10 ต.ค. 2022 เวลา 06:04 • สุขภาพ
เคยสงสัยกันไหมว่าทำไมเราจั๊กจี้ตัวเองไม่ได้?
นิตยสาร Wired ตีพิมพ์บทความที่ผมสงสัยมาตั้งแต่เด็กแล้วว่า ทำไมคนที่บ้าจี้ถึงจักจี้ตัวเองไม่ได้ โดยเริ่มจากเล่าให้ฟังว่า คำถามนี้มีคนสงสัยมามากกว่าสองพันปีแล้ว รวมทั้งนักปรัชญา และนักวิทยาศาสตร์อย่างอริสโตเติ้ล กาลิเลโอ และฟรานซิส เบคอน
ใน paper ที่ตีพิมพ์ตั้งแต่ปี 1897 ตั้งสมมติฐานการจักจี้อาจจะเป็นกลไกทางสังคมแบบหนึ่งในการสร้างความสัมพันธ์กัน การแสดงอาการ/ส่งเสียงแบบมีความสุขเป็นการสื่อสารบอกให้คน/ตัวอื่นว่า การแตะเนื้อต้องตัวกันเป็นสิ่งที่โอเค ถ้ามองในตัวอย่างของสัตว์ ก็คือการที่สัตว์นั้นเล่นงับกันเป็นต้น
Michael Brecht จาก Humboldt University ได้นำทีมวิจัยในเรื่องนี้ และทำการทดสอบกับอาสาสมัคร 12 คน และพบความน่าสนใจหลายเรื่อง เช่น มนุษย์ตอบสนองกับการจักจี้ โดยการแสดงสีหน้าก่อนที่จะออกเสียง และทั้งสองการแสดงออกเป็นเครื่องชี้วัดที่ดีว่ากำลังรู้สึกจักจี้อยู่หรือไม่
และพอให้ผู้ร่วมการทดลองจักจี้ตัวเองไปด้วย ตอนที่ถูกคนอื่นจักจี้ตัวเองอยู่ ก็ปรากฏว่ามีความรู้สึกจักจี้ลดลงไปมากถึง 25% และความรู้สึกจักจี้ก็เกิดขึ้นช้าลงอีกด้วย
นักวิจัยตั้งข้อสันนิษฐานว่า มันอาจจะเป็นกลไกทางสมองที่ลดความไวในการรับรู้การสัมผัส ถ้าตัวเองเป็นคนทำ ถ้าไม่งั้นเราคงรู้สึกบ้าจี้ ทุกๆ ครั้งที่เราคันรักแร้ และเกาตัวเอง
ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นกับการฟังเช่นกัน เวลาที่เราพูด เราจะไม่ค่อยได้ยินคนอื่น รวมทั้งเสียงของตัวเองด้วย จนทำให้คนอื่นอาจจะตำหนิว่า เราพูดเสียงดัง หรือไม่ฟังคนอื่น
1
อ้างอิง :
โฆษณา