8 พ.ย. 2022 เวลา 23:30 • หนังสือ
"สัญญาณอันตราย"
สัญญาณเตือนมักส่งเสียงให้คนเราได้ยินเมื่อภัยร้ายกำลังมา เพื่อให้เราเตรียมพร้อมรับมือหรือป้องกันภัยที่จะมาถึง ขึ้นอยู่กับตัวเราเองว่าจะตระหนักถึงมันหรือไม่
ถ้าตระหนักและมีแผนการรับมือที่ดีก็มีโอกาสที่จะอยู่รอดปลอดภัยได้สูง ปัญหาหนี้ก็มีสัญญาณเตือนมาถึงเราเช่นกัน วันนี้ผมได้อ่านหนังสือ "เปลี่ยนหนี้เป็นอิสรภาพทางการเงิน" ของโค้ชหนุ่มแล้วไปพบกับบทความ "สัญญาณอันตราย" จึงอยากนำมาแชร์ให้ผู้อ่านได้อ่านกันครับ
1.การเริ่มชำระหนี้ขั้นต่ำ
เป็นสัญญาณที่ค่อนข้างสำคัญและควรตระหนักรู้ได้แล้ว แต่คนเราส่วนใหญ่มักมองข้าม โดยเฉพาะหนี้บริโภค (บัตรเครดิต บัตรกดเงินสด สินเชื่อส่วนบุคคล ผ่อนแชร์ ผ่อนของ หนี้นอกระบบ)
เพราะหนี้กลุ่มที่กล่าวมาข้างต้นเป็นหนี้ที่อัตราดอกเบี้ยสูงมาก
ที่แย่คือ ถึงแม้จะมีหนี้คงค้าง แต่บางคนก็ยังไม่ตระหนัก ยังคงสร้างหนี้เพิ่มต่อไปเพราะคิดว่ายังไงก็จ่ายขั้นต่ำได้ ยิ่งเป็นการขุดหลุมฝังตัวเองให้ลึกลงไปอีก กว่าจะรู้ตัวอีกทีก็คือจ่ายไม่ไหวแล้ว
ดังนั้น "การเริ่มชำระขั้นต่ำ" จึงเป็นสัญญาณเตือนแรกที่เราต้องตระหนักและเตรียมรับมือได้แล้วครับ
2.อัตราส่วนเงินชำระหนี้ต่อรายได้ (DSR) เกิน 40%
เป็นอัตราส่วนที่บอกถึงภาระหนี้ ยิ่งมากก็ยิ่งต้องแบกภาระหนี้หนักขึ้น เพราะเงินเหลือใช้จะน้อยลง ซึ่งสูตรในการคำนวณก็ง่าย ๆ เลยครับ คือ
(เงินชำระหนี้ต่อเดือน / รายได้ต่อเดือน) x 100
เช่น ผมมีเงินเดือน 15,000 บาท มีหนี้ต้องผ่อนต่อเดือนดังนี้
-หนี้บัตรเครดิตตกเดือนละ 2,000 บาท
-หนี้ผ่อนโทรศัพท์ต่อเดือน 2,000 บาท
-หนี้นอกระบบจ่ายเดือนละ 3,000 บาท
-หนี้ กยศ. ผ่อนต่อเดือน 2,000 บาท
*รวมหนี้ที่ต้องจ่ายต่อเดือน = 9,000 บาท*
DSR = (9,000÷15,000)x100 = 60%
ซึ่งถือว่าสภาพคล่องของผมค่อนข้างที่จะร่อแร่แล้วครับ เพราะเดือนนึงผมเหลือเงินใช้แค่ 40% ของเงินเดือนที่ผมได้รับเท่านั้น
*DSR ที่ดีจึงไม่ควรเกิน 40% และยืดหยุ่นได้ถึง 50% ในกรณีที่ต้องผ่อนบ้านและรถครับ*
3.กู้กิน กู้ใช้ กู้ผ่อน
คือการหมุนเงินชนกันไปมา กดบัตรโน้นมาคืนบัตรนี้ กู้สินเชื่อโยงกันไปกันมา เหมือนการรัดเชือกที่อยู่ที่คออยู่แล้วให้แน่นขึ้น เมื่อทำจนติดเป็นนิสัยอาจลุกลามไปถึงหนี้นอกระบบเลยก็ได้ครับ
ซึ่งต่างจากการรีไฟแนนซ์นะครับ เพราะการรีไฟแนนซ์คือการกู้ยืมจากสินเชื่อใหม่ที่ดอกเบี้ยต่ำกว่า ไปปิดสัญญาหนี้เก่าที่ดอกเบี้ยสูงกว่า เป็นการย้ายหนี้ไปอยู่กับสินเชื่อใหม่เพื่อให้ผ่อนต่อเดือนน้อยลง เพิ่มสภาพคล่องของเราครับ
และนี่คือสัญญาณอันตรายจากหนังสือ "เปลี่ยนหนี้เป็นอิสรภาพทางการเงิน" ที่ผมได้นำมาเรียบเรียงให้คุณผู้อ่านได้อ่านกันนะครับ หวังว่าผู้อ่านทุกคนจะได้ประโยชน์จากบทความนี้ไม่มากก็น้อยนะครับ ขอบคุณครับ 😊🙏🏻
เรียบเรียงบทความจาก
หนังสือ : เปลี่ยนหนี้เป็นอิสรภาพทางการเงิน
ผู้เขียน : จักรพงษ์ เมษพันธ์ุ ( The Money Coach)
จัดพิมพ์และจัดจำหน่ายโดย : บริษัท ซีเอ็ดยูเคชั่น จำกัด
ติดตามบทความดีๆ จากหนังสือดีๆ ได้ที่
โฆษณา