13 ต.ค. 2022 เวลา 03:19 • หุ้น & เศรษฐกิจ
สรุปประเด็น "หุ้นเวียดนามตก"กับความตื่นตระหนกจนเกิด Bank Runถ อดบทเรียน "โอกาส" และ "ความเสี่ยง"
หลายคนสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้นกับ "หุ้นเวียดนาม" ในช่วงนี้ที่ตกเอาๆ ทั้งที่เศรษฐกิจพื้นฐานก็แข็งแกร่ง ทั้งตัวเลขส่งออก ตัวเลขการลงทุน ตัวเลขการบริโภค ก็ดีแซงหน้าหลายประเทศเพือนบ้าน โดยเฉพาะความ "เนื้อหอม" ในฐานะแหล่งการลงทุนใหม่ที่หลายประเทศกำลังลดการพึ่งพา "จีน"
หุ้นเวียดนามเริ่มปรับตัวลดลงตั้งแต่เดือน ส.ค. ที่ผ่านมา ก่อนจะดิ่งหนักในเดือน ก.ย. และเมื่อวันอังคารที่ 11 ต.ค. ที่ผ่านมา หุ้นหลักของตลาดโฮจิมินห์อย่างดัชนี VNI ก็เพิ่งลดลงอีก 3.8% จนทำสถิติต่ำสุดในรอบเกือบ 2 ปี หรือนับตั้งแต่เดือน พ.ย. 2020 เป็นต้นมา เฉพาะปีนี้ หุ้นเวียดนาม ลดลงไปแล้วถึง 24.4% และนับเป็นหนึ่งในตลาดที่มีผลประกอบการย่ำแย่ที่สุด
1
อย่างไรก็ตาม ความน่าสนใจของหุ้นตกครั้งล่าสุดไม่ใช่เรื่องปัจจัยขึ้นลงปกติของตลาดหุ้น แต่ถูกพุ่งเป้าไปที่ "การกวาดล้างปัญหาฉ้อโกงในตลาดหุ้น-ตลาดทุนของเวียดนาม" ซึ่งไปเกี่ยวกับ "นักลงทุนขาใหญ่ในประเทศ" จนลามไปสู่การเกิดภาวะ "Bank run" หรือการที่คนแห่ไปถอนเงินออกจากแบงก์เพราะไม่เชื่อมั่น อีกด้วย
ทีมข่าว Spotlight สรุปประเด็นที่น่าสนใจของเรื่องการลงทุนในเวียดนามมาให้ ดังนี้
2
- เกิดอะไรขึ้นในเวียดนาม ทำไมหุ้นตกรอบใหม่?
หุ้นเวียดนามโดยเฉพาะหุ้นกลุ่มแบงก์ตกมาอย่างหนักตั้งแต่วันจันทร์ที่ 10 ต.ค. ที่ผ่านมา เพราะมีข่าวว่า ตำรวจได้ควบคุมตัว เชือง มาย ลัน (Truong My Lan) นักลงทุนรายใหญ่จากกลุ่มบริษัทโฮลดิ้ง Van Thinh Phat ซึ่งถือเป็น "เจ้าแม่อสังหาริมทรัพย์" ในเวียดนาม รายงานข่าวจากบลูมเบิร์กระบุว่า นักธุรกิจใหญ่รายนี้พร้อมกับเจ้าหน้าที่บริษัทคนอื่นๆ ถูกควบคุมตัวเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ในข้อหาได้ทรัพย์สินมาโดยมิชอบจากการฉ้อโกง ซึ่งเกี่ยวข้องกับการออก/ซื้อขายหุ้นกู้ มูลค่าหลายล้านล้านดอง เมื่อช่วงปี 2018-2019
- Truong My Lan คือใคร? ทำไมจับกุมนักธุรกิจคนเดียวถึงสะเทือนไปทั้งตลาดหุ้น?
เพราะ Truong My Lan เป็นนักลงทุนระดับเจ้าแม่อสังหาริมทรัพย์ โดยมีพอร์ทการลงทุนครบทั้ง โรงแรม ห้างสรรพสินค้า อพาร์ตเมนท์ ไปจนถึงออฟฟิศสำนักงาน โดยเฉพาะในเมืองโฮจิมินห์ซิตี้ ศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของเวียดนาม บริษัทของเธอ Van Thinh Phat จึงถือเป็นขาใหญ่ในวงการอสังหาฯ เวียดนาม และมีการลงทุนร่วมกับบริษัทข้ามชาติ เช่น Viva Land จากสิงคโปร์ ที่เป็นพันธมิตรกับ CK Asset ของอภิมหาเศรษฐีฮ่องกง ลีกาชิง ด้วย
1
คนเวียดนามนั้นมีส่วนคล้ายคนจีนอยู่อย่างหนึ่งก็คือ ชอบลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ ซื้อบ้านซื้อที่ดินเก็บเอาไว้ เว็บไซต์ Vietnamplus เคยรายงานอ้างอิงงานสัมมนาอสังหาฯ ปี 2020-2021 ซึ่งมีการเปิดเผยผลสำรวจว่า ในบรรดาเศรษฐีเวียดนามที่มีเงินเกิน 1 ล้านดอลลาร์ขึ้นไป จำนวนกว่า 12,000 คน มีเศรษฐีถึง 90% ที่ลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ สอดคล้องกับผลสำรวจล่าสุดในปีนี้ที่ว่า มีดีมานด์จากคนเวียดนามถึง 92% ที่กำลังมองหาซื้อบ้านทั้งในเวียดนามและประเทศอื่นๆ ในอาเซียน
ความสั่นสะเทือนของบริษัทอสังหาฯ รายใหญ่ในประเทศ จึงสั่นคลอนความเชื่อมั่นในตลาดส่วนหนึ่งด้วย แม้จะเป็นระยะสั้นก็ตาม แต่ที่สำคัญกว่าก็คือ มันถือเป็นสัญญาณว่า รัฐบาลไม่ได้ปล่อยผ่านเรื่องการฉ้อโกงไปง่ายๆ ซึ่งการจับกุมครั้งนี้คล้ายคลึงกับการจับนักธุรกิจรายใหญ่ครั้งก่อนๆ เช่น การจับกุมผู้บริหาร ACB เมื่อเดือนส.ค. 2555 และผู้บริหาร BIDV เมื่อเดือนพ.ย. 2561
โดยในอดีตที่เคยมีการจับกุมผู้บริหารบริษัทใหญ่นั้น จะทำให้ตลาดหุ้นเวียดนามปรับตัวลงเฉลี่ยประมาณ 5.7% ใน 1 สัปดาห์ แต่เหตุการณ์ครั้งล่าสุดดัชนีหุ้นเวียดนามลงไปประมาณ 3.6% ซึ่งสะท้อนว่ายังสามารถลงต่อได้อีกถ้าดูจากค่าเฉลี่ยที่ผ่านมา แม้ว่าปัจจุบันในวันนี้ (12 ต.ค.) ราคาหุ้นจะดีดตัวกลับขึ้นมาแล้วประมาณ 3% ก็ตาม
2
- เกี่ยวข้องอะไรกับแบงก์ ทำไมจึงเกิดกรณี Bank Run?
บริษัท Van Thinh Phat คือบริษัทที่ลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลาย (Diversified Investment Group) และหนึ่งในนั้น คือ การเป็น "ผู้ถือหุ้นใหญ่" ของธนาคาร Saigon Commercial Bank (SCB) และโบรกเกอร์ Tan Viet
1
พอมีข่าวการควบคุมตัวเกิดขึ้น โดยเฉพาะเมื่อเกี่ยวกับเรื่องการออก/ซื้อขายหุ้นกู้บริษัทมูลค่าหลายล้านล้านด่องอย่างมิชอบ (คาดว่าความเสียหายประมาณ 3-5 พันล้านดอลลาร์) คนเวียดนามเลยกลัวกันว่าผลกรรมจะไปตกอยู่กับแบงก์ SCB เพราะทางการได้สั่งให้ธนาคารและโบรกเกอร์ที่เข้าร่วมในการออกหุ้นกู้ต้องรับผิดชอบความเสียหายทั้งหมด โดยการซื้อคืนหุ้นกู้เหล่านั้นคืน คนเวียดนามจึงพากันแห่ไปต่อคิวถอนเงินออกจากธนาคารกัน
ที่จริงกระแสการแห่ถอนเงินจากแบงก์ SCB มีมาตั้งแต่สัปดาห์ก่อนหน้านี้แล้ว เพราะก่อนจะมีการจับกุมประธานบริษัทของผู้ถือหุ้นใหม่ ก็มีข่าวการเสียชีวิตลงอย่างกะทันหันของ เหวียน เตียน เจิ่น (Nguyen Tien Thanh) ซึ่งเป็นหนึ่งในกรรมการของแบงก์เมื่อวันที่ 6 ต.ค. ท่ามกลาง "ข่าวลือ" ตามโซเชียลมีเดียว่า ลูกค้าหลายรายไม่สามารถถอน/โอนเงินในแอปของธนาคาร ในวันถัดมาได้
ทั้งนี้ SCB ถือเป็น 1 ใน 5 ธนาคารที่ใหญ่ที่สุดในประเทศเวียดนาม และเป็นเบอร์ 1 ในแง่มูลค่าสินทรัพย์กว่า 760 ล้านล้านดอง ณ สิ้นไตรมาส 2 ปี 2022 อีกทั้งยังเป็นธนาคารที่เสนออัตราดอกเบี้ยเงินฝากสูงเป็นระยะเวลาหลายปี โดยอัตราดอกเบี้ยเงินฝากล่าสุดอยู่ที่ 7.3% เป็นระยะเวลา 12 เดือน
ความโกลาหลของการแห่ถอนเงินจากแบงก์ใหญ่ข้ามสัปดาห์ ทำให้ "แบงก์ชาต์เวียดนาม" ต้องออกมาประกาศสร้างความเชื่อมั่นกับผู้ฝากเงินและผู้ถือหุ้นกู้ว่า จะไม่ได้รับผลกระทบจากข่าวการควบคุมตัวผู้บริหาร โดยประกาศรับประกันสิทธิของผู้ฝากเงินกับ SCB ว่าสินทรัพย์ยังคงปลอดภัย เพื่อบรรเทาความวิตกกังวล
1
คาโต มุคุรุ หัวหน้าฝ่ายวิจัยตลาด Frontier Markets ของ EFG Hermes ให้สัมภาษณ์กับบลูมเบิร์กว่า ไม่เห็นสัญญาณความเสี่ยงว่าปัญหาครั้งนี้จะลุกลามเป็นวิกฤตภาคการเงินของประเทศ และการตอบสนองอย่างแข็งขันของหน่วยงานภาครัฐถือเป็นการสร้างความเชื่อมั่นต่อภาคธนาคารเวียดนามได้เป็นอย่างดี ส่วนตัวมองว่า เหตการณ์นี้เป็นภาพสะท้อนความเชื่อมั่นของตลาดที่อ่อนแอว่า ธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่มักตกเป็นเครื่องมือหาผลประโยชน์ของเจ้าของและกลุ่มผู้ถือหุ้นบางส่วนเท่านั้น
- เหตุการณ์นี้สะท้อนถึง "ความเสี่ยง" หรือ "โอกาส" อะไรในเวียดนาม
ต้องบอกว่าเวียดนามมีทั้ง ความเสี่ยง และ โอกาสมหาศาล ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าจะมองมุมไหน และให้น้ำหนักระยะสั้นหรือระยะยาว
จากข้อมูลของ Hanoi Times เมื่อช่วงกลางปี ระบุว่าในปี 2022 นี้ มีการเปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหุ้นเวียดนามทะลุ 5 ล้านบัญชีไปเรียบร้อยแล้ว ซึ่งสะท้อนถึงความตื่นตัวในการลงทุนกับตลาดหุ้นมากขึ้น แต่ที่น่ากังวลก็คือ เป็นสัดส่วนของนักลงทุนรายย่อย (Retain investor) มากถึง 98.9% ซึ่งโดยปกติแล้วการที่มีรายย่อยในสัดส่วนมากเกินไปจะไม่ใช่เรื่องดี เพราะจะเกิดการ Panic sales ได้ง่ายกับข่าวลือต่างๆ ซึ่งจำเป็นต้องมีสัดส่วนของนักลงทุนสถาบันเข้ามาคานน้ำหนักเพิ่มมากกว่านี้
นอกจากนี้ ตลาดหุ้นเวียดนามยังอยู่ในระดับ "Frontier markets" หรือตลาดชายขอบ ซึ่งหมายถึงการที่ตลาดและผู้เล่นยังใหม่และยังไม่ Mature เมื่อเทียบกับตลาดเกิดใหม่ (Emerging markets) เช่น จีน ไทย มาเลเซีย ทำให้ยังมีความผันผวนสูง และนักลงทุนยังมองในแง่การเก็งกำไรมากกว่าจะถือเป็นสินทรัพย์ระยะยาว ก่อนหน้านี้ทางเวียดนามเคยคาดการณ์ไว้เมื่อปลายปี 2020 ว่า อาจจะเปลี่ยนสถานะเป็นตลาด EM ได้ภายในปี 2022 แต่จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีแนวโน้มดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม แม้ตลาดเงิน-ตลาดทุนของเวียดนามจะยังไม่ถือว่าโตเต็มที่ แต่ฝั่ง "ภาคเศรษฐกิจที่แท้จริง" นั้น ถือว่าแข็งแกร่งชนิดหาคู่แข่งเทียบยาก เมื่อถนนการลงทุนทุกสายกำลังมุ่งหน้าสู่เวียดนาม โดยเฉพาะในยุคนี้ที่หลายประเทศกำลังลดการพึ่งพา "จีน" เพราะการเมืองระหว่างประเทศแรงขึ้น และต้นทุนในจีนแพงขึ้น จึงหันไปหาฐานการผลิตประเทศอื่นแทน ทำให้เวียดนามกำลังเริ่มกลายเป็นโรงงานผลิตแห่งใหม่ของโลก ดึงดูดเม็ดเงินลงทุนได้จากทั้งตะวันตกและตะวันออก
เช่นกลุ่มเซ็นทรัล ที่มีการลงทุนเซ็นทรัล รีเทล เวียดนาม ก็เพิ่งประกาศเป้าหมายลงทุนในเวียดนามถึง 30,000 ล้านบาท เพื่อใช้ขยายสาขาธุรกิจค้าปลีกทั้ง 3 กลุ่ม ให้เติบโตเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า ครอบคลุมกว่า 700 แห่ง จากเดิม 340 แห่ง หรือที่ Aeon จากญี่ปุ่น ก็เตรียมขยายการลงทุนเพิ่ม เพราะมองถึงศักยภาพการเติบโตของที่นี่
ดังนั้น หากมองในแง่ระยะยาวว่าเวียดนามจะเป็นเหมือนไทยหรือจีนในอดีต และใช้สูตรเดียวกันในการเข้าไปลงทุนซื้อสินทรัพย์ไว้ล่วงหน้าก็คงไม่ผิดนัก แม้ว่ายุคสมัยจะต่างกันและมีตัวแปรอื่นๆ เช่น เทคโนโลยี ความเป็นรัฐบาลคอมมิวนิสต์ การเมือง และปัจจัยอื่นๆ ที่ต้องรับมือกับความเสี่ยงต่อการผันผวนไปอีกพักใหญ่ด้วยเช่นกัน
1
ติดตามข้อมูล ด้านเศรษฐกิจ ธุรกิจการเงิน ของ #Spotlight เพิ่มเติมได้ที่
เว็บไซต์ https://www.amarintv.com/spotlight
ยูทูป : https://bit.ly/31rtDUM
อินสตาแกรม : https://www.instagram.com/spotlight_biz
โฆษณา