22 ต.ค. 2022 เวลา 09:08 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
ได้เวลาเปิดภาพชุดใหม่ของดาวอังคาร* จากเจ้าโรเวอร์คิวริโอซิตี้ (Curiosity) ซึ่งเป็นรถสำรวจดาวอังคารที่นาซาได้ส่งไปตั้งแต่ปี 2012 กันบ้างแล้ว หลังจากที่ได้มีการเฉลิมฉลองวันเกิดน้อง เนื่องในวาระที่ได้ลงจอดบนดาวเคราะห์แดงครบรอบ 10 ปี เมื่อช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา
โดยเจ้าโรเวอร์คิวริโอซิตี้ของเรานั้น พึ่งได้เดินทางมาถึงบริเวณพื้นที่ที่อุดมไปด้วยกลุ่มตะกอนของแร่ซัลเฟต และโซเดียมคลอไรด์ หรือเกลือที่เรากินกันอยู่ในทุก ๆ วันในปริมาณที่หนาแน่น อย่างมหาศาล ซึ่งแร่ประเภทนี้จะตกผลึกได้ ต่อเมื่อน้ำเค็มระเหยตัวขึ้นไปในอากาศเท่านั้น
3
โดยพื้นที่ในบริเวณนี้นั้น อยู่ในบริเวณทางตอนเหนือของเชิงภูเขาชาร์ป ซึ่งเป็นภูเขาขนาดยักษ์สูงกว่า 5,500 เมตร* ที่ตั้งอยู่ใจกลางแอ่งหลุมอุกกาบาตเกล (Gale Crater) อีกทีหนึ่ง
1
นักธรณีวิทยาจึงคาดการณ์ว่าแอ่งหลุมอุกกาบาตเกลนั้น เคยเป็นทะเลสาบน้ำเค็มเข้มข้นสูงมาก่อนคล้ายกับทะเลเดดซีบนโลกในยุคสมัยที่ชั้นบรรยากาศของดาวอังคารยังคงหนาแน่นเพียงพอที่จะทำให้น้ำคงสถานะเป็นของเหลวได้
1
แต่เมื่อลมสุริยะของดวงอาทิตย์ ได้เริ่มพัดพาชั้นบรรยากาศของดาวอังคารที่ไร้การปกป้องจากสนามแม่เหล็ก* ออกไป ความหนาแน่นของอากาศก็เริ่มน้อยลงไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งถึงจุด ๆ หนึ่ง ที่ทำให้น้ำบนดาวอังคารเริ่มเดือดที่อุณหภูมิ 0 องศาเซลเซียส ไม่เหมือนกับบนโลกในบริเวณระดับน้ำทะเลที่น้ำจะเดือดที่ 100 องศาเซลเซียสอยู่เสมอ
หลักการที่ว่าจุดเดือดของน้ำแปรผันตามความดันบรรยากาศ* นี้ จึงทำให้ผืนน้ำบนดาวอังคารส่วนใหญ่เริ่มเดือดกลายเป็นไอ แล้วถูกพัดพาออกไปสู่ห้วงอวกาศด้วยฝีมือของลมสุริยะ เมื่อราว 3,000 ล้านปีที่แล้ว ซึ่งได้หลงเหลือไว้แต่กลุ่มตะกอนของซัลเฟตในภาพชุดนี้ ในยุคสมัยที่ดาวอังคารได้แปรเปลี่ยนเป็นดาวทะเลทรายหนาวเย็นยะเยือกโดยสมบูรณ์
1
โดยผลการศึกษาชั้นหินตะกอนที่เรียงตัวเป็นชั้น ๆ ตามช่วงเวลาที่พื้นผิวน่ำด้านบนค่อย ๆ ระเหยถอยร่นไปยังเบื้องล่างของเชิงภูเขาชาร์ปนั้น จะช่วยให้นักธรณีวิทยาระบุถึงความเร็วในการลดระดับของน้ำได้อย่างแม่นยำ ซึ่งยังสามารถนำข้อมูลไปวิเคราะห์ต่อได้อีกขั้น เพื่อที่จะศึกษาว่ากระบวนการสูญเสียน้ำในแต่ละช่วงเวลาของดาวอังคารนั้นเป็นอย่างไรกันแน่โดยละเอียด
1
แต่อย่างไรก็ดี การเดินทางไล่ไต่ระดับขึ้นเขาไปขุดเจาะเก็บตัวอย่างหินของโรเวอร์คิวริโอซิตี้นั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เนื่องจากเชิงภูเขาชาร์ปนั้น มีโขดหินน้อยใหญ่กระจัดกระจายไปอยู่ทั่วบริเวณ ซึ่งมากเสียจนโรเวอร์ของเราไม่สามารถหาพื้นที่ที่ปลอดภัยต่อการขุดเจาะได้ทันทีที่ไปถึง แถมยังต้องคอยดูว่าไม่มีอะไรมาบดบังเสาสัญญาณ ที่ใช้สื่อสารไปยังยานอวกาศบนวงโคจรของดาวอังคาร ก่อนที่ส่งต่อมายังสถานีบนโลกอีกทอดหนึ่งด้วย
1
จนแล้วจนรอดเมื่อวันที่ 13 ตุลาคมที่ผ่านมา โรเวอร์คิวริโอซิตี้ก็สามารถเก็บตัวอย่างหินบริเวณนี้มาวิเคราะห์ได้สำเร็จ ซึ่งไม่แน่ว่าผลลัพธ์ของงานวิจัยที่กำลังจะเกิดขึ้นก็อาจช่วยให้เราได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์การสูญเสียน้ำของดาวอังคารโดยละเอียดมากขึ้นในอนาคต
* ภาพชุดนี้ได้รับการแต่งสีให้สภาพท้องฟ้าที่ตามปกติจะมีสีเหลืองน้ำตาลบนดาวอังคาร ให้กลายเป็นสีฟ้าแบบบนโลก เพื่อที่นักวิทยาศาสตร์จะสามารถแยกแยะประเภทหินได้ง่ายขึ้น
* ถีงแม้ว่าดาวอังคารจะไม่มีระดับน้ำทะเลให้เทียบความสูงแต่นักดาราศาสตร์ก็ได้ตกลงกันว่าใช้ค่าเฉลี่ยของพื้นที่ราบบนดาวอังคารในการกำหนดระดับน้ำทะเลสมมติแทน
* สนามแม่เหล็กของโลกถูกสร้างขึ้นโดยการที่โลหะหลอมเหลวภายในแกนโลกชั้นนอกเคลื่อนที่หมุนวนรอบแกนแข็งชั้นใน ซึ่งได้สร้างสนามแม่เหล็กขึ้นมาจากปรากฏการณ์ไดนาโม เหมือนกับเครื่องปั่นไฟบนโลก
ส่วนดาวอังคารนั้น กลับไม่มีสัญญาณของความร้อนที่อยู่ภายในดาว อย่างเช่นภูเขาไฟปะทุ เลยแม้แต่น้อย จึงเป็นที่คาดการณ์ว่าแกนของดาวอังคารได้เย็นตัวลงเสียจนไม่สามารถสร้างสนามแม่เหล็กได้อีกต่อไป เมื่อประมาณ 3,000 ล้านปีที่แล้ว
เนื่องจากตัวดาวอังคารมีขนาดที่เล็กกว่าถึงครึ่งหนึ่ง และมวลเพียง 1 ใน 10 ของโลกเท่านั้น จึงสูญเสียความร้อนภายในไปได้ไวกว่ามาก
1
* ปัจจุบันชั้นบรรยากาศของดาวอังคารหนาแน่นเพียง 0.06 % เมื่อเทียบกับโลก และมีจุดเดือดของน้ำอยู่ที่ -4.6 องศาเซลเซียสโดยเฉลี่ย หากคุณอยู่บนดาวอังคารโดยไม่ใส่ชุดอวกาศ เลือดคุณจะเดือดในขณะที่กำลังจะแข็งตายจากอุณหภูมิเฉลี่ยที่ -60 องศาเซลเซียส
อ่านข่าวการสำรวจเพิ่มเติมได้ที่ - https://www.nasa.gov/feature/jpl/nasa-s-curiosity-mars-rover-reaches-long-awaited-salty-region
1
รอยล้อของโรเวอร์คิวริโอริตี้บนพื้นทรายแห้งหยาบบนดาวอังคาร ซึ่งแหลมคมมากพอที่จะสร้างความเสียหายให้กับตัวล้อได้
ภาพวิวทิวทัศน์ของขอบแอ่งหลุมอุกกาบาตเกล จากเชิงภูเขาชาร์ป
โขดหินน้อยใหญ่และสันทราย ณ เชิงภูเขาชาร์ป พร้อมกับทิวทัศน์ของขอบแอ่งหลุมอุกกาบาตเกลอยู่เบื้องหลัง
ชั้นหินตะกอนที่อุดมไปด้วยแร่ซัลเฟตและเกลือหลากหลายชนิด
ก้อนหินธรรมดาก้อนหนึ่ง ที่เคยอยู่ใต้ผืนทะเลสาบน้ำเค็มของแอ่งหลุมอุกกาบาตเกล
ภาพกว้างของแนวช่องเขาที่โรเวอร์คิวริโอซิตี้จะเดินฝ่าเข้าไปในอนาคต โดยเราสามารถเห็นรอยคลื่นกัดเซาะผนังโขดหิน ในแต่ละช่วงเวลาที่น้ำลดระดับลงได้อย่างชัดเจน
ทิวเนินเขาที่สลับซับซ้อนไล่ไปตามระดับความสูงของภูเขาชาร์ป
1
โฆษณา