17 ต.ค. 2022 เวลา 08:35 • สุขภาพ
โรคหมอนรองกระดูกทับไขสันหลัง ภัยร้ายซ่อนเร้น (Cervical Myelopathy)
อาการที่นำคนไข้มาหาหมอมากที่สุดก็คือ อาการปวดหลัง หรือปวดคอ น่าแปลกที่ว่าอาการปวดจากโรคกระดูกสันหลังนั้นบางครั้งแม้จะทรมานมาก แต่โดยส่วนใหญ่แล้วอาการปวดเหล่านี้มักไม่อันตราย และมักรักษาให้หายขาดได้โดยไม่ต้องผ่าตัด วันนี้สิ่งที่หมอจะนำมาเล่าให้ฟังคือ อาการที่พบได้น้อยกว่า ตรวจพบได้ยากกว่า แต่ขณะเดียวกันกลับมีความอันตรายมากกว่าโรคกระดูกสันหลังทั่วไป
โรคหมอนรองกระดูกทับไขสันหลัง ภัยร้ายซ่อนเร้น (Cervical Myelopathy)
เส้นประสาทไขสันหลังคืออะไร
ในกระดูกคอนั้นมีเส้นประสาทที่สำคัญอันหนึ่งก็คือเส้นประสาทไขสันหลัง หรือภาษาอังกฤษเรียกว่า Spinal cord ไขสันหลังคือเส้นประสาทเส้นเล็กๆ จำนวนมากที่มัดอยู่รวมกันเป็นเส้นประสาทเส้นใหญ่ ทำหน้าที่สำคัญหลายๆ อย่างในร่างกาย เช่น การขยับของแขนขา, การทรงตัวของร่างกาย, การควบคุมการขับถ่าย
ซึ่งเส้นประสาทไขสันหลังนี้ยิ่งเป็นระดับที่ต่ำลงไป จำนวนของเส้นประสาทที่มัดอยู่รวมกันก็ยิ่งน้อยลง และพอถึงกระดูกสันหลังส่วนเอวไขสันหลังก็จะเล็กลงเรื่อยๆ จนเหลือเพียงเส้นประสาทที่ไปเลี้ยงขาและอวัยวะภายในอุ้งเชิงกราน คนที่เกิดอุบัติเหตุแล้วเป็นอัมพาตก็เพราะเส้นประสาทไขสันหลังได้รับบาดเจ็บนี่แหละครับ ส่วนจะอัมพาตมากแค่ไหนก็ขึ้นกับว่าบาดเจ็บที่ระดับไหน ยิ่งเป็นระดับบนเท่าไรก็ยิ่งโดนเส้นประสาทมากขึ้น อาการอัมพาตก็จะรุนแรงมากขึ้นเท่านั้น
อาการของโรคหมอนรองกระดูกทับไขสันหลัง
เส้นประสาทไขสันหลัง
เส้นประสาทไขสันหลังคือ เส้นประสาทจำนวนมากที่มัดรวมกันเป็นเส้นใหญ่ เมื่อหมอนรองกระดูกฉีกปลิ้นทำให้เกิดการทับเส้นประสาท หรือไขสันหลังได้โดยจะมีอาการต่างกันไปขึ้นกับว่าทับที่จุดใด
เรามักจะคุ้นเคยกับอาการของโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท กันมากกว่า การกดทับเส้นประสาทจากหมอนรองกระดูกมักทำให้เกิดอาการปวดรุนแรง เนื่องจากตัวโรคมักเกี่ยวข้องกับอุบัติเหตุ จึงทำให้ตัวโรคดำเนินไปอย่างรวดเร็ว และทำให้ร่างกายเกิดปฏิกริยาการอักเสบมาก
โรคหมอนรองกระดูกทับไขสันหลังเป็นโรคที่คล้ายกัน แต่แตกต่างที่การดำเนินโรคช้า เพราะเกิดจากความเสื่อมตามอายุที่ค่อยๆ เพิ่มขึ้น อาจจะใช้เวลาหลายปีกว่าอาการจะมากจนรู้สึกได้ นอกจากนั้นก็ยังเป็นปัจจัยทางกายวิภาคของไขสันหลังเองที่เส้นใยประสาทรับความรู้สึกจะอยู่ทางด้านหลังเมื่อถูกกดทับอาการปวดจึงไม่เด่น
อาการของการกดไขสันหลังมักจะแสดงออกในรูปแบบของความสามารถในการทำงานละเอียดๆ ลดลง, ความแม่นยำในการควบคุมนิ้วมือ แขนขาด้อยลง, ความเร็วในการพิมพ์สัมผัสช้าลง, เล่นดนตรีในเพลงยาก ๆ ได้ไม่เหมือนเดิม, การทรงตัวขณะเดินไม่ดีเหมือนเดิม หรือแม้กระทั่งล้มบ่อย ๆ โดยไม่มีสาเหตุที่แน่ชัด
จะเห็นได้ว่าอาการต่าง ๆ เหล่านี้ในตอนต้นผู้ป่วยหรือญาติจะต้องเป็นคนช่างสังเกตพอสมควรจึงจะดูออก ที่ยากไปกว่านั้นคืออาการเหล่านี้มักจะเพิ่มขึ้นอย่างช้ามากๆ จนเราคิดไปว่าเป็นอาการของผู้สูงอายุตามธรรมดาก็มี และเนื่องจากอาการข้างต้นมักจะไม่ได้ทรมานมากเหมือนกับอาการปวด ผู้ป่วยจำนวนหนึ่งจึงมักมาพบแพทย์เมื่ออาการมากหรือเดินไม่ได้แล้วเป็นต้น
แล้วโรคนี้อันตรายอย่างไร
ความอันตรายของโรคนี้คือ การกดทับไขสันหลังนี้หากปล่อยทิ้งไว้นานๆ มันจะนำไปสู่อาการอัมพาตได้ในที่สุด แต่อาการอัมพาตที่เกิดจากโรคนี้จะไม่เหมือนโรคหลอดเลือดสมองที่จะเกิดอัมพาตแบบปุบปับฉับพลัน แต่อาการอัมพาตจากโรคหมอนรองกระดูกทับไขสันหลังจะค่อยๆ เกิดแบบค่อยเป็นค่อยไป รู้ตัวอีกทีก็คือ เดินลำบากแล้วหรือลุกไม่ค่อยขึ้นแล้ว
มีข้อยกเว้นที่โรคนี้อาจเกิดอัมพาตแบบฉับพลันได้คือ เมื่อเกิดอุบัติเหตุที่ทำให้กระดูกคอสะบัดกระทันหัน หมอนรองกระดูกที่เคยทับไขสันหลังไว้โดยไม่แสดงอาการอาจกระแทกเข้าไปแล้วทำให้เกิดอาการอัมพาตขึ้นมาได้ โดยอุบัติเหตุที่ว่าไม่จำเป็นจะต้องเป็นอุบัติเหตุร้ายแรงเลย ยกตัวอย่างเช่น ตอนที่นั่งรถแล้วมีการเบรกแรงๆ หรือการล้มที่เหมือนจะเบาๆ แต่คอมีการเคลื่อนไหวเร็ว ๆ ก็สามารถทำให้เกิดอัมพาตได้เช่นกัน
การเคลื่อนไหวของคอเร็ว ๆ
การเกิดอุบัติเหตุที่ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวของคอเร็ว ๆ สามารถทำให้คนไข้ที่ไม่เคยมีอาการของไขสันหลังโดนทับ เกิดอาการอัมพาตได้อย่างฉับพลัน
ตัวอย่างเคสผู้ป่วย 1
ผู้ป่วยรายนี้เดินอยู่ริมชายหาด เสียหลักล้มเพราะคลื่นกระแทกเล็กน้อย หลังล้มเกิดอาการอัมพาตขยับแขนขาไม่ได้ในทันที
ลูกศรสีเขียวแสดงจุดปกติที่ไม่มีการกดทับ
ส่วนลูกศรสีส้มแสดงจุดที่มีการกดทับไขสันหลัง
นอกจากนั้นเรายังเห็นรอยช้ำของไขสันหลังสีขาวกระจายอยู่รอบ ๆ อีกด้วย
ทำอย่างไรจึงจะตรวจพบได้เร็ว
ถ้าอาการเข้ากันได้กับโรคนี้ควรจะเข้ามารับการตรวจกับผู้เชี่ยวชาญโดยตรงครับ แพทย์จะทดสอบความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ, การทรงตัวของร่างกาย รวมถึงปฏิกริยาตอบสนองอัตโนมัติของแขนขา หากพบว่าอาการเข้าข่ายก็จะส่งตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือ MRIเพื่อยืนยันการวินิจฉัยอีกที
จำเป็นต้องผ่าตัดไหม
ในภาวะที่มีเพียงการกดทับเส้นประสาท โดยไม่มีการกดทับไขสันหลัง ผมมักจะให้คนไข้ทดลองรักษาด้วยวิธีการไม่ผ่าตัดก่อนเสมอ แต่ภาวะการกดทับไขสันหลังเป็นหนึ่งในข้อยกเว้นที่ผมมักจะแนะนำให้คนไข้เข้ารับการผ่าตัดตั้งแต่ยังมีอาการน้อยๆ เพราะหากรอให้เกิดเหตุไม่คาดฝันเสียก่อน การฟื้นตัวอาจจะทำได้ยากมาก
การผ่าตัดโรคนี้ในยุคปัจจุบันเราผ่าตัดผ่านกล้องจุลทรรศน์ทั้งหมดการฟื้นตัวหลังผ่าตัดจึงไว พักรักษาตัวในโรงพยาบาลเพียงวันเดียวก็สามารถออกจากรพ. ได้
ตัวอย่างเคสผู้ป่วย 2
ผู้ป่วยรายนี้ ภรรยาสังเกตเห็นว่าการทรงตัวผู้ป่วยแย่ลงมาหลายปี ไม่สามารถใส่กางเกงขณะที่ยืนได้ แต่ชีวิตประจำวันด้านอื่นยังปกติดี ภาพ MRIด้านซ้ายพบว่ามีไขสันหลังถูกกดทับ
ผุ้ป่วยเข้ารับการผ่าตัดเปลี่ยนหมอนรองกระดูกที่คอโดยหลังผ่าตัดยังสามารถขยับคอได้อย่างเป็นธรรมชาติ
โรคหมอนรองกระดูกทับไขสันหลังเป็นโรคที่แสดงอาการน้อยโดยเฉพาะในช่วงแรกๆ อาการจะเพิ่มขึ้นอย่างช้า ๆ จนบางครั้งผู้ป่วยไม่รู้ตัว หากสงสัยว่าตัวเองหรือคนใกล้ตัวอาจมีอาการควรเข้ารับการตรวจร่างกายจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง และป้องกันเหตุร้ายที่อาจเกิดขึ้นกับกระดูกสันหลังของเราได้

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา