23 ต.ค. 2022 เวลา 06:33 • ปรัชญา
กฎเกณฑ์เป็นสิ่งที่มนุษย์สมมุติขึ้น และสุดท้ายมนุษย์ก็ตกอยู่ภายใต้กรอบที่ตัวเองสร้าง การอยู่ในกรอบหรือกฎเกณฑ์ต่างๆ ทำให้มนุษย์นั้นไม่เป็นอิสระ
เครดิตภาพ : http://seuksaatam.blogspot.com
ศาสนาส่วนใหญ่เมื่อผ่านช่วงเวลาของการก่อตั้งโดยพระศาสดาแล้วก็มักพัฒนามาเป็นรูปแบบของสถาบัน และมักมีพิธีกรรมที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อค้ำจุนศาสนานั้น
ซึ่งความเป็นสถาบัน ทำให้จำเป็นต้องมีปัจจัยสนับสนุนการดำรงอยู่ของศาสนา และปัจจัยเหล่านี้จะต้องเป็นรูปธรรมและมีพลังในการเรียกร้องศรัทธา หรือพฤติกรรมบางอย่างที่บ่งบอกถึงความมีศรัทธา ไม่ว่าความเป็นจริงส่วนลึกข้างในศาสนิกจะมีความศรัทธาหรือไม่ก็ตาม
แม้ศาสนาพุทธเองก็เช่นกัน ในยุคเริ่มแรก มีท่าทีที่ชวนให้เข้าใจว่าเป็นระบบความคิดที่ให้ความสำคัญแก่พิธีกรรมน้อยมาก
แต่เมื่อสิ้นยุคพุทธกาล พุทธศาสนาก็ให้กำเนิดพิธีกรรมต่างๆมากมาย ซึ่งพิธีกรรมในแง่นี้เราไม่พึงพิจารณาในฐานะว่าเป็นสิ่งดีหรือไม่ดี แต่ควรพิจารณาในฐานะองค์ประกอบของศาสนาที่เกิดขึ้นด้วยความจำเป็นบางอย่างในการปรับตัวเพื่อความอยู่รอดในสถานะที่เป็นสถาบัน
ปัญญาชน และ ปราชญ์ทางศาสนา มักวิพากษ์วิจารณ์ พิธีกรรมที่สร้างสรรค์ในรูปแบบกิจกรรมต่างๆในทางศาสนา แม้แต่ปราชญ์ทางพุทธเอง ก็เห็นว่า แก่นของพุทธศาสนาคือการดับทุกข์ หรืออย่างน้อยคือการแก้ปัญหาชีวิตได้
หากพุทธศาสนาได้สูญเสียสาระส่วนที่เป็นแก่นแท้ของตนไปแล้ว แม้จะมีพุทธศาสนาที่รุ่งเรืองในรูปแบบสถาบัน หรือ องค์กรที่เข้มแข็ง มีคนเคารพนับถือ และมีพิธีกรรมที่แสดงออกว่าเป็นความยึดมั่นอยู่นั้น ก็ไม่น่าจะถือว่ามีพุทธศาสนาที่แท้จริงอยู่ สังเกตุจากที่มีพิธีกรรมจำนวนไม่น้อยเลยที่มอมเมาความคิดอ่านได้แนบเนียน มากกว่าให้สติปัญญาในสังคมไทย
ความหมายหนึ่งของคำว่า ทุกข์ ในพุทธศาสนา คือ การมีชีวิตที่อึดอัด คับแคบ ไม่ปรอดโปร่ง ในแง่นี้ ความยึดติดในกฎเกณฑ์ อาจเป็นอุปสรรคต่อความเป็นอิสระปลอดโปร่ง
แต่หากเราเข้าใจว่า ความเป็นชาวพุทธที่ดี หมายถึงต้อง ปฏิบัติตนอยู่ในกรอบของคำสอนบางอย่าง เช่น กรอบของศีล สมาธิ ปัญญา กรอบ หรือ กฎเกณฑ์ ที่ว่านี้ จะว่าไปแล้วก็เป็นเหมือนแพที่ใช้ข้ามแม่น้ำให้ไปถึงฝั่ง คือ นิพาน
เพราะตราบเท่าที่อยู่กลางแม่น้ำอาจมีความจำเป็นต้องเกาะยึดแพนี้ไว้ ข้อเสนอเกี่ยวกับการใช้ชีวิตแบบไม่ยึดติด กรอบ กฎเกณฑ์ ไม่ต่างไปจากการบอกให้เราทิ้งแพขณะที่ยังลอยอยู่ท่ามกลางกระแสน้ำหรือไม่ ก็เป็นปริศนาให้ขบคิด เพื่อพิจารณาถึงสารัตถะแท้จริงต่อไป
-วิรุหก-
โฆษณา