7 พ.ย. 2022 เวลา 00:00 • ไลฟ์สไตล์
ทำความรู้จักคน 8 ประเภทที่ยากต่อการรับมือและมักพบเจอบ่อยในที่ทำงาน พร้อมเรียนรู้วิธีสังเกตที่เชื่อถือได้จากนักวิจัยแห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
เวลากว่า 1 ใน 3 ของแต่ละวันชีวิตมนุษย์วัยทำงานใช้ชีวิตอยู่ในที่ทำงาน ซึ่งแน่นอนว่าในสังคมที่ทำงานนั้น ย่อมต้องมีบุคคลที่มีนิสัยแตกต่างกันออกไปปะปนอยู่ร่วมกัน รวมถึงคนที่จะทำให้ประสาทเสียรายวันแฝงตัวอยู่เสมอ
รู้จักคน 8 ประเภทที่ยากต่อการรับมือและมักพบเจอบ่อยในที่ทำงาน
ยิ่งในสังคมแห่งการทำงานที่จำเป็นต้องทำงานร่วมกันด้วย หรือบางทีคนเหล่านั้นก็เป็นหัวหน้าของคุณ ทำให้คุณต้องยิ้มแห้งทุกครั้งเมื่อต้องพบปะกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้ว่าในใจอยากจะเข้าไปเขย่าตัวและตะโกนใส่หน้าเขาก็ตาม
เอมี กัลโล นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ได้แบ่งประเภทคนที่ยากต่อการรับมือในที่ทำงานไว้ 8 ประเภท ดังนี้
1. ไม่พอใจ แต่ไม่พูดตรง ๆ (Passive-Aggressive)
คนกลุ่มนี้คือ คนประเภทที่เมื่อไม่พอใจอะไรบางอย่าง แต่ไม่ยอมพูดออกมาตรง ๆ กลับเลือกที่จะใช้วิธีแบบอ้อม ๆ เพื่อแสดงให้รู้ว่าพวกเขาไม่พอใจ เช่น พูดจาประชดประชัน กระแนะกระแหน เหน็บแนม แขวะ แซะ หรือแม้แต่การตอบกลับมาด้วยประโยคสุดคลาสสิกอย่าง “อ๋อ ไม่ได้เป็นอะไรจ้า” แต่ตาแข็งสุด แม้จะมองจากหน้าออฟฟิศมาก็รับรู้ได้ถึงความไม่พอใจที่แผ่ขยายออกมา จนเราได้แต่ขมวดคิ้วว่ามีอะไรทำไมไม่พูดออกมา
2. จ้องจับผิด (The Insecure Boss)
หัวหน้าของคนเป็นจู้จี้ไม่หยุดไม่หย่อน จนทำให้คุณแทบจะเป็นบ้าหรือไม่ ถ้าใช่ หัวหน้าของคุณอาจจะอยู่ในกลุ่มนี้ นอกจากนี้ พวกเขาอาจเป็นพวกสอดรู้สอดเห็น เข้ามาก้าวก่าย และตั้งคำถามในทุกการกระทำของคุณ แถมวันดีคืนดีอาจจะขุดข้อผิดพลาดในอดีตมาทำร้ายกันอีก อีกทั้งอาจจงใจทำร้ายหน้าที่การงานของคุณหากพวกเขามองว่าคุณเป็นภัยคุกคาม
3. พวกมองโลกในแง่ร้าย (The Pessimist)
อันที่จริงก็เป็นเรื่องที่ดี ถ้าเราจะมองโลกตามความเป็นจริง ไม่ได้มองทุกอย่างในแง่ดี ใส่ฟิลเตอร์เดินเล่นในทุ่งดอกลาเวนเดอร์ตลอดเวลา โดยคำนึงถึงสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดที่สามารถเกิดขึ้นได้ไว้ก่อน เพื่อหาทางรับมือให้ได้ แต่ไม่ใช่ว่ามองทุกอย่างแต่ด้านลบ จนทุกอย่างดูแย่ไปหมด นั่นก็ไม่ดี อันนี้ก็ไม่ได้ คิดแต่เรื่องความผิดพลาดตลอดเวลา ไม่สามารถพูดเรื่องราวดี ๆ ออกมาได้เลย แถมแผ่รังสีความหดหู่ และการคิดลบออกมาจนทำให้เสียบรรยากาศไปอีก
4. รับบทเหยื่อ (The Victim)
เมื่อเกิดเหตุการณ์แย่ ๆ เกิดขึ้นกับคนประเภทนี้ เขาพร้อมที่จะโทษคนอื่น ปัจจัยแวดล้อม หรือความโชคร้ายทันที โดยไม่ได้คิดว่าเป็นความผิดของตัวเอง ทำให้ภาพลักษณ์ของตัวเองดูน่าสงสาร เป็น “เหยื่อ” ในสถานการณ์ต่าง ๆ อยู่เสมอ แม้ว่าแท้จริงแล้วเขาเหล่านั้นอาจจะเป็น “งูพิษ” ผู้กระทำที่สร้างสถานการณ์ขึ้นมาเพื่อให้คนเห็นใจก็ตาม
1
5. อับดุลเอ๊ย (The Know-It-All)
1
เป็นกลุ่มคนที่มีความมั่นอกมั่นใจ ใครพูดอะไรมาไม่ว่าจะเรื่องไหนก็พร้อมตอบได้ รู้ไปหมดทุกเรื่องยิ่งกว่าอับดุล ที่จริงก็ดูเป็นคนมีความรู้ น่าจะเป็นคนคุยสนุก แต่กลายเป็นว่าคนเหล่านี้มักจะโผล่พรวดปรากฏตัวขึ้นมาระหว่างการสนทนาของเราเสียนี่ ซึ่งทำให้บรรยากาศในวงสนทนาของเรานั้นเปลี่ยนไป ทำได้แต่ยิ้มเจื่อน ปล่อยให้เขาเจื้อยแจ้วไปเรื่อย และยิ่งไปกว่านั้น สิ่งที่เหล่าอับดุลเอามาพูดนั้นกลับเป็นข้อมูลที่ไม่ถูกต้องเสียอีก
3
6. ขวากหนาม (Tormentor)
คนกลุ่มนี้มักเป็นพนักงานอาวุโสที่ทำงานมานาน แต่ยังไม่ได้เลื่อนตำแหน่งเสียที ซึ่งมักจะมาตีสนิทกับพนักงานใหม่ ๆ ทำทีเป็นสอนงาน เป็นพี่ใหญ่ใจดี แต่สุดท้ายแล้ว พวกเขาพร้อมที่จะสกัดดาวรุ่งคุณอยู่ตลอด เพราะมองคุณเป็นเสี้ยนหนาม ตัวขัดขวางการเลื่อนตำแหน่ง ที่เป็นความหวังอันสูงสุดในชีวิตการทำงานของพวกเขา
7. เลือกที่รักมักที่ชัง (The Biased)
พื้นฐานของคนเรามักจะมีสเปกหรือคนในอุดมคติอยู่แล้ว เมื่อเราเจอคนในฝัน เราย่อมจะต้องทำดีด้วย แต่ก็ไม่ควรใช้กับที่ทำงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าเป็นหัวหน้าที่ปฏิบัติต่อลูกน้องไม่เท่าเทียม มีตำแหน่ง “ลูกรัก” งอกขึ้นมา ทำให้สามารถก้าวหน้าในหน้าที่การงานได้อย่างรวดเร็ว แต่กับอีกคนทำงานหนักแทบตาย สุดท้ายก็ยังอยู่ที่เดิม แถมถูกละเลยไม่ได้รับโอกาส เป็น “ลูกชัง” นอกสายตาของหัวหน้าตั้งไกล เผลอ ๆ หากลูกชังไปมีเรื่องกับลูกรักด้วยแล้ว ลูกชังอาจถูกเชิญออกจากบริษัทไปอย่างง่ายดาย
8. การเมืองในที่ทำงาน (The Political Operator)
ในองค์กรใหญ่ ๆ มักจะมีปัญหา “การเมืองในที่ทำงาน” แทบทั้งนั้น ซึ่งมันคงเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่เราจะต้องเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของระบบการเมืองนั้น ทั้งที่เราเองก็ไม่ได้อยากจะเข้าไปยุ่งสักเท่าไร เพราะมีแต่จะทำให้เสียบรรยากาศในการทำงาน เสียสุขภาพจิต แค่ทำงานก็เหนื่อยจะแย่แล้ว ยังต้องมาคอยระวังเรื่องการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย ถูกขโมยเครดิตผลงาน ซุบซิบนินทา สรรเสริญเยินยอ จากฝ่ายตรงข้ามอีก
1
ลองสังเกตคนรอบตัวในที่ทำงานว่ามีเข้าข่ายบุคคลเหล่านี้บ้างหรือไม่ และเราจะรับมือกับคนเหล่านี้อย่างไร หรือจะย้ายไปทำงานในที่อื่น ๆ ซึ่งก็อาจจะเจอกับเพื่อนร่วมงานใหม่ที่มีลักษณะนี้ก็ได้เช่นกัน หรือบางที อาจลองสำรวจตัวเราเองว่า เป็นตัวป่วนของบริษัทในสายตาของคนอื่นด้วยหรือเปล่า?
โฆษณา