2 พ.ย. 2022 เวลา 11:00 • ไลฟ์สไตล์
เวลาเราเด็ก ๆ ผู้ใหญ่มักจะบอกว่าให้กินข้าวให้ตรงเวลา แล้วคำว่า "กินข้าวให้ตรงเวลา" มันคือกี่โมงกันนะ บทความนี้มีคำตอบค่ะ ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจกับนาฬิกาชีวิตกันก่อนเพื่อที่จะได้เข้าใจที่มาที่ไปกันมากขึ้นค่ะ
✅นาฬิกาชีวิตคืออะไร?⏰
นาฬิกาชีวิตคือวงจรของระบบการทำงานในร่างกายมนุษย์ ที่มีหน้าที่ควบคุมการทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกาย เช่น การตื่น การนอนหลับ การหลั่งฮอร์โมน การเผาผลาญ พฤติกรรม ระบบภูมิต้านทานโรค
1. ในเซลล์ร่างกายเรามีนาฬิกาชีวิตที่คอยกำหนดบทบาทหน้าที่การทำงานของอวัยวะภายในร่างกายว่าเวลาไหนควรจะ active เวลาไหนควรพักผ่อน เช่น อวัยวะที่เกี่ยวข้องกับการย่อยและดูดซึมอาหาร พอถึงเวลาที่ร่างกายกำลังกระฉับกระเฉง เราก็ควรจะกินอาหาร แต่ถ้าตอนที่ร่างกายต้องการพักผ่อนเราก็ไม่ควรกินอาหารเพราะจะเป็นภาระให้กับเซลล์ที่ต้องย่อยและดูดซึมอาหาร
2. นาฬิกาชีวิตจะเก็บข้อมูลจากภายนอก เช่น แสงอาทิตย์ อาหาร และมันจะเซ็ตเวลาในร่างกาย ให้ตรงกับข้อมูลที่ได้รับมา เช่น พอตื่นมาตอนเช้า แสงแดดยามเช้าจะสื่อสารให้ร่างกายรู้ว่าตอนนี้เป็นเวลาเช้าแล้ว ถึงเวลาที่ร่างกายต้อง active ส่วนอาหารและการออกกำลังกายจะช่วยส่งเสริมให้นาฬิกาชีวิตตรงต่อเวลา
3. นาฬิกาชีวิตเป็นสิ่งที่แปรปรวนได้ง่าย ซึ่งถ้ามันเกิดขึ้นแล้วจะส่งผลให้เกิดโรคอ้วน, ความเจ็บป่วยทั้งทางกายและจิตใจ, ภาวะเลือดออกในสมอง, โรคซึมเศร้า, แก่ชรา, โรคผิวหนัง, มะเร็ง ฯลฯ
✅การกินอาหารสัมพันธ์กับนาฬิกาชีวิตอย่างไร?
เมื่อเรากินอาหารเข้าไป อาหารก็จะส่งข้อความไปที่นาฬิกาชีวิต เพื่อบอกให้รู้ว่าถึงเวลา “Food mode” แล้ว จากนั้นร่างกายเราก็จะใส่เกียร์เดินหน้าย่อยอาหาร และสะสมพลังงาน พอทำหน้าที่ของมันเสร็จ นาฬิกาชีวิตก็จะเข้าสู่ “Standby mode” เพื่อพักผ่อนรอเวลาย่อยต่อไป
ในทางกลับกันในขณะที่ร่างกายต้องการพักผ่อนในยามดึก ถ้าเรากินอาหาร ร่างกายก็จะเซ็ตนาฬิกาชีวิตให้เกิด Food mode ในตอนกลางคืน และบังคับให้เกิด Standby mode ในตอนกลางวัน ซึ่งแท้ที่จริงแล้วตอนกลางวันมันควรจะเป็นเวลาที่ร่างกายเราควรจะ active ดังนั้น ถ้าเรากินอาหาร ให้ถูกช่วงเวลา เท่ากับว่าเราฝึกฝนให้นาฬิกาชีวิตของเราแข็งแรงขึ้น
✅อาหารแต่ละมื้อควรกินเวลาไหนดี?
เนื่องจากอาหารมีส่วนเกี่ยวข้องกับความแข็งแรงของนาฬิกาชีวิต ดังนั้นเราควรปรับเวลาการกินอาหารให้เข้ากับนาฬิกาชีวิต ดังนี้
1. อาหารเช้า
จริง ๆ ควรจะทานหลังตื่นนอนทันทีและไม่ควรเกิน 2 ชั่วโมง ตัวอย่างเช่น ตื่น 7:00 ก็ควรกินอาหารเช้า อย่างช้าไม่เกิน 9:00 การทานอาหารเช้า ช่วยปรับนาฬิกาชีวิต ที่แปรปรวนได้ง่ายให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติ
2. อาหารกลางวัน
ควรทานหลังอาหารเช้า 5 ชั่วโมง ยกตัวอย่าง เช่น ถ้าทานอาหารเช้า 7:00 เราควรทานอาหารกลางวัน ตอนเที่ยง ซึ่งช่วงอาหารกลางวันนี้ เป็นช่วงที่ระบบย่อยอาหารกำลังกระปรี้กระเปร่า
3. อาหารมื้อเย็น
ควรทานหลังอาหารเช้า 10 ชั่วโมง ช้าสุดไม่เกิน 12 ชั่วโมง เช่น ถ้าทานอาหารเช้า 7:00 ควรทานอาหารเย็นไม่เกิน 17:00 ช้าสุดไม่เกิน 19:00 ช่วงค่ำถึงดึกเป็นช่วงที่ความสามารถในการย่อยและดูดซึมอาหารลดลง ดังนั้นเราไม่ควรกินอาหารเพราะจะเป็นการทำให้อวัยวะภายในทำงานหนักเกินไป อีกทั้งการกินมื้อดึกจะทำให้เช้าวันรุ่งขึ้นเราไม่หิว
✅คนที่ต้องทำ OT หรือทำงานกะดึกล่ะ?
สำหรับคนที่ต้องทำ OT หรือทำงานกะดึก ก็ต้องปรับนาฬิกาชีวิตให้เข้ากับ lifestyle เช่น หลังจากตื่นให้ออกไปสัมผัสแดดอ่อน ๆ ที่ริมระเบียงหรือหน้าต่างสัก 15 นาที เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ร่างกายรับรู้ว่า เป็นการเริ่มวันใหม่แล้ว และให้รีบทานอาหาร
✅Fun Fact😊
ไม่เพียงแต่มนุษย์เท่านั้นที่มีนาฬิกาชีวิต แต่สัตว์บางชนิด เช่น ปลา นก หนอน แมลงรวมทั้งต้นไม้ก็มีนาฬิกาชีวิตด้วยนะ
✳ทราบอย่างนี้แล้ว อย่าลืมฟังเสียงนาฬิกาในร่างกายของเราบ้างนะคะ ถ้าเราฟังเขา เขาก็จะช่วยดูแลสุขภาพให้เราค่ะ😀
โฆษณา