5 พ.ย. 2022 เวลา 01:00 • การศึกษา
📌ครบจบทุกประเด็น #การแจ้งความประสงค์ใช้สิทธิลดหย่อนภาษี #SSF #RMF ช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมา ได้รับคำถามจากลูกค้าเยอะมากกก เลยมาสรุปให้ในโพสต์นี้ทีเดียวค่ะ
📌#สรุปโดยย่อ ผู้ลงทุนใน SSF/RMF ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565 เป็นต้นไป #ต้องแจ้งความประสงค์ใช้สิทธิลดหย่อนภาษี ภายในวันที่ 30 ธันวาคม 2565 ซึ่งเป็นวันทำการสุดท้ายของปี เพื่อให้ทางบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) นำส่งข้อมูลการซื้อหน่วยลงทุน SSF/RMF ให้กับกรมสรรพากร เพื่อรับสิทธิลดหย่อนภาษี #ไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้
💡#ที่มาที่ไป
ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ ฉบับที่ 414 และ 415 เรื่องกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุน และการถือหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ และกองทุนรวมเพื่อการออม ตามลำดับ
กำหนดให้ การซื้อหน่วยลงทุนตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 ผู้มีเงินได้ต้องแจ้งความประสงค์ที่จะใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ต่อบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมที่ตนได้ซื้อหน่วยลงทุนใน SSF/RMF และบลจ.ต้องส่งข้อมูลของผู้มีเงินได้ ต่อกรมสรรพากร ภายในวันที่ 15 มกราคมของปีถัดไป (เว้นแต่อธิบดีจะกำหนดเป็นอย่างอื่น)
💡#หากไม่แจ้งความประสงค์สามารถใช้หลักฐานในรูปแบบกระดาษได้หรือไม่
ผู้ลงทุนจะไม่สามารถแจ้งตรงต่อสรรพากรโดยใช้หนังสือรับรองการซื้อหน่วยลงทุนแบบเดิมได้อีก กรมสรรพากรจะรับข้อมูลการลงทุนโดยตรงจากทาง บลจ.เพียงช่องทางเดียว ไม่รับหลักฐานในรูปแบบกระดาษ หรือไฟล์ PDF ที่มาจากผู้มีเงินได้
จะเห็นได้ว่าเป็นการดำเนินการที่คล้ายการนำส่งข้อมูลเบี้ยประกัน ที่กรมสรรพากรได้ให้ผู้เอาประกันแจ้งความประสงค์ไปก่อนหน้า ทั้งบริษัทประกันและ บลจ.ต้องได้รับความยินยอมจากลูกค้าในการเปิดเผยข้อมูลก่อน จึงจะสามารถนำส่งข้อมูลให้กับกรมสรรพากรได้ (หลายคนชอบถามว่า ทำไมบลจ.ไม่ส่งข้อมูลไปเลยละ มันทำอย่างนั้นไม่ได้นะคะ)
💡#ช่องทางในการแจ้งความประสงค์
ผู้ลงทุนสามารถแจ้งความประสงค์ได้โดย
1.#ผ่านทางตัวแทนขายหน่วยลงทุน เช่น บลน.ฟินโนมีนา (Finnomena) หรือ บล.โนมูระ พัฒนสิน (Nomura) ขอเอ่ยชื่อเลยนะคะ จะได้เข้าใจง่ายๆ เพราะส่วนตัวใช้สองช่องทางนี้ให้บริการลูกค้าอยู่ อย่างของโนมูระเอง ผู้ลงทุนสามารถแจ้งความประสงค์ได้ทั้งแบบฟอร์มกระดาษ และแบบออนไลน์ แต่ก็มีข้อจำกัดคือ บางบลจ. จะทำผ่านที่โนมูระไม่ได้ ต้องแจ้งความประสงค์ที่ บลจ.โดยตรงเท่านั้น คือ KSAM, KTAM, TISCOAM, EASTSPRING, DAOL และ XSPRING
2.#ผ่านบลจ.โดยตรง โดยทุกบลจ. สามารถทำผ่านออนไลน์ได้หมด ยกเว้น EASTSPRING ที่ทำได้ทั้งออนไลน์และแบบฟอร์มกระดาษ
++ การแจ้งความประสงค์โดยตรง ผ่านเว็บไซต์ของแต่ละบลจ.น่าจะเป็นวิธีที่สะดวกและง่ายที่สุด แนะนำวิธีนี้ ++
การแจ้งความประสงค์ใช้สิทธิลดหย่อนภาษี SSF/RMF
💡#ข้อมูลที่ต้องใช้ เป็นข้อมูลที่ใช้เพื่อยืนยันตัวตน ได้แก่ ชื่อนามสกุล เลขที่บัตรประชาชน/เลขประจำตัวผู้เสียภาษี วันเดือนปีเกิด และเลขที่ผู้ถือหน่วยลงทุน (Unitholder Number) ซึ่งบางบลจ.ไม่จำเป็นต้องใช้เลขที่ผู้ถือหน่วยลงทุน โดยผู้ลงทุนจะได้รับข้อความรหัสผ่านครั้งเดียว (OTP) ส่งไปยังหมายเลขโทรศัพท์มือถือ ตามข้อมูลในระบบทะเบียนของเลขที่ผู้ถือหน่วยลงทุน ที่ได้แจ้งไว้กับบริษัท
💡#หากซื้อกองทุนหลายที่ทำอย่างไร
หลายคนอาจจะซื้อกองทุนหลายที่ เช่น ซื้อกองทุน A จากบลจ. สีเหลือง โดยตรงก็จะได้เลขผู้ถือหน่วยลงทุน มาเลขหนึ่ง และหากซื้อกองทุน A จากตัวแทนขายสีแดง ก็จะได้เลขผู้ถือหน่วยลงทุนมาอีกเลขหนึ่ง แม้จะเป็นกองทุนเดียวกัน
ดังนั้น หากมีเลขผู้ถือหน่วยลงทุนหลายเลข ให้แจ้งความประสงค์เพียงที่เดียว บลจ.สีเหลืองหรือ ตัวแทนขายสีแดงก็ได้ (ถ้าบลจ.นั้นให้แจ้งผ่านตัวแทนขายได้) การแจ้งความประสงค์จะมีผลกับทุกเลขที่ผู้ถือหน่วยลงทุนของ บลจ. ภายใต้เลขที่บัตรประชาชนเดียวกัน ผู้ลงทุนจึงสามารถแจ้งความประสงค์เพียงครั้งเดียวได้ โดยไม่จำเป็นต้องติดต่อทุกตัวแทน ที่มีบัญชีของ บลจ.นั้นๆอยู่
💡#การแจ้งความประสงค์ต้องทำทุกปีหรือไม่
ไม่ต้องทำทุกปี สามารถทำเพียงครั้งเดียว และจะมีผลไปตลอดจนกว่าผู้ลงทุนจะมีการแจ้งยกเลิกความประสงค์ และหากมีการลงทะเบียนแสดงความประสงค์ซ้ำหลายครั้ง บลจ.จะถือเอาข้อมูลการแจ้งครั้งล่าสุดเพื่อดำเนินการ
💡#ต้องแจ้งความประสงค์สำหรับบลจ.ที่ซื้อก่อนปี2565หรือไม่
การซื้อหน่วยลงทุน ก่อนวันที่ 1 มกราคม 2565 ไม่ต้องแจ้งความประสงค์ขอใช้สิทธิ แต่หากในปีนี้หรือปีต่อไปมีการซื้อ SSF/RMF ของบลจ.นั้น เพิ่มต้องแจ้งความประสงค์ขอใช้สิทธิลดหย่อน เช่น
-ปี 2564 ซื้อ RMF จาก บลจ. สีฟ้า
-ปี 2565 ซื้อ RMF จาก บลจ.สีเขียว และ บลจ.สีเหลือง ในปี 2565 ต้องแจ้งความประสงค์กับ บลจ.สีเขียวและสีเหลือง
-ปี 2566 ซื้อ RMF จาก บลจ.สีฟ้า และบลจ.สีเขียว ในปี ในปี 2566 ต้องแจ้งความประสงค์กับ บลจ.สีฟ้า เพียงบลจ.เดียว
ลิงค์สำหรับลงทะเบียนของแต่ละ บลจ.
*** สิ่งสำคัญคือ ต้องลงทะเบียนกับทุก บลจ. ที่ซื้อกองทุน ***
ยังมีบางบลจ.ที่ระบบยังไม่เรียบร้อย อยู่ระหว่างดำเนินการนะคะ ถ้ามีเพิ่มเติมจะมาอัพเดทให้ค่ะ แต่จริงๆแล้วจะรอให้ระบบการลงทะเบียนของทุกบลจ. เรียบร้อยก่อนก็ได้นะ ส่วนตัวอุ้ยเองก็ยังไม่ได้ทำเหมือนกัน กะว่ารอช่วงเดือนธันวา รอให้ระบบลงตัวก่อนแล้วค่อยมาทำทีเดียว^^
#ด้วยรัก ❤️
คุณแม่อุ้ย #KanyaweeR
กัลยวีร์ โรจน์สุขพัฒนา
นักวางแผนการเงิน CFP®
#ลดหย่อนภาษี #วางแผนภาษี #TaxPlanning
โฆษณา