9 พ.ย. 2022 เวลา 10:34 • ความคิดเห็น
เด็ดบอลยูโร 2012 สะเทือนถึง บอลโลก 2022
บอลโลก 2022 ที่กาตาร์กำลังถึงกำหนดจะฟาดแข้งอาทิตย์หน้าแล้ว ไทยยังเป็นชาติเดียวในอาเซียนที่ยังไม่มีใครไปซื้อลิขสิทธิ์ มีแนวโน้มว่าเราอาจจะอดดูหรือต้องไปมุดดูตามลิ้งค์ต่างๆเอามีสูงมาก ถึงตอนนี้กระแสบอลโลกยังไม่แรงเลย โปรโมชั่นขายทีวีที่เคยคึกคักก็ดูหงอย
เพราะจนป่านนี้ยังไม่มีเจ้าภาพ เจ้าของลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดที่มาบิ๊วมาโปรโมท เวลาถ่ายทอดสดที่กาตาร์เป็นเวลาที่ดีมากสำหรับห้างร้าน ผับ บาร์ แต่พอไม่มีเจ้าภาพ ทุกอย่างก็ดูเงียบสงัดไปหมด ร้านอาหารอยากทำแคมเปญก็ไม่รู้จะไปติดต่อใคร
1
ว่ากันว่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดที่ไทยจะต้องซื้ออาจจะสูงถึงพันหกร้อยล้านบาทเป็นอย่างน้อย การลงทุนซื้อลิขสิทธิ์มาถ่ายของเอกชน โอกาสขาดทุนน่าจะสูงลิบ เลยยังไม่มีใครกล้าลงทุนในสภาวะแบบนี้ จนรัฐต้องอาจจะควักออกเองแต่ก็เป็นดราม่าอยู่ดีถึงความเหมาะสมถึงกองทุนหรืองบประมาณรัฐ
1
ล่าสุด กสทช เพิ่งมีข่าวว่าจะช่วยควักแค่ 600 ล้านบาท คำถามตามมาว่าถ้าราคามันเกือบสองพันล้าน แล้วที่เหลือใครจะควัก ดูอลหม่านปนวังเวงอย่างบอกไม่ถูก
ถามว่าเหตุปัจจัยที่ทำให้เราติดกับดักตัวเองจนถึงกับไม่มีใครถ่ายบอลโลกนี่เกิดจากอะไร
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2012 ผมเป็นหนึ่งในตัวละครหลักในการเกิดเหตุการณ์จอดำของการถ่ายทอดสดบอลยูโรในปีนั้น เนื่องจากผมได้เข้าไปรับตำแหน่งเป็นหัวหอกในการสร้างกล่องสัญญาณดาวเทียม GMMZ ของแกรมมี่ ซึ่งในตอนนั้นแผนการใหญ่ของเจ้านายผมก็คือการทุ่มซื้อลิขสิทธิ์บอลยูโรมาเป็นแม่เหล็กในการขายกล่องดาวเทียม
1
วิธีการคิดก็คงคล้ายกับ Netflix HBO อะไรสมัยนี้ ก็คือ only at GMM Z มีคอนเท้นท์แม่เหล็กที่ดึงคนมาซื้อกล่องและจ่ายรายเดือน เล่าในสมัยนี้ก็ดูไม่เห็นจะแปลกอะไร
แต่ในตอนนั้นความถูกต้องไม่อาจสู้ความถูกใจได้ คนเคยดูบอลฟรีจนชิน พอแกรมมี่ได้ลิขสิทธิ์มาและจะใช้เพื่อโฆษณากล่องว่าดูบอลยูโรได้เฉพาะที่เรา only at GMM Z พอประกาศก็โดนถล่มอย่างหนักจากทุกสารทิศ ทั้งความไม่พอใจของคนเคยดูบอลฟรีมาตลอด ตอนหลังๆดูฟรีทีวีผ่านดาวเทียมหรือเคเบิ้ล อยู่ดีๆจะต้องซื้อกล่องก็ไม่พอใจ
7
ทั้งคู่แข่งที่เสียประโยชน์โดยเฉพาะดาวเทียมและเคเบิ้ลก็ใช้ทุกวิถีทาง ทั้งกระแสกดดัน ผ่านคนอยากดูและผ่านกระบวนการรัฐในทุกด้าน เพื่อให้เปิดถ่ายทอดสดทุกช่องทางให้ได้ ตอนนั้นก็ต่อสู้กันทั้งด้านกฏหมาย ด้านสว่างคือเดินสายไปแทบทุกช่องทีวี ด้านใต้โต๊ะก็ถูกชกใต้เข็มขัดผ่านนักการเมืองที่มีอำนาจในสมัยนั้น
4
จนกระทั่งเราต้องยอมเขียนจดหมายไปยูฟ่าแล้วทางโน้นเขาไม่ให้เปิด เรื่องยืดเยื้อจนรอบชิงชนะเลิศ ก็จบกันไป แต่เป็นเหตุการณ์ที่ผมโดนด่ามากที่สุดในชีวิต
4
บทเรียนส่วนตัวของเรื่องนี้ที่ผมจำจนวันนี้ก็คือ วันนึงตอนที่โดนถล่มหนักๆ ผมต้องออกไปชี้แจงเยอะมาก และก็มั่นใจในสิทธิ์สัญญาที่มี ก็ไปเถียง ยิ่งเถียงยิ่งโดน พี่เล็ก บุษบา ดาวเรืองแห่งแกรมมี่ นั่งฟังอยู่ด้วยก็เตือนสติผมว่า ในโลกนี้ มีถูกต้องกับถูกใจ บางทีความถูกต้องก็ไม่ถูกใจคน ผมต้องลองมองมุมที่จะทำให้ถูกใจคนด้วย ก็เป็นซาโตริของผมในเรื่องนี้ที่จำจนวันนี้ เวลาออกไปชี้แจงก็จะคิดเรื่องว่าจะรักษาความถูกต้องและพูดให้พอถูกใจคนคู่กันไปด้วย ก็พยายามตีกรรเชียงจนเรื่องจบ
สุดท้าย แกรมมี่ ต่อสู้จนจบก็บาดเจ็บไม่น้อยทั้งชื่อเสียง และขาดทุนไปหลายสิบล้าน และก็เป็นปฐมเหตุให้ กสทช ในตอนนั้น ไปออกกฏเอาใจมวลชนด้วยกฏ Must have ในปีนั้น โดยมีหลักการว่าถ้าใครได้ลิขสิทธิ์ถ่ายทอดที่อยู่ในข่ายก็จะต้องเปิดให้ทุก platform ใช้ได้ ประชาชนทุกคนต้องได้ดู ห้ามปิดกั้นให้อยู่แต่เฉพาะแพลตฟอร์มของตัวเอง ซึ่งในกฎ กสทช มีกีฬาอยู่เจ็ดประเภท ซึ่งในที่สุดก็ไม่ได้รวมบอลยูโรไปด้วยแต่มีบอลโลกอยู่ในลิสต์นั้น
4
ที่น่าสังเกตก็คือ กีฬาหกประเภทแรกที่มีโอลิมปิก ซีเกมส์ รวมอยู่ด้วยนั้นมีนักกีฬาไทยไปแข่งด้วย แต่บอลโลกนี่เรายังไม่มีความใกล้เคียงใดๆในการมีส่วนร่วม การเขียนเหมารวมบอลโลกที่ทั้งไม่มีนักกีฬาไทยไปแข่งและราคาแพงมาก ก็เลยทำให้จะใช้เงินกองทุนรัฐก็อีหลักอีเหลื่อ จะหาเอกชนมาลงทุนก็ทำได้ยาก เอาแค่ไม่มีกฏ must have ก็ยังดูแล้วยากมากๆที่จะมีใครลงทุนในยามเศรษฐกิจเป็นแบบนี้
คุณเบลล์ ขอบสนามเขียนใน FB ไว้โดยการคำนวณเล่นๆไว้ว่า ถ้าใครซื้อลิขสิทธิ์มาพันหกร้อยล้าน ขายรายเดือน 399 บาทยังต้องมีคนสมัครระดับห้าล้านคนถึงจะคุ้มทุน (ผมคิดว่าต้องหกล้านคนด้วยซ้ำเพราะมีต้นทุนการออกอากาศ โฆษณา ฯลฯ netflix นี่สมาชิกยังไม่ถึงล้านเลยนะครับ ของเถื่อนดูดไปดูฟรีกันก็เต็มไปหมด) ยิ่งซื้อมาแล้วถูกบังคับให้ออกอากาศฟรีทีวีด้วยก็ยิ่งไม่มีทางคุ้มทุนได้เลย แถมต่างประเทศโดยส่วนใหญ่สปอนเซอร์ก็จะเป็นเหล้าเบียร์ แต่บ้านเราก็ห้ามกลุ่มนี้โฆษณาซ้ำไปอีก
4
คุณเบลล์เขียนใน FB ต่อด้วยว่าพฤติกรรมคนบ้านเราส่วนใหญ่ยึดติดกับคำว่าฟรีมาแต่ไหนแต่ไร เราอาจจะต้องเข้าใจว่ามันผ่านยุคฟุตบอลโลกที่ฟรีนั้นมาแล้ว ยุคนี้คืออยากดูต้องจ่าย เหมือนกับที่เราจ่าย Netflix amazon Youtube premium กันในวันนี้
คุณเดียว วรตั้งตระกูลแห่งช่องวันคำนวณเล่นๆว่าถ้าฟรีทีวีซื้อลิขสิทธิ์มา 1600 ล้านคือคู่ละ 25 ล้าน ต้องขายโฆษณานาทีละล้านถึงจะเจ๊า ในขณะที่ละครเรตติ้งดีๆยังขายกันแสนสองแสน ไม่ว่าคิดมุมไหนก็ยาก แล้วยิ่งบวกกับกฎ must have ก็ดูจะไม่สมเหตุสมผล
1
นั่นจึงเป็นตะปูตอกฝาโลงภาคเอกชนอย่างสมบูรณ์ เงินภาครัฐก็เป็นประเด็นที่ถกเถียงกันถึงความเหมาะสมกันอย่างอื้ออึงเพราะไทยไม่ได้ไปแข่งบอลโลกกะเขาซักหน่อย ควรใช้เงินทางอื่นที่มีประโยชน์กับประเทศจะดีกว่าหรือไม่ และล่าสุดถึงแม้จะ กสทช จะควักจำนวนหนึ่งแต่ก็ยังขาดอีกมาก
2
ไม่น่าเชื่อว่าผลกระทบจากบอลยูโร 2012 เมื่อสิบปีก่อนจะถึงกับทำให้เราอาจจะอดดูบอลโลกในอีกสิบปีต่อมาได้ แต่อย่างไรก็ตามในฐานะแฟนบอลตัวยง ก็ยังแอบลุ้นอยู่ลึกๆว่าจะมีโอกาสได้ดูบอลโลกในอาทิตย์หน้า
แต่ถ้าเกิดจับพลัดจับผลูอดดูไป ก็หวังว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะพิจารณาแก้ไขกฏล้าสมัยที่ลองแล้วทำให้เราอดดูบอลและทำให้ค่าลิขสิทธิ์ขึ้นไปจนต่างชาติโขกสับเราได้ออกไปเสียแต่เนิ่นๆเพื่อที่จะได้ไม่พลาดบอลโลกในปี 2026 อีกนะครับ
1
โฆษณา