8 ต.ค. 2022 เวลา 11:35 • ความคิดเห็น
เทคนิคลดความตื่นเต้นก่อนขึ้นเวที
วันก่อนผมไปช่วยงานแถลงข่าวของน้องๆงานหนึ่ง มีน้องที่กำลังจะต้องขึ้นเวทีใหญ่และสำคัญมากๆเป็นครั้งแรก เขาบอกว่าเขาตื่นเต้นมาก ใจเต้นเร็ว มือสั่นใจสั่นไปหมด ผมเลยแนะนำเทคนิคง่ายๆที่ผมใช้ประจำให้เขาไป..
2
ผมเองขึ้นเวทีมาน่าจะหลายร้อยครั้ง จนถึงตอนนี้ความตื่นเต้นก็ยังมีอยู่บ้าง แต่สมัยที่ต้องพูดต้องบรรยายใหม่ๆนั้น ผมมีอาการครบของคนที่พานิค กลัวเวทีจะมีกัน ตั้งแต่ใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว มือสั่น หน้ามืดจะเป็นลม มวนท้อง ปวดท้องสารพัด
ผมเคยแม้กระทั่งปวดท้องในงานที่มีการถ่ายทอดสดจนต้องขอไปเข้าส้วมจนงานเขาดีเลย์ก็เคย เคยขอไปนอนห้องข้างๆเพราะใจสั่นจนกลัวหัวใจจะวายก็มี วีรกรรมในเรื่องแบบนี้มีมากจนเล่าไม่หมด
เทคนิคล่าสุดที่ผมใช้ ที่บอกน้องคนนั้นไปก็คือให้ลองทำ exercise ง่ายๆด้วยการเริ่มจากตั้งใจจะ “มอง” หาของที่มีสีดำ (หรือสีอะไรก็ได้ที่คิดขึ้นมา) แล้วมองไล่ไปทีละอย่างอย่างช้าๆ รองเท้าดำหนึ่ง ฉากดำสอง เสื้อดำคนนั้นสาม สมุดดำคนโน้นสี่ ผมดำคนข้างๆห้า เป็นต้น
แล้วต่อด้วยการพยายาม “ฟัง” เสียงห้าอย่างที่ไม่ซ้ำกันรอบตัวช้าๆเช่นกัน เช่นเสียงพิธีกรไกลๆ เสียงคนข้างๆ เสียงเก้าอี้เลื่อน แล้วต่อด้วยพยายาม “ดม” ให้ได้กลิ่นห้ากลิ่น และท้ายสุดคือพยายามให้รู้ว่าเราสัมผัสอะไรห้าอย่าง
1
ทำแบบนี้ซักสองรอบ เป็นการดึงโฟกัสออกจากความกังวล ผ่อนคลายตัวเอง ซึ่งใช้ได้ผลดีพอสมควรไม่ว่ากำลังจะขึ้นเวที หรือจะพรีเซนต์งาน หรือแม้แต่เวลาพานิคกับเรื่องอะไรมากๆ
1
เทคนิคที่ผมใช้นั้นมาจากครูพักลักจำในบทความอะไรซักชิ้นหนึ่ง แต่วันนี้ผมได้มีโอกาสมาฟัง น้องปรางและน้องเตยแห่ง self factory น้องเขาเป็น acting coach สอนการแสดง
ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการเรียกความมั่นใจลดความตื่นเต้นให้กับนักแสดงเพื่อที่จะได้ปล่อยพลังอย่างเต็มที่ ไม่ต่างอะไรกับเราๆท่านๆที่ต้องพรีเซนต์งานหรือขึ้นเวทีที่ถ้าตื่นเต้นเกินไปก็จะลดทอนคุณค่าของเนื้อหาที่เราจะนำเสนอไปอย่างน่าเสียดาย
1
น้องปรางและน้องเตยสอนวิธีง่ายๆเบื้องต้นที่เรียกว่า relaxation exercise โดยการให้นั่งบนเก้าอี้พิงสบายๆ ไม่มีของอะไรวางบนตักแล้วหลับตา หายใจลึกๆ ปล่อยขาแขนตามธรรมชาติ หายใจให้ลมไปถึงหน้าท้อง เวลาหายใจออกให้ท้องแฟบ หายใจเข้าให้ท้องขยาย แล้วหนึ่งลมหายใจเข้าให้นับช้าๆหนึ่งถึงสี่ หายใจออกก็เช่นกัน
3
น้องเขาเล่าว่ามีหลายครั้งที่เราพยายามแก้อาการตื่นเต้นด้วยการหายใจลึกๆเหมือนที่บอกต่อๆกันมาแต่ยิ่งหายใจยิ่งตื่นเต้น ใจสั่นเข้าไปอีกเพราะหายใจผิด ไปยกหน้าอกขึ้น ยิ่งทำให้กักลมหายใจ หน้ามืดใจสั่นเข้าไปอีก การหายใจไปที่หน้าท้องอย่างถูกวิธีจะช่วยให้ออกซิเจนเข้าไปมากขึ้น และช่วยลดความตื่นเต้นได้มาก
3
ความตื่นเต้นนอกจากจะนำมาซึ่งใจสั่น ใจเต้นแล้ว อวัยวะหลายส่วนของเราก็จะมีอาการร่วมไปด้วย ต่างคนอาจจะมีไม่เหมือนกัน มือสั่นบ้าง ขาเกร็งบ้าง ซึ่งจะทำให้การนำเสนอเราติดๆขัดๆ ถือของก็ดูไม่มั่นคง หรือไม่กล้าใช้พื้นที่ stage เดินไปเดินมาได้อย่างเต็มที่
น้องปรางกับน้องเตยสอนถึงวิธีการแก้ไขอวัยวะเหล่านี้ด้วยการดูไปที่ต้นเหตุก่อน เช่นที่มือสั่นก็เพราะเกิดจากแขนที่เกร็ง แล้วพยายามทำ exercise ที่อวัยวะนั้นด้วยการเกร็งแล้วผ่อนหลายๆครั้งก็จะช่วยบรรเทาไปได้
1
ท้ายที่สุด น้องทั้งสองบอกว่าหลังจากงานพรีเซนต์หรือขึ้นเวทีเสร็จสิ้น ให้เราพิจารณาตัวเองถึงข้อผิดพลาด ถึงความกลัวว่าที่เรากลัวก่อนขึ้นเวทีนั้นกลัวอะไร เผื่อครั้งหน้าจะได้พยายามหาทางปรับปรุง เช่นถ้ากลัวเพราะไม่พร้อม ครั้งหน้าก็จะต้องซ้อมหนักขึ้น หรือในกรณีของผม เคยกลัวว่าจะไปปวดท้องบนเวทีแล้วต้องขอไปห้องส้วมด้วยความอับอาย ก็เคยพยายามหาทางแก้ไขจนพบวิธี
ด้วยการไม่กินอะไรก่อนบรรยายสี่ห้าชั่วโมงและกินผักก่อนบรรยายหนึ่งวันก็ช่วยทำให้ท้องเบาและไม่กังวลอีก หรือคนที่ใจเต้นใจสั่น ถ้าได้ไปออกกำลังกายแบบแอโรบิคทำให้หัวใจเต้นช้าลงก็จะช่วยลดความตื่นเต้นจากสาเหตุนี้ไปได้เช่นกัน
1
ทำไมเราถึงต้องทบทวนความกลัว ก็เพราะว่าถ้าเราลดความกลัว ความตื่นเต้นไปได้ สิ่งที่จะมาแทนก็คือความเชื่อมั่น เหมือนกับที่ฝรั่งพูดว่า confidence breeds confidence อันจะนำมาซึ่งความสามารถในการนำเสนองานที่ดีได้อย่างเต็มที่โดยไม่ถูกบั่นทอนจากสภาพจิตภายในของเรานั่นเองครับ
โฆษณา