22 ต.ค. 2022 เวลา 06:39 • ความคิดเห็น
6 บทเรียนชีวิตของหมู อุ๊คบี (OOKBEE)
2
หมู ณัฐวุฒิ พึงเจริญพงศ์ หรือในชื่อที่รู้จักทั่วไปคือ หมู อุ๊คบี หมูเป็น startup ยุคแรกๆของไทย เริ่มตั้งแต่เป็น SME รับจ้างเขียนโปรแกรมแล้วพอถึงยุคสมาร์ตโฟนหมูก็เริ่มทำแอพ ทำแพลตฟอร์มหนังสือออนไลน์ที่ชื่อ ookbee แล้วค่อยๆเติบใหญ่มาทำแพลตฟอร์มของ GEN Z แห่งยุคสมัยที่ชื่อจอยลดาที่มีเด็กๆใช้อ่านนิยายแชตหลายล้านคน แพลตฟอร์มนิยายอันดับหนึ่งของไทยอย่างธัญวลัย และมีแพลตฟอร์มการ์ตูน เพลง ดูดวง จนใหญ่โต มีบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง tencents เป็นผู้ถือหุ้นหลัก
4
นอกจากนั้นหมูยังเป็นผู้ร่วมก่อตั้งกองทุน startup ที่น่าจะใหญ่ที่สุดในเมืองไทยที่ชื่อ 500 tuktuk ได้เจอและลงทุนกับบริษัท startup ทั่วภูมิภาคเป็นร้อยบริษัท ทำเหรียญหนึ่งในสามเหรียญหลักของไทยอย่าง six และปัจจุบันก็เป็น commentator ในรายการ sharktank อันโด่งดังอีกด้วย
8
หมูผ่านร้อนผ่านหนาวมาอย่างเข้มข้นทั้งการเป็น startup หนึ่งในร้อยที่รอดมาจนโตได้ขนาดนี้ ทั้งได้เจอ ได้คุย และได้ลงทุนกับบริษัท startup เป็นร้อยเป็นพัน ได้ทำงานกับกองทุนระดับโลก ประสบการณ์ที่ตกผลึกในวัย 45 ปีที่หมูเอามาเล่าในหลักสูตรเอบีซีนั้นน่าสนใจอยู่หลายประเด็น ผมหยิบยกมาเท่าที่ผมจำได้ที่น่าจะทำให้กระตุกต่อมคิดได้ดีอยู่หกเรื่อง
5
เรื่องแรก หมูเล่าจากประสบการณ์ของตัวเองว่าหัวใจหลักๆของงานที่สำเร็จลุล่วงมาได้ ก็คือการมีทีมงานที่เก่งๆอยู่รอบตัว ซึ่งในการที่จะมีทีมงานเก่งๆนั้น บริษัทต้องมี culture ที่ดีที่ทำให้คนเก่งตัดสินใจอยากอยู่กับเราถึงแม้ว่าจะถูกดึงตัวไปที่อื่นถ้าเงินที่ได้ไม่ได้มากกว่ามาก
9
วิธีวัด culture ง่ายๆของหมูก็คือการสังเกตคนเก่งที่เรามีที่รองจากเราไปว่าเขากล้าชวนเพื่อนที่เก่งๆของเขา ที่สนิทที่สุดของเขามาทำงานด้วยหรือไม่ ถ้าเขากล้าชวนก็แสดงว่าเขามีความสุขที่อยู่ที่นี่และมั่นใจว่าชวนเพื่อนมาแล้วจะชอบ ไม่ด่าเขาทีหลัง ที่แย่กว่านั้นคือถ้าเขาไม่กล้าชวนด้วยแถมไปถามเพื่อนอีกว่าที่ที่เพื่อนอยู่นั้นรับคนรึเปล่าเพราะอยากจะย้ายเต็มแก่ อันนั้นเราก็ต้องรีบพิจารณาตัวเองโดยด่วน
7
วิธีนี้เป็นวิธีวัดและได้คนเก่งมาทำงานของหมู…
เรื่องที่สองนั้น หมูเล่าว่าในการทำงานบริษัทที่เป็นเทคมาเกี่ยวข้อง นอกจากจะต้องมีคนเก่งด้าน IT ด้านธุรกิจแล้ว ทีมงานที่สำคัญไม่แพ้กันเลยก็คือทีมงานด้าน UX/UI หรือที่ย่อมาจาก User experience กับ User interface เพราะต่อให้ product ดีอย่างไรถ้าออกแบบให้ใช้ยาก หน้าตาดูไม่เป็นมิตรก็จะไม่ค่อยมีคนใช้ ทีมงานนี้ไม่จำกัดเฉพาะพวกบริษัทเทค เดี๋ยวนี้ไม่ว่าธุรกิจอะไรนั้น ประสบการณ์ของลูกค้าคือหัวใจทั้งสิ้น แต่บริษัทมักจะไม่ค่อยให้ความสำคัญในการหา UX/UI ที่เก่งๆเท่าไหร่นัก
7
เรื่องที่สามเป็นคำถามที่ผมถามหมูในฐานะที่เห็นบริษัทขนาดเล็กในระดับที่เพิ่งตั้งแล้วมาขอทุนไปทำธุรกิจว่าเราจะเลือกดูตรงไหนว่าควรลงทุนหรือไม่ลงทุนเพราะงบการเงินก็ดูไม่ได้ ความน่าเชื่อถือตัวเลขในอดีตก็ยังไม่มี ลูกค้าก็ยังมีน้อยมาก หมูบอกว่าเขาดูและตั้งคำถามกับตัวเองสองอย่าง อย่างแรกคือคุยไปแล้วคิดตามไปด้วยว่าเราอยากจะเป็นลูกน้องของคนที่กำลังเล่าเรื่องระดมทุนหรือไม่ เพราะถ้าเราอยากเป็นลูกน้องก็แสดงว่าเขาดูเก่ง สอนงานเราได้ นิสัยก็ต้องดี พูดจาดีพอที่เราอยากทำงานด้วย
3
ประการที่สองหมูก็จะคิดตามว่า ไอเดียที่เขาเล่ามานั้น หมูเองก็มีทีม IT ที่แข็งแรง ถ้าเราคิดจะทำเหมือนเขาแล้วเราจะชนะเขาได้หรือไม่ ที่ถามไม่ใช่เพื่อจะลอก เพราะถ้าหมูคิดได้ คู่แข่งรายใหญ่อื่นๆก็คิดได้ และถ้าตอบว่าชนะได้ไม่ยาก คนอื่นก็คงทำได้เช่นกัน
9
ถ้าตอบคำถามสองข้อได้ว่า น้องที่มาระดมทุนอยู่ตรงหน้านั้นน่าทำงานด้วย ไอเดียและความสามารถเขาก็ลอกเลียนได้ยาก ทำไปก็สู้ไม่ได้ ก็เป็นหลักการสำคัญสำหรับหมูในการตัดสินใจลงทุนและก็พลาดไม่มากนักตั้งแต่ลงทุนมา
3
เรื่องที่สี่เป็นเรื่องของการลงทุน หมูเป็นนักลงทุนที่หลากหลาย asset class ตั้งแต่หุ้นจนถึงคริปโตแบบซับซ้อน หมูบอกว่าการลงทุนมีความเสี่ยงเสมอ แต่การลงทุนที่ไม่มีความเสี่ยงเลยก็คือการลงทุนกับตัวเอง ลงเท่าไหร่ก็ได้ 100% และถ้าเราลงทุนกับตัวเองมากพอ คนอื่นก็จะอยากมาลงทุนกับเราด้วย หมูยกตัวอย่างดาราที่ลงทุนออกกำลังจนมีร่างกายที่แข็งแกร่งสวยงาม ก็จะอยากมีคนมาจ้างไปเป็นนายแบบเป็นต้น
1
การลงทุนกับตัวเองทุกเรื่องไม่ว่าจะเป็นทักษะต่างๆ การออกกำลังกาย การช่วยเหลือคน ฯลฯ เป็นการลงทุนที่คุ้มที่สุดแล้วในชีวิต
1
เรื่องที่ห้า เป็นเรื่องที่หมูชวนคิดว่าถ้าเรามีสตางค์ที่สามารถส่งลูกน้องไปอบรมการยิงแอดออนไลน์สามหมื่นบาท กับการเอาสามหมื่นบาทนั้นมาแบ่งเป็นงบประมาณวันละพันหนึ่งเดือน เป็นเงินสามหมื่นบาทเท่ากันแล้วให้ลูกน้องลองยิงแอดเอง ผิดถูกไม่เป็นไรแต่ต้องมาเล่าประสบการณ์การเรียนรู้ให้ฟังทุกวัน แบบที่สองนั้นจะได้ผลมากว่ามากเพราะเขาได้เรียนรู้จากความผิดพลาดและได้ปรับปรุงตัวเองทุกวัน
10
แต่ที่สำคัญคือเจ้านายต้องให้สิ่งที่เรียกว่า “license to fail” ลูกน้องถึงจะกล้าลองผิดและเรียนรู้ได้
3
เรื่องสุดท้าย หมูตั้งคำถามสนุกๆไว้ว่า ลองจินตนาการเป็นคนที่รวยที่สุดในโลก มีเงินเป็นหมื่นๆล้านแล้วเกิดป่วยหนักใกล้ตาย ถ้ามีคนยื่นข้อเสนอว่าจะต่อชีวิตที่ดีให้อีกหนึ่งปี คิดว่าเราจะยอมจ่ายเงินเท่าไหร่เพื่อได้หนึ่งปีนั้นมา แทบทุกคนคงยอมจ่าย 90% ของเงินที่มีเพื่อจะได้เวลาที่เรียกว่า “ปกติสุข” มาอีกซักปี
3
คำถามก็คือว่า ในตอนนี้เราทุกคนมีเวลาที่มีค่านั้นอยู่แล้วแต่อาจจะหลงลืมหรือไม่เห็นคุณค่าของเวลาปัจจุบัน เราน่าจะต้องใช้มันให้คุ้มที่สุดใช่หรือไม่
7
เป็นคำถามฉุกคิดที่หมูทิ้งท้ายไว้ในการบรรยายที่ผมได้มีโอกาสฟังเมื่อวานครับ…
2
โฆษณา