5 พ.ย. 2022 เวลา 12:19 • ประวัติศาสตร์
ประวัติศาสตร์ “ฟุตบอลโลก” ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจมหาศาลจริงหรือ?
1
การแข่งขันฟุตบอลโลก 2022 กำลังจะมาถึง โดยมีเจ้าภาพ คือ ประเทศกาตาร์ที่ทุ่มงบกว่า 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สำหรับการพัฒนาสาธารณูปโภค สิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ เพื่อเตรียมรับนักท่องเที่ยวและผู้ชมฟุตบอลจากทั่วโลก
แน่นอนว่างบประมาณมหาศาลเช่นนี้เป็นเรื่องที่น่าประหลาดใจเพราะตัวเลขสูงกว่าเจ้าภาพในปี 2014 อย่างบราซิลที่เคยทำสถิติทุ่มงบกว่า 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เรียกได้ว่าสูงกว่าประเทศเจ้าภาพใดทั้งหมดที่เคยจัดฟุตบอลโลกมา
การได้เป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกมีผลประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อม ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การกระตุ้นเศรษฐกิจ การปลูกฝังความเป็นหนึ่งเดียวกันในชาติ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ต่างเป็นแรงดึงดูดให้หลายประเทศแข่งขันกัน เพื่อเป็นเจ้าภาพการแข่งขันที่ยิ่งใหญ่นี้
1
หากแต่การเป็นเจ้าภาพนั้น ให้ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาลจริงหรือ? Bnomics ในวันนี้จึงจะมาหาคำตอบกับเรื่องนี้กันค่ะ
⭐ ต้นกำเนิดฟุตบอลโลก
ไม่เป็นที่แน่ชัดว่ากีฬาฟุตบอลมีต้นกำเนิดจากชนชาติใดเพราะมีการถูกบันทึกไว้หลายแห่งในประวัติศาสตร์ทั้งในกรีก โรมัน จีน ญี่ปุ่น หรืออิตาลี โดยจีนถูกบันทึกไว้ 2000 ปีก่อนคริสตกาลว่ามีการละเล่นใช้เท้าเตะที่ชื่อว่า “ชู่จวี” (蹴鞠) ญี่ปุ่นมีบันทึกถึงกีฬาใช้เท้าเตะเช่นเดียวกันชื่อ “เคมาริ” (Kemari) ในขณะที่กรีกถูกบันทึกไว้ว่ามีการเล่นใช้เท้าเตะชื่อ “เอพปิสไกรอส” (Episkyros) ด้วยเช่นกัน
3
แม้จะไม่สามารถสรุปได้แน่ชัดว่าใคร คือ ต้นคิดกีฬาฟุตบอล หากแต่ประเทศที่ขึ้นมามีบทบาทเป็นผู้นำและออกกฎกติกาการเล่นสมัยใหม่จวบจนถึงปัจจุบันนี้คือ “อังกฤษ” ซึ่งในปี 1863 มีการจัดตั้ง “สมาคมฟุตบอลแห่งอังกฤษ”
โดยเป็นการรวมกลุ่มของสโมสรฟุตบอลในลอนดอน 11 แห่ง เพื่อร่วมกันปรับปรุง แก้ไขกติกาการเล่นให้เหมาะสม เพราะในอดีตการเล่นฟุตบอลถูกมองว่าเป็นกีฬาที่มีความรุนแรง ป่าเถื่อน จากการไม่มีกติกาการเล่น ไม่ได้มีการกำหนดขอบเขตหรือจำนวนคนเล่น ทำให้เกิดความวุ่นวายและผู้เล่นได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก
การกำหนดกติกาการเล่นนี้เป็นที่ยอมรับในวงกว้าง ส่งผลให้กีฬาฟุตบอลเริ่มได้รับความนิยมและแพร่กระจายไปทั่วโลก
จากกีฬาที่เล่นแค่ในประเทศก็ถูกพัฒนาเป็นการเล่นระหว่างประเทศ ในปี 1872 เกิด “การแข่งขันฟุตบอลโลกระหว่างประเทศ” เป็นครั้งแรกระหว่างทีมชาติอังกฤษและสกอตแลนด์ จนกระทั่งในปี 1900 ฟุตบอลเริ่มเข้าเป็นหนึ่งในกีฬาการแข่งขันโอลิมปิกด้วยจุดประสงค์ เพื่อยกระดับภาพลักษณ์ฟุตบอลสู่การแข่งขันชิงแชมป์ในระดับโลก
1
ในปี 1904 หัวหน้าสมาคมฟุตบอลยุโรปทั้ง 7 แห่งได้จัดประชุมกันที่กรุงปารีส เพื่อก่อตั้งสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือ FIFA (Fédération Internationale de Football Association) เพื่อดูแลการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับฟุตบอลในระดับนานาชาติ
และจุดเปลี่ยนก็มาถึง เมื่อเกิดความตึงเครียดระหว่างคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) และ FIFA เกี่ยวกับบทบาทของผู้เล่น เพราะ FIFA ต้องการเน้นไปที่ความเป็นมืออาชีพ ในขณะที่ IOC เน้นความเป็นมือสมัครเล่น เมื่อจุดประสงค์แตกต่าง FIFA จึงมุ่งหาโอกาสที่จะมีสนามแข่งขันฟุตบอลนอกเหนือจากโอลิมปิก
1
และแล้วความพยายามก็ประสบผลสำเร็จในปี 1930 FIFA ผลักดันจนสามารถเกิด “การแข่งขันฟุตบอลโลกครั้งแรก” ได้ในที่สุด โดยมีอุรุกวัยเป็นเจ้าภาพประเทศแรก จนถึงปัจจุบันการแข่งขันฟุตบอลโลก (FIFA World Cup) เรียกได้ว่าเป็นการแข่งขันที่ผู้หลงรักในฟุตบอลต่างเฝ้ารอและเป็นการแข่งขันที่ยังมีผู้ชมมากที่สุดในโลกอีกด้วย
1
⭐ การเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก ให้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจมหาศาลจริงหรือ?
แม้การเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกจะให้ผลประโยชน์มากมาย เช่น การได้โปรโมทประเทศการท่องเที่ยวและการค้า โอกาสในการดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทั้งระบบขนส่ง การรักษาความปลอดภัย สาธารณสุข หรือการยกระดับภาพลักษณ์ของประเทศในระดับนานาชาติ
แต่หากมามองผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่ประเทศเจ้าภาพได้รับอาจไม่ได้มหาศาลอย่างที่ประเมินไว้ แน่นอนว่าทุกอย่างมีได้และมีเสีย หมายความว่าการเป็นเจ้าภาพแม้จะได้ประโยชน์มากมายจากที่กล่าวไปข้างต้นแต่ก็ต้องตามมาด้วย “ต้นทุนมหาศาล” ที่ต้องจ่ายเช่นกัน
1
ต้นทุนแรก คือ การสร้างสนามแข่งขัน โดย FIFA มีเงื่อนไขว่าเจ้าภาพต้องมี 12 สนามที่บรรจุคนได้อย่างน้อย 40,000 - 80,000 รวมถึงระบบสาธารณูปโภคอื่น ๆ ที่สามารถอำนวยความสะดวกให้การแข่งขันเป็นไปได้อย่างราบรื่น
สำหรับประเทศที่พัฒนาแล้วอาจไม่ต้องลงทุนกับสิ่งเหล่านี้มากนัก แต่สำหรับประเทศที่กำลังพัฒนาเงื่อนไขข้อนี้เป็นต้นทุนขนาดใหญ่ที่ต้องแบกรับไว้
โดยผู้เขียนขอยกตัวอย่างประเทศบราซิล เจ้าภาพในปี 2014 เพราะเป็นตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นถึงต้นทุนมหาศาลได้ชัดเจนที่สุด
บราซิลใช้งบประมาณจากการเป็นเจ้าภาพทั้งหมด 1.1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สัดส่วนค่าใช้จ่ายที่เยอะที่สุดคือ “สนามแข่งขัน” อยู่ที่ราว 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากตอนแรกที่คาดการณ์ไว้เพียง 1.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เท่านั้น! รองลงมา คือ ขนส่งมวลชนที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนที่ในเมือง (urban mobility) และสนามบินอยู่ที่ราว ๆ 2 - 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
4
ด้วยการจัดสรรงบประมาณเช่นนี้ทำให้เกิดการต่อต้านจากประชาชนบราซิลเองเพราะเมื่อสรุปรวมค่าใช้จ่ายทั้งหมดพบว่าสูงเทียบเท่ากับสวัสดิการเบี้ยเลี้ยงครอบครัวยากจน (Bolsa Familia) ถึง 2 ปีงบประมาณ
1
ท้ายที่สุด สนามแข่งขันที่ลงทุนไปมากที่สุดเหล่านี้ไม่สามารถผลิตกำไรให้กับบราซิลหลังจากจบการแข่งขัน แต่กลับถูกทิ้งร้างไม่ได้ทำประโยชน์
1
ยังไม่นับรวมถึงผลกระทบอื่นกับภาคประชาชน เช่น สนาม Arena das Dunas ที่ใช้งบประมาณไปถึง 450 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มีการสร้างถนนสายใหม่ขึ้นมา เพื่อไปยังชายหาดได้โดยตรงสำหรับการท่องเที่ยว แต่อีกนัยนึง คือ การหลีกเลี่ยงชุมชนที่ยากจนของเมืองเอาไว้
โดยหากมามองผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่บราซิลได้รับจะพบว่าการเป็นเจ้าภาพของบราซิลไปไม่ถึงฝั่งฝัน เพราะขาดทุนถึง 5.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
หลังจากสิ้นสุดการแข่งขันภาวะเศรษฐกิจของบราซิลค่อย ๆ ถดถอยลง ประชากรต่อหัวจาก 12,026 ดอลลาร์ในปี 2014 ตกลงมาเหลือ 8,757 ดอลลาร์ในปี 2015 อัตราการว่างงานพุ่งสูงขึ้นไป 9.3% จากเดิม 6.8% อัตราเงินเฟ้อพุ่งสูง 9.0% จากเดิม 6.3% นอกจากนี้การนำเข้าและส่งออกยังลดน้อยลง
ปัญหาเหล่านี้ เกิดมาจากการประเมินค่าใช้จ่ายที่ผิดพลาด ต้นทุนสูงจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงการคอร์รัปชันที่เกิดขึ้นภายในประเทศส่งผลให้บราซิลต้องเผชิญภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ ประชาชนออกมาประท้วงและแสดงความไม่พอใจต่อการบริหารงานของรัฐบาล
หากมาดูประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างเยอรมนี (เจ้าภาพปี 2006) ใช้งบประมาณน้อยกว่าบราซิลโดยอยู่ที่ราว 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเป็นผลพวงจากการที่ประเทศความพร้อมในโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคอยู่แล้ว
หลังจากจบการแข่งขัน จากเดิมในปี 2006 รายได้ต่อหัวประชากรอยู่ที่ 37,020 ดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นในปี 2007 เป็น 42,531 ดอลลาร์สหรัฐฯ นอกจากนี้อัตราการว่างงานยังลดลงจาก 10.0% เป็น 8.6% และภาพรวมของการนำเข้าและส่งออกเป็นบวกสะท้อนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง
จากในกรณีของบราซิลและเยอรมนีเห็นได้ว่า “ต้นทุนของการเป็นประเทศกำลังพัฒนาและพัฒนาแล้ว” ส่งผลต่อโอกาสทางเศรษฐกิจอย่างมีนัยยะสำคัญ
2
ในส่วนของการท่องเที่ยว การเป็นเจ้าภาพมีสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาในประเทศ แต่อาจไม่ได้สร้างมูลค่ามหาศาลมากเท่าที่คาดการณ์ในบางประเทศ เช่น แอฟริกาใต้ (เจ้าภาพปี 2010) รัฐบาลประเมินว่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศราว 450,000 คน แต่ในความเป็นจริงมีเพียง 2 ใน 3 เท่านั้น โดยรายงานจาก South African Tourism Strategic Research Unit เปิดเผยว่า ในปี 2011 มีนักท่องเที่ยวมาแอฟริกาใต้เพียง 3.3% เท่านั้น ซึ่งน้อยกว่าค่าเฉลี่ยอัตราการเติบโตการท่องเที่ยวของโลกที่ 4.4% เสียอีก
1
“ทุกอย่างมีต้นทุนค่าเสียโอกาสเสมอ” แม้ว่าฟุตบอลจะดึงดูดให้คนเข้ามาเที่ยวมากขึ้น แต่อีกนัยนึงก็เป็นการกีดกันนักท่องเที่ยวที่ไม่ได้สนใจฟุตบอลเช่นเดียวกัน เพราะความแออัดของสถานที่และฝูงชนจำนวนมาก เห็นได้จากงานของ Matheson อธิบายว่า
ในปี 1994 เมือง Orlando รัฐฟลอริดา ซึ่งเป็นหนึ่งในเมืองเจ้าภาพที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่แย่ที่สุดในช่วงการแข่งขัน ทั้งที่ปกติจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาจำนวนมากเพื่อชม Disney World หากแต่ในช่วงการแข่งขันแทบไม่มีนักท่องเที่ยวเลยซึ่งเกิดจากนักท่องเที่ยวคนอื่นกลัวว่าแฟนบอลจะมาพักเป็นจำนวนมาก จึงมีความเป็นไปได้ที่จะย้ายไปเที่ยวในสถานที่อื่นแทน เช่นเดียวกับในฝรั่งเศส ปี 1998 สถานที่ที่ปกติเคยยอดนิยมกลับไม่พบหลักฐานการท่องเที่ยวที่มากขึ้นในช่วงฟุตบอลโลก
⭐ ฟุตบอลโลกผ่านเลนส์เศรษฐกิจ ให้บทเรียนอะไรแก่เรา?
แม้การเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกเป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำให้ประเทศได้รับการโปรโมททั้งการท่องเที่ยว การค้า การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานท้องถิ่น รวมถึงการแสดงศักยภาพในด้านต่าง ๆ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว นักลงทุนต่างชาติ หรืออาจเป็นการยกระดับภาพลักษณ์ประเทศสำหรับประเทศที่กำลังพัฒนาให้ได้รับการยอมรับในระดับสากล แต่การจะได้มาซึ่งสิ่งเหล่านี้มีต้นทุนที่ต้องจ่ายไปเพื่อให้ได้มาเสมอ นอกจากนี้ การประเมินต้นทุนและผลประโยชน์ให้ใกล้เคียงกับความจริงเป็นสิ่งสำคัญ
อย่างในกรณีของบราซิล มีการประเมินผลประโยชน์ของการเป็นเจ้าภาพสูงกว่าความเป็นจริง และประเมินต้นทุนต่ำกว่าความเป็นจริง
โดยตั้งกำไรไว้ที่ 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่แค่ต้นทุนก็สูงถึง 1.1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่งผลให้บราซิลขาดทุนย่อยยับจากการคาดการณ์ที่ผิดพลาด
1
อีกหนึ่งประเด็นที่น่าตั้งคำถาม คือ การลงทุนกับโครงสร้างพื้นฐานเป็นการลงทุนในระยะยาวที่คุ้มค่าจริงหรือไม่?
และใครได้ประโยชน์จากสิ่งนี้ สนามแข่งขันหลายแห่งถูกสร้างขึ้นมา เพื่อใช้รองรับการแข่งขันฟุตบอลโลก
แต่หลังจากนั้น ไม่มีใครได้ใช้ประโยชน์จนถูกปล่อยให้รกร้าง เม็ดเงินมหาศาลที่สามารถนำมาเป็นสวัสดิการให้ประชาชนหรือกระตุ้นเศรษฐกิจในส่วนอื่นกลับหายไปในพริบตา นำไปสู่วิกฤตทางเศรษฐกิจที่ต้องหาทางแก้ไขอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ผู้เขียน: ขัตติยาภรณ์ ด้วงแก้ว Political Analyst, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
References :
เครดิตภาพ : FIFA.com

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา