6 ต.ค. 2022 เวลา 09:08 • สุขภาพ
ดูแลใจ | เสพข่าวอย่างไรให้ใจโอเค
กราดยิง โรคระบาด สงคราม ปัญหาเศรษฐกิจ มลภาวะ การศึกษา รัฐบาล ฯลฯ ข่าวเหล่านี้อาจทำให้รู้สึกกังวลหรือเครียดและอาจกระทบกับชีวิตประจำวันไปด้วย แต่เราก็ไม่สามารถเลิกรับข่าวสารได้ เพราะมันยังจำเป็นที่จะต้องรู้ความเป็นไปของโลกเพื่อให้เตรียมรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ แต่จะรับมือกับข่าวสารที่สร้างความเครียด ความวิตกกังวลและอารมณ์เชิงลบอื่น ๆ กับเราอย่างไรดี ลองทำตามคำแนะนำเหล่านี้เพื่อช่วยให้สามารถรับมือกับข่าวสารได้ดียิ่งขึ้น
1. จำกัดเวลาและปริมาณการรับข่าวสาร
เมื่อมีเหตุการณ์หรือสถานการณ์เลวร้ายบางอย่างเกิดขึ้น เช่น ข่าวสงคราม หลายคนคอยติดตามข่าวสารอย่างต่อเนื่องจากหลากหลายช่องทาง เพื่อรอดูจนสถานการณ์คลี่คลาย ถือเป็นเรื่องดีที่เราให้ความสำคัญกับบุคคลและเหตุการณ์รอบตัว แต่อย่าลืมหันมาสำรวจใจตัวเองดวยว่า เราเครียด หดหู่ หรือมีอารมณ์แง่ลบใดๆ เกิดขึ้นนานไปหรือเปล่า
Tips : ลองกำหนดเวลาในการเสพข่าวสาร เช่น เลือกช่วงเวลา 13.00 -15.00น. ให้เป็นช่วงเวลาสำหรับการรับข่าวสารที่เกิดขึ้นในระหว่างวัน หรือลองสังเกตพฤติกรรมตัวเองว่า ในแต่ละวันเราเข้าไปเสพข่าวผ่านสื่อโซเชียลมีเดียมากน้อยแค่ไหน แล้วเริ่มจำกัดเวลาการเข้าโซเชียลซักระยะ
2. สำรวจตัวเอง
การอ่านข่าวเพื่อทำความเข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้นในโลก เป็นส่วนสำคัญในการสร้างพลเมืองที่มีความรู้ แต่ข่าวบางข่าวเลือกใช้การพาดหัวเพื่อดึงดูดความสนใจ ซึ่งสามารถกระตุ้นให้เกิดความกลัวได้มากกว่าการให้ข้อมูล
Tips : เราสามารถรับมือกับสิ่งเหล่านี้ด้วยการสำรวจตัวเองในเบื้องต้น ด้วยตัวอย่างชุดคำถามเหล่านี้
- คำหรือภาพแบบไหนที่มีผลต่อฉัน
- ฉันจะหลีกเลี่ยงภาพหรือเนื้อหาที่ทำให้รู้สึกแย่อย่างไร
- ฉันจะดูข่าวและข้อมูลนี้เพื่อให้รู้อะไร
- ฉันจะใช้เวลาเท่าไหร่กับข่าวเหล่านี้
อย่างไรก็ดี แม้แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียมากมายจะมีฟังก์ชั่นการแจ้งเตือนหรือจำกัดการเข้าถึงภาพหรือคลิปวิดีโอที่มีเนื้อหาสร้างความรู้สึกไม่สบายใจได้ ก็อยากชวนให้ทุกคนลองยั้งใจและปลายนิ้วตัวเองเพื่อหลีกเลี่ยงที่จะดูบ้าง แม้จะอยากรู้ก็ตาม
3. หลีกเลี่ยง Doomscrolling พฤติกรรมไถฟีดเสพข่าวร้าย
“Doomscrolling” มาจาก doom ที่แปลว่าหายนะ บวกกับคำว่า scrolling ที่แปลว่าการไถเลื่อนหน้าจอ เมื่อผสมกันจะหมายถึง พฤติกรรมการไถจอดูข่าวร้ายไปเรื่อยๆ ด้วยความกังวลและหมกมุ่นจนไม่สามารถจัดการอารมณ์ได้
โซเชียลมีเดียช่วยให้เราอัพเดตข่าวสารได้ไวขึ้น ช่องทางอย่าง Twitter สามารถทำให้เห็นอัพเดตข่าวสารที่เรากำลังสนใจแทบจะวินาทีต่อวินาที แต่การติดตามอย่างต่อเนื่องอาจนำไปสู่ความรู้สึกท่วมท้นด้วยความวิตกกังวลได้
Tips : ลดพฤติกรรมการหยิบโทรศัพท์มาเช็กข่าวสารทันทีที่ตื่นและก่อนนอน รวมทั้งกำหนดเวลาในการดู เช่น การสร้างข้อตกลงกับตัวเองว่า “โอเค ฉันจะดูข่าวซัก 10 นาที แล้วฉันจะปิดมันทันที” เพราะ Doomscrolling จะพาความรู้สึกของเราให้ไหลไปตามความคิดเห็นและลิงก์เพิ่มเติมจนไม่สามารถถอนตัวได้
นอกจากนี้ ให้ปรับพฤติกรรมการติดมือถือควบคู่กันไป อย่าลืมว่า แม้สมาร์ทโฟนจะมีประโยชน์ด้วยเหตุผลหลายประการ แต่วิธีที่เราใช้สิ่งเหล่านี้อาจส่งผลกระทบอย่างมากต่อสุขภาพจิตของเราเอง ลองเปลี่ยนที่วางโทรศัพท์ เช่น วางไว้ที่ห้องอื่นในตอนกลางคืนเพื่อไม่ให้เรามองหามันเมื่อตื่นขึ้นมา ตั้งค่าเวลาหน้าจอ หรือปิดแจ้งเตือนโซเชียลมีเดียในบางช่วงเวลา
4. ประเมินระดับความเครียดของตัวเอง
เมื่ออ่านข่าวไปซักระยะหนึ่ง ลองสังเกตลมหายใจของตัวเอง สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นทันทีเมื่อเรารู้สึกเครียด คือ เราจะรู้สึกหายใจลำบากมากขึ้น ให้เธอประเมินการหายใจของตัวเอง จากระดับ 0-10 (0 คือ หายใจลำบากมาก และ 10 คือ สามารถหายใจได้ลึกเต็มปอดอย่างอิสระและเต็มที่)
Tips : ลองหายใจเข้าออกสามครั้งเพื่อประเมินแบบไม่หลอกตัวเอง หากพบว่ามีอาการอึดอัด ไม่สบายตัว หายใจไม่คล่อง ไม่เต็มปอด นั่นอาจเป็นสัญญาณว่าเราควรพักจากการเสพข่าวที่ทำให้เครียด แล้วขยับตัวไปทำกิจกรรมอื่นๆ เพื่อให้ตัวเองพักและผ่อนคลายบ้าง
5. เบี่ยงเบนความสนใจไปทำกิจกรรมอื่น
หากมีความรู้สึกท่วมท้นไปด้วยความรู้สึกลบ หมดหนทาง และเหนื่อยล้าจากสถานการณ์ปัจจุบันที่เห็นจากฟีดข่าวต่างๆ อาจใช้เวลาว่างดูทีวีบนโซฟาหรือนอนเล่นบนเตียง รวมถึงการลุกไปออกกำลังกาย ก็เป็นหนึ่งในสิ่งที่ดีที่สุดที่เราจะสามารถทำได้เพื่อตัวเอง หากทำแล้วคิดว่ายังจมกับความรู้สึกเชิงลบเหล่านี้อยู่ อาจขอความช่วยเหลือจากคนที่เรารัก พูดคุยกับพวกเขาถึงความหดหู่และความเครียดที่เกิดขึ้น และหาวิธีผ่อนคลายด้วยการไปทำกิจกรรมนอกบ้านร่วมกัน
หากสถานการณ์ในข่าวทำให้เกิดความรู้สึกกลัวและวิตกกังวล โปรดรับรู้ว่าความรู้สึกเหล่านั้นเป็นเรื่องปกติที่สามารถเกิดได้กับทุกคน ลองเริ่มต้นจากจำกัดจำนวนข่าวที่ดูเพื่อช่วยปกป้องสุขภาพจิต ให้ตัวเองมีโอกาสทำกิจกรรมอื่นๆ เช่น การออกกำลังกาย ทำงานอดิเรก ทำสมาธิ หรือใช้เวลานอกบ้านบ้าง เพื่อสร้างสมดุล ปกป้องดแลจิตใจตัวเอง จะเลือกใช้วิธีใดวิธีหนึ่งหรือทั้งหมด 5 วิธีที่กล่าวนบทความนี้ก็ได้
สิ่งสำคัญคือ ต้องไม่ลืมที่จะเมตตากับตัวเอง เพราะเราไม่ได้กำลังรับมือกับข่าวร้ายบนโลกใบนี้อย่างโดดเดี่ยว เราทุกคนต่างเผชิญภาวะนี้ด้วยกัน ดังนั้นอย่าพยายามกดดันตัวเองมากเกินไป
เขียน พัชรพร ศุภผล
ภาพ กิตสัน
#MentalHealth #ดูแลใจ
#การจัดการอารมณ์ #ความเครียด #ความวิตกกังวล #SocialMedia
โฆษณา