29 ต.ค. 2022 เวลา 15:04 • ไลฟ์สไตล์
“ปัญญามากไป ปัญญาเยอะไม่ใช่ว่าจะดี
ถ้าปัญญาไม่มีสติกำกับ ไม่มีสมาธิกำกับด้วย
ก็กลายเป็นวิปัสนนูปกิเลส มันหลอกเอา
รู้หมด รู้โน่นรู้นี่ รู้โน่นรู้นี่เลย
ไม่รู้ว่ากำลังหลงอยู่”
1
“ … ที่มาเรียนกับหลวงพ่อ หลวงพ่อว่าจิตไม่เข้าฐาน ไม่เฉพาะพวกเรา หลวงพ่อยังเคยเป็นเลยจิตไม่เข้าฐานอย่างนี้
เห็นโทสะขึ้นมา หลวงพ่อเป็นพวกขี้โมโห เห็นโทสะมันผุดจากกลางอก แต่เดิมพอรู้ปุ๊บขาดปั๊บ รู้ปุ๊บขาดปั๊บ วันนั้นอยากทดลองว่าถ้ารู้แบบแผ่วๆ ไม่รู้แบบเข้มแข็ง ดูซิมันจะเกิดอะไรขึ้น
ปรากฏว่าโทสะ จิตมันก็เข้าไปแตะที่โทสะ
แต่มันไม่ทำลายโทสะ มันแตะนิดเดียว
โทสะนี้มันเคลื่อนไปแล้วเราไม่รู้ว่าเคลื่อน
เพราะจิตกับโทสะนี้เคลื่อนไปพร้อมๆ กัน
เราก็เลยไม่รู้
เหมือนเราตกอยู่ในน้ำ น้ำก็ไหลไป
เราเห็นท่อนไม้ท่อนหนึ่งอยู่ใกล้ๆ เรา ลอยอยู่ในน้ำ
เรากับท่อนไม้ลอยไปด้วยกัน
เพราะเราไม่รู้ว่าท่อนไม้มันเคลื่อน
เพราะเรากับมันเคลื่อนไปด้วยกัน
1
จิตกับโทสะมันไปเกาะอยู่ด้วยกัน
แล้วมันก็เคลื่อนไปด้วยกัน เราไม่เห็น
พอโทสะดับปั๊บลงไป จิตมันอยู่ข้างนอกแล้ว
จิตมันเคลื่อนไปเราไม่เห็นแล้ว
คราวนี้สว่างว่างเลย บางทีนึกถึงธรรมะอะไรขึ้นมา รู้ไปหมดเลย ธรรมะกี่หมวด กี่บท แต่ละบท แต่ละหัวข้อ โยงกันได้หมดเลย ธรรมะ โยงไปโยงมา จิตใจนี้แน่นอึดเลย นี่เป็นวิปัสสนูปกิเลสอีกแบบ
ปัญญามากไป ปัญญาเยอะไม่ใช่ว่าจะดี
ถ้าปัญญาไม่มีสติกำกับ ไม่มีสมาธิกำกับด้วย
ก็กลายเป็นวิปัสนนูปกิเลส มันหลอกเอา
รู้หมด รู้โน่นรู้นี่ รู้โน่นรู้นี่เลย
ไม่รู้ว่ากำลังหลงอยู่
เพราะฉะนั้นเวลาที่เราทำวิปัสสนา เราก็ไม่ทิ้งสมาธิ ทุกวันต้องแบ่งเวลากลับมาทำสมาธิ ทำกรรมฐานของเรา แล้วรู้ทันจิตที่เคลื่อน ทำอย่างนี้ทุกวันๆ
หลวงพ่อเคยเคลื่อนไป แล้วไปอยู่กับความว่างปีกว่าๆ อยู่อย่างนั้น สบาย ไม่มีกิเลส เหมือนไม่มีกิเลส ที่จริงก็คือนอนทับกิเลสอยู่ แต่มองไม่เห็น
วันหนึ่งเกิดเฉลียวใจ
เอ๊ะ ทำไมพระพุทธเจ้าว่าจิตไม่เที่ยง แต่ทำไมจิตเราเที่ยง
พระพุทธเจ้าว่าจิตเป็นทุกข์ ทำไมจิตเราสุข
พระพุทธเจ้าว่าจิตเป็นอนัตตา ทำไมเราบังคับได้ ควบคุมได้
เราผิดตรงไหน นี่ย้อนมาดู เราผิดตรงไหน
ไม่ได้คิดว่า พระไตรปิฎกผิดตรงไหน
บางคนภาวนาเห็นอะไรแปลกๆ ในพระไตรปิฎกไม่มี
มันบอกพระไตรปิฎกไม่สมบูรณ์ ตกหล่น
นี่พวกบ้าแล้ว พวกเซลฟ์จัด
พอหลวงพ่อเห็นนี่มันขัดกับพระไตรปิฎก เราผิดที่ไหน ดูตัวเองใหญ่เลย ดูไม่ออกว่ามันผิดตรงไหน จิตมันว่าง สว่าง สบาย อยู่อย่างนั้น
พอดีขึ้นไปวัดป่าบ้านตาด ไปกราบหลวงตามหาบัว ยุคที่ขึ้นไปผู้คนยังไม่ค่อยมีหรอก ผู้คนยังไม่เข้าทางนั้นเท่าไร ส่วนใหญ่จะไปที่วัดหินหมากเป้ง
ลูกศิษย์หลวงปู่มั่น ท่านมี 3 รุ่น รุ่นใหญ่ หลวงปู่สิงห์ ขันตยาคโม วัดป่าสาลวัน คล้ายๆ เป็นหัวหน้าลูกศิษย์ ถัดจากรุ่นหลวงปู่สิงห์ มารุ่นกลางๆ แล้วหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี วัดหินหมากเป้ง คล้ายๆ เป็นผู้นำ แล้วรุ่นเล็กก็จะเป็นหลวงตามหาบัว
ตอนนั้นหลวงปู่เทสก์ยังอยู่ คนก็เข้าแต่หาหลวงปู่เทสก์ หลวงพ่อก็ไปหา ไปอยู่วัดหินหมากเป้งนั่นล่ะ แต่มีเวลาก็แวะมาวัดป่าบ้านตาด เรารู้ว่าองค์นี้ไม่ธรรมดา องค์นี้ดี เข้าไป เข้าไปถามท่าน
ท่านกำลังจะฉันข้าว ไปถามท่าน “พ่อแม่ครูอาจารย์สอนให้ผมดูจิต ผมก็ดูจิตอยู่ แต่ทำไมมันไม่พัฒนาเลย”
ท่านหันมามองหน้า ท่านมองขวับ ท่านก็ตอบเลย “ที่ว่าดูจิตนั้น ดูไม่ถึงจิตแล้ว ต้องเชื่อเรานะ เราผ่านมาด้วยตัวเราเอง ตรงนี้สำคัญนะ อะไรๆ ก็สู้บริกรรมไม่ได้”
หลวงพ่อก็กราบท่าน ถอยออกมานิดหนึ่ง นั่งอยู่ใกล้ๆ กันห่างท่านเมตรกว่าๆ ท่านนั่งฉันข้าว เราก็นั่งพิงระเบียงอยู่ใกล้ๆ กับท่าน แล้วก็หายใจ
ทีแรกก็พุทโธๆ ท่านบอกให้บริกรรมก็พุทโธๆ ไป จิตไม่ชอบบริกรรมอย่างเดียว จิตอึดอัด ก็นึกขึ้นมาทำไมท่านให้บริกรรม บริกรรมเป็นเรื่องของการทำสมถะนี่ ฉะนั้นเราก็ทำสมถะ
ที่แท้ก็คือเดินปัญญาจนกระทั่งทิ้งสมาธิ นั่นล่ะปัญหาถึงได้เกิด สมาธิไม่พอ
เสร็จแล้วก็เลยหายใจเข้าพุท หายใจออกโธ ทำกรรมฐานที่เราถนัด หายใจไม่กี่ทีจิตก็รวมมา รวมปุ๊บมา โอ๊ย แทบเขกกบาลตัวเองเลย โดนวิปัสสนูปกิเลสหลอกมาตั้งปีหนึ่ง
มันนิดเดียวเท่านั้น คือสมาธิไม่พอ
วิปัสสนูปกิเลสจะหลอกเรา
เพราะฉะนั้นการทำสมาธิ สำคัญ ต้องทำทุกวัน
ถ้าเป็นลูกศิษย์หลวงพ่อ อย่ามาทำฟุ้งซ่าน
ดูจิตๆ แต่ฟุ้งเละเทะ ดูไม่ได้หรอก มันขี้โม้
จิตมันต้องตั้งมั่น ต้องเด่นดวง
ไม่อยากใช้คำว่าเด่นดวง แต่มันรู้สึกเด่น
ไม่ใช่เด่นแบบกูเก่งอะไรอย่างนั้น
มันรู้สึก แหม มันมีกำลัง
1
จิตจริงๆ ไม่มีจุดไม่มีดวงอะไรหรอก
พอเราทำไปเรื่อยๆ ปัญญามันก็เกิด
ความรู้ถูก ความเข้าใจถูกก็เกิด
มันก็จะเห็นความปรุงแต่งทั้งหลายทั้งปวง
จะปรุงสุขหรือปรุงทุกข์ ปรุงดีหรือปรุงชั่ว
ปรุงรูปหรือปรุงนาม
ก็คือความปรุงแต่งทั้งหลายทั้งปวงนั่นล่ะ
บางทีก็ปรุงดี บางทีก็ปรุงชั่ว
บางทีพยายามไม่ปรุง ทำจิตให้ว่าง
นิพพานไม่ใช่ความว่างที่เป็นคู่กับความวุ่นวาย
อย่างทุกวันนี้ก็ยังมีคนสอนกัน ว่างๆ ชอบพูดแต่คำว่าว่าง ได้ยินว่านิพพานนั้นว่าง ก็ชอบพูดว่างๆ กัน ได้อวดกันว่าเข้าถึงนิพพาน จริงๆ มันว่างแต่ปาก จิตมันไม่ได้ว่าง
ว่างที่เรารู้จัก มันคือว่างที่เป็นคู่กับวุ่น
เรายังไม่ได้รู้จักนิพพาน
นิพพานเป็นว่างที่ว่างไม่มีคู่ ว่างคือว่าง
แต่ว่างของเรามันเป็นว่างที่คู่กับวุ่นวาย
เดี๋ยวก็ว่าง เดี๋ยวก็ไม่ว่าง
เดี๋ยวก็ว่าง เดี๋ยวก็ไม่ว่าง ไม่ใช่ของจริงหรอก
1
บางคนได้ยินว่างๆๆ แล้วชอบพูดแต่ว่างๆ ก็ไปท่องคำสอนของครูบาอาจารย์มาบ้าง ท่องพระไตรปิฎกมาบ้าง ก็มาพูดๆๆ พวกไม่มีสติ ไม่มีปัญญา ก็เชื่อ โอ๊ย นี่พระอรหันต์แน่นอน พูดธรรมะระดับนี้
นิพพานไม่มีพระอาทิตย์ พระจันทร์ ไม่มีดิน น้ำ ไฟ ลม ไม่มีกลางคืน ไม่มีกลางวัน ไม่มีการไป ไม่มีการมา ไม่มีการจุติ ไม่มีการอุบัติ มีวลีเยอะแยะเลย แต่ท่องมา
เราจะดูว่าจริงไม่จริง ง่ายๆ ดูศีล มีศีลไหม
บางทีไม่มีศีลเลย ท่องเก่งเท่านั้นเอง อย่าไปเชื่อ
ทุกวันนี้ชอบตั้งคนโน้นเป็นพระอรหันต์ คนนี้เป็นพระอรหันต์ อย่าไปเชื่อเอาง่ายๆ
ฉะนั้นว่างๆๆ มันว่างแบบไหน ว่างที่คู่กับวุ่น ก็อย่างที่หลวงพ่อเคยทำผิดนั้น ว่างอย่างนั้น ว่างได้แล้วก็ยังวุ่นได้อยู่ ไม่ใช่ของจริงหรอก
ตรงที่เราน้อมจิตให้ว่าง หรือเข้าอรูปฌาน ว่างอย่างนั้นเรียกว่า อเนญชาภิสังขาร ความปรุงแต่งอภิสังขาร
ความปรุงแต่งมี 3 ชนิด
ปุญญาภิสังขาร ปรุงบุญ ปรุงดี
อย่างการที่เราขยันภาวนา เราปรุงดี
เป็นความปรุงแต่ง ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นความปรุงดี
แต่ต้องปรุงดีไว้ก่อน ถ้าเราไม่ปรุงดีจิตมันก็ปรุงชั่ว
เพราะฉะนั้นเบื้องต้นปรุงดีไว้ก่อน
แต่รู้ทันว่านี่เราปรุง
ปรุงศีล ปรุงสมาธิ ปรุงปัญญา
ปรุงสมาธิก็ต้องจิตเคลื่อนเรารู้ เราปรุงแต่งเอา สร้างมันขึ้นมา ในที่สุดจิตก็ทรงตัวขึ้นมา อยู่ได้ชั่วคราวก็แตกสลาย ดับ
เห็นไหมยังเป็นของที่เป็นคู่ กลับกลอก เชื่อถือไม่ได้
ฉะนั้นศีล สมาธิ ปัญญา ยังเชื่อถือไม่ได้
มันแค่ความปรุงดี
ส่วนความปรุงชั่วก็ปรุงโลภ ปรุงโกรธ ปรุงหลง อะไรต่างๆ นาๆ นั่นล่ะ
อีกอันหนึ่งเรียกปรุงว่าง ปรุงอเนญชาภิสังขาร พยายามจะไม่ปรุง ตรงพยายามไม่ปรุงนั่นล่ะ พูดถึงว่างๆๆ โน่นก็ว่าง นี่ก็ว่าง พวกนี้ล่ะอเนญชาภิสังขาร อย่าไปหลงกล
นึกว่าได้ยินใครว่าว่างๆๆ คิดว่านี่พระอรหันต์ ไม่ใช่
อันนั้นมันอเนญชาภิสังขาร
จะไปถึงสุญญตาจริงหรือถึงว่างจริง
ต้องทำสมถกรรมฐาน และวิปัสสนากรรมฐาน ด้วยปัญญาอันยิ่ง
มีปัญญาอันยิ่งก็มีสัมปชัญญะกำกับ ไม่ออกนอกลู่นอกทาง
ทำสมถะก็รู้ว่าทำ จะทำอะไรเพื่ออะไร
จะทำอย่างไร ทำแล้วมีผลอย่างไร รู้ตลอด
1
อย่างเราทำสมถะเพื่ออะไร
เพื่อให้จิตมีกำลังไปเจริญวิปัสสนา
เราเจริญวิปัสสนาเราก็ต้องรู้
เราเจริญวิปัสสนาจะทำอย่างไร
จะทำอะไร ทำอย่างไร ทำแล้วจะเป็นอย่างไร
มีวัตถุประสงค์ชัดเจน มีเป้าหมายชัดเจน
วิปัสสนานั้นทำไปเพื่อให้จิตเห็นความจริงของรูปนาม
ความจริงของรูปธรรมนามธรรมก็คือไตรลักษณ์
เมื่อ 2 วันนี้ก็มีพระมาถาม “ทำอย่างไรผมจะเห็นสภาวะที่ละเอียด เพื่อนๆ กันเขาเห็นสภาวะละเอียด ผมเห็นแต่สภาวะหยาบ”
หลวงพ่อบอก “ไม่จำเป็นเลย หยาบหรือละเอียดแสดงไตรลักษณ์เหมือนกัน”
ที่เราต้องการเห็นก็คือไตรลักษณ์
ไม่ใช่ต้องการเห็นสภาวะ
สติเป็นตัวรู้ว่ามีสภาวะอะไรเกิดขึ้น
จิตตั้งมั่น ปัญญาเห็นไตรลักษณ์
ค่อยๆ ดูไปเรื่อยๆ นั่นเป็นวิปัสสนา
เห็นไตรลักษณ์ เป็นปัญญาระดับวิปัสสนา
ปัญญามีหลายระดับ
ปัญญาธรรมดาแยกรูปแยกนามได้
ปัญญาอย่างโลกๆ ไม่นับ นั่นปัญญาอย่างโลกๆ ทิ้งไป
ปัญญาจากการปฏิบัติ แยกรูปนามได้เป็นปัญญาเบื้องต้น
เห็นรูปแต่ละรูป นามแต่ละนาม แสดงไตรลักษณ์ได้
เป็นวิปัสสนาปัญญา
ทำไปเรื่อยๆ จนกระทั่งจิตเป็นกลาง
สุขมันก็ไม่เที่ยงเหมือนกันกับทุกข์
ดีกับชั่วมันก็เสมอกันด้วยความเป็นไตรลักษณ์
สุดขีดของการทำวิปัสสนากรรมฐานแล้ว
ถัดจากนั้นมันจะไปเข้ากระบวนการแห่งโลกุตตรปัญญา
ปัญญาระดับที่ฆ่ากิเลส ถอนรากถอนโคน
มันเป็นโลกุตตรปัญญา
เกิดในอริยมรรค ไม่เกิดที่อื่น เกิดในอริยมรรค
เราค่อยๆ ฝึกของเรา ทำอย่างที่หลวงพ่อบอก
ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่งแล้วรู้ทันจิตตัวเองไป
จนกระทั่งจิตมีกำลัง
จิตมีกำลังเราจะสามารถแยกขันธ์ได้อย่างง่ายๆ
รูปส่วนรูป เวทนาส่วนเวทนา
สังขารส่วนสังขาร จิตส่วนจิต ก็แยกๆๆ ไป
แล้วต่อไปจะเห็นสภาวะแต่ละสภาวะ
รูปแต่ละรูป นามแต่ละนาม เกิดแล้วก็ดับ
มีแต่ไตรลักษณ์ แสดงไตรลักษณ์
เราไม่ได้สนใจตัวรูปตัวนามแล้ว
ในขั้นวิปัสสนานี้เราจะเพ่งเล็งความรับรู้มาที่ไตรลักษณ์
สมาธิตรงนี้เรียก ลักขณูปนิชฌาน
จิตที่ตั้งมั่นเป็นลักขณูปนิชฌาน
คือสามารถเห็นลักษณะ คือเห็นไตรลักษณ์ได้
แต่ถ้าจิตสงบอยู่ในอารมณ์อันเดียวเรียก อารัมมณูปนิชฌาน
จิตสงบอยู่กับอารมณ์อันเดียว อารัมมะก็คืออารมณ์
ฉะนั้นถ้าจิตไปจมอยู่กับอารมณ์ แต่มีสติอยู่
ก็เป็นสมาธิชนิดพักผ่อน
ถ้าจิตตั้งมั่นขึ้นมา มีกำลังตั้งมั่นขึ้นมา
สามารถเห็นไตรลักษณ์ได้
อันนั้นเรียกว่าลักขณูปนิชฌาน
เห็นลักษณะคือไตรลักษณ์ได้
ลักขณูปนิชฌาน เกิดอยู่หลายที่
เกิดตอนที่เราฝึกจนมันตั้งมั่นขึ้นมาได้
เกิดตอนที่ทำวิปัสสนา
เกิดในขณะแห่งอริยมรรค
เกิดในขณะแห่งอริยผล
เป็นลักขณูปนิชฌาน
ในอริยมรรค ในอริยผล ไปเห็นอะไร
เห็นนิพพาน
ตรงนั้นล่ะเห็นว่าง
ว่างตัวนั้นไม่เหมือนว่างที่เราคิดหรอก
มันไม่ใช่ว่างที่เข้าคู่กับความวุ่นวาย
พอได้หลักไหม ถ้ายังไม่เข้าใจก็ไปฟังซ้ำๆ
ทุกวันนี้ง่าย สมัยที่หลวงพ่อเรียนกับครูบาอาจารย์ เอาเทปไปอัดก็ไม่ได้ ไปนั่งจดก็ไม่ได้ ฟังแล้วต้องตั้งใจฟัง จำเอาๆ แล้วมาภาวนา …”
.
หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
22 ตุลาคม 2565
อ่านธรรมบรรยายฉบับเต็มได้ที่ :
Photo by : Unsplash

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา