24 ต.ค. 2022 เวลา 01:47 • ข่าว
คสรท.คัดค้านการควบรวม TRUE+DTAC
คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.)เป็นองค์กรของผู้ใช้แรงงานทั้งในภาคเอกชน รัฐวิสาหกิจ และ แรงงานนอกระบบ ได้ติดตามสถานการณ์การควบรวมกิจการของบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC ซึ่งต่างเป็นที่ทราบกันดีว่าทั้งสองบริษัทนั้นประกอบธุรกิจคลื่นความถี่เกี่ยวกับโทรศัพท์ และ อินเตอร์เน็ต หรือ ระบบสื่อสารโทรคมนาคมไร้สายที่ประชาชนแทบทุกคนใช้กันอย่างแพร่หลาย
คสรท.พยายามสร้างความรับรู้และเข้าใจในเรื่องดังกล่าวและเห้นพ้องต้องกันว่าการควบรวมกิจการของทั้งสองบริษัทนั้นไม่ได้เกิดผลดีต่อพี่น้องประชาชนแต่อย่างใด แต่บุคคล กลุ่มบุคคลที่จะได้ประโยชน์ก็คือกลุ่มทุนของทั้งสองบริษัท และทราบว่าการควบรวมกิจการระหว่าง TRUE และ DTAC กำลังอยู่ในการพิจารณาของ กสทช.
คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.) มีความเห็นว่าการควบรวมกิจการระหว่าง TRUE และ DTAC มีผลกระทบโดยตรงที่จะสร้างความเสียหายต่อสภาพการแข่งขันของตลาดแข่งขันในธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคมของประเทศไทยอย่างรุนแรง ทำให้ประชาชนและสังคมใดยรวมซึ่งเป็นผู้บริโภคต้องทนรับสภาพการผูกขาดทางตลาดโดยกลุ่มทุนเอกชน การแข่งขันที่อ้างว่าประชาชนจะได้ประโยชน์นั้นไม่สามารถเกิดขึ้นได้ ค่าบริการอาจมีค่าสูงขึ้นและคุณภาพของการให้บริการจะแย่ลง จึงขอคัดค้านและไม่เห็นด้วยกับการรวมกิจการทั้งสอง ด้วยเหตุผล ดังนี้
๑. แม้ว่าประเทศไทยจะใช้หลักการของระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมเสรีเป็นแนวทางในการวางกรอบการพัฒนาประเทศมีการเปิดเสรีในการประกอบธุรกิจ แต่หลักการนี้ควรมุ่งเน้นเพื่อประโยชน์แก่ประชาชนและสังคมโดยรวมเป็นสำคัญซึ่งเป็นผู้บริโภค แต่การควบรวมกิจการระหว่าง TRUE และ DTAC จะเกิดประโยชน์กับกลุ่มทุนเพียง ๒ บริษัท นี้เท่านั้น โดย TRUE จะกลายเป็นผู้ประกอบกิจการในตลาดที่มีส่วนแบ่งการตลาดสูงที่สุด และ DTAC เองที่อาจจะมีนโยบายการลงทุนที่เปลี่ยนแปลงไปจากอดีต
จึงเกิดการตกลงร่วมกันในการที่จะรวมธุรกิจทั้งสองเข้าด้วยกัน แต่จะไม่เกิดประโยชน์ใดๆ อย่างเป็นรูปธรรมแก่ประชาชนและสังคมเลย อันเป็นผลโดยตรงของการควบรวมธุรกิจ จึงไม่มีความเป็นธรรมต่อประชาชนในชาติที่ กสทช. จะยินยอมให้บริษัทกลุ่มทุนทั้ง ๒ บริษัทนี้ควบรวมกิจการเข้าด้วยกันและนำเอาทรัพยากรคลื่นความถี่ของชาติไปแสวงหาประโยชน์และเก็บเกี่ยวผลประโยชน์สร้างความร่ำรวย มั่งคั่งให้แก่กลุ่มทุน โดยที่ประโยชน์นั้นไม่ได้ตกแก่ประชาชนเลยอย่างเป็นรูปธรรม
๒. ปัจจุบัน ตลาดสื่อสารโทรคมนาคมไร้สายของประเทศไทยเป็นตลาดที่อิ่มตัว จึงยากที่จะส่งเสริมให้มีผู้เล่นรายใหม่ๆ เข้ามาแข่งขันในตลาด หากยอมให้มีการควบรวมกิจการเกิดขึ้นในครั้งนี้ จะทำให้มีผู้ประกอบการรายใหญ่ลดลงจาก ๓ รายเหลือเพียง ๒ ราย และเป็นการยากที่จะทำให้ประเทศไทยมีผู้ประกอบการรายใหญ่กลับมามีจำนวน ๓ รายเท่าเดิมหรือมากกว่าได้
ที่สำคัญ แทบเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ในอนาคตที่ กสทช. จะใช้อำนาจกำกับดูแลที่มีอยู่ สั่งการให้มีการแยกกิจการที่ควบรวมไปแล้วหรือแตกบริษัทออกเป็นบริษัทย่อยหลายบริษัทด้วยเหตุผลของการผูกขาดทางการค้า เพื่อที่จะส่งเสริมหรือสร้างตลาดแข่งขันเสรีได้ ดังนั้น กสทช. จึงไม่ควรมีมติที่จะทำลายตลาดแข่งขันเสรีของประเทศ จนยากที่จะแก้ไขเยียวยากลับคืนได้
๓. การรวมธุรกิจทั้งสองบริษัทส่งผลให้ตลาดธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคมจะมีสภาพแบบผูกขาดเพราะจะเหลือจำนวนผู้ประกอบกิจการน้อยรายในธุรกิจ ทำให้ไม่หลงเหลือแรงจูงใจให้การแข่งขันในธุรกิจอีกต่อไป ค่าบริการอาจมีค่าสูงขึ้นและคุณภาพของการให้บริการจะไม่มีการปรับปรุงพัฒนา
อีกทั้งผลการศึกษาทางวิชาการที่ใช้แบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์หลายฉบับ เช่น ผลการศึกษาของคณะอนุกรรมการด้านเศรษฐศาสตร์ของ กสทช. ผลการศึกษาของคณะอนุกรรมการด้านเศรษฐศาสตร์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นต้น ต่างชี้ชัดว่า การควบรวมกิจการจะทำให้เกิดผลเสียต่อผู้บริโภค(อ้างอิงในhttps://www.thansettakij.com/technology/technology/543560?as=) (https://www.isranews.org/article/isranews-news/112820-nbtc-board-TRUE-DTAC-Amalgamation-A-Study-on-the-Impact-of-a-Proposed-Merger-news.html)
๔. การสร้างให้เกิดสภาพตลาดผูกขาดนั้นเป็นการดำเนินการที่ขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ คือ
- มาตรา ๔๐ บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการประกอบอาชีพ
การจํากัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ที่ตราขึ้นเพื่อรักษาความมั่นคงหรือเศรษฐกิจของประเทศ การแข่งขันอย่างเป็นธรรม การป้องกัน หรือขจัดการกีดกันหรือการผูกขาด การคุ้มครองผู้บริโภค การจัดระเบียบการประกอบอาชีพเพียงเท่าที่จําเป็น หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะอย่างอื่น
- มาตรา ๖๐ รัฐต้องรักษาไว้ซึ่งคลื่นความถี่และสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมอันเป็นสมบัติของชาติ เพื่อใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชน
การจัดให้มีการใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่ตามวรรคหนึ่ง ไม่ว่าจะใช้เพื่อส่งวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และโทรคมนาคม หรือเพื่อประโยชน์อื่นใด ต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน ความมั่นคงของรัฐ และประโยชน์สาธารณะ รวมตลอดทั้งการให้ประชาชนมีส่วนได้ประโยชน์จากคลื่นความถี่ด้วย ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ..ฯ
- มาตรา ๗๕ รัฐพึงจัดระบบเศรษฐกิจให้ประชาชนมีโอกาสได้รับประโยชน์จากความเจริญเติบโต ทางเศรษฐกิจไปพร้อมกันอย่างทั่วถึง เป็นธรรม และยั่งยืน สามารถพึ่งพาตนเองได้ตามหลักปรัชญา ของเศรษฐกิจพอเพียง ขจัดการผูกขาดทางเศรษฐกิจที่ไม่เป็นธรรม และพัฒนาความสามารถในการแข่งขัน ทางเศรษฐกิจของประชาชนและประเทศ
- มาตรา ๒๕๘ ให้ดำเนินการปฏิรูปประเทศอย่างน้อยในด้านต่าง ๆ ให้เกิดผล ดังต่อไปนี้
ฉ. ด้านเศรษฐกิจ
(๔) สร้างกลไกเพื่อส่งเสริมสหกรณ์และผู้ประกอบการแต่ละขนาดให้มีความสามารถ ในการแข่งขันอย่างเหมาะสม และส่งเสริมการประกอบวิสาหกิจเพื่อสังคมและวิสาหกิจที่เป็นมิตร ต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งสร้างกลไกเพิ่มโอกาสในการทำงานและการประกอบอาชีพของประชาชน
๕. การรวมธุรกิจระหว่าง TRUE และ DTAC ขัดต่อเจตนารมณ์ของประกาศคณะกรรมการโทรคมนาคมเรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการควบรวมและการถือหุ้นไขว้ในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. ๒๕๕๓ ที่ต้องการส่งเสริมตลาดแข่งขันเสรีเกิดขึ้นในธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคม โดยในประกาศฯ จะระบุความหมายของการควบรวมกิจการ วิธีการและขั้นตอนของการขออนุญาตควบรวม และที่สำคัญที่สุดว่า ห้ามมิให้ผู้รับใบอนุญาตกระทำการควบรวมกิจการอันส่งผลให้เกิดการครอบงำตลาดที่เกี่ยวข้อง โดยกำหนดเกณฑ์ “เชิงปริมาณ” ในการวัด “ระดับการครอบงำตลาด” อย่างชัดเจน
โดยการพิจารณาจากค่าดัชนีการกระจุกตัว (HHI: Herfindahl-Herschman index) จากงานวิจัยของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI : อ้างอิงใน https://tdri.or.th/2021/12/true-dtac-merger/ )
๖. การรวมธุรกิจระหว่าง TRUE และ DTAC สร้างตลาดมีสภาพแบบผูกขาดเพราะไม่หลงเหลือแรงจูงใจให้แข่งขันในธุรกิจอีกต่อไป ในอดีตรัฐได้แปรรูปองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย เป็น บริษัท ทีโอที จำกัด(มหาชน) และ การสื่อสารแห่งประเทศไทย เป็น บริษัท กสท.โทรคมนาคม จำกัด(มหาชน) จนมาเป็น บมจ. โทรคมนาคมแห่งชาติ ในปัจจุบัน โดยอ้างว่า “เพื่อลดการผูกขาดโดยรัฐและสร้างตลาดแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม เพื่อประโยชน์แก่ผู้บริโภค ที่จะใช้บริการที่มีคุณภาพที่ดีขึ้นแต่ในราคาค่าบริการที่ถูกลง
ประชาชน ผู้บริโภคจะได้ใช้บริการในราคาที่เป็นธรรม ซึ่งที่ผ่านมาก็ไม่เป็นจริง” แต่การควบรวมกิจการในครั้งนี้ จะทำให้เกิดการผูกขาด ที่ผู้บริโภคไม่ได้รับประโยชน์อันใด แต่บริษัททั้งสองที่ทำการรวมธุรกิจจะได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่ “การควบรวมในครั้งนี้จะกลายเป็นการผูกขาดโดยเอกชน ซึ่งรัฐ และประชาชนจะไม่สามารถได้รับประโยชน์ใดๆเลย” ซึ่งหาก กสทช.ปล่อยเกิดการควบรวมเกิดขึ้นก็จะเป็นการขัดเจตนารมณ์ของการจัดตั้งสำนักงาน กสทช. ที่ต้องการแยกอำนาจในการกำกับดูแลออกจากรัฐวิสาหกิจในอดีต
เพื่อให้รัฐวิสาหกิจและบริษัทเอกชนสามารถแข่งขันโดยเสรีและอย่างเป็นธรรมในธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคมในระนาบเดียวกัน ตามที่รัฐมีนโยบายเปิดธุรกิจการให้บริการสื่อสารโทรคมนาคมของประเทศ ให้เป็นตลาดแข่งขันโดยเสรีและอย่างเป็นธรรม
ดังเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้นคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.) จึงมีข้อเสนอดังนี้
๑.ขอให้กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ยุติการควบรวมธุรกิจของทั้งสองบริษัทระหว่าง TRUE และ DTAC เพราะไม่เกิดผลดีต่อประเทศชาติ ประชาชน ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และขัดต่อ เจตนารมณ์การก่อตั้ง กสทช.
๒.ขอให้รัฐบาล และ กสทช.สนับสนุน ส่งเสริม ให้กิจการด้านการสื่อสารและโทรคมนาคมของรัฐ ใช้เป็นเครื่องมือในการให้ทำหน้าที่เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับบริการอย่างทั่วถึง เป็นธรรม เพราะเป็นภารกิจหน้าที่แห่งรัฐ อันเป็นเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่บัญญัติไว้เกือบทุกฉบับรวมทั้งฉบับปัจจุบัน พ.ศ.๒๕๖๐
๓.ขอให้ กสทช.ใช้อำนาจในการกำกับดูแลที่มีอยู่ตามกฎหมาย ให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของการจัดตั้งสำนักงาน กสทช. ที่เป็นองค์กรของรัฐที่เป็นอิสระ ทำหน้าที่กำกับดูแลการประกอบกิจการโทรคมนาคม อันนำมาซึ่งประโยชน์สูงสุดแก่ ประเทศชาติ ประชาชนและก่อให้เกิดการแข่งขันโดยเสรีและอย่างเป็นธรรม ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน
โฆษณา