3 ส.ค. 2023 เวลา 14:00 • ไลฟ์สไตล์

ทำความเข้าใจทฤษฎี “5 ระยะของความเสียใจ”

ทำความเข้าใจทฤษฎี “5 Stages of Grief” หรือ “5 ระยะของความเสียใจ” กระบวนการรับมือต่อความเสียใจ เมื่อเผชิญหน้ากับความสูญเสียและโศกนาฏกรรม พร้อมคำแนะนำจากนักจิตวิทยา
เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด ไม่ว่าจะเป็นการอกหัก การสูญเสียคนที่รักไม่ว่าจะทั้งรูปแบบของการจากเป็น หรือ จากตาย หรือแม้กระทั่งรับข่าวสารที่สะเทือนใจ สร้างความเสียหายและบาดแผลทางใจให้แก่ผู้รับฟัง ซึ่งในช่วงเดือนที่ผ่านมา เราได้รับข่าวสารทำนองนี้บ่อย
แน่นอนว่าหลาย ๆ เหตุการณ์เราไม่ได้ประสบพบเจอเอง แต่มนุษย์มีความรู้สึก มีความเห็นอกเห็นใจ ย่อมทำให้เรารู้สึก “เศร้าเสียใจ” เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งแต่ละคนนั้นสามารถรับมือกับความรู้สึกเสียใจได้แตกต่างกัน
ในทางจิตวิทยามีทฤษฎีที่ใช้อธิบายวิธีและกระบวนการรับมือเมื่อมนุษย์ต้องเผชิญกับความเสียใจในชื่อว่า “5 Stages of Grief” หรือ “5 ระยะของความเสียใจ” โดย เอลิซาเบธ คิวเบลอร์-รอสส์ จิตแพทย์ชาวอเมริกัน
แม้ว่าทฤษฎีนี้จะศึกษามาจากการจัดการความทุกข์ทรมานและความเศร้าโศกเสียใจของผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่หมดทางรักษาและทำได้แต่รอคอยความตายแต่ทฤษฎีนี้เป็นที่ยอมรับในวงกว้าง จนนำมาปรับใช้กับรูปแบบความเสียใจในเรื่องอื่น ๆ อย่างแพร่หลาย
ทฤษฎีนี้ยังเป็นที่ถกเถียงนักจิตวิทยาและนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านความโศกเศร้า โดยระบุว่า การรับมือกับความเสียใจของแต่ละคนนั้นไม่เหมือนกัน และไม่ได้เรียงลำดับเป็นระยะตายตัว แต่อาจจะมีการสลับระยะ หรือย้อนกลับไปที่ระยะก่อนหน้า หรือข้ามระยะไปเลยก็ได้ แม้ว่าท้ายที่สุดจะไปสู่ระยะที่ 5 เป็นระยะสุดท้ายด้วยกันทุกคนก็ตาม
สำหรับ 5 ระยะของความเสียใจตามคำนิยามของ คิวเบลอร์-รอสส์ ที่ใช้อธิบายว่ามนุษย์มีระยะการรับยอมความจริงและอยู่กับความเสียใจได้อย่างไร มีดังนี้
🗨️ระยะแรก: ปฏิเสธ
เมื่อเราเผชิญหน้ากับความเจ็บปวด สิ่งแรกที่มนุษย์ทำตามสัญชาตญาณ คือ การปฏิเสธความจริง เพื่อหลีกหนีความเจ็บปวด เพราะเรากำลังอยู่ในอาการช็อก ไม่สามารถรับมือได้ทัน ขณะเดียวกันก็ไม่เชื่อว่าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งเป็นกลไกปรกติที่แสดงให้เห็นว่าเรายังไม่พร้อมรับมือ โดยอาจมาพร้อมกับการร้องไห้ฟูมฟาย โทษตัวเอง ไปจนถึงความรู้สึกเคียดแค้น
ดังนั้น การไม่ยอมรับความจริงหลังจากการสูญเสียจริงไม่ใช่เรื่องผิดปรกติ และไม่จำเป็นฝืนตัวเอง คุณสามารถร้องไห้ได้ตามที่ต้องการ จนกว่าจะปรับตัวให้รับความเป็นจริงได้
🗨️ระยะที่ 2: โกรธเกรี้ยว
ความโกรธเป็นปฏิกิริยาตามธรรมชาติที่เกิดขึ้นเมื่อเราพบกับความสูญเสีย ไม่ว่าจะเป็นความโกรธที่มีต่อคนที่จากไป ต้นเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้น เทพเจ้า ฟ้าดิน ความบังเอิญของจักรวาลที่ทำให้คุณต้องเผชิญสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ หรือแม้กระทั่งโกรธตัวเองก็ตาม
นอกจากนี้ ความโกรธถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นฉากหน้าป้องกันความรู้สึกผิดในจิตใจ ทั้ง ๆ ที่บางทีเราเองก็รู้ว่าไม่มีใครผิดเลยก็ตาม เคสเลอร์แนะนำว่า หากต้องการจะเอาจะชนะความรู้สึกผิดและการกล่าวโทษคนอื่นไปเรื่อย ๆ คือ ต้องยอมรับให้ได้ว่า “ในโลกนี้ไม่มีอะไรที่ยั่งยืนอยู่กับเราไปตลอดกาล” และปลดปล่อยความโกรธให้ถูกวิธี ไม่ว่าจะเป็นการเล่นโยคะ กรีดร้องในรถ ต่อยกระสอบทราย หรือเปลี่ยนความโกรธให้เป็นพลังงานในการออกกำลังกาย
🗨️ระยะที่ 3: ต่อรอง
เมื่อความโกรธเริ่มจางหายไป ความรู้สึกผิดกลับเข้ามาแทนที่ เรามักจะย้อนหวนไปถึงเหตุการณ์ความสูญเสีย และคิดว่าถ้าย้อนเวลากลับไปได้จะเลือกทำอย่างนั้น หรือไม่ทำอย่างนี้ รวมไปถึงการสวดมนต์อ้อนวอนตามความเชื่อ ยอมทำทุกอย่าง เพื่อเปลี่ยนแปลงความจริงไม่ให้เกิดความเสียใจ และยื้อเวลาไม่ให้ต้องเผชิญหน้ากับความเจ็บปวดให้นานที่สุด
แม้จะพยายามทำทุกอย่างให้ดีที่สุดแล้ว แต่โลกก็ไม่ได้ใจดีกับเราทุกครั้ง สิ่งร้าย ๆ สามารถเกิดขึ้นกับทุกคนได้เสมอ
🗨️ระยะที่ 4: ซึมเศร้า
ระยะนี้เป็นตอนที่เรารู้แล้วว่าไม่สามารถต่อรองกับความเจ็บปวดได้ เราจะกลับมาเผชิญหน้ากับความจริงอีกครั้ง แม้ว่าจะยังทำใจไม่ได้ก็ตาม เราจึงทำได้แต่เสียใจ เศร้าใจ ตรอมใจ จมอยู่กับความเศร้า มีภาวะซึมเศร้า ซึ่งสามารถพัฒนาเป็นโรคซึมเศร้าได้
ความเศร้าส่งผลกระทบต่อแต่ละบุคคลในช่วงเวลาที่แตกต่างกัน บางคนอาจจะเข้าสู่ระยะนี้ตั้งแต่ไม่กี่เดือนแรก หรือบางคนอาจจะจมอยู่กับความเศร้าหลังจากเผชิญหน้ากับความเศร้าเป็นปี เพราะบางคนหลอกตัวเองว่าคนที่เขารักนั้นไปเที่ยวพักผ่อนและจะหวนกลับมาหาในสักวันหนึ่ง แทนที่จะยอมรับความจริงว่าคนที่รักได้จากไปแล้ว
การรับมือกับความเศร้าสามารถทำได้หลายวิธี ทั้งขอความช่วยเหลือจากเพื่อน คนในครอบครัว หรือกลุ่มช่วยเหลือความเศร้าโศก รวมถึงฝึกฝนการดูแลตัวเองเป็นประจำ และเมื่อสงสัยว่ามีอาการของโรคซึมเศร้า ควรปรึกษาจิตแพทย์ทันที
🗨️ระยะที่ 5: ยอมรับความจริง
วันเวลาผ่านไป ความเศร้าเสียใจเริ่มเบาบางลง ถึงเวลาที่จะต้องยอมรับความจริงว่าเรากำลังเผชิญหน้าอยู่กับความสูญเสีย คอร์เมียร์กล่าวว่า การยอมรับความจริงไม่ได้หมายความว่า เราโอเคกับความสูญเสียนั้น แต่หมายถึงการยอมรับความจริงในชีวิตใหม่ที่เกิดขึ้นหลังจากการสูญเสีย
เป้าหมายของความเศร้าโศกคือ การจดจำคนที่จากไปด้วยความรักมากกว่าความเจ็บปวด เราไม่จำเป็นต้องลืมเขา เพราะคนที่จากไปแล้วนั้นจะอยู่เพียงแค่ในความทรงจำของเราเท่านั้น ขอให้จดจำเขาให้ได้นานที่สุด นึกถึงแต่เรื่องดี ๆ ของเขา และสุขใจทุกครั้งที่คิดถึงกัน
ดังนั้น การมาถึงของระยะนี้จึงหมายถึง เรากำลังเยียวยาความเจ็บปวดที่กำลังเผชิญอยู่ เราจะสามารถค่อย ๆ มูฟออนได้ แน่นอนว่ามันยังอาจจะเจ็บปวดอยู่บ้าง สุดท้ายแล้ว วันเวลาจะช่วยเยียวยาจนกลับมาเป็นปรกติ และก้าวไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง มีความสุขได้มากขึ้น แม้จะไม่มีใครรู้ว่าแต่ละคนจะต้องใช้เวลานานเท่าใด แต่อย่างน้อยที่สุด หากฟันฝ่ามาได้ 4 ระยะ ก็เท่ากับเราเก่งมากแล้ว
โฆษณา