22 ต.ค. 2022 เวลา 05:30 • หุ้น & เศรษฐกิจ

EP.2 สรุปภาวะตลาดและมุมมองการลงทุน โดย บลจ. เอไอเอ (ประเทศไทย) - ตุลาคม 2565

Monthly Investment Insights for AIA Unit Linked by AIAIMT EP.2 – October 2022
ภาพรวมตลาดในเดือนที่ผ่านมา – เงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูง ธนาคารกลางทั่วโลกยืนนโยบายการเงินแบบตึงตัว
- ตลาดพันธบัตรทั่วโลกเผชิญกับแรงขายอย่างรุนแรงอีกในเดือนกันยายน หลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่องเพื่อสกัดเงินเฟ้อ อีกปัจจัยกดดันมาจากแรงขายในตลาดพันธบัตรสหราชอาณาจักร หลังจากที่สหราชอาณาจักรจะกลับมาเริ่มดำเนินนโยบายการคลังแบบขยายตัวอีกครั้ง สวนทางกับความต้องการของธนาคารกลางสหราชอาณาจักรเองที่จะสกัดเงินเฟ้อผ่านการดำเนินนโยบายการเงินแบบตึงตัว ผลตอบแทนพันธบัตรที่ปรับตัวสูงขึ้นทั่วโลกกดดันให้หุ้นปรับตัวลดลง
- เศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยรวมยังคงแข็งแกร่ง แม้จะมีการชะลอตัวในบางภาคส่วนเศรษฐกิจ โดยดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการเดือนสิงหาคมยังขยายตัวที่ 51.5 จุด และ 56.9 จุด ตามลำดับ ภาคแรงงานยังคงแข็งแกร่งเช่นกัน โดยมีการจ้างงานนอกภาคการเกษตรถึง 315,000 ตำแหน่ง มากกว่าที่คาดไว้ที่ 300,000 ตำแหน่ง ถึงแม้ว่าอัตราการว่างงานจะปรับเพิ่มขึ้นจาก 3.5% มาอยู่ที่ 3.7% แต่ก็มาจากการที่แรงงานกลับเข้ามาในตลาดแรงงานมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมาเป็นสำคัญ
- ด้านเงินเฟ้อสหรัฐฯ ก็ยังอยู่ระดับสูงที่ 8.3% ทำให้โดยรวมเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังเอื้อให้ Fed ดำเนินนโยบายการเงินแบบตึงตัวเพื่อควบคุมเงินเฟ้อต่อไป
- สำหรับเศรษฐกิจไทย อัตราเงินเฟ้อยังขยายตัวที่ระดับ 7.86% อย่างไรก็ดี หากเทียบเดือนต่อเดือน เงินเฟ้อไทยมีทิศทางลดลง จากราคาน้ำมันที่ลดลงในช่วงที่ผ่านมา
  • ตลาดตราสารหนี้ :
- ในเดือนกันยายน ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.75% มาอยู่ที่ระดับ 3.00-3.25% พร้อมย้ำถึงความสำคัญในการจัดการเงินเฟ้อ อีกทั้งยังส่งสัญญานว่า Fed อาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปจนถึงระดับ 4.50% และมีแนวโน้มที่จะคงอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงไปจนถึงสิ้นปี 2023 แม้จะส่งผลให้เศรษฐกิจถดถอยก็ตาม ความแน่วแน่ในการดำเนินนโยบายการเงินแบบรัดกุมของ Fed ส่งผลให้ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี ปรับตัวสูงขึ้นถึง 0.64% มาปิดที่ระดับ 3.83%
- ธนาคารแห่งประเทศไทย (BOT) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% มาอยู่ที่ระดับ 1% ในเดือนกันยายน พร้อมย้ำถึงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังอยู่ระหว่างการฟื้นตัว และแรงกดดันเงินเฟ้อจากอุปสงค์ยังมีจำกัด นักลงทุนบางส่วนจึงกังวลต่อส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยระหว่างสหรัฐฯและไทยที่อยู่ในระดับสูง
อาจกดดันเงินบาทให้อ่อนค่า และท้ายที่สุดอาจกดดันให้ BOT กลับมาเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ ในเดือนกันยายน อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย อายุ 10 ปี ปรับเพิ่มขึ้น 0.61% ปิดที่ระดับ 3.21% ด้านส่วนต่างอัตราผลตอบแทนหุ้นกู้เอกชน อายุ 5 ปี อันดับความน่าเชื่อถือ A ปรับตัวลดลง 0.04 % ปิดที่ระดับ 1.24%
  • ตลาดตราสารทุน :
- SET Index ในเดือนกันยายน ผันผวนเชิงลบ ถึงแม้ว่าดัชนีฯ จะปรับตัวขึ้นได้ในช่วงครึ่งแรกของเดือน (มาทำระดับสูงสุดของเดือนที่ 1,673 จุด เมื่อวันที่ 12 ก.ย. 2565) จากแนวโน้มเศรฐกิจในประเทศที่ฟื้นตัวตามการท่องเที่ยว อย่างไรก็ตาม ปัจจัยกดดันจากต่างประเทศ
อาทิ อัตราดอกเบี้ยทั่วโลกที่ปรับสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และความกังวลว่าเศรษฐกิจจะก้าวเข้าสู่ภาวะถดถอยในปีหน้า กดดันหุ้นไทยปรับตัวลดลงในช่วงครึ่งหลังของเดือนทำให้ SET Index ณ สิ้นเดือน ปิดที่ระดับ 1,590 จุด ปรับลดลง 3% (ปรับตัวขึ้นจากเดือนก่อนหน้า) โดยนักลงทุนต่างชาติพลิกกลับมาขายสุทธิ 2.4 หมื่นล้านบาท เทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ซื้อสุทธิมากถึง 5.7 หมื่นล้านบาท
มุมมองการลงทุน
  • มุมมองการลงทุนตราสารหนี้ :
ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ AIA Group Investment คาดว่าเศรษฐกิจโลกจะเติบโตลดลงอย่างเห็นได้ชัด (เปรียบเทียบกับปี 2564) ในขณะเดียวกัน เงินเฟ้อพื้นฐานอาจเริ่มชะลอตัวลง แต่ยังทรงตัวในระดับสูงอย่างน้อยจนถึงไตรมาส 4/2565
อย่างไรก็ดี ความกลัวว่าเศรษฐกิจจะถดถอยส่งผลดีต่อสินทรัพย์สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ และความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัย จำกัดการเพิ่มขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ และคาดว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวของไทยจะมีการเคลื่อนไหวตามตลาดสหรัฐฯ ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นจะปรับตัวเพิ่มขึ้นตามการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย
  • มุมมองการลงทุนตราสารทุน :
- มุมมองการลงทุนหุ้นในตลาดต่างประเทศ : ดัชนีตลาดหุ้นทั่วโลกล้วนปรับตัวลดลงอย่างมีนัยสำคัญ นำโดยตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวลดลง 8-10% ตลาดหุ้นยุโรปปรับตัวลดลง 5-6% และตลาดหุ้นเอเชียปรับตัวลดลง 2-14% (หากเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้า) โดยมีปัจจัยกดดันหลักมาจากการที่อัตราดอกเบี้ยในตลาดพันธบัตรของสหรัฐฯ และยุโรปปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมาก ภายหลังจากการประชุมล่าสุดของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่ยังคงส่งสัญญาณการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องเพื่อสกัดปัญหาเงินเฟ้อ แม้ว่าจะส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอตัวก็ตาม
อีกทั้งตลาดยังมีความกังวลต่อการก่อหนี้ครั้งใหญ่จากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในอังกฤษ ซึ่งสวนทางกับนโยบายการเงินที่เข้มงวด ทำให้ตลาดการเงินของอังกฤษผันผวนอย่างรุนแรง จนในที่สุด ธนาคารกลางของอังกฤษต้องออกมาทำ QE ระยะสั้น ทั้งนี้ AIA Group Investment ยังคงมีมุมมองเชิงระมัดระวังต่อการลงทุนในตลาดหุ้น และคงน้ำหนักลงทุน “น้อยกว่าตลาด” สำหรับหุ้นต่างประเทศ
- มุมมองการลงทุนหุ้นในตลาดไทย: ประเมิน SET Index ยังคงผันผวนสูงอยู่ในกรอบ 1,500-1,700 จุด ในช่วงที่เหลือของปีนี้ ถึงแม้ว่าแนวโน้มของเศรษฐกิจไทยจะได้รับปัจจัยสนับสนุนจากภาคท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว แต่ยังคงมีประเด็นในต่างประเทศที่ต้องติดตามในเดือนตุลาคม อาทิ ทิศทางนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ และธนาคารกลางยุโรป รวมไปถึง การประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์ของจีน
  • คำแนะนำการลงทุน
ตราสารทุน : รักษาวินัยการลงทุน สะสมการลงทุนในตราสารทุนเพื่อเป้าหมายการลงทุนระยะยาว โดยทยอยปรับสัดส่วนการลงทุนเข้าสู่เป้าหมายระยะยาว
ตราสารหนี้ : ตลาดยังมีความผันผวนสูง ควรรักษาสภาพคล่องเพื่อหาจังหวะทยอยลงทุนในตราสารทุน ในขณะเดียวกัน ยังควรถือตราสารหนี้เพื่อจำกัดความผันผวนของพอร์ตการลงทุน
แหล่งข้อมูล: “สรุปภาวะตลาดและมุมมองการลงทุนประจำเดือนตุลาคม 2565” โดย AIA Group Investment และ บลจ. เอไอเอ (ประเทศไทย) ณ วันที่ 30 กันยายน 2565
ข้อมูลนี้จัดทำขึ้นเพื่อเผยแพร่ทั่วไป ผู้ใช้ต้องใช้ความระมัดระวังด้วยวิจารณญาณและรับผิดชอบในความเสี่ยงต่างๆ ด้วยตนเอง
เริ่มวางแผนการเงินระยะยาว กับบริการผู้เชี่ยวชาญช่วยดูแลการลงทุน AIA InvestPro และ บลจ. เอไอเอ (ประเทศไทย)
ผ่านกรมธรรม์ประกันชีวิตควบการลงทุน เอไอเอ ยูนิต ลิงค์ ที่เหมาะกับคุณได้แล้ววันนี้
ติดต่อตัวแทน เอไอเอ หรือดูรายละเอียดได้ที่ : https://www.aia.co.th/th/our-products/unit-link.html
คำเตือน:
- –ผู้ขอเอาประกันภัยควรทำความเข้าใจรายละเอียด เงื่อนไข ความคุ้มครองและข้อยกเว้นก่อนตัดสินใจทำประกันภัย รวมทั้งศึกษาทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยง ก่อนตัดสินใจลงทุน
- ข้อกำหนดและเงื่อนไขของความคุ้มครองจะระบุไว้ในกรมธรรม์ประกันภัยที่ออกให้กับผู้ถือกรมธรรม์
–- การลงทุนมีความเสี่ยงผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไข ผลตอบแทน และความเสี่ยง ก่อนตัดสินใจลงทุน
–- ผลการดำเนินงานในอดีต/ ผลการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา