14 ต.ค. 2022 เวลา 15:01 • ไลฟ์สไตล์
PEOPLE: เมื่อไม่อยากใส่ชุดนิสิต ก็ทำแบรนด์ตัวเองใส่มันเสียเลย! ‘ปัณฎา’ เด็กรุ่นใหม่กับการตามหาความฝัน ทลายกรอบข้อจำกัดด้วยไอเดีย
เมื่อก่อน หากถามเด็กๆ ว่าโตขึ้นอยากเป็นอะไร คำตอบส่วนใหญ่คงเป็นหมอ ครู นักวิทยาศาสตร์ ข้าราชการ ฯลฯ แต่สมัยนี้ เมื่อโลกหมุนเวียนเปลี่ยนไป เด็กได้เห็นโลกกว้างตั้งแต่ยังเล็ก ทำให้สิ่งที่เด็กอยากเป็นมีมากกว่านั้น เด็กบางคนอยากเป็นนักร้อง อยากเป็นนักแสดง เป็นศิลปิน เป็นวิศวกรคอมพิวเตอร์ เป็นอินฟลูเอนเซอร์ เป็นเมคอัพอาร์ติสท์ หรือเป็นดีไซเนอร์
2
‘ปัณฎา’ ฐิติภา ชวนะศิลป์ เป็นหนึ่งในเยาวชนที่มีความใฝ่ฝันตั้งแต่เด็กว่าจะเป็น ‘ดีไซเนอร์’ และไล่ตามความฝันนั้นตั้งแต่ ป.5 จนปัจจุบันในวัยเพียง 20 ปี ปัณฎา และเพื่อนมีแบรนด์เสื้อผ้าเป็นของตัวเอง ในชื่อ ‘Gentle Laundry’ และตั้งเป้าหมายในการ ‘ทะลุกรอบ’ แฟชั่นดีไซน์ออกไปให้ไกลที่สุด
เส้นทางแห่งความฝันไม่ได้มีแค่ความสำเร็จ แต่เต็มไปด้วยอุปสรรคระหว่างทาง
The Reporters ได้พบกับปัณฎาจากงาน Bangkok International Fashion Week 2022 (BIFW 2022) ในฐานะนิสิตที่นำงานดีไซน์เสื้อผ้าของตนเองมาเดินโชว์ในงาน และสนใจในเรื่องราวของเธอจึงอยากนำเสนอเพื่อให้เป็นตัวอย่างกับคนรุ่นใหม่ที่มีความสนใจเกี่ยวกับการออกแบบว่าทำอย่างไรจึงจะเดินตามความฝันนี้ได้
เราพบกับเธออีกครั้งหลังเข้าคลาสเรียนที่วิทยาลัยอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ สาขาเเฟชั่น สิ่งทอ เเละเครื่องตกเเต่ง มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ในชุดเสื้อผ้าแบรนด์ของตัวเอง โดยปัณฎาบอกว่าที่คณะเปิดกว้าง ไม่ได้บังคับว่าต้องใส่ชุดนิสิตมาเรียน ส่วนใหญ่จึงแต่งตัวตามความเหมาะสม แต่สำหรับเธอ เมื่อไม่ใส่ชุดนิสิต ก็เลยใส่เสื้อผ้าที่ทำเองเสียเลยเหมือนทุกที่เป็นดิสเพลย์ให้กับแบรนด์เสื้อผ้าของตัวเองที่ร่วมกับเพื่อนอีก 5 คนร่วมกันทำขึ้นมา
แสดงผลงานในงาน BIFW 2022
แต่กว่าจะมาถึงความฝันไม่ใช่เรื่องง่าย และไม่ได้มีแต่ความสำเร็จ ปัณฎาเล่าให้ฟังว่า เธอกับเพื่อนอีก 5 คนร่วมกันทำ Gentle Laundry ขึ้นมาก็เพราะอยากสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ตามจินตนาการที่มี และแสดงความสามารถในการออกแบบ สร้างสรรค์ออกมา แต่มันก็ไม่ง่ายเลย
“เราต้องเริ่มจากสินค้าเเฟชั่นที่ใช้ทุนน้อย แมส และขายง่ายก่อน สิ่งที่อยากทำ พลังที่อยากปลดปล่อยก็เลยยังไปได้ไม่สุด เงินทุนก็ต้องหา ต้องลงทุนกันเอง เหนื่อย และเครียดจนคิดอยากจะเลิกอยู่หลายครั้ง แต่ก็ยังจับมือกันสู้มา และเหมือนโชคดีเจอแสงสว่างที่ปลายอุโมง"
"เราได้นำแบรนด์ไปนำเสนอไอเดีย Virtual Wear ในการประกวด Smart Start Idea by GSB Start up จนได้รับรางวัล และได้เงินมาทำแบรนด์ต่อ ได้สร้างสรรค์งานแบบที่เราอยากทำ และทำให้แบรนด์ยังมีอยู่จนถึงทุกวันนี้ และมีแผนจะต่อยอดไปในอนาคต” ปัณฎา เล่าให้ฟังด้วยใบหน้าเปื้อนยิ้ม
อนาคตเป็นเรื่องของคนรุ่นใหม่ ไอเดียแปลกใหม่ที่ต้องเปิดกว้างเพื่อยอมรับ
ปัณฎา อธิบายว่า ในโลกยุคใหม่คนมีเทรนด์เเฟชั่นที่เปลี่ยนเร็วจนเกิดเป็นฟาสต์เเฟชั่น รวมถึงการเข้ามาของ metaverse ทำให้เกิดไอเดีย Virtual Wear ที่แบรนด์จะทำทั้งสินค้าจริง และ Virtual Wear โดยผู้ซื้อสามารถซื้อสินค้าพร้อมกัน หรือจะเลือกสั่งแต่สินค้าจริง หรือจะเลือกซื้อแต่ Virtual Wear ก็ได้เช่นกัน
ซึ่งการซื้อแต่ Virtual ดีจะตอบโจทย์ลูกค้าที่อยากเข้าถึงแฟชั่น แต่ก็กลัวเรื่อง Fast Fashion หรือมีข้อจำกัดด้านงบประมาณ หรือต้องการแต่งตัวให้กับตัวเองเฉพาะใน metaverse โดยปัจจุบันเสียงตอบรับของ Virtual Wear ในไทยยังไม่ดีนัก แต่ในต่างประเทศมีการตอบรับดีเยี่ยม และเราเชื่อมั่นว่ามันจะกลายเป็นกระแสหลักของโลกแฟชั่นในอนาคตอย่างแน่นอน
โลกยุคใหม่ ควรจะเป็นโลกที่คนรุ่นใหม่จะแสดงฝีมือ และสร้างสรรค์มันขึ้น ปัณฎา กล่าวว่าเชื่อเหลือเกินว่าเด็กไทย ไม่แพ้ใคร แฟชั่นของเราสามารถไปสู่ระดับอินเตอร์ได้ แต่ส่วนตัวมองว่าปัญหาสำคัญคือกำแพงใหญ่อย่าง “กรอบ” “ทุน” และ “โอกาส”
“เรารู้สึกว่าฝีมือคนไทยยังไงก็สู้ต่างชาติได้เเน่นอน เเต่เรารู้สึกว่าวงการเเฟชั่นในไทยยังยึดติดกรอบความคิดเดิมมากเกินไป โดยเราคิดว่ากรอบความคิดทําให้ไม่สามารถใช้ความคิดสร้างสรรค์ได้อย่างเต็มที่ ยกตัวอย่างเช่นความเป็นไทยถ้าเราตีความออกนอกกรอบ แล้วมาผสมกับการตีความรูปเเบบใหม่ ๆ ก็ทําให้สามารถสร้างสรรค์ผลงานได้หลากหลายกว่าเดิม และยังเป็นการอนุรักษ์ความเป็นไทยที่ดีที่สุด เป็นไทยร่วมสมัยสไตล์คนรุ่นใหม่”
“อุปสรรคใหญ่ที่สุดอีกสิ่งคือเรื่องของทุน ทุกอย่างมีต้นทุนมีค่าใช้จ่าย จากไอเดียกว่าจะออกมาเป็นผลงานมีทั้งค่าวัสดุ อุปกรณ์ ค่าตัดเย็บ ฯลฯ ซึ่งหากเราไม่มีทุน คุณภาพของงานก็ย่อมลดลง หลายๆ คนไม่สามารถนำไอเดียมาแปลงเป็นสินค้าได้เพราะไม่มีทุน และไม่มีโอกาส หากมีหน่วยงาน หรือนโยบายมารองรับในส่วนนี้ เชื่อว่าการเติบโตของแบรนด์รุ่นใหม่ของไทย จะโตขึ้น และประสบความสำเร็จในเวทีโลกได้อย่างแน่นอน” ปัณฎา กล่าว
คำแนะนำสำหรับน้องๆ ที่อยากจะมาสายแฟชั่น
ปัณฎา เล่าว่าเธอรู้ตัวมาตั้งแต่ ป.5 ว่าอยากจะทำงานด้านนี้ และได้สมัครเข้าเรียนกับสถาบันแฟชั่นชื่อดังแห่งหนึ่ง เพราะอยากเรียนให้รู้ และไปให้ไกลที่สุด แต่สุดท้ายด้วยเหตุผลหลายๆ อย่าง ด.ญ.ปัณฎา ในวันนั้นที่วัยวุฒิ และความแข็งแกร่งยังไม่มีเพียงพอให้เรียนคอร์สออกแบบร่วมกับผู้ใหญ่ที่ต่างวัยกันมากๆ ได้ ก็เลือกทางที่ปลอดภัยกว่า คือเรียนสายสามัญต่อไปในระดับมัธยมศึกษา และเลือกเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยในสาขาวิชาที่เธอจะได้สานต่อความฝันได้ และใช้ผลงานที่มี (Portfolio) ในการสมัครเข้าเรียน
1
จนปัจจุบัน เธอกำลังศึกษาอยู่ปี 3 วิทยาลัยอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ สาขาเเฟชั่น สิ่งทอ เเละเครื่องตกเเต่ง มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
“ตอนเเรกเราฝันสิ่งต่าง ๆ ไว้มากมายหลากหลายเเบบพอเราได้มาเรียนเเฟชั่นจริง ๆ เราได้เรียนรู้อะไรที่ไม่คาดคิดมากมาย สําหรับเรา เเฟชั่นไม่ใช่เเค่ดีไซน์เนอร์ เเต่หมายถึงทุกคนในวงการทุกคนที่เกี่ยวข้อง ถ้าหากขาดใครไปสักคนนึงเเฟชั่นก็คงจืดจางไปมาก ๆ”
1
สำหรับเด็กๆ ที่สนใจในเรื่องของแฟชั่น และการดีไซน์ ปัณฎา แนะนำว่าอยากให้ตั้งเป้าให้ชัดเจน และสั่งสมประสบการณ์ ดูให้มาก ศึกษาให้มาก และเปิดโอกาสให้ตัวเองมีความคิดสร้างสรรค์ให้มากโดยคว้าทุกโอกาสที่ผ่านเข้ามา อย่าให้อะไรหลุดมือไปและต้องเสียใจภายหลัง
“นอกจากตัวเด็กเองแล้ว สิ่งที่สำคัญที่สุดคือโอกาสที่ผู้ใหญ่จะมอบให้พวกเราได้ นโยบาย การสนับสนุนที่จริงจัง และเปิดโอกาสให้ทุกความคิดโดยไม่ใส่กรอบให้เรา จะทำให้วงการแฟชั่น รวมไปจนถึงทุกๆ วงการเติบโตขึ้นได้อย่างแน่นอน” ปัณฎา กล่าวทิ้งท้าย
เรื่อง/ ภาพ: ศุภสัณห์ กันณรงค์
โฆษณา