8 พ.ย. 2022 เวลา 10:14 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์
Triangle of Sadness หนังเจ้าของรางวัลปาล์มทองคำ (Palme d’Or) ที่เทศกาลหนังเมืองคานส์ (Cannes Film Festival) ปีล่าสุด และได้รับการยืนปรบมือ (standing ovation) ยาวนานถึง 8 นาที จัดเป็นหนังรางวัลที่ดูง่าย ย่อยง่าย อยู่ในหมวด comedy หรือ dark comedy ตลกร้ายเสียดสีทุนนิยม ระบบชนชั้นและบิวตี้พริวิเลจอย่างตรงไปตรงมา
ข้อเสียของหนังเรื่องนี้คือ ความยาว 2 ชั่วโมงครึ่ง แต่หนังแบ่งเป็น 3 องก์ (Carl & Yaya, The Yacht, และ The Island) และแต่ละองก์มีเซตติ้งคนละสถานที่ชัดเจน จึงทำให้คนดูมี “ความรู้สึก” ว่าได้พักเบรกเบา ๆ
🌟 ACT 1: CARL & YAYA
องก์แรก หนังพาเราไปตามติดชีวิตการงานและความสัมพันธ์ของคู่รักชนชั้นกลาง Carl (Harris Dickinson จาก The King’s Man และ Maleficent) กับ Yaya (Charlbi Dean ดาวรุ่งผู้ล่วงลับก่อนหนังฉายไม่กี่เดือน) ที่มีความฝันตะกายดาวและมีชีวิตที่สุขสบายโดยใช้รูปร่างหน้าตาอันพิมพ์นิยมเป็นเครื่องมือ หรือที่เรารู้จักกันว่า beauty privilege
ในโลกใกล้ตัวเรา เราอาจจะคุ้นชินกับความไม่เท่าเทียมทางเพศและความไม่เท่าเทียมทางรายได้ (gender and income inequality) ที่ผู้ชายมักได้รายได้หรือโอกาสการได้จ้างงานมากกว่าผู้หญิง แต่ในโลกของ high-end fashion model และ social media influencer ของ Carl กับ Yaya นั้นค่อนไปทางตรงกันข้าม
Carl ผู้เคยประสบความสำเร็จกับการถ่ายภาพนิ่งโฆษณาน้ำหอมเมื่อหลายปีก่อน ยังต้องต่อคิวออดิชั่นงานเดินแบบแบบนายแบบเตะฝุ่นทั่วไป ในขณะที่แฟนสาวของเขาเป็นนางแบบแถวหน้าบนรันเวย์ ท่ีที่เขาแทบจะไม่มีแม้แต่ที่นั่งในการชมแฟชั่นโชว์นั้น โดยเฉพาะเมื่อคนชั้นสูงหรือเซเล็บแถวหน้ามาแย่งที่ภายหลัง ทั้งที่ธีมของงานนั้นคือ “ความเท่าเทียม (Equality)”
ในพาร์ทนี้ หนังพยายามล้อเลียนงานแฟชั่นของแบรนด์ไฮเอนด์อย่าง Balenciaga กับแบรนด์กลาง ๆ อย่าง H&M และแสดงให้เห็นว่าอภิสิทธิชนไม่กี่คนมักทำให้คนอื่น ๆ มากมายได้รับผลกระทบอย่างไร ที่น่าละเหี่ยใจยิ่งกว่าคือ บางครั้งคนชั้นกลางหรือคนที่อยู่ต่ำกว่าเขานี่แหละที่ยอมหรืออนุญาตให้คนชั้นสูงเหล่านั้นกระทำจนเคยชิน
ในฉากร้านอาหารหรูและที่โรงแรม Carl กับ Yaya ทะเลาะกันเรื่องบิลค่าอาหาร เมื่อ Yaya ทำเป็นตั้งใจที่จะให้ Carl จ่ายทั้งที่ Yaya ออกปากไว้ก่อนหน้าว่าเธอจะจ่ายมื้อนี้และเธอก็มีรายได้มากกว่า Carl ต่อมาทั้งสองก็ถกกันเรื่องบทบาททางเพศ (gender roles)
ซึ่งเราจะเริ่มเห็นได้ว่า Carl กับ Yaya กำลังคบกันในรูปแบบของ transactional relationships เช่น Yaya มักได้ของฟรีหรู ๆ ดี ๆ เธอก็ให้ Carl บ้าง และ Carl ก็ถ่ายรูปสวย ๆ ให้เธอไว้ลง Instagram หรือเลี้ยงข้าวเธอ (คนไทยอาจจะคุ้นเคยกับ transactional relationships ซึ่งผูกกับ gender role เช่น ผู้ชายเป็นฝ่ายหาเงินเข้าบ้านและตัดสินใจเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ ส่วนผู้หญิงอยู่บ้าน ทำงานบ้าน เลี้ยงลูก และจัดการเรื่องจุกจิกในครัวเรือน เป็นต้น)
🌟 ACT 2: THE YACHT
Carl กับ Yaya ได้ตั๋วมาสำราญบนเรือยอร์ชหรูฟรีแลกกับการโพสต์รูปสวย ๆ โปรโมทลงโซเชียลมีเดีย ผู้โดยสารอื่น ๆ บนเรือล้วนเป็นคนรวย เช่น คนมีอายุหน่อยก็เป็นพวกเจ้าของธุรกิจอย่างขายอาวุธและขายปุ๋ย ที่เริ่มถูกที่ถูกเวลา (ถูกเวลาที่ไม่ใช่เวลาในยุคนี้) คนมีอายุน้อยลงมาหน่อยก็เป็นพวก Developer ที่ใช้สติปัญญาและความสามารถเขียนโค้ด (coding) และขายให้พวกบริษัทใหญ่ ๆ ไปทำแอพฯ
แม้กระทั่งลูกเรือบนเรือก็ยังมีแบ่งชนชั้นวรรณะ อย่างแรกเลย แน่นอนว่ากัปตัน Thomas Smith (Woody Harrelson จาก Zombieland, The Hunger Games, ฯลฯ) คือหัวเรือใหญ่ มีอำนาจสูงสุด กัปตันจะเมาอยู่แต่ในห้องทั้งวัน หรือตัดสินใจสั่งอะไรง่าว ๆ เอาแต่ใจ ลูกเรือก็ขัดใจไม่ได้ เช่นเดียวกับที่ขัดใจผู้โดยสารไม่ได้ ต้อง Say Yes เท่านั้น เพราะลูกค้า (ซึ่ง ณ ที่นี้คือคนรวย) คือพระเจ้า
ตัวอย่างเคส “ลูกค้าคือพระเจ้า” และ “ความไม่เท่าเทียม” อีกอย่างนึงบนเรือลำนี้ก็คือ Carl ซึ่งนอนอาบแดดอยู่กับ Yaya ไม่พอใจที่ลูกเรือผู้ชายคนหนึ่งถอดเสื้อขณะซ่อมหรือทำความสะอาดบนดาดฟ้าเรือ (หลัก ๆ เพราะหึง) เขาจึงไปรายงานต่อหัวหน้าลูกเรือ Paula (Vicki Berlin) ว่ามันไม่สมควร (ทั้งที่ตัวเขาก็ถอดเสื้อเดินไปเดินมาเช่นกัน) ทำให้ลูกเรือคนนั้น… ซึ่งดูเหมือนจะเป็นที่รักของเพื่อนร่วมงาน… ต้องถูกไล่ออกทันที
เราจะสังเกตได้อีกว่า ลูกเรือที่ได้ต้อนรับและดูแลแขกบนเรือ ได้ทิปจากการบริการ ล้วนเป็นคนขาวที่ผ่านการคัดสรรรูปร่างหน้าตามาแล้วระดับหนึ่ง ส่วนลูกเรือคนอื่น ๆ เช่น ในห้องเครื่อง หรือพนักงานทำความสะอาดจะเป็นคนผิวสี ไม่ค่อยได้รับอนุญาตให้เสนอหน้าเจอแขกมากนัก และไม่ค่อยได้รับการจดจำหรือได้ทิปจากแขกเลย
ซีนที่พีคที่สุดของเรื่องคงจะเป็นซีนดินเนอร์งานเลี้ยงกัปตัน ที่แขกเหรื่อเมาเรือบวกอาหารเป็นพิษจนอ้วกแตกอ้วกแตนตามที่เราเห็นกันในโปสเตอร์และเทรลเลอร์หนัง มันอาจเป็นซีนที่หฤหรรษ์สำหรับคนดูหนังบางคน หรืออาจจะน่าขยะแขยงสำหรับคนดูหนังบางคน แต่ในชีวิตจริง คงเป็นโมเมนต์ที่ห่วยแตกที่สุดในชีวิต
ในซีนนี้ มีการ debate กัน ระหว่าง กัปตันฝ่ายสังคมนิยม (Socialism) กับผู้โดยสารรัสเซียซูเปอร์ริชฝั่งทุนนิยม (Capitalism) โดยมีการยกเอาคำพูดของ Karl Marx, Mark Twain, ฯลฯ มาถกกันทั้งที่เจ้าตัวก็เมา และเรือก็กำลังจะจมไปกับคลื่นพายุ แต่ทั้งนี้ ตัวกัปตันเองก็ยอมรับว่าเขาก็พูดว่าตัวเองเป็น Marxist ได้ไม่เต็มปาก เพราะเขาก็ยังเป็นพวกวัตถุนิยม รายล้อมไปด้วยข้าวของเครื่องใช้ราคาแพง และถูกจัดอยู่บนพีระมิดชั้นบน ๆ
ทั้งนี้ capitalism vs. socialism ก็ถือเป็นหนึ่งในธีมหลักของเรื่องเช่นกัน ตั้งแต่งานแฟชั่นโชว์ที่จัดโดยแบรนด์ไฮแฟชั่นที่วนเวียนในระบบทุนนิยมที่แทบไปคนละทางกับความเท่าเทียม เพราะสำหรับคนกลุ่มนี้เขาเชื่อว่าความไม่เท่าเทียม (inequality) เช่น ชนชั้นแรงงาน เป็นสิ่งจำเป็นเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและนวัตกรรม
🌟 ACT 3: THE ISLAND
องก์นี้อาจเป็นองก์ที่ดีที่สุดของหนังเลยก็ว่าได้ เมื่อระบบชนชั้นต้องกลับหัวกลับหาง จากสูงสุดไปล่างสุด และจากล่างสุดไปสูงสุด เพราะคนกลุ่มนึงบนเรือ ทั้งผู้โดยสารและลูกเรือ ต้องมาติดเกาะร้างด้วยกัน ซึ่งที่เกาะแห่งนี้ เงินทองหรือวัตถุมีค่าไม่ได้การันตีการอยู่รอด หรือการแลกมาซึ่งปัจจัยสี่ เช่น อาหารหรือที่คุ้มหัวนอน อีกต่อไป หากแต่เป็นความรู้ ทักษะ และประสบการณ์ต่างหาก
คนที่เป็นต่อที่สุดและได้รับการอวยยศเป็นกัปตัน ณ ที่แห่งนี้กลับเป็น พนักงานทำความสะอาด อย่าง Abigail (Dolly De Leon) ที่มีความสามารถในการหาปลา ก่อฟืนไฟ และทำอาหารนั่นเอง ส่วนคนอื่น ๆ ที่ต้นทุนสกิลการเอาตัวรอดต่ำกว่า ก็ได้แต่พยายามขวนขวายหรือทำทุกวิธีทางเพื่อแลกมาซึ่งความอยู่ดีกินดี ไม่ว่าจะวัตถุอย่างนาฬิกาหรู ซึ่งแทบจะไร้ค่าบนเกาะแห่งนี้ หรือแลกด้วยหยาดเหงื่อแรงกายถวายงาน ซึ่งสิ่งนี้ก็คือ transactional relationship อย่างหนึ่ง
ประเด็นความไม่เท่าเทียมยังคงคุกรุ่นอยู่ในองค์สุดท้าย ไม่ว่าจะเป็นการแบ่งอาหารหรือการได้หลับนอนในที่อุ่น ๆ ปลอดภัย ที่ยังยากที่จะตกลงถึงหลักเกณฑ์ความเท่าเทียมกันได้ 100% อย่างเต็มใจ และสุดท้าย ลึก ๆ แล้ว มนุษย์ก็มักอยากได้อะไรที่มากกว่า อยู่เหนือกว่าคนอื่น หรือมีอำนาจในการควบคุมคนอื่นอยู่ เมื่อขึ้นไปแล้วก็ยากจะลดตัวลงไปอีกได้ มีแต่อยากจะอยู่สูงยิ่ง ๆ ขึ้นไป
อย่างไรก็ตาม เราคิดว่า Abigail จะไม่ไปสุดถึงเพียงนี้ ถ้าที่ผ่านมา คนอื่นปฏิบัติต่อเธอเยี่ยงมนุษย์คนหนึ่ง เพราะที่ผ่านมา ลูกเรือที่มีตำแหน่งสูงกว่าและผู้โดยสารแทบไม่เห็นหัวหรือพูดดี ๆ กับเธอนักทั้งที่เธอตั้งใจทำงานมาโดยตลอด ในขณะที่กัปตัน ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นผู้มีอำนาจที่ไม่เอาไหน กลับได้รับรอยยิ้ม คำชมเชย และน้ำใจจากทุก ๆ คนบนเรือ ดังนั้น ทำไมเธอจึงต้องทำดีกับคนอื่น?
Triangle of Sadness จึงเป็นเรื่องของชนชั้นสามเส้า (ชนชั้นบน กลาง ล่าง) บนพีระมิดแห่งชนชั้นในโลกทุนนิยม ที่ทุกคนล้วนเป็นคนเหมือนกัน แต่เผอิญบางคนมีมากกว่า และบางคนได้รับการปฏิบัติมากกว่า
===> อ่านรีวิวเต็ม
===
#kwanmanie
#รีวิวหนัง #TriangleOfSadness #มันยอร์ชมาก #MongkolMajor
📌 ช่องทางการติดต่อ Kwanmanie >>>
LINE: @kwanmanie
โฆษณา