21 ต.ค. 2022 เวลา 12:19 • เพลง & ซีรีส์ เกาหลี
The Law Cafe : จะเป็นอย่างไรเมื่อทุกคนเข้าถึงกฎหมายได้ง่ายเหมือนไปคาเฟ่?
ปีนี้ดูเหมือนจะเป็นปีแห่งซีรีส์เกาหลีที่เกี่ยวกับวงการกฎหมายจริงๆ เพราะมีซีรีส์แนวกฎหมายมากมายออกมา
ในวันนี้ Bnomics อยากจะแนะนำซีรีส์เรื่อง The Law Cafe ซึ่งน่าจะเป็นซีรีส์เรื่องหนึ่งที่เล่าเรื่องกฎหมายได้อย่างน่าสนใจ
สอดแทรกความรู้กฎหมายเข้าไปในชีวิตประจำวันได้อย่างลงตัว ผ่านตัวละครหลักคือ คิมยูริ ทนายสาวจากบริษัทกฎหมายที่หันมาเปิด “Law Cafe” ในคอนเซ็ปต์
คาเฟ่ที่ให้คำปรึกษาด้านกฎหมายในราคาเท่ากับกาแฟเพียง 1 แก้ว
โมเดลธุรกิจนี้อาจจะขัดกับความรู้สึกของหลายๆ คนไปเสียหน่อย เพราะโดยปกติแล้วการเข้าถึงบริการทางกฎหมาย มักจะซับซ้อนและมีค่าใช้จ่ายสูง นั้นจึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้หลายๆ คดีที่คนทั่วไปพบเจอในชีวิตประจำวัน
มักจบลงอย่างเงียบๆ โดยที่เรื่องไม่เคยไปถึงกระบวนการยุติธรรม แต่การเปิดคาเฟ่ให้คำปรึกษาด้านกฎหมายเช่นนี้ ทำให้เรารู้สึกว่าการจะเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเป็นเรื่องง่าย ใกล้ตัว และไม่ได้มีต้นทุนสูงมากนัก
📌 เมื่อคำปรึกษาทางกฎหมาย ไม่ได้มีไว้สำหรับทุกคน
สำหรับตระกูลที่ร่ำรวย หรือตระกูลเก่าแก่ การมีทนายประจำตระกูลที่คอยจัดการธุระต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย ถือเป็นเรื่องปกติที่แทบจะพบเห็นทุกครอบครัว
แต่รู้หรือไม่ว่าประชากรกว่า 5.1 พันล้านคน หรือกว่า 2 ใน 3 ของประชากรโลก ไม่สามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้ ส่งผลให้คนเหล่านี้ตกอยู่ภายใต้กับดักความยากจน ความเหลื่อมล้ำ และกลายเป็นคนชายขอบของสังคม
โดยเฉพาะผู้หญิง เด็ก ชนกลุ่มน้อย และผู้พิการ ซึ่งมักจะเป็นกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด
ด้วยความที่ช่องว่างในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมแตกต่างกันมากระหว่างคนรวยกับคนจน ทำให้ผู้วางนโยบายในหลายประเทศ พยายามหาทางที่จะแก้ปัญหา แต่ก็ยังเผชิญกับความท้าทายในเรื่องของงบประมาณ ว่าหากทุ่มงบไป
เพื่อช่วยให้คนชายขอบสามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้ มันจะคุ้มค่า และเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมได้จริงหรือ?
📌 ทำไมทุกคนควรเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้อย่างเท่าเทียม?
ต้นทุนใหญ่หลวงของการที่ไม่ได้แก้ปัญหาช่องว่างการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม คือ
หลายปัญหาที่เกิดขึ้นและไม่ได้รับการแก้ไข อาจจะกลายเป็นภาระรายจ่ายของรัฐบาลในที่สุด
 
งานวิจัยในประเทศแคนาดา ประมาณการว่าต้นทุนของการที่คนไม่สามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้อย่างเท่าเทียม มีมูลค่ามากกว่าต้นทุนในการจัดหาบริการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายถึง 2.35 เท่า
นอกจากนี้ยังพบว่า การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ยังมีความสัมพันธ์กับการสะสมทุนมนุษย์อีกด้วย
อธิบายง่ายๆ คือ เมื่อคนๆ หนึ่งไม่สามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้ กลายเป็นสาเหตุให้เกิดความเสียเปรียบ และความไม่เท่าเทียมในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของโอกาสในการทำงาน
โอกาสในการเข้าถึงการศึกษาและภาวะสุขภาพ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดศักยภาพทางเศรษฐกิจและสังคมของคนๆ นั้น
เมื่อไม่สามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้ ก็อาจผลักให้คนๆ นั้นต้องตกอยู่ในกับดักความยากจน และความยากจนนั้นเองที่กลายเป็นอุปสรรคให้เข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้ยากขึ้น เป็นวงจรเช่นนี้ไปเรื่อยๆ
📌 แล้วคนต้องการความช่วยเหลือเกี่ยวกับกฎหมายด้านไหนบ้าง?
งานวิจัยหลายชิ้น จึงได้ศึกษาว่ากฎหมายประเภทไหนที่คนมักจะต้องการความช่วยเหลือมากที่สุด ซึ่งก็พบว่ามันเป็นกฎหมายทั่วๆ ไปในการดำเนินชีวิตประจำวัน อาทิ
  • ด้านกฎหมายที่อยู่อาศัย เรื่องที่คนมักจะต้องการความช่วยเหลือมากที่สุดก็จะเกี่ยวกับการขับไล่, การยึดทรัพย์สินที่จำนองไว้, ปัญหาการชำระค่าสาธารณูปโภค, สภาพที่อยู่อาศัยที่ไม่ปลอดภัย และปัญหาคนไร้บ้าน
  • ด้านกฎหมายครอบครัว มักจะเกี่ยวข้องกับการหย่าร้าง, ความรุนแรงภายในครอบครัว, การดูแลบุตร, การเยี่ยมเยียนและจ่ายค่าเลี้ยงดูบุตร, การแบ่งทรัพย์สินของครอบครัว
จะเห็นได้ว่ากฎหมายเหล่านี้เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของคนส่วนใหญ่ แล้วในซีรีส์ก็นำประเด็นเหล่านี้เข้าไปสอดแทรกในแต่ละตอนให้เราเห็นถึงความสำคัญได้อย่างชัดเจนด้วย
ซึ่งจะเห็นได้ว่าหากช่วยให้คนสามารถเข้าถึงความช่วยเหลือทางกฎหมายได้ตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นของปัญหา ทำให้ปัญหานั้นสามารถหาทางแก้ได้และไม่ลุกลามใหญ่โตจนอาจกลายเป็นคดีอาญา
โดยเฉพาะในกลุ่มคนยากจนและกลุ่มชายขอบที่มักจะไม่ค่อยรู้สิทธิทางกฎหมายของตน และไม่มีทรัพยากรมากพอที่จะเข้าถึงบริการทางกฎหมาย
(เหมือนที่ทนายคิมยูริมักจะเน้นย้ำว่าทนายความที่ดีสำหรับเธอ คือ คนที่สามารถแก้ปัญหาได้สำเร็จก่อนจะไปถึงศาล)
ในปัจจุบันจึงมีทนายที่ถูกเรียกว่าเป็น Pro bono หรืออาจจะแปลเป็นไทยว่าทนายอาสา ที่ให้บริการทางด้านกฎหมายแบบฟรีๆ
เพื่อให้คนสามารถเข้าถึงบริการทางกฎหมายได้อย่างเท่าเทียม ซึ่งเป็นหนึ่งในเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ข้อที่ 16 อีกด้วย
[เกร็ดเล็กน้อย : Pro bono เป็นภาษาละติน ย่อมาจาก Pro bono publico แปลว่า for the public good หมายถึง การให้บริการต่างๆ เพื่อประโยชน์สาธารณะโดยไม่คิดเงิน ซึ่งนิยมนำมาใช้เวลาพูดถึงการให้บริการทางกฎหมายแบบไม่คิดเงิน
ผู้เขียนจึงมองว่า ไอเดียของทนายคิมยูริ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการส่งเสริมวัฒนธรรมที่ช่วยสร้างทนายอาสาขึ้นมา เพื่อช่วยว่าความให้กับผู้คนรากหญ้าและช่วยให้คำปรึกษาทางด้านกฎหมายฟรี เพราะจะเป็นรากฐานที่ดีของการพัฒนาสังคมที่มีความเสมอภาคในระยะยาว
ผู้เขียน : ชนาภา มานะเพ็ญศิริ Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
References:

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา