6 พ.ย. 2022 เวลา 04:00 • ท่องเที่ยว
การท่องเที่ยวเพื่อการนอนหลับ การเที่ยวแบบใหม่เพื่อสุขภาพ
‘เหน็ดเหนื่อยกลับมาจากการทำงาน ทิ้งตัวลงบนฟูกนอนนิ่มๆที่คลุมไปด้วยผ้าปูสีขาว เปิดแอร์เย็นฉ่ำ ห่มร่างกายด้วยผ้านวมนุ่มๆผืนใหญ่ มีกลิ่นหอมอ่อนของสมุนไพรที่ชื่นชอบ และรู้สึกผ่อนคลายไปกับเสียงดนตรีที่บรรเลงเคล้าคลอชวนให้เคลิ้มฝัน’ นึกภาพตามแล้วมันเกิดความรู้สึกง่วงนอนสุดๆไปเลยใช่มั้ยครับ?
มนุษย์วัยทำงานแบบเรา วันหยุดทั้งทีใจนึงก็อยากจะไปเที่ยว ใจนึงก็อยากจะพักผ่อน แล้วมันจะดีแค่ไหนกัน ถ้าการท่องเที่ยว = การพักผ่อน
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างมากต่อการนอนหลับ จากผลการศึกษาที่ตีพิมพ์ใน Journal of Clinical Sleep Medicine วารสารวิชาอายุรศาสตร์การนอนหลับ พบว่า 40% ของผู้ใหญ่กว่า 2,500 คนที่เข้าร่วมการศึกษา ระบุว่าคุณภาพการนอนหลับของพวกเขาลดลงตั้งแต่เริ่มต้นการระบาดใหญ่ การติดเชื้อและการอดนอนทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ทั้งสุขภาพกายและจิตใจ
เทรนด์ “การท่องเที่ยวเพื่อการนอนหลับ” (Sleep Tourism) เกิดขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาและในปัจจุบันกำลังเติบโตขึ้นอย่างมาก เห็นได้จากตัวเลขการเข้าพักโรงแรมและรีสอร์ตทั่วโลกที่เน้นการนอนหลับ เพราะผู้คนกลับมาให้ความสำคัญกับการนอนหลับมากขึ้นตั้งแต่ปี 2563 ได้มีโรงแรมหลายแห่งในต่างประเทศเปิดบริการแพ็คเกจเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวสายนอนโดยเฉพาะ ซึ่งแต่ละแพ็คเกจประกอบไปด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับการนอนหลับเพื่อพักผ่อนอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งบริการสปาเต็มรูปแบบ มีให้เลือกตั้งแต่ 3-7 วัน ตัวอย่างเช่น
โรงแรมในเครือ Belmond Hotel ในกรุงลอนดอน ร่วมกันสร้างบริการพิเศษเรียกว่า Sleep Concierge สำหรับลูกค้าที่มีปัญหาด้านการนอนหลับ โดยจะเปิดเสียงต่างๆ เพื่อสร้างบรรยากาศที่เหมาะสมแก่การนอนหลับ มีหมอนให้เลือกตามท่านอนที่ถนัด ไม่ว่าจะเป็นการนอนหงาย หรือนอนตะแคงเพื่อรองรับสรีระของผู้นอน ตลอดจนเลือกน้ำหนักของผ้าห่มเพื่อให้พอดีกับร่างกาย ไม่ให้รู้สึกหนักเกินไปได้อีกด้วยครับ
รวมถึงมีบริการชาก่อนนอนที่เป็นสูตรพิเศษที่คิดค้นขึ้นโดยเฉพาะ และมี Pillow Mist เครื่องหอมเพื่อการบำบัดที่จะทำให้หลับสบายยิ่งขึ้น มาจากแนวความคิดที่ว่า “แต่ละคนล้วนมีความชื่นชอบที่แตกต่างกันไป ดังนั้นเราจึงมีตัวเลือกที่หลากหลาย ให้เหมาะสมกับการนอนของทุกคน เพื่อที่จะให้ลูกค้าได้สัมผัสประสบการณ์ที่ดีที่สุด ไม่มีโปรแกรมใดโปรแกรมหนึ่งที่เหมาะสมกับทุกคน”
หากแต่นอกจากอาการพักผ่อนไม่เพียงพอที่ทำให้เกิดปัญหาในการนอนหลับแล้ว ยังเกิดได้จากสาเหตุอื่น อาทิ ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ กลุ่มอาการขาอยู่ไม่สุข หลายโรงแรมที่เปิดแพ็กเกจนี้จึงต้องร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญเพื่อออกแบบโปรแกรมอย่างรัดกุม ยกตัวอย่างเช่น โรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล ในกรุงเจนีวา ร่วมมือกับ CENAS คลินิกการนอนทางการแพทย์ส่วนตัวในสวิตเซอร์แลนด์ จัดโปรแกรมสามวันที่ศึกษารูปแบบการนอนของแขก เพื่อระบุความผิดปกติของการนอนหลับที่อาจเกิดขึ้นได้
เห็นได้ว่าการท่องเที่ยวเชิงนอนหลับกำลังเปลี่ยนความคิดเดิมของผู้คนที่มักคิดว่าจะต้องอดหลับอดนอนเพื่อท่องเที่ยวให้ได้มากที่สุด และผู้คนกำลังเข้าใจว่าการนอนหลับนั้นมีความสำคัญมากเช่นใด การท่องเที่ยวเพื่อการนอนหลับจึงเติบโตขึ้นเรื่อยๆ และน่าจับตามองเป็นอย่างยิ่งว่าในอนาคตอาจมีอีกหลายวิธีที่จะผสานการท่องเที่ยวและศาสตร์แห่งการพักผ่อนเข้าด้วยกันได้
รู้จัก Hotelsup มากขึ้น :
โฆษณา