24 ต.ค. 2022 เวลา 09:50 • ความคิดเห็น
บทเรียนล้านล้านของ เจฟฟ์ เบโซต์ (และของผม)
2
เราทุกคนคงเคยมีความฝันขำๆว่าวันหนึ่งไปค้นตู้เก็บของเก่าๆแล้วอาจจะเจอใบหุ้นที่เก็บไว้ตั้งแต่คุณปู่จนลืมแล้วปัจจุบันมีมูลค่าหลายร้อยล้าน หรือพ่อเราอาจจะเคยลงทุนอะไรไว้โดยที่ตอนนั้นเป็นกิจการเล็กๆแล้วในเวลาไม่กี่สิบปีก็เติบใหญ่จนมีมูลค่ามหาศาล เช่นหุ้น amazon ที่ถ้าใครลงทุนไว้ตอน ipo เมื่อปี 1997 มูลค่าจะสูงกว่าเดิมเกือบ 100,000% เรียกว่ารวยจนไม่รู้เรื่องกันเลยทีเดียว ก็เป็นฝันกลางวันราคาถูกๆเวลาคุยกันสนุกๆในครอบครัวกันไป
2
ครอบครัวผมเคยไปอยู่ที่อเมริกากันหลายปีในช่วงปลายทศวรรษ 80 ทั้งป๊าและม้าไปอยู่และทำธุรกิจเล็กๆเพื่อดูแลลูกสาวสี่คนอยู่ที่เมือง bellevue, washington ผมเองเมื่อจบปริญญาตรีก็ตามไปอยู่ที่โน่น ทั้งทำงานทั้งเรียนอยู่ซักพัก ป๊าผมเริ่มจากมีร้านไอศครีมบาสกิ้นรอบบิ้นส์ เริ่มร้านอยู่หลายปีพอเริ่มคุ้นเคยกับธุรกิจแล้ว ป๊าก็เริ่มทำสิ่งที่ถนัดก็คือการประมูลซื้อขายบ้าน
โดยป๊าไปเรียนหลักสูตรสั้นๆและลองประมูลบ้านดู ภาษาป๊าไม่ดีนักแต่ก็มีก๊วนเพื่อนฝรั่งบ้างอิหร่านบ้างมาช่วยกันหาข้อมูล โดยมีเพื่อนคนหนึ่งชื่อดีน สตรีท ที่เป็นนายหน้าขายบ้านเป็นตัวประสาน
2
กิจการที่ป๊าทำนั้นเกิดจากสิ่งที่ป๊าเคยทำที่เมืองไทย แล้วไปประยุกต์หาโอกาสที่อเมริกา ในสมัยนั้นมีธุรกิจที่ป๊าและเพื่อนเห็นช่องโหว่อยู่ ก็คือเวลาบ้านไหนติดหนี้มากๆแล้วผ่อนไม่ไหว ผ่านศาลตัดสินมาแล้ว ทนายก็จะสามารถเอามาขายทอดตลาดได้ทันทีโดยประกาศล่วงหน้า 10-15 วัน
ผู้ประมูลจะมีความเสี่ยงอยู่ที่จะพอรู้ราคาตลาดของบ้าน แต่ไม่รู้ว่าหนี้ที่บ้านนั้นมีเท่าไหร่แน่ ถ้าเจ้าหนี้รายหนึ่งเอามาขายทอดตลาดแต่ยังมีเจ้าหนี้รายอื่นค้างอยู่ด้วยก็ต้องรับภาระตรงนั้นด้วย กลุ่มของป๊าใช้ความได้เปรียบของการที่พอมีเงินสด ตัดสินใจได้เร็ว ในขณะที่ฝรั่งส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีเงินสด ก็เลยพอทำธุรกิจในลักษณะนี้ได้ แต่การค้นข้อมูลจึงสำคัญเป็นอย่างมากในการตัดสินใจประมูล โดยเฉพาะข้อมูลเรื่องหนี้ที่ติดกับตัวบ้านนั้นๆ
1
ในสมัยนั้น อินเตอร์เนทกับคอมพิวเตอร์ยังเป็นเรื่องใหม่มากๆ คนเก่งๆที่เข้าไปค้นหาอะไรในนั้นก็มีไม่มาก ดีนที่เป็นเพื่อนป๊าก็มักจะใช้หนุ่มคนหนึ่งที่เก่งคอมในการช่วยหา โดยว่าจ้างเป็นครั้งๆไป พอประมูลได้กำไรก็มีแบ่งให้บ้าง ป๊าบอกว่าเด็กหนุ่มคนนี้ก็ขยันดี เจอทีไรก็จะหอบแฟ้มเอกสารที่พรินท์ออกมามาชี้แจงเรื่องข้อมูลบ้านที่ค้นเจอให้ฟังเสมอ ดีนก็จะชมหนุ่มคนนี้ให้ฟังอยู่บ่อยๆ ชอบมาเล่าว่าไอ้หนุ่มนี่เก่งมีไอเดียกำลังจะตั้งบริษัทใหม่ จะทำโน่นทำนี่อยู่เรื่อยๆ
1
มีวันหนึ่งดีนมาชวนป๊า บอกว่าหนุ่มคนนี้กำลังจะตั้งบริษัทขายหนังสือทางอินเตอร์เนท รายได้ก็มาจากถ้าใครมาคลิกซื้อก็จะได้คอมมิสชั่น ดีนมาชวนลงทุนด้วยเพราะบอกว่าคนนี้เก่ง ป๊าฟังแล้วก็ขำๆ เพราะไม่เก็ทว่าทำไมต้องสั่งหนังสือทางคอมเพราะขับรถไปแป๊บเดียวก็ซื้อได้แล้ว ไม่เห็นต้องรอหลายวันเลย ก็ไม่ได้สนใจและปฏิเสธไป ไม่รู้ว่าดีนไปลงทุนไว้ด้วยอย่างไรหรือไม่ด้วยซ้ำ
3
จนเวลาผ่านไปเป็นสิบปี ป๊ามาเล่าเรื่องนี้ให้ฟังเพราะเห็นหน้าไอ้หนุ่มคนนั้นในทีวีแล้วนึกได้ กิจการหนุ่มคนนั้นใหญ่โตและกำลังดังมากในอเมริกา ผมก็ถามป๊าว่าหนุ่มคนนั้นชื่ออะไร
2
ป๊าบอกว่าเขาชื่อเจฟฟ์ เจฟฟ์ เบโซต์ เจ้าของ amazon…
นับตั้งแต่ amazon เข้าตลาดหลังทรัพย์ในปี 1997 เจฟฟ์เขียนจดหมายถึงผู้ถือหุ้นเป็นปรจำทุกปี เขาเขียนตั้งแต่ปรัชญาการทำธุรกิจ มุมมองต่อโลก สถานะบริษัท ลูกค้า เทคโนโลยี ฯลฯ. เขียนตั้งแต่มูลค่าตลาดของบริษัทอยู่ที่ 400 ล้านเหรียญจนเกินแสนล้านเหรียญในปัจจุบัน เจฟฟ์เพิ่งหยุดเขียนไปหลังจากเขารีไทร์ แต่จดหมายที่เขาเขียนยี่สิบกว่าปีนั้นมีบทเรียนอะไรดีๆมากมายแต่เขียนไว้ยาวมาก ผมไปเจอ @theantionioreza สรุปไว้เป็นสิบห้าบทเรียนที่ใน twitter
4
เขาสรุปจากจดหมายกว่ายี่สิบสองปีที่พูดถึงและน่าจะเป็น wisdom ที่น่าศึกษาเป็นอย่างมากที่จะทำให้เห็นรากฐานสำคัญของวิธีคิดของบริษัทที่เติบโตมากที่สุดในโลกในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา
1
บทเรียนที่หนึ่ง ตัวเบโซต์เองใช้วิธีคิดแบบ regret minimization ที่ตั้งคำถามแห่งชีวิตว่า ถ้าวันหนึ่งเรานอนป่วยกำลังใกล้ตาย เราจะเสียใจที่ไม่ได้ทำอะไรบ้าง เป็นเหตุผลหลักที่ทำให้เจฟฟ์ เบโซลาออกจากธุรกิจ hedge fund ที่มีรายได้ดีมากเพราะจะเสียใจเป็นอย่างมากถ้าไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของโลกแห่งอินเตอร์เนทที่เขาเชื่อมาก
4
บทเรียนที่สอง ให้ความสำคัญกับการเป็นผู้นำตลาดระยะยาว การที่จะขึ้นเป็นผู้นำตลาดนั้นใช้เวลา เบโซให้ความสำคัญกับตัววัดการเป็นผู้นำตลาดที่ใช้ทุกครั้งในการตัดสินใจสำคัญๆก็คือ รายได้ที่สูงกว่า (higher revenue) กำไรที่มากกว่า (bigger profit) และ return on capital ที่ดีกว่าคู่แข่ง
2
บทเรียนที่สาม กล้าๆลงทุนดีกว่าระมัดระวังจนเกินไป เพราะการที่เรากล้าลงทุนในโอกาสที่เป็นทั้ง high risk high return จะทำให้เรามีโอกาสเป็นผู้นำตลาดระยะยาวได้เหมือนเป้าจากบทเรียนที่สอง ถ้าพลาดก็จะได้เรียนรู้ ดีกว่าไม่ทำอะไรเพลย์เซฟไปเรื่อยๆเพื่อเพิ่มโอกาสที่จะสำเร็จตามประสงค์ในระยะยาว
1
บทเรียนที่สี่ Free cash flow เป็นดัชนีวัดที่ดีที่สุดของราคาหุ้น มูลค่าหุ้นที่แท้จริงนั้นอยู่ที่ present value ของ future cashflow ไม่ได้กำไรปัจจุบัน Amazon ขาดทุนอยู่นานมากแต่ free cash flow เป็นบวกตั้งแต่วันเข้าตลาดหลักทรัพย์
1
บทเรียนที่ห้า สร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ให้ความสำคัญเรื่องต้นทุน เมื่อองค์กรใหญ่ถึงระดับหนึ่ง ต้นทุนอะไรหลายๆอย่างก็จะเริ่มบวมและไม่มีประสิทธิภาพ เบโซต์ สร้างวัฒนธรรมองค์กรที่เน้นด้าน operation excellence และพยายามลดต้นทุนในทุกส่วนตลอดเวลา ทำให้ productivity สูงขึ้นทุกปี
2
บทเรียนที่หก ปลูกฝังความเป็นเจ้าของให้กับพนักงานด้วยหุ้น เบโซต์เชื่อในพลังของการคิด “แบบเจ้าของ” ของพนักงาน เวลาให้ผลตอบแทนเขามักจะให้หุ้นมากกว่าเงินสด ซึ่งโอกาสที่จะรวยจากหุ้นทำให้เขาสามารถดึงทาเล้นท์เข้ามาได้ง่ายกว่ามาก
3
บทเรียนที่เจ็ด ทำงานให้ Hard Smart และ Long การที่จะสร้างอาณาจักรอะไรที่อยู่เหนือกาลเวลา อยู่อย่างยั่งยืนนั้นต้องแลกมาด้วยหยาดเหงื่อและน้ำตา ในการสัมภาษณ์พนักงาน เจฟฟ์ เบโซต์บอกชัดๆเลยว่าทำงานที่ amazon นั้นเลือกแค่สองในสามไม่ได้ ถ้าจะเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่ในอนาคต
4
บทเรียนที่แปด ต้องหลงใหลในลูกค้าอย่างหัวปักหัวปำ (obsess with customer) Amazon มีชื่อเสียงระดับโลกในเรื่องนี้ เบโซต์มี “ดาวเหนือ” ดวงสำคัญเวลาที่ต้องตัดสินใจอะไรยากๆโดยมีประสบการณ์ของลูกค้าเป็นหัวใจหลัก เขาเชื่ออย่างสุดหัวใจว่าอะไรที่ดีกับลูกค้าก็จะดีกับผู้ถือหุ้นในระยะยาวด้วย
3
บทเรียนที่เก้า จ้างคนที่เข้ามาแล้วทำให้มาตรฐานของบริษัทสูงขึ้น เบโซต์ใช้หลักสามอย่างก่อนที่จะจ้างผู้บริหารซักคน หนึ่งคือเราชื่นชม (admire) คนคนนี้หรือไม่ สอง คนคนนี้จะทำให้ทีมมีประสิทธิภาพสูงขึ้นไปอีกหรือไม่ สาม คนคนนี้มีจุดเด่นในระดับ superstar ตรงไหนบ้าง เป็นสามคำถามหลักก่อนจ้างใครซักคนเข้ามาทำงาน
5
บทเรียนที่สิบ ร่วมมือกับพันธมิตรเพื่อให้ได้ scale เจฟฟ์ เบโซต์มีเป้าหมายที่จะทำให้ amazon อยู่ทุกที่ทุกเวลา เขาพร้อมที่จะเป็นพันธมิตรกับบริษัทที่มีจุดเด่นต่างจากเขา ตั้งแต่ toy r us จนถึง target ทำให้การโตของรายได้ไปได้เร็วมากขึ้นตามเป้าหมายที่จะเป็นผู้นำตลาดในระยะยาว
2
บทเรียนที่สิบเอ็ด ต้องมีสมาธิไม่วอกแวกโดยเฉพาะในช่วงตลาดพังเละเทะ มูลค่าตลาดของ Amazon เคยหายไปถึง 80% ในช่วงปี 2000 ปี 2008 ก็เคยหายไป 30% แต่เบโซต์มีความชัดเจนในกลยุทธ์และหลักการ ในปี 2021 Amazon ก็กลายเป็น trillion dollar company ในที่สุด
2
บทเรียนที่สิบสอง ใช้วิธีการตัดสินใจที่มีประสิทธิภาพสูงสุด เบโซต์มีแนวคิดในการตัดสินใจสองแบบ แบบแรกเรียกว่า irreversible ที่ตัดสินใจไปแล้วแก้ไม่ได้ มีผลรุนแรงถ้าผิดพลาด ก็จะค่อยๆใช้เวลาวิเคราะห์อย่างถี่ถ้วน ส่วนแบบที่สองเรียกว่า reversible ถ้าผิดพลาดยังไงก็แก้ไขได้ ก็ต้องรีบตัดสินใจให้เร็วที่สุด ซึ่งวิธีคิดนี้ถูกนำมาใช้ในการให้อำนาจผู้บริหารในการตัดสินใจด้วย อะไรที่ reversible ก็กระจายอำนาจไปให้มากและให้เร็วที่สุด
6
บทเรียนที่สิบสาม พยายามสร้างจุดแข็งใหม่ๆ (competencies) ตลอดเวลาเพื่อไม่ให้ตกยุค เบโซต์เชื่อในวิธีที่เริ่มจากสิ่งที่ลูกค้าต้องการเป็นหลัก ซึ่งความต้องการที่เปลี่ยนไปเรื่อยๆทำให้บริษัทจะรู้ว่าต้องใช้ทักษะอะไรใหม่ๆในการตอบสนองลูกค้าได้ ซึ่งเป็นที่มาของ AWS ที่ทำ cloud Amazon prime และอื่นๆอีกมาก
1
บทเรียนที่สิบสี่ ต้องลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยี เบโซต์เชื่อว่าเทคโนโลยี่นั้นจะพัฒนาไปเร็วมากๆในระดับ exponential ซึ่งการที่มีโครงสร้างพื้นฐานที่ดีจะทำให้บริษัทมีข้อได้เปรียบคู่แข่งอย่างมาก เช่นปัจจุบัน amazon ใช้ machine learning ในการคาดการณ์ทุกเรื่องตั้งแต่ส่งอย่างไรให้เร็วสุดจนถึงลูกค้าอยากได้อะไร
1
บทเรียนที่สิบห้า ทุกวันคือวันแรก (day one) เสมอ เพราะเวลาคิดถึงวันแรกนั้น วันแรกในทุกๆเรื่องมักจะมีความรู้สึกตื่นเต้น ท้าทาย มีพลัง พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลง เป็นวิญญาณของผู้ประกอบการ แต่พอวันที่สองแล้วก็จะนิ่ง เฉาและหงอย การคิดให้ทุกวันเป็นวันแรกนั้นจึงสำคัญสำหรับบริษัทมากๆ
1
ผมฟังเรื่องราวของเจฟฟ์ เบโซต์จากป๊าครั้งแรกแล้วก็อดฮือฮาไม่ได้ว่า ครั้งหนึ่งครอบครัวเราเคยเฉียดคนดังระดับนี้ แถมป๊าเคยใช้เขาค้นข้อมูลอยู่แว้บๆด้วย แล้วก็เคลิ้มๆกันว่าครอบครัวเราก็มีโอกาสรวยระดับโลกด้วยกะเขาเหมือนกันนะเนี่ย ก็คิดตามไปเล่นๆว่า ถ้าป๊าลงทุนตั้งแต่ก่อน ipo ซักพันเหรียญ ก็น่าจะโตเป็นหลายร้อยล้านเหรียญในตอนนี้ คิดไปก็ยังแอบแซวป๊ากันไม่ได้ว่าพลาดโอกาสสำคัญที่จะทำให้ลูกๆสบายกันไปซะแล้ว..
4
แต่พอมาคิดดีๆอีกที น่าจะเป็นโชคดีในชีวิตผมก็ได้ที่ป๊าไม่ตัดสินใจลงไปซักพันเหรียญในตอนนั้น เพราะถ้าป๊ารวยขนาดเป็นพันล้านบาทขึ้นมา ผมก็คงไม่น่าจะมีชีวิตที่ตื่นเต้น ได้เรียนรู้จากความลำบาก ได้ผจญภัยสนุกสนาน ได้ทำงานในสิ่งที่อยากทำ ได้เป็นผู้เป็นคนแบบตอนนี้ เพราะโอกาสที่จะเสียคน ติดยา หรือเละเทะอะไรก็คงจะมีสูงอยู่พอสมควร ก็เลยแอบคิดแบบองุ่นเปรี้ยวเบาๆว่าก็นับเป็นโชคดีของชีวิตอยู่เหมือนกันที่ป๊าไม่คล้อยตามดีน
2
เพจนี้เป็นเพจที่เขียนไว้ให้ลูกสาวอ่านเป็นจุดประสงค์แรก ก็เลยขออนุญาตบันทึกไว้ให้ลูกสาวฮือฮาเล่นเมื่อกลับมาอ่านอีกซักสิบปีข้างหน้าซึ่ง amazon ก็คงยิ่งใหญ่ไปไกลกว่านี้อีกมาก
และก็หวังว่าลูกสาวก็จะดีใจที่ปู่ไม่ได้ลงทุนจนเรารวยเป็นหมื่นล้าน เลยสามารถช่วยหลานไม่ให้เสียคนได้เช่นกัน แต่ยังไงก็เรียนจากบทเรียนสิบห้าข้อของ amazon ไปก่อนก็คงไม่เสียหลายนัก
1
องุ่นพันธุ์ amazon นี่เปรี้ยวจังนะครับ…
4
โฆษณา