ และ เอื้อ บุษปะเกศ นวกุล . ผู้พลิกแผ่นดินอเมริกา . โรงพิมพ์วิบูลกิจ . พ.ศ. 2493
ร.ต.ฉลาด ไวอาษา และ ประสาน มินประพาฬ . 20 รัฐบุรุษแห่งอเมริกา . ไทยแบบเรียน . พ.ศ.2495
อรพินท์ ปานนาค . วิชาประวัติศาสตร์อเมริกา 1 ( HI 381 ) . มหาวิทยาลัยรามคำแหง . พ.ศ. 2547
โฆษณา