20 ต.ค. 2022 เวลา 16:51 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
มหากาพย์สงครามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ยุง ภาค 6
เรื่องโดย ผศ. ดร.ป๋วย อุ่นใจ
“เธอคือสาวน้อยปีกใส ร่างเล็กจิ๋ว
เธอชอบอยู่ใกล้ ๆ กับคน คอยบินวนเวียนไปมา ฮัมเพลงวี้วี้
คาร์บอนไดออกไซด์และไออุ่นทำให้เธอคลั่ง
มันคือปาร์ตี้อาหารบุฟเฟต์รสโอชา
เธอแอบดอมดมข้างกายเขา
สัมผัสถึงคาร์บอนไดออกไซด์และไออุ่น
กลิ่นกายของเขาซับซ้อนแต่ดึงดูดใจ
เธอรู้สึกได้ถึงสายโลหิตที่ไหลเวียนอยู่ใต้ผิวอันเนียนนุ่มที่ตรงหน้า
สัญชาตญาณแวมไพร์กระหายเลือดเริ่มครอบงำ
เธอตัดสินใจแอบบินเข้าไปเกาะกายเขาอย่างแผ่วเบา
เบาเสียจนเเม้แต่ตัวเขาเองยังไม่รู้สึก
เธอขดซองเขี้ยวขึ้นมา
ก่อนที่จะใช้เขี้ยวทั้งหกที่ยาวและคมราวกับเข็ม
บรรจงเจาะผ่านผิวของเหยื่อเข้าไป
ควานหาเส้นเลือดภายใน
แล้วสูบกินจนอิ่มหนำ อวบอ้วน ท้องเป็นสีแดงฉาน
และแล้วทันใด ก็มีเสียงผัวะ ดังสนั่น
ร่างอวบอ้วนของเธอพลันแตกสลาย
ทิ้งไว้แค่คราบเลือดที่สาดกระจาย
เป็นฉากสุดท้ายฆาตกรรมไม่อำพราง”
นี่คือโศกนาฏกรรมที่มักเกิดกับยุงตัวเมียตะกละตะกลาม แต่ก็ไม่ใช่ทุกครั้ง บางทีเธอก็ทำสำเร็จ ถ้ามองในมุมเมตตา ยุงสาวขอแค่เลือดเพียงน้อยนิด เเค่เพื่อสืบทอดทายาท หลายคนอาจจะบอกเล็กน้อยนัก ไม่น่าจะต้องถึงขนาดต้องฆ่าพร่าผลาญชีวิตกัน
แต่ปัญหาไม่ได้อยู่ที่การขอบริจาคเลือด แต่เพราะการกัดของเธอนั้นการแพร่กระจายเชื้อก่อโรคมรณะหลายชนิด อย่างมาลาเรีย ไข้เลือดออก เวสต์ไนล์ และซิกา และทำให้ถ้าเทียบอัตราการตาย ยุงจึงร้ายยิ่งกว่า “เสือ”
ขณะที่ยุงสาวคอยเสี่ยงชีวิตไล่ล่าตามหาเลือด แต่ยุงหนุ่มนอกจากจะไม่มีปากไว้เจาะเลือดเหมือนสาวเจ้าแล้ว ยังไม่เคยมีความสนใจใด ๆ ในแหล่งโปรตีนอันโอชะนี้เลยแม้แต่น้อย
พวกมันเมินเลือดอุ่น ๆ ข้นคาวโดยสิ้นเชิง… แต่กลับชื่นชอบอาหารสุนทรีย์ที่หอมหวลอย่างน้ำหวานจากเกสรดอกไม้และต้นไม้
ทำไมยุงตัวเมียเท่านั้นที่สนใจในกลิ่นเลือด คำถามนี้จุดประกายความสนใจของเลสลี วอสแชลล์ (Leslie Vosshall) หนึ่งในนักพันธุกรรมยุงที่น่าจับตามองมากที่สุดคนหนึ่งของโลก จากมหาวิทยาลัยร็อกกีเฟลเลอร์ (Rockefeller University)
แน่นอน ถ้ามองว่าเลือดคือแหล่งโปรตีนอันอุดมที่จะช่วยให้พวกมันมีเสบียงเพียบพร้อมสำหรับการสร้างและวางไข่ ยุงสาวเจริญพันธ์ุเลยถูกดึงดูดเข้าหาเลือด อันนี้พอเข้าใจได้
แต่ถ้าพันธุกรรมเหมือนกัน แล้วทำไมความชื่นชอบถึงได้แตกต่างกันแบบสุดขั้วขนาดนั้น และทำไมภารกิจนี้จึงอยู่แค่กับยุงตัวเมียเท่านั้น
“เรายังไม่มีไอเดียเลยว่าวงจรอะไรในสมองของยุงที่กำหนดให้ยุงสาวนั้นดึงดูดกับกลิ่นกายมนุษย์และกระตุ้นให้มันพุ่งเข้าไปกัด” นิพัน บาสเรอร์ (Nipun Basrur) นักศึกษาปริญญาเอกของเลสลีกล่าว
ไม่แน่อาจจะเกี่ยวกับลักษณะเฉพาะเพศก็ได้ นิพันและทีมจากห้องทดลองของเลสลีสงสัย แล้วมียีนอะไรที่ต่างกันชัดเจนในยุงหนุ่มและยุงสาว และเมื่อคุยเรื่องหนุ่ม ๆ สาว ๆ เลสลีก็เริ่มคิดไปถึงรสนิยมทางเพศ
ถ้าพูดถึงรสนิยมทางเพศ ยีน fruitless คือยีนเบอร์หนึ่งที่ทุกคนพูดถึงในแมลงหวี่
ยีน fruitless ควบคุมการแสดงออกของโปรตีนในสมองที่ส่งผลถึงพฤติกรรมการเริงระบำเกี้ยวพาราสีและจับคู่ของแมลงหวี่ จากการศึกษาพบว่าในสมองของแมลงหวี่ มีเซลล์ประสาทราว ๆ 2,000 เซลล์ที่แสดงยีน fruitless ออกมา และหากยีน fruitless กลายพันธุ์ไป แมลงหวี่ที่กลายพันธุ์จะเปลี่ยนรสนิยมจากแมลงหวี่ตรงเพศกลายเป็นแมลงหวี่เกย์
นิพันจึงเริ่มตั้งคำถามวิจัยว่ายุงหนุ่มหากเปลี่ยนรสนิยมไปรักชาย กลายเป็นยุงเกย์ พวกมันจะเปลี่ยนไปแวมไพร์คล้ายยุงสาวด้วยหรือไม่
นิพันจึงทดลองน็อกเอาต์เอายีน fruitless เวอร์ชันของยุงออกไปจากยุงหนุ่ม เช่นเดียวกับแมลงหวี่ ยุงหนุ่มที่ไร้ fruitless กลายเป็นยุงเกย์ที่นิยมเพศเดียวกัน เลิกสนใจที่จะจับคู่กับยุงตัวเมียไปเลย
เขาทดลองให้เลือดอุ่น ๆ ผ่านช่องตาข่าย หมายจะทดสอบว่ายุงเกย์ไร้ fruitless จะสนใจเลือดอุ่นๆ หรือไม่ ผิดคาด ในขณะที่ยุงสาวรุมล้อมดูดเลือดราวกับปาร์ตี้มารโลหิต ยุงเกย์กลับเมินเฉยไม่แยแสที่จะบินมาสำรวจดูแหล่งอาหารอันโอชะเสียด้วยซ้ำ
แต่ถ้าเป็นแขนมนุษย์ใส่เข้าไปละก็ ผลที่ได้กลับต่างไปสิ้นเชิง พอเจอแขนอันกรุ่นไปด้วยกลิ่นกายมนุษย์ ยุงเกย์ทั้งฝูงก็แทบคลั่งมิต่างจากยุงสาว เร่งบินกรูเข้ามามะรุมมะตุ้มกันเกาะอยู่ที่แขน แม้สัณฐานของปากจะยังเป็นปากที่วิวัฒน์มาเพื่อดูดน้ำหวานตามสไตล์ยุงตัวผู้ ไม่มีเขี้ยวที่ไว้ดูดเลือดเหมือนตัวเมีย ก็ยังไม่ไปไหน เรียกว่าดูดไม่ได้ ขอดมก็ยังดี
และแน่นอนถ้าเป็นยุงตัวผู้ปกติที่มี fruitless มาเป็นแขน เป็นขา เป็นหน้า เป็นส่วนไหน ก็ไม่สน เพราะรสนิยมไม่เน้นคน เน้นน้ำหวาน
“นี่เป็นการค้นพบที่คาดไม่ถึงและน่าอัศจรรย์แบบสุด ๆ” เลสลีกล่าว “เราไม่เคยเห็นยุงตัวผู้พิศวาสกลิ่นกายมนุษย์มาก่อน”
นิพันเริ่มทำการทดลองต่อและพบว่า การน็อกเอาต์เอายีน fruitless ออกไปนั้น กระตุ้นสัญชาตญาณดิบในการล่ามนุษย์ของยุงได้จริง ๆ พวกมันจะทนไม่ได้ที่จะเข้าหาถ้าได้กลิ่นกายมนุษย์ แม้ระบบเขี้ยวสำหรับเจาะดูดเลือดนั้นจะยังไม่มี ต่อให้เกาะแต่ก็เจาะไม่ได้ ระบบตรวจจับความร้อนและการติดตามไออุ่นของร่างกายคนก็ยังไม่ถูกเปิดขึ้น ส่วนอาการกระหายเลือดนั้นก็ยังไม่ได้เห็นเด่นชัดเช่นในยุงเพศเมียก็ตาม
“แสดงให้เห็นว่ายุงหนุ่มนั้นก็มีวงจรในระบบประสาทที่จำเป็นในการตามล่าหามนุษย์เช่นกัน” นิพันกล่าวด้วยน้ำเสียงตื่นเต้น “และการลบเอายีน fruitless ออกไปนั้นช่วยเปิดโปงพฤติกรรมนี้ที่ซ่อนเร้นอยู่ในพวกยุงหนุ่ม”
นี่คือความน่าสนใจที่สุด เมื่อก่อนเราเชื่อว่ายุงตัวผู้กับยุงตัวเมียน่าจะมีวงจรต่าง ๆ ในระบบประสาทที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง อย่างน้อยก็ในส่วนที่ควบคุมพฤติกรรมเฉพาะเพศ แต่งานวิจัยนี้บ่งชี้ชัดแล้วว่าวงจรแห่งการล่านั้นมีอยู่ครบถ้วนในยุงเพศผู้ที่ปกติ ไม่คิดจะล่า
และแค่สวิตช์ระดับยีนก็เพียงพอแล้วที่จะเปิดปิดพฤติกรรมสุดซับซ้อนของพวกมันได้ ในกรณีนี้คือ fruitless
นิพันเผยว่าเขามีแพลนที่จะศึกษาต่อไปให้เข้าใจวงจรแห่งผู้ล่าโลหิตภายในสมองยุงให้เข้าใจอย่างถ่องแท้มากกว่านี้ “เราเคยมืดแปดด้านไม่รู้ว่ายีนอะไรที่อาจจะมีผลกับการล่าเลือด ล่ามนุษย์ของยุง แต่ตอนนี้เราเริ่มเห็นภาพชัดเจนขึ้น การหาสวิตช์ตัวแรก (อย่าง fruitless) เจอจะช่วยเปิดทางให้เราถค้นพบสวิตช์ตัวที่สอง ที่สาม ที่จะช่วยเปิดพฤติกรรมแห่งการล่าอื่น ๆ ตามมา และหากเราเข้าใจความต้องการของมันในทางชีววิทยาอย่างถ่องแท้ ไม่แน่ว่ามนุษย์อาจจะหาหนทางอันชาญฉลาดที่จะช่วยให้เราอยู่กับยุงได้อย่างสันติก็เป็นได้”
เลสลีเผยถึงแผนต่อไปของเธอว่า “ตอนนี้เราเริ่มรู้ว่าจะทำยังไงให้ยุงตัวผู้กลายเป็นเกย์และหันมาสนใจล่ามนุษย์” มิชชันต่อไปที่เธออยากลองก็คือ พยายามชักจูงให้ยุงตัวเมียเปลี่ยนสภาพกลายเป็นทอม หันมาชอบเพศเดียวกัน และไม่แน่สวิตช์ทางพันธุกรรมบางตัวอาจช่วยปรับเปลี่ยน “รสนิยมเปิบเลือด” ให้กลายเป็น “เปิบน้ำดอกไม้” แทนก็เป็นได้
อ้างอิงข้อมูล
โฆษณา