8 ต.ค. 2022 เวลา 14:34 • ศิลปะ & ออกแบบ
สก๊อตแลนด์วันที่ 3 (ตอนที่ 2) มาดูงานป๊อบอาร์ต ของศิลปิน รอย ลิกเทนสไตน์ (Roy Lichtenstein)
เราได้มาถึงคอลเลคชั่นชิ้นเอกของหอศิลป์กันแล้ว นี่คืองานของรอย ลิกเทนสไตน์ (Roy Lichtenstein) ศิลปินแนวป๊อบอาร์ต (Pop Art) ที่มีชื่อเสียงจากการนำภาพการ์ตูน comic ภาพโฆษณา มาทำเป็นงานศิลปะ เขาเป็นคนดังในยุคประมาณแอนดี้ วอร์ฮอลล์ ในฝั่งอเมริกากำลังดัง (ถ้าไม่รู้จักถามมาได้ เดี๋๋ยวเล่าให้ฟัง แต่ก็คงได้เล่าวันใดวันหนึ่งนะครับ) และที่นี่มีงานของศิลปินรอย สะสมไว้มากที่สุด ก็แน่นอน เขาเป็นศิลปินสก๊อตแลนด์นี่นา
คนที่เพิ่งมาเจองานของเรา อาจคิดว่าดูเหมือนจะทำง่ายดายดี แต่เอาการ์ตูนมาตัดมาแปะเดี๋ยวก็เสร็จ แต่จริง ๆแล้วมันก็คงไม่ง่ายขนาดนั้นหรอก ก่อนที่เขาจะดังมีคนบอกว่างานดูไม่มีสาระหลายคนเหมือนกัน แต่สุดท้ายได้กลายมาเป็นตำนานของ Pop Art ไปแล้ว
1
นอกจากนั้นงานบางชิ้นของเขาสร้างจากการนำงานศิลปินรุ่นก่อนมาพัฒนาต่อ อย่างเช่น ภาพดอกบัวของโมเนต์ และอีกรูปคือ ห้องนอน (Bed Room) ของแวนโก๊ะ ก็ถูกนำมาทำให้ Pop นอกจากนั้นมีงานบางชิ้นเป็นประติมากรรมอีกด้วย ใครที่ชอบงานของเขาคงจะปลาบปลื้มมากหากได้มาที่นี่ เพราะเป็นหอศิลป์ที่สะสมงานของเขาเยอะมาก แถมจะได้เห็นของจริงที่มี Scale ขนาดใหญ่โตอย่างที่จะดูจากหนังสือหรือคอมพิวเตอร์ที่บ้านไม่ได้
ซ้าย ต้นแบบคือภาพดอกบัวของโมเน่ต์  ขวา ต้นแบบจากภาพของแวนโก๊ะห์
ด้านบนขวาที่เห็นเป็นประติมากรรมนะฮะ ขยายให้ดูดังภาพล่าง
คนต่อไปคือวิลเลียม เทิร์นบุล (William Turnbull) นี่ก็ศิลปินสก๊อตชื่อดังอีกเช่นกัน มีผลงานทั้งจิตรกรรมและปะติมากรรม ที่ดูแล้วเป็นคนละแนวกัน ประติมากรรมของเราดูเหมือนถูกทำโดยพวกมนุษย์โบราณที่เอาก้อนหิน ขอนไม้ มาจัดวางตั้งกัน มีภาพแกะสลักเป็นบางส่วนเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของเผ่าพันธุ์หรือไว้ทำเป็นรูปเคารพบูชา
งานบางชิ้นดูเหมือนเสาโทเท็ม (totem) (หมายถึงสัญลักษณ์ประจำตระกูลหรือบุคคลสำคัญตามตำนานความเชื่อของเผ่านั้น) และบางชิ้นก็ดูเหมือนใบเสมาอีสาน (ไม่รู้ว่าได้แรงบันดาลใจมาหรือเปล่า) บางชิ้นดูเหมือนเครื่องมือสมัยยุคหินหรือรูปเคารพยุคก่อนประวัติศาสตร์ ซึ่งเราก็บอกไม่ได้ว่าเป็นรูปอะไรกันแน่เพราะมันเป็นกลุ่มศิลปะแบบนามธรรม (abstract)
ส่วนจิตรกรรมของเขานั้นเป็นอีกสไตล์หนึ่งมีสีสันสดใสแจ๋นแจ๋มาก ตรงกันข้ามกับปะติมากรรมที่ดูเป็นสีและพื้นผิววัสดุขรุขระแบบธรรมชาติ แต่ก็เป็นศิลปะแบบนามธรรมเช่นกัน จิตรกรรมของเขาเน้นการลงสีพื้นลงไปในพื้นที่ส่วนใหญ่ของภาพ แล้ววาดเส้นปัดพู่กันลากเส้นอะไรไปนิดหน่อยก็เป็นอันเสร็จพิธี ดูแล้วอิ่มเอมกับความสดของสีและแรงสะบัดกระจัดกระจายของพลังสีต่างๆ สุดแล้วแต่ใครจะมอง
อีกคนหนึ่งคือมาร์ติน ครี๊ด (Martin Creed) ศิลปินสก๊อตที่มีผลงานโดดเด่นมากอยู่บนหอศิลป์แห่งนี้ คือป้ายไฟนีออนบนหน้าจั่วของตึกที่เขียนว่า Everything is Going to be Alright หรือแปล่ว่า “เดี๋ยวทุกอย่างจะดีเองนะ”
นี่คือการละเล่นกับการตีความในใจของคนอ่าน อันเกิดจากการรับข้อมูลที่ศิลปินได้ใส่ลงไปในความคิด สามารถสะเทือนอารมณ์หรือปล่อยให้ผู้ชมไปสร้างจินตภาพต่อไปในสมองแต่ละคนก็แล้วแต่ แน่นอนว่างานชิ้นนี้คือศิลปะเชิงแนวคิด (Conceptional Art) ซึ่งไม่เน้นรูป (form) แต่เน้นสาร (massage) โดยประโยคที่มาร์ติน ครี๊ด สร้างไว้บนป้ายไฟสามารถสื่อสัมผัสถึงความกังวลใจ ว่ามีอะไรไม่ดีอยู่หรือ จนต้องมีการปลอบประโลมด้วยการพูดซึ่งดูเหมือนจะโกหก
นอกจากงานชิ้นนี้แล้ว จุดเด่นของศิลปินคนนี้อีกสไลต์หนึ่งคือการวาดสีลงบนผนังเป็นสายแพตเทิร์นต่างๆเช่นลายตาราง ลายเส้นและแถบสีสดใสในแนวต่างๆลงบนผนังและพื้นสวยงดงาม ซึ่งเราจะได้เห็นในหอศิลป์นี้
อันนี้ก็งานของ มาร์ติน ครี๊ด คนเดียวกันแหละ ดูง่ายๆดีนะ
ชมงานจนหอศิลป์กำลังจะปิดแต่ก็ไม่อยากจะออกไปเลย ยืนอยู่หน้าตึกใหญ่ท่ามกลางสนามหญ้าแผ่กว้างไพศาลแต่ก็แทบจะไร้ผู้คน อากาศหนาวขึ้นเรื่อยๆ ฟ้าครึ้มและเงียบงัน
ผมเดินมานั่งนิ่งตรงเนินหญ้า มองดูแอ่งน้ำ ตึกสวย ท่ามกลางสนามขนาดใหญ่ไร้ร้าง ชวนให้ใจสงบ วังเวง แล้วก็เดินมาสำรวจดูรั้วด้านข้างที่ติดกับพิพิธภัณฑ์
พบว่าเป็นสุสานที่มีกองทัพไม้กางเขนชิ้นงามๆตั้งยืนอยู่ ชวนให้คิดถึงประติมากรรมของเทิร์นบุล ไม่แปลกหรอกนะที่งานศิลปะกับความตายและความสงบเงียบมาอยู่รวมกัน พิพิธภัณฑ์ช่างเงียบเชียบราวกับสุสาน ส่วนสุสานก็สวยราวกับงานศิลป์
ก่อนจะจากลา เดินออกจากสนามหญ้าหันมาเจอกับป้ายหลอดนีออน Everything is Going to be Alright ที่กำลังส่องสว่างวับวาว ช่างสะเทือนอารมณ์ดีเหลือเกิน
โฆษณา