31 ต.ค. 2022 เวลา 06:42 • การเมือง
การแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน
ด้วยเหตุที่ประชาชนทั่วไปมักมีประเด็นคำถามว่าถ้าหากต้องการให้บุคคลที่กระทำความผิดอาญาได้รับโทษจะต้อง ดำเนินการอย่างไร เพียงไปแจ้งความกับตำรวจ แล้วตำรวจจะดำเนินการจับผู้กระทำความผิดให้เลยหรือไม่ หรือจะต้องดำเนินการอย่างไร ผู้กระทำความผิดจึงได้รับโทษตามที่กฎหมาย กำหนดไว้ ซึ่งการกระทำความผิดทางอาญาแบ่งได้ ๒ ประเภท คือ ความผิดต่อแผ่นดิน และความผิดต่อส่วนตัว
ความผิดต่อแผ่นดิน เป็นความผิดที่มีผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของสังคม ทำให้คนส่วนใหญ่ได้รับความหวาดกลัว รู้สึกว่าไม่มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน เช่น ความผิดฐานปล้นทรัพย์ ฆ่าผู้อื่น เป็นต้น ซึ่งความผิดดังกล่าวรัฐเป็นผู้เสียหาย และเป็นความผิดที่ไม่สามารถยอมความกันได้
ส่วนความผิดต่อส่วนตัว เป็นความผิดที่ผู้เสียหายได้รับความเสียหาย เดือดร้อนโดยตรง ไม่มีผลกระทบต่อบุคคลอื่นและสังคม สังคมไม่ได้รับผลกระทบและได้รับความเดือดร้อนจากการกระทำความผิดด้วย จึงเป็นความผิดที่ผู้เสียหายสามารถยอมความ หรือถอนคำร้องทุกข์ได้ และหากผู้เสียหายไม่ไปร้องทุกข์ในความผิดนี้ พนักงานสอบสวนก็จะไม่มีอำนาจที่จะทำ การสอบสวนและไม่มีอำนาจฟ้องคดีได้
การแจ้งความเป็นคำที่ใช้กันของบุคคลทั่วไป ถือเป็นการลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐานเท่านั้น เพราะในทางกฎหมายแล้ว การแจ้งความไม่ทำให้พนักงานสอบสวนมีอำนาจสอบสวนแต่อย่างใด แต่การดำเนินการที่จะทำให้พนักงานสอบสวนมีอำนาจสอบสวนจนนำไปสู่การฟ้องร้องดำเนินคดีในทางกฎหมายได้ เรียกว่า “การร้องทุกข์”
ซึ่งผู้ที่จะร้องทุกข์ได้ ต้องเป็นผู้เสียหายตามกฎหมาย กล่าวคือ ต้องเป็นผู้ที่ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำผิดอาญาฐานใดฐานหนึ่ง รวมถึงผู้มีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหายด้วย ตามมาตรา ๒ (๔) แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา โดยบุคคลที่จะร้องทุกข์แทนผู้เสียหายได้ ได้แก่
๑. ผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้อนุบาลเฉพาะแต่ความผิด ที่กระทำต่อผู้เยาว์หรือผู้ไร้ความสามารถซึ่งอยู่ในการดูแล ดังนี้ ผู้แทนโดยชอบธรรม คือ บิดามารดา ผู้เยาว์ คือ บุคคลอายุยังไม่ครบยี่สิบปีบริบูรณ์ ผู้อนุบาล คือ บุคคลที่เป็นผู้ดูแลผู้ไร้ความสามารถ ผู้ไร้ความสามารถ คือ บุคคลวิกลจริต
๒. ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน สามีหรือภรรยา เฉพาะแต่ในความผิดอาญาซึ่งผู้เสียหายถูกทำร้ายถึงตายหรือบาดเจ็บจนไม่สามารถจะจัดการเองได้ เช่น บิดาถูกฆ่าตาย บุตรย่อมมีสิทธิร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนแทนบิดาได้ เป็นต้น
๓. ผู้จัดการหรือผู้แทนอื่น ๆ ของนิติบุคคล เฉพาะความผิด ซึ่งกระทำลงแต่นิติบุคคลนั้น เช่น บริษัท ก. ถูกนาย ข. ฉ้อโกงทรัพย์ นาย ฮ. ซึ่งเป็นผู้จัดการของบริษัท ก. ย่อมมีสิทธิไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนแทนบริษัท ก. ได้
๔. บุคคลอื่น ซึ่งได้รับมอบอำนาจจากผู้เสียหายให้ไปร้องทุกข์แทนผู้เสียหาย
ทั้งนี้ ในการร้องทุกข์ ผู้เสียหายจะต้องดำเนินการร้องทุกข์ตามหลักกฎหมายในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความ อาญา มาตรา ๒ (๗) กล่าวคือ จะต้องเป็นการแจ้งต่อเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจ ซึ่งเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจรับคำร้องทุกข์ คือ พนักงานสอบสวน พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจซึ่งมีตำแหน่งหน้าที่รองหรือเหนือพนักงานสอบสวน ณ สถานีตำรวจในท้องที่เกิดเหตุ
แต่หากไม่ทราบแน่ชัดว่าเกิดเหตุ ณ ท้องที่ใดให้ดำเนินการ แจ้งความร้องทุกข์ต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือพนักงานสอบสวน ณ สถานีตำรวจท้องที่ที่ใกล้ที่สุดว่ามีผู้กระทำความผิดขึ้น กระทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหาย โดยจะรู้ตัวผู้กระทำความผิดหรือไม่ก็ตาม
และต้องเป็นการแจ้งโดยมีเจตนาจะให้ผู้กระทำความผิดได้รับโทษ จึงจะเป็นการร้องทุกข์ที่ต้องการให้มีการลงโทษผู้กระทำความผิด โดยต้องระบุว่ามีความประสงค์จะให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดตามกฎหมาย ดังนั้น หากมีเพียงเจตนาแจ้งให้พนักงานสอบสวนรับทราบไว้เป็นหลักฐานเท่านั้นจะไม่ใช่การร้องทุกข์
เอกสารจำเป็นที่ผู้ร้องทุกข์ควรนำไปในการแจ้งความร้องทุกข์ มีดังนี้ คือ
๑) เอกสารสำคัญที่ทางราชการออกให้เป็นการยืนยันตัวตน เพื่อตรวจสอบว่าผู้แจ้งเป็นใคร เป็นคนไทยหรือต่างประเทศ เช่น บัตรประจำตัวประชาชน บัตรประจำตัวข้าราชการ ใบสำคัญคนต่างด้าว หรือหนังสือเดินทาง
๒) กรณีเป็นตัวแทนของผู้อื่น ต้องมีหนังสือมอบอำนาจ เช่น นาย ก ไม่สามารถไปร้องทุกข์ได้ด้วยตัวเองเนื่องจากเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล จึงมอบอำนาจให้นาย ข เป็นผู้ดำเนินการ แทน โดยจัดทำหนังสือมอบอำนาจให้ เป็นต้น
แบบตัวอย่าง หนังสือมอบอำนาจ
๓) กรณีผู้เสียหายเป็นผู้เยาว์ ต้องมีเอกสารแสดงว่าเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้เยาว์ ถ้าผู้เสียหายเป็นผู้ไร้ความสามารถ ต้องมีเอกสารแสดงว่าเป็นผู้อนุบาลของผู้ไร้ความสามารถตามที่ศาลสั่ง
๔) กรณีหากผู้เสียหายถึงแก่ความตาย หรือบาดเจ็บจนไม่สามารถจัดการเองได้ ให้นำเอกสารหลักฐานแสดงว่าเป็นบุพการี ผู้สืบสันดาน สามีหรือภรรยา เช่น สูติบัตร ทะเบียนสมรส ทะเบียนบ้าน
๕) กรณีหากเป็นผู้แทนนิติบุคคล เช่น บริษัท ห้างหุ้นส่วน ให้นำเอกสารต่อไปนี้ไปด้วย
- หนังสือมอบอำนาจของนิติบุคคลติดอากรแสตมป์
- หนังสือรับรองนิติบุคคลของกระทรวงพาณิชย์
หลังจากนั้น พนักงานสอบสวนจะมีการบันทึกไว้เป็นหลักฐานในสำนวนการสอบสวน โดยจะถามข้อมูลจากผู้แจ้งเพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดให้ได้รับโทษตามกฎหมาย โดยมีรายละเอียดการถามเบื้องต้น ดังนี้
๑. ชื่อ นามสกุล อายุ ภูมิลำเนา ที่พักอาศัยปัจจุบัน ชื่อและที่อยู่บิดามารดาหรือญาติพี่น้องที่สามารถติดตามผู้แจ้งได้ สถานที่ทำงาน หมายเลขโทรศัพท์ หรือช่องทางติดต่อสื่อสารทางอื่น
๒. พฤติการณ์แห่งคดีที่เกิดขึ้นโดยละเอียด วัน เวลา และสถานที่เกิดเหตุ
๓. การพบเห็น การอ้าง การส่งมอบพยานหลักฐานต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นพยานบุคคล พยานเอกสาร หรือพยานวัตถุในคดี ทั้งนี้ พยานหลักฐานต่าง ๆ ที่สามารถแสดงให้ทราบถึงการกระทำความผิดนี้ ผู้ร้องทุกข์จะต้องนำไปให้พนักงานสอบสวนเพื่อจะได้บันทึกรายละเอียดได้ ตัวอย่างเช่น
- แจ้งความร้องทุกข์เรื่องเช็ค เนื่องจากเช็คไม่สามารถ ขึ้นเงินได้ ควรนำเช็คและใบที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินไปมอบให้พนักงานสอบสวนด้วย
- แจ้งความร้องทุกข์ฐานทำให้เสียทรัพย์ ควรนำหลักฐานต่อไปนี้ให้พนักงานสอบสวน คือ เอกสารแสดงความเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ทรัพย์หรือเป็นผู้มีสิทธิครอบครองทรัพย์นั้น
ทั้งนี้ ผู้เสียหายจะต้องร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดภายใน ๓ เดือน นับแต่วันที่รู้เรื่องการกระทำความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด มิฉะนั้นจะถือว่าขาดอายุความการร้องทุกข์ ไม่สามารถดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดได้ ทั้งนี้ เป็นไปตามมาตรา ๙๖ แห่งประมวลกฎหมายอาญา
อนึ่ง ก่อนที่ผู้เสียหายจะลงชื่อแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน ควรที่จะต้องอ่านข้อความที่พนักงานสอบสวนจดบันทึกด้วยความระมัดระวังว่าพนักงานสอบสวนจดถูกต้องตามที่ผู้เสียหายแจ้งความไว้หรือไม่ ถ้าไม่ถูกต้องตามความเป็นจริง ห้ามลงชื่อก่อนเป็นอันขาด ต้องให้พนักงานสอบสวนแก้ไขให้ถูกต้องเสร็จสิ้นก่อนจึงจะลงชื่อได้ เพราะหากมีความผิดพลาดเกิดขึ้น ข้อเท็จจริงเปลี่ยนแปลงไป จะไม่สามารถแก้ไขในภายหลังได้
สรุปได้ว่าหากต้องการให้บุคคลที่กระทำความผิดอาญาต่อส่วนตัวได้รับโทษตามกฎหมาย ผู้เสียหายจะต้องดำเนินการแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนตามกฎหมายและวิธีการดังที่กล่าวมาข้างต้น
โฆษณา