31 ต.ค. 2022 เวลา 07:54 • การเมือง
หลักเกณฑ์การพิจารณาเพื่อกำหนดให้คดีความผิดทางอาญาเป็นคดีพิเศษ
ปัญหาอาชญากรรมทั่วโลกมีความรุนแรงและสลับซับซ้อนมากขึ้น โดยเฉพาะอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ อาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับอิทธิพล อาชญากรรมข้ามชาติ ซึ่งอาชญากรรมพิเศษเหล่านี้ผู้กระทำความผิดจะเป็นเป็นผู้ที่มีความชำนาญในด้านนั้น ๆ เป็นอย่างมาก อีกทั้งยังสามารถพัฒนารูปแบบและวิธีการในการกระทำความผิดที่ซับซ้อนและแยบยลอย่างต่อเนื่อง ทำให้ยากต่อการจับตัวผู้กระทำความผิดเหล่านี้มาลงโทษตามกฎหมาย
จึงได้มีการจัดตั้ง “กรมสอบสวนคดีพิเศษ” (DEPARTMENT OF SPECIAL INVESTIGATION : DSI) ซึ่งเป็นหน่วยงานผู้รับผิดชอบในการดำเนินการเกี่ยวกับคดีพิเศษ โดยอยู่ภายใต้สังกัดกระทรวงยุติธรรม มีหน้าที่ป้องกัน ปราบปราม ควบคุมอาชญากรรมที่มีผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อเศรษฐกิจ สังคม ความมั่นคงและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ สืบสวนและสอบสวนคดีความผิดทางอาญาที่ต้องดำเนินการสืบสวนและสอบสวนโดยใช้วิธีการพิเศษตามกฎหมาย
ว่าด้วยการสอบสวนคดีพิเศษ (พระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. ๒๕๔๗)
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวมาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว แต่ปรากฏว่ายังมีผู้ที่มีความเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับการกำหนดให้คดีความผิดทางอาญาใดเป็นคดีพิเศษที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมสอบสวนคดีพิเศษ ดังนั้น ผู้เขียนจึงขอนำเสนอเนื้อหาและข้อมูลเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การพิจารณาเพื่อกำหนดให้คดีความผิดทางอาญาเป็นคดีพิเศษเพื่อให้ผู้อ่านได้เกิดความเข้าใจเกี่ยวกับคดีพิเศษให้มากขึ้นโดยมีรายละเอียด ดังนี้
“คดีพิเศษ” หรือคดีอาชญากรรมพิเศษในความรับผิดชอบของกรมสอบสวนคดีพิเศษ หมายถึง คดีความผิดทางอาญาตามที่ได้กำหนดไว้ในมาตรา ๒๑ แห่งพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. ๒๕๔๗ ซึ่งแบ่งออกเป็น
๑. คดีความผิดทางอาญาตามกฎหมายกำหนดไว้ในบัญชีท้ายพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. ๒๕๔๗ หรือคดีอาญาที่ได้กำหนดเป็นกฎกระทรวงโดยการเสนอแนะของคณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้
- คดีพิเศษที่กำหนดไว้ในบัญชีท้ายพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. ๒๕๔๗
มีดังนี้
(๑) คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน
(๒) คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการแข่งขันทางการค้า
(๓) คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์
(๔) คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ (๕) คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการเล่นแชร์
(๖) คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน
(๗) คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ
(๘) คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแบบผังภูมิของวงจรรวม
(๙) คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภค
(๑๐) คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยเครื่องหมายการค้า
(๑๑) คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยเงินตรา
(๑๒) คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการชดเชยค่าภาษีอากรสินค้าส่งออกที่ผลิต
ในราชอาณาจักร
(๑๓) คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน
(๑๔) คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยธนาคารแห่งประเทศไทย
(๑๕) คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยบริษัทมหาชนจำกัด
(๑๖) คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน
(๑๗) คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม
(๑๘) คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยลิขสิทธิ์
(๑๙) คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน
(๒๐) คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม
(๒๑) คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยสิทธิบัตร
(๒๒) คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
- คดีพิเศษที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงโดยการเสนอแนะของคณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) มีดังนี้
(๑) คดีความผิดตามประมวลรัษฎากร
(๒) คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร
(๓) คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยภาษีสรรพสามิต
(๔) คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยสุรา
(๕) คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยยาสูบ
(๖) คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์
(๗) คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว
(๘) คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์
(๙) คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยแร่
(๑๐) คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงิน
(๑๑) คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยเครื่องสำอาง
(๑๒) คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยวัตถุอันตราย
(๑๓) คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยยา
(๑๔) คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยอาหาร
โดยคดีความผิดทางอาญาตามกฎหมายกำหนดไว้ในบัญชีท้ายพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. ๒๕๔๗ และคดีอาญาที่ได้กำหนดเป็นกฎกระทรวงโดยการเสนอแนะของคณะกรรมการ
คดีพิเศษ (กคพ.) นั้น จะต้องมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้
ก. คดีความผิดทางอาญาที่มีความซับซ้อน จำเป็นต้องใช้วิธีการสืบสวนสอบสวนและรวบรวมพยานหลักฐานเป็นพิเศษ
ข. คดีความผิดทางอาญาที่มีหรืออาจมีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนความมั่งคงของประเทศความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หรือระบบเศรษฐกิจหรือการคลังของประเทศ
ค. คดีความผิดทางอาญาที่มีลักษณะเป็นคดีความผิดข้ามชาติที่สำคัญหรือเป็นการกระทำขององค์กรอาชญากรรม
ง. คดีความผิดทางอาญาที่มีผู้ทรงอิทธิพลที่สำคัญเป็นตัวการผู้ใช้หรือผู้สนับสนุน
จ. คดีความผิดทางอาญาที่มีพนักงานฝ่ายปกครองชั้นผู้ใหญ่หรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่ซึ่งมิใช่พนักงานสอบสวนคดีพิเศษหรือเจ้าหน้าที่คดีพิเศษเป็นผู้ต้องสงสัยเมื่อมีหลักฐานตามสมควรว่า
น่าจะได้กระทำความผิดอาญา หรือเป็นผู้ถูกกล่าวหาหรือผู้ต้องหา
คดีความผิดทางอาญาอื่นนอกเหนือจากคดีในมาตรา ๒๑ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. ๒๕๔๗ ตามที่ กคพ. มีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของกรรมการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่
จะพิจารณาเห็นได้ว่า คดีความผิดทางอาญาที่จะเป็นคดีพิเศษตามพระราชบัญญัติ
การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. ๒๕๔๗ ตามมาตรา ๒๑ วรรคหนึ่ง (๑) นั้น จะต้องเป็นคดีความผิดทางอาญาตามที่กฎหมายกำหนดไว้ในบัญชีท้ายพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. ๒๕๔๗ และที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงโดยการเสนอแนะของคณะกรรมการคดีพิเศษ โดยต้องมีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใด
ตามมาตรา ๒๑ วรรคหนึ่ง
(๑) แห่งพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. ๒๕๔๗ และต้องเป็นไปตามรายละเอียดของลักษณะการกระทำความผิดที่คณะกรรมการคดีพิเศษกำหนด แต่สำหรับคดีความผิดทางอาญาที่จะเป็นคดีพิเศษตามพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. ๒๕๔๗ มาตรา ๒๑ วรรคหนึ่ง
(๒) ได้กำหนดให้อำนาจแก่คณะกรรมการคดีพิเศษในการใช้ดุลพินิจในการลงมติให้คดีความผิดทางอาญาใดเป็นคดีพิเศษด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า ๒ ใน ๓ ของกรรมการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่
(ประกอบด้วยนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเป็นรองประธานกรรมการ ปลัดกระทรวงยุติธรรม ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงพาณิชย์ อัยการสูงสุด ผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เจ้ากรมพระธรรมนูญ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย นายกสภาทนายความ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้ง จํานวน ๙ คน
และในจํานวนนี้ต้องมีบุคคลซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญในด้านเศรษฐศาสตร์ การเงินการธนาคาร เทคโนโลยีสารสนเทศ หรือกฎหมาย อย่างน้อยด้านละ ๑ คน เป็นกรรมการ มีอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษเป็นกรรมการและเลขานุการ และให้อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษแต่งตั้งข้าราชการในกรมสอบสวนคดีพิเศษจํานวนไม่เกิน ๒ คน เป็นผู้ช่วยเลขานุการ)
จากหลักเกณฑ์ในข้างต้น ลักษณะของคดีที่จะเป็นคดีพิเศษและอยู่ในขอบเขตอำนาจของ DSI นั้น จะต้องมีหลักเกณฑ์ที่เป็นไปตามมาตรา ๒๑ แห่งพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. ๒๕๔๗ ทั้งนี้ ผู้ที่จะกำหนดว่าคดีประเภทใดที่ DSI มีอำนาจรับผิดชอบได้ ก็คือ คณะกรรมการคดีพิเศษ
ดังนั้น การจะรับคดีหนึ่งคดีใดเข้าเป็นคดีพิเศษนั้น ต้องผ่านกระบวนการในการสืบสวนและรวบรวมหลักฐานเสนอต่อคณะกรรมการคดีพิเศษเพื่อพิจารณาและมีมติว่าคดีนั้น ๆ เข้าหลักเกณฑ์ในการเป็นคดีพิเศษหรือไม่ เพื่อให้เกิดกระบวนการในการดำเนินการตามกฎหมายที่ตอบสนองต่อวัตถุประสงค์ในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมที่มีลักษณะพิเศษในรูปแบบที่เป็นมาตรฐาน เกิดประสิทธิภาพ และเป็นธรรม
โฆษณา