8 พ.ย. 2022 เวลา 23:44 • ปรัชญา
มีคำพระที่บอกว่า คิดมาก ทุกข์มาก ไม่คิด ไม่ทุกข์
ผมทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยมาหลายปี แต่ก็แยกแยะไม่ออก
ที่ว่าไม่เห็นด้วย ก็เพราะผมเป็นคนชอบคิด และส่วนใหญ่คิดแล้วมีความสุข ยิ่งถ้าคิดแล้วหาทางออกได้ยิ่งสุขมาก ไม่ทุกข์อย่างที่พระท่านว่า
แต่ในขณะเดียวกันก็ยังแยกแยะไม่ถูก เพราะก็มีสถานการณ์ที่เรารู้สึกว่า ยิ่งคิด ยิ่งทุกข์ อย่างที่พระท่านว่าด้วยเช่นเดียวกัน
เพิ่งมาถึงบางอ้อเมื่อไม่นานมานี้ และคิดว่า เราน่าจะแยกแยะได้แล้ว (แยกแยะได้ ก็จะวิเคราะห์ได้ --> analysis)
ผมพบว่า ถ้าเราคิดเรื่องที่ท้าทาย เรื่องที่เราชอบ อันนี้ ยิ่งคิดยิ่งมีความสุข
แต่ถ้าเราต้องถูกสถานการณ์บังคับหรือพาเราให้คิดไปในเรื่องที่เราไม่ชอบ เราจะมีความทุกข์
ไม่แน่ใจว่าแยกแยะได้ถูกต้องแล้วหรือยัง แต่พอแยกแยะได้แบบนี้ ก็เลยได้เทคนิคการทำให้มีความสุขไปในตัว
เทคนิคนั้นก็คือ เราต้องเปลี่ยนมุมมองเรื่องที่เราไม่ชอบ ไปมองในมุมที่ทำให้เรารู้สึกว่าเป็นเรื่องที่ท้าทาย
พอมองแบบนี้แล้ว เราจะพยายามหาทางแก้ และทำให้สารความตื่นเต้นหลั่งขณะกำลังหาทางแก้ เกิดเป็นความสุข
เหมือนกับที่เค้าพูดกันว่า ให้เปลี่ยนปัญหา ให้เป็น โจทย์
หรือ ปัญหา มีไว้แก้ นั่นเอง
และอาจจะเป็นเพราะเทคนิคนี้ด้วยหรือเปล่า ที่ทำให้เราเห็นคนจำนวนนึงเป็นคนทุกข์ยาก ไม่ว่าจะเจอปัญหามากแค่ไหน เพราะเค้าสามารถเปลี่ยนการมองมุมลบให้เป็นมุมบวกได้
เทคนิคนี้ น่าจะนำไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาคนในทุกระดับและทุกวัยได้ด้วย โดยใช้หลักสองข้อ
1. หาเรื่องที่ท้าทายสำหรับเค้าให้เค้าคิด (แต่ต้องไม่ลืมว่า ความท้าทายของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ต้องหาให้เจอ) และ
2. ฝึกให้เค้าเปลี่ยนมุมมองของปัญหาในเรื่องที่ไม่ชอบที่เค้าเจอ ให้กลายเป็นมุมมองที่มีความท้าทาย (เปลี่ยนจากมุมลบให้เป็นมุมบวก)
ผมเชื่อว่า ถ้าทำได้สองข้อนี้ เราจะสามารถเปลี่ยนความทุกข์ของคนๆ นึงให้กลายเป็นความสุขได้ เพราะได้ทดลองและสังเกตผลทั้งที่เกิดขึ้นกับตัวเอง และเพื่อนหลายๆ คน (โดยไม่ได้ไปบอกเค้าตรงๆ)
โฆษณา