6 พ.ย. 2022 เวลา 03:00 • ข่าว
#ภาษี ยังไงก็หนีไม่พ้น! ใกล้ปลายปีแล้วอย่าลืมเตรียมยื่นแบบภาษี โดยเฉพาะอาชีพ #แม่ค้าออนไลน์ ต้องรู้ว่ารายได้เท่าไรถึงต้อง “ยื่นแบบภาษี” และรายได้เท่าไรถึงต้อง “เสียภาษี”
อาชีพ #แม่ค้าออนไลน์ ต้องรู้ว่ารายได้เท่าไรถึงต้อง “ยื่นแบบภาษี”
โดยมีข้อมูลจาก ดร.พีรภัทร ฝอยทอง ทนายความ ที่ปรึกษากฎหมาย และนักวางแผนการเงินส่วนบุคคล เจ้าของเพจ “Dr. Pete Peerapat” ได้อธิบายให้ความรู้เกี่ยวกับวิธีจัดการ “ภาษี” เบื้องต้นที่ผู้มีอาชีพ “ขายของออนไลน์” ต้องรู้ เอาไว้ดังนี้
📌ผู้มีรายได้ถึงเกณฑ์ทุกคน ต้องเสียภาษี
ไม่ว่าคุณจะมีอายุเท่าไหร่ไม่สำคัญ แต่ถ้ามีรายได้ถึงเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด (กรณีลูกจ้างบริษัท หากมีเงินได้สุทธิเกิน 150,000 บาทต่อปี) ก็ต้องยื่นแบบภาษีทุกคน
📌ขายของออนไลน์ รายได้เกิน 60,000 บาทต่อปี ต้องยื่นแบบภาษี
การยื่นแบบเสียภาษี กับ การเสียภาษี คนละเรื่องกัน หากคุณมีรายได้ถึงเกณฑ์ก็ต้องยื่นแบบเสียภาษีไปก่อน
กรณีคนขายของออนไลน์เงินได้สุทธิเกิน 60,000 บาทต่อปีต้องยื่นแบบภาษี ซึ่งตรงนี้ขยายความเพิ่มเติมจะแบ่งเป็น 2 กรณี คือ
กรณีต้องยื่นแบบภาษี
หากเป็นบุคคลธรรมดาที่ทำอาชีพ “ขายของออนไลน์” (ไม่เปิดขายในฐานะของนิติบุคคล) ที่มีรายได้จากการขายของออนไลน์ เมื่อมีได้รายเกิน 60,000 บาท (กรณีโสด) หรือมีรายได้เกิน 120,000 บาท (กรณีสมรส) จะต้องยื่นภาษีเงินได้
กรณีต้องยื่นแบบและต้องเสียภาษี
การขายของออนไลน์ที่ไม่ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ยังถือว่าเป็นบุคคลธรรมดาที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยจะเสียภาษีหรือไม่เสียภาษีนี้จะต้องขึ้นอยู่กับว่าเรามี "เงินได้สุทธิ" หรือ "กำไรสุทธิ" ต่อปีเท่าไร เมื่อหักค่าใช้จ่าย และค่าลดหย่อนออกไปแล้ว โดยตามหลักเกณฑ์ คือ ยิ่งมีเงินได้สุทธิมากย่ิงเสียภาษีในอัตราที่มาก ตามขั้นบันได ดังนี้
เงินได้สุทธิ 1 - 150,000 บาท/ปี >> ไม่ต้องเสียภาษี (ได้รับการยกเว้นแต่ต้องยื่ยแบบภาษี)
เงินได้สุทธิ 150,001 - 300,000 บาท/ปี >> เสียภาษี 5% ของรายได้
เงินได้สุทธิ 300,001 - 500,000 บาท/ปี >> เสียภาษี 10% ของรายได้
เงินได้สุทธิ 500,001 - 750,000 บาท/ปี >> เสียภาษี 15% ของรายได้
เงินได้สุทธิ 750,001 - 1,000,000 บาท/ปี >> เสียภาษี 20% ของรายได้
เงินได้สุทธิ 1,000,001 - 2,000,000 บาท/ปี >> เสียภาษี 25% ของรายได้
เงินได้สุทธิ 2,000,001 - 5,000,000 บาท/ปี >> เสียภาษี 30% ของรายได้
เงินได้สุทธิ 5,000,001 ขึ้นไป >> เสียภาษี 35% ของรายได้
📌สรรพากรตรวจสอบรายได้ “ผู้ค้าขายออนไลน์” ได้เสมอ
สรรพากรไม่เพียงตามติดชีวิตในโซเชียลของผู้ค้าออนไลน์เท่านั้น แต่ยังได้รับข้อมูลทางการเงินของผู้ค้าออนไลน์จากธนาคารด้วย เช่น หากแม่ค้าออนไลน์ A มีเงินเข้าบัญชีเกิน 3,000 ครั้งต่อปี หรือเกิน 400 ครั้งต่อปีและได้เงินรวม 2 ล้านบาทขึ้นไป สรรพากรจะทราบข้อมูลเหล่านี้ทั้งหมด ดังนั้น แม้แม่ค้าออนไลน์ A จะไม่โพสต์รายได้ขึ้นบนโซเชียลมีเดีย แต่สรรพากรก็ตรวจสอบข้อมูลเหล่านี้ได้อยู่ดี
📌หากผู้ค้าออนไลน์ไม่ยื่นภาษี สรรพากรจะติดตามภาษี 10 ปี
ถ้าผู้ค้าขายออนไลน์ไม่ยื่นแบบภาษีตามกฎหมาย สรรพากรก็มีหน้าที่ติดตามเก็บภาษีกับผู้ค้าออนไลน์ต่อไปอีก 10 ปี แต่ถ้ายื่นแบบไปแล้ว แต่ยื่นไม่ถูกต้อง อายุความจะลดเหลือแค่ 5 ปีเท่านั้น
📌หากโดนเรียกภาษีย่อนหลัง จะโดนค่าปรับ 2 เท่า
กรณีผู้ค้าขายออนไลน์ไม่ยื่นแบบภาษี โดนเรียกภาษีย้อนหลัง จะโดนเบี้ยปรับ 1-2 เท่า บวกกับเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือน ดังนั้น จากที่ผู้ค้าออนไลน์อาจจะต้องเสียภาษีเพียง 1 ล้านบาท แต่หากรวมๆ กับค่าปรับแล้วอาจต้องจ่ายสูงถึง 3-4 ล้านบาทเลยทีเดียว
📌คนขายของออนไลน์ เลือกหักค่าใช้จ่ายได้ 2 แบบ
ผู้มีอาชีพขายของออนไลน์ สามารถยื่นแบบภาษีโดยเลือกวิธี “หักค่าใช้จ่าย” ได้ 2 แบบ คือ แบบแรกเลือกจ่ายตามจริง (ต้องมีใบเสร็จที่เป็นต้นทุน) หรือแบบที่สอง เลือกยื่นภาษีแบบจะหักเหมา 60% ก็ได้
📌แม้ไม่จดทะเบียนนิติบุคคล แต่ต้องจดทะเบียนพาณิชย์
ผู้ค้าขายออนไลน์ต้องเข้าใจว่า “การจดทะเบียนพาณิชย์” กับ “จดทะเบียนเป็นบริษัท” เป็นคนละเรื่องกัน โดยผู้ที่เปิดร้านขายของออนไลน์ทุกคน จะต้องจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ตามกฎหมาย ซึ่งกฎหมายนี้บังคับทั้งการขายของออนไลน์แบบบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล ทั้งแบบมีหน้าร้านและไม่มีหน้าร้าน หากไม่ทำตามก็มีโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 2,000 บาท และปรับไม่เกินวันละ 100 บาท จนกว่าจะไปจดทะเบียนให้ถูกต้องตามกฎหมาย
📌หากรายได้เกิน 1.8 ล้านต่อปี ต้องจดทะเบียน VAT ด้วย
หากขายของออนไลน์แล้วมีรายได้เกิน 1.8 ล้านต่อปี ผู้ค้าขายออนไลน์ต้องมีหน้าที่ไป “จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)” ด้วย แม้เป็นบุคคลธรรมดาก็ต้องจด ไม่จดไม่ได้ หากถึงเกณฑ์ต้องจด VAT แล้วไม่จด แปลว่าคุณไม่ได้นำส่ง VAT 7% ตามกฎหมาย ที่ต้องเก็บจากลูกค้าให้สรรพากร ผู้ค้าออนไลน์ก็ต้องมีหนี้ภาษี VAT ในส่วนนี้กับสรรพากรเพิ่มขึ้นมาอีกด้วย
1
📌หากไม่สามารถจ่ายภาษีทั้งก้อนได้ สรรพากรให้ผ่อนจ่ายได้
กรณีที่ผู้ค้าขายออนไลน์ไม่มีเงินจ่ายภาษี สรรพากรก็อนุญาตให้คุณผ่อนจ่ายได้ แต่อย่างไรก็ตาม เคยเกิดกรณีบางคนที่ไม่มีจ่ายเลย สุดท้ายโดนเรียภาษีย้อนหลังถึงขั้นฟ้องล้มละลายเลยก็มี
กราฟิก : วิชัย นาคสุวรรณ
อ้างอิง : Dr. Pete Peerapat https://bit.ly/3DwmdhY
อ่านเพิ่มเติมได้ที่ : 'ขายของออนไลน์' มียอดขายเท่าไร ถึงต้อง 'ยื่นภาษี' ?
โฆษณา