29 ต.ค. 2022 เวลา 12:19 • ประวัติศาสตร์
ประวัติศาสตร์ “วิกฤตเงินเฟ้อ” กับการล่มสลายของราชวงศ์ซ่ง
5
วิกฤตเงินเฟ้อเกิดขึ้นและให้บทเรียนต่อมนุษยชาติในทุกยุคสมัยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน แม้กระทั่งในตอนนี้เราต่างเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อจากหลายสาเหตุ
1
สาธารณรัฐไวมาร์ (ปัจจุบันคือ เยอรมนี) เวเนซุเอลา หรือ ซิมบับเว ต่างเคยเผชิญกับสภาวะเงินเฟ้อรุนแรงจากการใช้จ่ายที่เกินตัว มีหนี้สูง รัฐบาลจึงเลือกนโยบายผิดพลาด โดยการพิมพ์เงินออกมาเพื่อจ่ายหนี้แทน และนั่นคือการตอกย้ำปัญหาให้เพิ่มสูงขึ้นไปอีกจนนำไปสู่การล่มสลายทางเศรษฐกิจ
5
เป็นเรื่องน่าสนใจเช่นเดียวกันว่า จีนในสมัยราชวงศ์ซ่งต่างเคยเผชิญกับวิกฤตเงินเฟ้อซึ่งเป็นตัวเร่งให้เกิดการล่มสลายของราชวงศ์ถึง 2 ครั้ง
3
Bnomics วันนี้จึงอยากนำเสนอประวัติศาสตร์วิกฤตเงินเฟ้อในยุคสมัยราชวงศ์ซ่งของประเทศจีน ซึ่งจะเป็นการเน้นย้ำว่า บทเรียนในอดีตไม่ว่าจะสักกี่พันปีย่อมมีความสำคัญและเป็นสิ่งที่มนุษยชาติอย่างเราควรเรียนรู้และแก้ไขเพื่อไม่ให้มันเกิดซ้ำอีก
3
🌟 ภาพรวมเศรษฐกิจในสมัยราชวงศ์ซ่ง (The Song dynasty)
6
ราชวงศ์ซ่งเป็นหนึ่งในราชวงศ์ที่ปกครองจีนตั้งแต่ปี 960 - 1279 นับเป็นเวลากว่า 300 ปีก่อนจะสิ้นสุดราชวงศ์ด้วยการสิ้นพระชนม์ของพระจักรพรรดิ Huaizong
1
จีนในสมัยราชวงศ์ซ่งเชื่อกันว่าเป็น “สังคมอุตสาหกรรมแห่งแรกในประวัติศาสตร์” เห็นได้จากผลผลิตของเหล็กเพิ่มขึ้นถึง 5 เท่า ในขณะที่ผลผลิตทองแดง ดีบุกและตะกั่วเพิ่มขึ้น 20-50 เท่า การรวดเร็วในการผลิตเช่นนี้เกิดขึ้นก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรมเสียอีก
3
นอกจากนี้ยังมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเกิดขึ้นมากมาย เช่น การผลิตดินปืน ระบบการพิมพ์ด้วยตัวเรียง เครื่องจักรสิ่งทอ เมล็ดพืชหลากหลาย เรือล้อถีบ และกังหันลม รวมถึงการมีระบบกฎหมายทันสมัย ระบบจัดเก็บภาษี และสถาบันการเงินหลายแห่ง
1
ด้วยการพัฒนาในทุกด้านของจีนโดยเฉพาะการเกษตรทำให้ผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้น จึงทำให้เศรษฐกิจเจริญเติบโตอย่างก้าวกระโดด คุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้นอย่างมาก ส่งผลให้ประชากรจีนเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า จากในปี 742 จีนมีประชาชนราว 50 ล้านคน จนในปี 1100 จีนมีประชากรถึง 100 ล้านคน! ทำให้ตอนนั้นจีนกลายเป็นประเทศที่มีประชากรเยอะที่สุดในโลก
5
ประชากรเพิ่มขึ้นสะท้อนถึงความเป็นอยู่ที่ดีของผู้คนในขณะนั้น แต่ความเป็นอยู่ดี​ขึ้นนี่ดีถึงขนาดไหน?
ให้ลองนึกภาพย้อนไปว่าเมื่อพันปีก่อน คนหนุ่มสาวในยุคของราชวงศ์ซ่งไม่สามารถทำอาหารได้อีกต่อไปเพราะทุกคนใช้เงินซื้ออาหารกลับบ้าน ไม่มีความจำเป็นต้องเสียเวลาทำอาหารเพื่อประหยัด
5
สะท้อนให้เห็นว่าผู้คนมีเงินในมือเยอะจนสามารถใช้เงินเป็นปัจจัยในการสร้างความสะดวกสบายแทน ถือเป็นเรื่องที่ทันสมัยอย่างมากราวกับเกิดขึ้นในยุคนี้
3
จากที่กล่าวไปข้างต้น ถึงแม้จีนในสมัยราชวงศ์ซ่งจะมีความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าเพียงใด แต่ก็ต้องพ่ายแพ้ให้กับชนเผ่าเร่ร่อนถึงสองครั้งจนราชวงศ์ซ่งแตกออกเป็นซ่งเหนือและซ่งใต้ในปี 1127 ท้ายที่สุดก็ล่มสลายและเปลี่ยนผ่านสู่รัชสมัยของราชวงศ์หยวนที่ชาวมองโกลเป็นผู้ปกครองแทน
3
นักประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับปัจจัยทางการทหารที่ทำให้ราชวงศ์ซ่งต้องล่มสลายและพ่ายแพ้ต่อชาวมองโกล หากแต่มีอีกปัจจัยที่น่าสนใจคือ “วิกฤตเงินเฟ้อ” อันเกิดจากการบริหารอย่างผิดพลาดที่ค่อย ๆ แทรกซึมและกัดกินจากภายในนำไปสู่การล่มสลายของราชวงศ์ในที่สุด
3
🌟 “วิกฤตเงินเฟ้อ” เกี่ยวข้องกับการล่มสลายของราชวงศ์ซ่งได้อย่างไร?
3
แท้จริงแล้ว การล่มสลายของราชวงศ์ซ่งถูกให้ความสำคัญไปในแง่ “กองกำลังทหาร” ที่อ่อนแอและเสียเปรียบศัตรู แต่มีอีกหนึ่งสาเหตุที่น่าสนใจคือ “วิกฤตเงินเฟ้อ” ที่แม้จะไม่ได้เป็นจุดพลิกผันสำคัญจนทำให้ราชวงศ์ต้องล่มสลายในทันที หากแต่ก็ค่อย ๆ กัดกินระบบเศรษฐกิจและการปกครองภายในจนพังลงในที่สุด
5
ภาวะเงินเฟ้อรุนแรงเกิดขึ้นถึง 2 ครั้งในสมัยราชวงศ์ซ่ง โดยครั้งแรกเกิดขึ้นในช่วงประมาณปี 1070 จากการบริหารทางเศรษฐกิจและการปกครองที่ผิดพลาด อันเป็นผลมาจากแนวคิดของอัครมหาเสนาบดีที่ชื่อ Wang Anshi ซึ่งเป็นทั้งนักเศรษฐศาสตร์ นักปฏิรูปสังคม (ปัจจุบันอาจเรียกได้ว่าเป็นนายกรัฐมนตรี)
3
แนวคิดของเขาคือรัฐจะต้องเป็น “ผู้ควบคุม” ในทุกด้านทั้งการค้า อุตสาหกรรมและการเกษตร มีจุดมุ่งหมายเพื่อช่วยเหลือชาวบ้านที่ประกอบอาชีพเกษตรกร หรือแรงงานที่อาจถูกเอารัดเอาเปรียบจากคนร่ำรวย โดยเขาได้ทำการแทรกแซงทางเศรษฐกิจ เช่น ควบคุมราคาผลผลิตทางการเกษตร ออกนโยบายเงินกู้ยืมแก่ชาวนา มีการจัดเก็บภาษีที่ดินแบบใหม่
1
และระบบจัดเก็บภาษีในอัตราก้าวหน้าซึ่งเอามาแทนที่การเก็บส่วยจากชาวนา ซึ่งนโยบายเหล่านี้ของ Wang ย่อมสร้างความไม่พอใจให้กับคนรวยเพราะเป็นการเพิ่มภาระและเอื้อประโยชน์แก่ชาวนามากเกินไป
แน่นอนว่าทุกอย่างมีได้และเสีย การช่วยคนจนคือการสร้างสวัสดิการขนานใหญ่ แต่รัฐต้องเตรียมใจกับการแบกภาระค่าใช้จ่ายอย่างมหาศาล ส่งผลให้การบริหารภายใต้รัฐบาล Wang Anzi มีการขาดดุลทางเศรษฐกิจ ในขณะนั้นเกิดสงครามจากหลายฝ่าย รัฐบาลต้องการปืนและเนยสำหรับเป็นอาวุธและเสบียง หากแต่ไม่มีภาคเอกชนใดต้องการให้เงินรัฐบาลเลย
5
เมื่อรายได้ไม่มี แต่จำเป็นต้องใช้เงินในสงคราม แล้วรัฐบาล Wang Anzi แก้ปัญหานี้อย่างไร?
Wang จัดการปัญหานี้โดยการพิมพ์เงินออกมาในระบบเท่าที่เขาต้องการ จนเรียกได้ว่าเป็น
3
“วิกฤตการเงินครั้งแรกที่ถูกจารึกไว้จากการพิมพ์เงินมากเกินไป” ยกตัวอย่างเช่น ก่อนหน้านั้นมูลค่าเงินกระดาษจะลดลง 10% ต้องใช้เวลากว่า 9 ปี จนกระทั่งในปี 1107 มูลค่าเงินลดลง 10% โดยใช้เวลาเพียง 1 ปีเท่านั้น!! สะท้อนสภาวะเงินเฟ้อที่รุนแรงอย่างมาก
5
ความอ่อนแอภายในจากวิกฤตเงินเฟ้อรุนแรงกับบริบทสงครามโดยรอบ
1
ยิ่งเป็นตัวเร่งให้ชาว Jurchen สามารถเข้าพิชิตจีนได้อย่างรวดเร็วส่งผลให้ราชวงศ์ซ่งที่ยิ่งใหญ่ถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ 1.ซ่งเหนือ (ที่ถูกยึดไป) และ 2.ซ่งใต้ (ชาวซ่งเดิม)
3
สิ่งนี้ส่งผลให้เกิดเงินเฟ้อรุนแรงขึ้นอีกเป็นครั้งที่สองในช่วง 1160 สมัยของจักรพรรดิ Xiaozong มีการรื้อฟื้นแนวคิดของ Wang Anzi ขึ้นมาใหม่ การใช้นโยบายประชานิยม อัดฉีดเงินในระบบอย่างไม่เกรงกลัวใด ๆ ทำให้เกิดเงินเฟ้อสูงขึ้นมาอีกระลอกเป็นเวลากว่า 30 ปี จนนำไปสู่วิกฤตเงินเฟ้อรุนแรงขึ้นอีกครั้ง!
1
ปริมาณเงินในระบบเพิ่มขึ้นมหาศาลอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน…
  • ในปี 1183 เริ่มต้นจากเงิน 10 ล้านพุ่งสูงถึง 18 ล้าน
  • ในปี 1195 มีเงินในระบบราว 30 ล้าน
  • ในปี 1207 พุ่งสูงถึง 55 ล้าน
  • จนกระทั่งในปี 1234 ปริมาณเงินในระบบพุ่งสูงถึง 140 ล้าน!!
1
เงินเฟ้อรุนแรงครั้งนี้ยากที่จะแก้ไขเพราะรัฐบาลสร้างกับดักให้ตัวเอง โดยไม่รู้ว่าเงินเฟ้ออาจจะมีมากกว่าปริมาณเงินกระดาษที่พิมพ์ออกมาในระบบ เพราะเงินได้ถูกใช้จ่ายหมุนเวียนไปในระบบเรื่อย ๆ จนถึงจุดหนึ่งที่เงินกระดาษได้แพร่กระจายไปทั่วจักรวรรดิ การพิมพ์เงินออกมาเพิ่มยิ่งส่งผลให้มูลค่าของเงินลดลง
3
เมื่อเศรษฐกิจอ่อนแอ ประชาชนมีชีวิตที่ย่ำแย่และหมดศรัทธากับรัฐบาล ส่งผลให้เศรษฐกิจและการปกครองของราชวงศ์ซ่งล่มสลายไปพร้อม ๆ กัน และจบลงด้วยการพิชิตของชาวมองโกลเป็นอันสิ้นสุดของราชวงศ์ซ่งในที่สุด
3
วิกฤตเงินเฟ้อเป็นบทเรียนมาให้เราเสมอตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน ตั้งแต่ประวัติศาสตร์นับพันปีจนถึงเหตุการณ์ร่วมสมัย แต่ก็ยังมีบางประเทศที่ใช้จ่ายเกินตัว เกิดเป็นหนี้ก้อนใหญ่มหาศาลโดยเฉพาะในช่วงที่โลกกำลังเข้าสู่ช่วงดอกเบี้ยขาขึ้นเช่นนี้ ทำให้มูลค่าหนี้ที่ต้องจ่ายคืนเพิ่มสูงขึ้นอีก หากรัฐบาลไม่รักษาวินัยทางการคลังให้ดีตั้งแต่เนิ่น ๆ อาจนำไปสู่ความเสียหายทางเศรษฐกิจจนไม่อาจฟื้นคืนได้
7
ผู้เขียน: ขัตติยาภรณ์ ด้วงแก้ว Political Analyst, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
References:
เครดิตภาพ: Painting by Zhang Zeduan via Cchatty

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา