5 ต.ค. 2022 เวลา 17:26 • ประวัติศาสตร์
การเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และ ล่มสลาย ของระบอบโชกุนโทกุกาวะ
3
ญี่ปุ่นถือว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการสืบวงศ์กษัตริย์มาอย่างยาวนาน จากอดีตจวบจนปัจจุบันไม่ต่ำกว่า 1,500 ปี ถ้าจะบอกว่าราชวงศ์อิมพีเรียลหรือดอกเบญจมาศของจักรพรรดิญี่ปุ่นนั้น มีความต่อเนื่องที่สุดในโลกก็เห็นจะไม่ผิดไปจากความเป็นจริง
ทั้งนี้ทั้งนั้นเมื่อกองทัพมีความเข้มแข็งพร้อม ๆ กับการก่อตัวขึ้นของระบบศักดินา อำนาจบริหารนั้นแทบจะไม่ได้อยู่ในพระหัตถ์ขององค์พระประมุข แต่กลับไปอยู่ในกำมือของผู้นำทางทหาร ซึ่งบางสมัยก็ดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการ หลายสมัยดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดที่ผู้คนส่วนใหญ่เรียกว่า “ โชกุน “
รูปแบบการปกครองของญี่ปุ่นในสมัยโบราณจึงมักจะมีความเป็นราชาธิปไตยเพียงแค่ในนาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการทำสงครามแย่งชิงอำนาจทางการเมืองระหว่างนายทหารสองตระกูลคือ “ มินะโมะโตะ “ และ “ ไทระ “ แล้วนำไปสู่การสร้างระบอบโชกุนขึ้นมา เพื่อควบคุมอำนาจทางทหารและการเมืองของประเทศในพุทธศักราช 1728 ตระกูลมินะโมะโตะจึงเป็นตระกูลแรกที่ครอบครองญี่ปุ่นในตำแหน่งโชกุน
หลังจากนั้นก็มีการแย่งชิงอำนาจทางการเมืองไปสู่ตระกูลต่าง ๆ อาทิ ผู้สำเร็จราชการตระกูลโฮโจ และ โชกุนตระกูลอะชิกะงะ จนเข้าสู่ยุคแห่ความโกลาหลที่ “ ไดเมียว “ หรือเจ้าผู้ครองแว่นแคว้นต่างชิงกันเป็นใหญ่ เป็นเหตุให้อำนาจของโชกุนตระกูลอะชิกะงะเสื่อมไปในที่สุด
และแล้วความวุ่นวายก็เริ่มมีที่ท่าว่าจะผ่อนคลายลงเมื่อ โอดะ โนบุนางะ และ โทะโยะโทะมิ ฮิเดโยชิ รวมทั้ง โทกุกาวะ อิเอะยะซุ ทำสงครามเพื่อผนึกแว่นแคว้นต่าง ๆ เข้าไว้ด้วยกันในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 22 ทั้งโนบุนางะ และ ฮิเดโยชิ มีโอกาสได้ควบคุมอำนาจทางการเมืองญี่ปุ่นในระยะเวลาสั้น ๆ เพราะเสียชีวิตไปก่อน ดังนั้นความสำเร็จทั้งหลายทั้งปวงจึงตกไปอยู่ในกำมือของอิเอะยะซุ โชกุนคนแรกของตระกูล “ โทกุกาวะ “
ชัยชนะอย่างเด็ดขาดใน “ สงครามเซกิงะฮาระ “ ราวต้นพุทธศตวรรษที่ 22 ถือเป็นต้นทุนสำคัญในการสถาปนาระบอบโทกุกาวะขึ้นมาในปี 2146 เพราะนอกจากจะทำให้ราชสำนักและไดเมียวในแว่นแคว้นต่าง ๆ ได้เห็นว่าฝ่ายใดที่ครอบครองอำนาจอย่างแท้จริงแล้ว หากยังใช้เป็นเกณฑ์ในการจัดระเบียบทางการเมือง ด้วยการแบ่งระดับความสำคัญของไดเมียวออกเป็น 3 ระดับกล่าวคือ
“ ฌิมปัน “ เป็นไดเมียวกลุ่มแรกที่ต้องพูดถึง เพราะเป็นที่เป็นเชื้อสายของโทกุกาวะโดยตรง มีความจงรักภักดีอย่างไม่ต้องสงสัย ส่วนกลุ่มที่เชื่อว่ามีความภักดีรองลงมาคือ “ ฟุดะอิ “ ซึ่งเป็นไดเมียวที่ร่วมก่อการใหญ่ก่อนที่สงครามเซกิงาฮะระจะสิ้นสุดลง กลุ่มสุดท้ายคือ “ โทสะมะ “ เป็นไดเมียวที่ยอมจำนนเพราะแพ้สงคราม จึงถือว่ามีข้องกังขาในเรื่องความภักดีต่อโทกุกาวะไม่น้อยทีเดียว
ด้วยประการฉะนี้ฐานที่มั่นของรัฐบาลทหารโทกุกาวะ หรือ ” บะกูฟุ “ ที่เมืองเอโดะ จึงต้องแวดล้อมไปด้วยแว่นแคว้นของไดเมียวกลุ่มฌิมปัน ถัดจากนั้นจึงเป็นกลุ่มฟุดะอิ และโทสะมะเป็นวงนอกสุด ถือว่าเป็นการสร้างระบบป้องกันการโจมตีจากศัตรูได้เป็นอย่างดี แล้วก็เป็นที่แน่นอนว่าตำแหน่งสำคัญในรัฐบาลโทกุกาวะนั้นต้องคัดเลือกคนมาจากกลุ่มฌิมปันและฟุดะอิ
บะกูฟุของโชกุนนั้นเป็นรัฐบาลกลางที่รัฐบาลท้องถิ่นของไดเมียวจะต้องเชื่อฟัง กฎหมายที่ตราขึ้นจากบะกูฟุมีผลบังคับใช้ทั้งประเทศ การปกครองของญี่ปุ่นในยุคที่โทกุกาวะเรืองอำนาจจึงมีลักษณะกึ่งรวมศูนย์และกระจายอำนาจ เรียกกันว่า “ บะกุ-ฮัน “
โดยที่อำนาจของไดเมียวยังคงมีเกือบสมบูรณ์ในเขตการปกครองของตน บังคับบัญชาทหารและพลเรือนได้ แต่ก็มีการควบคุมจากบะกูฟุอย่างห่าง ๆ มีการสลับสับเปลี่ยนโยกย้ายเขตการปกครองกันหลายต่อหลายครั้ง อีกทั้งยังมีการจำกัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจไม่ให้ใหญ่โตจนเกินไปเช่น เช่น จำกัดขนาดของเรือสินค้า สงวนสิทธิ์การสร้างท่าเรือ ห้ามตั้งด่านเก็บค่าธรรมเนียม ห้ามค้าขายกับต่างประเทศโดยตรง
ซึ่งทำให้มองได้ว่าทางบะกูฟุไม่อยากให้ไดเมียวสั่งสมอำนาจและความมั่งคั่งจนแข็งเมืองได้ในภายหลังและเพื่อให้การควบคุมอำนาจของไดเมียวได้อย่างมีประสิทธิภาพ รัฐบาลโทกุกาวะจึงกำหนดให้ไดเมียวมีวาระที่ต้องเข้ามาปฏิบัติราชการที่เอโดะเป็นประจำ
เช่น กลุ่มฟุดะอิต้องมารายงานตัวทุก 6 เดือน กลุ่มโทสะมะต้องมารายงานตัวปีเว้นปี อีกทั้งยังต้องสร้างบ้านพักประจำแคว้น ที่สำคัญก็คือ กำหนดให้ภรรยาและบุตรของไดเมียวต้องพักในเอโดะเพื่อเป็นตัวประกัน เพราะฉะนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่เราจะพบว่า การก่อกบฏขนาดใหญ่นั้นเกิดขึ้นยากมากในยุคเอโดะ
ไดเมียวและซามูไรรวมทั้งผู้ติดตามมากว่า 260 แคว้น ที่ต้องเข้าปฏิบัติราชการและแสดงความจงรักภักดีต่อโชกุนนั้น ก่อให้เกิดการเดินทางอย่างสม่ำเสมอทั่วทั้งประเทศ มีส่วนสำคัญที่ทำให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง เพราะต้องเลี้ยงดูไพร่พลและต้องจัดเตรียมของกำนัลให้สมเกียรติยศของโชกุน เกิดชุมทางการค้าขึ้นหลายแห่ง รวมทั้งการสร้างเส้นทางคมนาคม
เอโดะในฐานะเมืองศูนย์กลางการปกครองจึงขยายตัวอย่างรวดเร็ว กลายเป็นมหานครที่คับคั่งไปด้วยผู้คนไม่แพ้หลายเมืองในยุโรป อย่างไรก็ตามพื้นฐานเศรษฐกิจของญี่ปุ่นในยุคนั้นยังคงต้องพึ่งพาเกษตรกรรมเป็นหลัก ชาวนามีชีวิตแสนจะลำบาก แต่ก็ได้รับการยกย่องให้อยู่ในชนชั้นลำดับที่สองในสี่ชนชั้นคือ 1.นักรบ 2.ชาวนา 3.ช่างฝีมือ 4.พ่อค้า ความมั่งคั่งของโชกุนและไดเมียวจึงได้มาจากผลผลิตส่วนเกินของเกษตรกรเป็นสำคัญ
ในวันเวลาที่ตระกูลโทกุกาวะถืออำนาจอธิปไตยของญี่ปุ่นไว้นั้น การค้าทางทะเลซึ่งเป็นค้าโลกได้แพร่กระจายไปในหลายทวีป แต่ทางเอโดะก็ตัดสินใจที่จะปิดประเทศ ทั้ง ๆ ที่ในก่อนหน้านี้ ญี่ปุ่นจะเคยใช้ประโยชน์จากเทคนิควิยาการและปรัชญาจากต่างประเทศมาแล้ว
ทั้งจากมหาอำนาจเอเชียอย่างจีน ซึ่งถ่ายทอดพุทธศาสนา ลัทธิขงจื้อ อักษรศาสตร์ แม้กระทั้งแนวคิดด้านการปกครอง ทั้งโดยตรงและผ่านเกาหลี ส่วนการติดต่อกับยุโรป ไม่ว่าจะเป็น โปรตุเกส สเปน อังกฤษ และฮอลันดา นั้นก็ทำให้ญี่ปุ่นรู้จักสินค้าและเทคโนโลยีแปลกใหม่มากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาวุธยุทโธปกรณ์
รวมทั้งคริสต์ศาสนา ที่โทกุกาวะเล็งเห็นว่ามีความแปลกแยกต่อจารีตประเพณีการปกครองของญี่ปุ่น ซึ่งเป็นผลรวมของ ชินโต พุทธ และขงจื้อ แน่นอนว่าผลของการปิดประเทศนั้น ย่อมเอื้อประโยชน์โดยตรงต่อการกุมอำนาจของรัฐบาลโทกุกาวะ แต่ในขณะเดียวกันก็ทำให้ญี่ปุ่นพลาดอานิสงของวิทยาการตะวันตกไปพอสมควร
อย่างไรก็ตาม ระบบศักดินาของญี่ปุ่นก็ไม่ตัดขาดไปจากโลกภายนอกเสียทีเดียว เพราะทางเอโดะยังคงอนุญาตให้ฮอลันดาค้าขายกับญี่ปุ่นได้ แต่ก็เฉพาะที่เกาะเดจิมะในอ่าวนางาซะกิเท่านั้น เพราะฮอลันดานั้นไม่สนใจเรื่องการเผยแผ่ศาสนาและการเมือง ส่วนพ่อค้าจีนนั้นก็อนุญาตเพียงไม่กี่ราย ขณะเดียวกันก็ยังเปิดประเทศติดต่อกับหลาย ๆ รัฐในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ดังนั้นการปิดประเทศของญี่ปุ่นจึงมุ่งแค่สกัดกันอิทธิพลการเมืองและศาสนาของตะวันตก เพื่อสร้างเสถียรภาพทางการเมืองภายในเป็นสำคัญ เพราะเอาเข้าจริง ๆ แล้วการปิดประเทศแบบสุดโต่งไม่มีการประนีประนอม ย่อมเป็นผลเสียต่อระบบเศรษฐกิจและทำให้ญี่ปุ่นนั้นล้าหลังอย่างรุนแรง
ล่วงเข้าสู่ปลายสุดของพุทธศตวรรษที่ 24 ต่อเนื่องศตวรรษที่ 25 ระบบทุนนิยมโลกเติบโตขึ้นควบคู่กับจักรวรรดินิยมเป็นอย่างมาก ในขณะที่ระบบเศรษฐกิจที่มัดรวมกับศักดินานั้นแทบจะไม่ใช่คำตอบของชาวญี่ปุ่นอีกแล้ว เพราะทุนนิยมในญี่ปุ่นก็เจริญเติบโตขึ้นมากเช่นกัน
ชนชั้นซามูไรผู้ทรงเกียรติมีหนี้สินมากมาย ในขณะที่ความร่ำรวยมั่งคั่งนั้นไหลไปสะสมอยู่ในชนชั้นล่างอย่างพ่อค้า ด้วยเหตุที่กฎระเบียบและจารีตประเพณีที่โทกุกาวะสถาปนาเอาไว้นั้น แข็งทื่อจนทำให้ซามูไรไม่อาจหารายได้จากการค้าขายได้เลย รายรับส่วนใหญ่จึงเกิดจากรับใช้เจ้านายเท่านั้น ฝ่ายเจ้านายที่เป็นไดเมียวก็ต้องดำรงอยู่ภายใต้การควบของรัฐบาลโทกุกาวะ ซึ่งก็ทำให้ปรับตัวได้อย่างลำบากในยุคที่โลกกำลังเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ระบบตลาด ผลผลิตส่วนเกินที่ดูดมาจากชาวนานั้นไม่เพียงพอที่จะสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจได้
การเปลี่ยนแปลงทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ในโลกตะวันตก ล้วนส่งผลให้เกิดความก้าวหน้าทางอุตสาหกรรมอย่างยิ่งยวด อาวุธยุทโธปกรณ์ที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง ส่งเสริมให้ประเทศในยุโรปและอเมริกามีกองทัพเรือที่แข็งแกร่ง แผ่แสนยานุภาพทางทหารไปทั่วทุกภูมิภาคของโลก
สิ่งเหล่านี้เป็นแรงกดดันที่รัฐบาลทหารโทกุกาวะและไดเมียวในแว่นแคว้นต่าง ๆ รวมทั้งคนรุ่นใหม่รับรู้ได้ อย่างน้อยก็เห็นได้จากกรณีของจีน ที่แม้จะมีพลเมืองและกำลังทหารมากมายมหาศาล แต่ยังพ่ายแพ้กองทัพที่มีขนาดเล็กกว่าของชาติตะวันตก จนต้องทำสนธิสัญญาที่เสียเปรียบและถูกบังคับให้เปิดดินแดนชายฝั่งทะเลหลายแห่ง มิหนำซ้ำยังเรียนรู้ได้จากการที่ชาติต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งอินเดีย ที่ต่างก็ถูกชาติตะวันตกคุกคามทั้งทางตรงและทางอ้อม
กว่า 250 ปี ของการปิดประเทศแล้วปกครองด้วยระบบศักดินาอย่างเข้มงวด ในที่สุดก็ดำเนินมาถึงจุดเปลี่ยนสำคัญที่ก่อให้เกิดกระแสต่อต้านรัฐบาลทหารโทกุกาวะ คือการยอมเปิดประเทศให้กับสหรัฐอเมริกาแบบไม่เต็มใจในพุทธศักราช 2397
แน่นอนว่ามันเป็นการตัดสินใจที่แสนลำบาก เพราะยิ่งปิดประเทศก็ยิ่งหล้าหลัง ทั้ง ๆ ที่คนญี่ปุ่นเองนั้นมีความทะเยอทะยานอยู่ไม่น้อย แต่ครั้นจะเปิดประเทศก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเสียเปรียบชาติตะวันตก และที่สำคัญก็คือทางเอโดะย่อมสูญเสียการผูกขาดอำนาจทางเศรษฐกิจและการเมืองไปโดยปริยาย เนื่องจากมีผู้คนเข้าไม่ถึงอำนาจจำนวนมากต้องการความเปลี่ยนแปลง และถ้าตระกูลโทกุกาวะยังคงผูกขาดอำนาจอย่างเหนียวแน่น การเปลี่ยนแปลงญี่ปุ่นย่อมไม่มีทางเกิดขึ้นได้เลย
กลุ่มที่เข้าไม่ถึงแวดวงอำนาจนั้นไม่ใช่มีแค่พวกซามูไรไร้สังกัด หรือพวกไดเมียววงนอกเท่านั้น หากยังรวมไปถึงองค์พระประมุขของประเทศอีกด้วย เพราะเป็นที่ทราบดีอยู่แล้วว่า ทางโทกุกาวะนั้นได้ถืออำนาจอธิปไตยเอาไว้เกือบทั้งหมด สมเด็จพระจักรพรรดิทรงมีพระราชอำนาจเพียงแค่ในนาม ได้รับการยกย่องเชิดชูในฐานะอันสูงส่งดั่งเทพเจ้า ทรงมีหน้าที่เพียงแค่ทางพิธีกรรม แต่ไม่สามารถติดต่อกับบรรดาไดเมียวได้โดยตรง ไม่สามารถเสด็จพระราชดำเนินไปในที่ต่าง ๆ ได้ดั่งพระราชประสงค์
แม้กระทั่งการแต่งตั้งเสนาบดีในราชสำนักที่เกียวโต ก็ยังต้องอยู่ในการดูแลของโชกุน ส่วนพระราชทรัพย์นั้นก็มีน้อยมากเมื่อเทียบกับโชกุน ลองคิดดูว่ารายได้ของราชสำนักที่เกียวโตนั้นมีเพียง 200,000 โกกุ ต่อปี ในขณะที่บากูฟุและเครือข่ายนั้นมีรายได้ถึง 7,000,000 โกกุ ต่อปี ถือเป็นความมั่งคั่งที่ห่างกันราวฟ้ากับเหวเลยทีเดียว
ปัญหาเศรษฐกิจและการเมืองอันเนื่องมาจากทำการเปิดประเทศเพื่อค้าขายกับตะวันตกนั้น ไม่ว่าจะเป็นปริมาณทองคำที่ไหลออกนอกประเทศมากเกิน ราคาข้าวที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ปัญหาค่าครองชีพและหนี้สินของคนเมือง การตกอยู่ภายใต้อิทธิพลทางทหารของตะวันตก ล้วนก่อให้เกิดความแตกแยกทางความคิดอย่างรุนแรง ทั้งในหมู่ประชาชนรวมทั้งผู้นำกลุ่มต่าง ๆ ในบากูฟุ
แม้ว่าจะมีความพยายามแก้ปัญหาเศรษฐกิจกันหลายครั้ง แต่ทว่าไม่ได้แก้ไปถึงรากฐาน ระบบศักดินาก็ยังดำรงอยู่ อำนาจบริหารประเทศยังคงวนเวียนอยู่กับคนกลุ่มเดิม ๆ ปัจจัยการผลิตก็ยังไม่รองรับการขยายตัวของระบบทุน
กระแสการโค่นล้มการผูกขาดอำนาจของโทกุกาวะจึงเกิดขึ้น พร้อม ๆ กับความต้องการฟื้นฟูพระราชอำนาจของสมเด็จพระจักรพรรดิ เพราะการที่จะเผชิญหน้ากับโทกุกาวะได้นั้น จำเป็นต้องมีแหล่งรวมแห่งความสามัคคี ซึ่งก็แน่นนอนว่าควรให้พระมหากษัตริย์เป็นผู้ถืออำนาจอธิปไตยเอาไว้ก่อน ไม่เช่นนั้นก็คงจะไม่มีไดเมียวคนใดกล้าเข้าร่วมก่อการ
แว่นแคว้นวงนอกอย่าง โชชู และ สัตซึมะ ถือว่าเป็นกำลังหลักในการรื้อถอนอำนาจของรัฐบาลโทกุกาวะ เพราะมีความพร้อมในเรื่องแสนยานุภาพ มีการสะสมอาวุธที่ทันสมัยของตะวันตกไว้มากเพียงพอ ประกอบกับแรงสนับจากซามูไรรุ่นใหม่และรุ่นเก่ารวมทั้งชาวนาและพ่อค้า ที่เห็นตรงกันว่า โทกุกาวะนั้นเป็นอุปสรรคต่อความเจริญก้าวหน้าของญี่ปุ่น ทั้ง ๆ การเปิดประเทศนั้นมีส่วนที่นำความทันสมัยให้ไหลเข้าสู่ญี่ปุ่น แต่กระนั้นก็ต้องแลกด้วยความเสียเปรียบทางการค้า อีกทั้งยังต้องเสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขต
การใช้กำลังต่อต้านชาติตะวันตกของเหล่าซามูไรรุ่นหนุ่มระหว่างปีพุทธศักราช 2403 – 2407 จึงเกิดขึ้น ซึ่งแม้ว้าจะล้มเหลวก็ตาม เนื่องจากทางสัตซึมะยังไม่เข้าร่วม ทั้งนี้ก็อาจเป็นเพราะสัตซึมะ ยังไม่มั่นใจต่อสถานการณ์ หรือไม่ก็ยังเห็นประโยชน์จากการฝักใฝ่เอโดะ แต่กระนั้นก็เป็นฉนวนสำคัญที่ทำให้เกิดความเกลียดชังรัฐบาลโทกุกาวะเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล ซามูไรรุ่นใหม่ผู้กระหายการเปลี่ยนแปลงต่างมุ่งหน้าไปรวมตัวกันอยู่ที่แคว้นโชชู
ในที่สุดก็เกิดความตึงเครียดทางการเมืองจนนำไปสู่การทำสงครามครั้งใหญ่ในปี 2409 เมื่อทางโชชูกับสัตซึมะกลายเป็นพันธมิตรกัน กองทัพโทกุกาวะซึ่งนำโดยโชกุนอิเอโมจิต้องปราชัยอย่างราบคาบ มิหนำซ้ำยังต้องสูญเสียโชกุนอีกในเวลาต่อมา
แม้จะได้โชกุนคนใหม่อย่าง โทกุกาวะ โยชิโนบุ ขึ้นมาเป็นผู้นำรัฐบาล แต่ดูเหมือนว่าอำนาจทางการเมืองกำลังหลุดลอยไปจากเอโดะอย่างรวดเร็ว พระราชอำนาจของพระจักรพรรดิเมจิที่เพิ่งจะขี้นครองราชย์สมบัติ กลับเพิ่มพูนขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ ด้วยกำลังทหารที่ฝึกอาวุธแบบตะวันตกของแคว้นโชชูและสัตซึมะ
รัฐบาลกุกาวะถูกกดดันให้ถวายคืนอำนาจการบริหารราชการแผ่นดินแด่สมเด็จพระจักรพรรดิ ซึ่งก็แน่นนอนว่าโชกุนโยชิโนบุย่อมไม่เต็มใจ ท้ายที่สุดทางโชชูและสัตซึมะก็ตัดสินใจใช้กำลังทหารบุกยึดเอโดะไว้ได้ โทกุกาวะ โยชิโนบุ ต้องถอยร่นไปตั้งรับอยู่ที่โอซาก้า แต่ก็ต้านทานกองทัพของทั้งสองแคว้นไม่ได้ ต้องยอมจำนนและขังตนเองอยู่ในวัด
ระบอบโชกุนโทกุกาวะที่สถาปนาขึ้นมาตั้งแต่ พ.ศ. 2146 ถึงแก่การอวสานในปี พ.ศ. 2411 ญี่ปุ่นจึงเข้าสู่ยุคเมจิและเกิดการเปลี่ยนแปลงแบบก้าวกระโดดในเวลาต่อมา
ข้อมูลอ้างอิง
ปัญญา วิวัฒนานันท์ . โชกุน 700 ปีประวัติศาสตร์ซามูไรและรัฐบาลทหารญี่ปุ่น . ยิปซี สำนักพิมพ์ . พ.ศ.2557
พวงทิพย์ เกียรติสหกุล . โชกุนกับการควบคุมอำนาจทางการเมืองการปกครองสมัยโทกุงะวะตอนต้น ค.ศ. 1603 – 1651 . วารสารอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ปีที่ 39 ฉบับที่ 1 ม.ค. – มิ.ย. พ.ศ. 2560 .
ยุพา คลังสุวรรณ . ญี่ปุ่นสร้างชาติด้วยความรักและภักดี . สำนักพิมพ์มติชน . พ.ศ.2547 .
ศูนย์เกาหลีศึกษา มหาวิทยาลัยรามคำแหง . ญี่ปุ่น : ประวัติศาสตร์การเมืองและเศรษฐกิจ . มหาวิยาลัยรามคำแหง . พ.ศ. 2551
หลวงวิจิตรวาทการ. ประวัติศาสตร์สากล เล่ม 8 . โรงพิมพ์วิริยานุภาพ . พ.ศ. 2473 .
เอกสิทธิ์ หนุนภักดี . “ ญี่ปุ่นอย่างที่เป็น “ ลำดับที่ 4 ปฏิวัติเมจิ 1868 . โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย . พ.ศ. 2561
โฆษณา