10 พ.ย. 2022 เวลา 06:58 • ความคิดเห็น
5 ขั้นตอน
แก้นิสัยคนขี้โมโหให้กลายเป็นคนใจเย็น (กว่าเดิม)
1. ระงับคำพูดและการกระทำในยามที่โกรธ
คือหากรู้สึกว่า อารมณ์กำลังพลุ่งพล่าน
ให้สงบนิ่งไว้ จำไว้เสมอว่า...
ความคิดใดๆคำพูดใดๆการกระทำใดๆ
หากมีขึ้นในยามโกรธ
มักเป็นไปในทางทำลายรุนแรง
อาจสะใจชั่วครู่ แต่สุดท้ายจะไม่เป็นผลดี
กฏเหล็กเบื้องต้นที่ต้องทำให้ได้คือ...
เราจะไม่พูดหรือทำอะไรเด็ดขาดในยามที่โกรธ
รอให้ใจเย็นก่อน หายโกรธก่อนแล้วค่อยว่ากัน
1
2. พิจารณาโทษของความโกรธ
และประโยชน์ของความเมตตา
คือให้ย้อนคิดถึงชีวิตที่ผ่านมา
ว่าเราเสียอะไรไปบ้างเพราะความโกรธ
ทำใครเสียใจกี่คน ทำลายโอกาสไปเท่าไหร่
ทำลายความสัมพันธ์ไปอย่างไร
สิ่งเหล่านี้ให้น้อมมาคิดบ่อยๆ คิดซ้ำให้มากๆ
พิจารณาจนใจยอมรับ หมดข้ออ้าง
อยากปรับปรุงตนเองด้วยความเต็มใจ
เพราะมั่นใจแล้วว่า ความโกรธไม่ใช่ของดี
แต่เป็นสิ่งที่ทำลายความสุขและความเจริญ
ทั้งของเรา คนที่เรารัก และคนที่รักเรา
ไม่มีใครได้อะไรเลยจากความโกรธ
ธรรมชาติคนเราไม่ชอบให้ใครมาสั่ง
ตราบที่เรายังไม่ตกผลึก
ยอมจำนนด้วยตนเองว่า
ถึงเวลาแล้วที่เราต้องเปลี่ยนตนเอง
ใครจะพูดใครจะบอกจะสอน
ก็ยากยิ่งที่คนเราจะเปลี่ยนแปลง
เช่นนี้แล้ว เราจึงต้องทำตัวเป็นครูของตัวเอง
เพื่อสั่งสอนตนเอง
ให้เห็นพิษภัยของความโกรธเกลียดอารมณ์ทำลาย
3. สร้างความสุขเล็กๆน้อยๆให้ผู้อื่นจนเป็นนิสัย
คือให้รู้จักชื่นชม ให้กำลังใจผู้คนบ่อยๆ
เมื่อทำให้เขามีความสุขแล้ว
ให้เรารู้จักเอาใจไปสัมผัสความรู้สึกนั้น
เรียกว่า ให้ใจเราดื่มด่ำ
กับความรู้สึกที่เย็นใจอยู่เสมอ
เราอาจจะลองเปรียบเทียบกันดูก็ได้
ว่าอารมณ์ลักษณะนี้ กับอารมณ์ในยามที่โกรธ
แบบไหนดีกว่ากัน
ถ้าใจเราคุ้นกับความรู้สึกที่ดี
มันจะค่อยๆเบื่อหน่าย
ความโกรธเกลียดชิงชังไปทีละน้อย
ในข้อนี้เป็นการแก้กิเลสด้วยกุศลฝ่ายตรงข้าม
ถ้าความโกรธเป็นด้านมืด
ในที่นี้ด้านสว่างก็คือความเมตตา
เราอาจขับไล่ความมืดไม่ได้
แต่ถ้าเราจุดไฟได้ ความมืดจะหายไป
และความสว่างจะเข้ามาแทนที่
ภาษาธรรมเรียกสิ่งนี้ว่า การทวนกระแสกิเลส
คือใช้ธรรมคู่ตรงข้ามมาจัดการกิเลสให้เบาบาง
4. ฝึกมองความรู้สึกด้วยใจที่เป็นกลาง
ในข้อนี้คือธรรมะชั้นลึก เป็นการเจริญสติ
คือเราฝึกมองดูอารมณ์ต่างๆของเรา
ด้วยใจที่เป็นกลาง
เหมือนความคิดความรู้สึกนั้นไม่ใช่เรา
ดีใจก็ไม่เข้าไป เสียใจก็ไม่เข้าไป
คนชื่นชมก็วางไว้ คนนินทาก็วางไว้
ฝึกให้เห็นว่าอารมณ์ความคิดเหล่านี้
หากใจเราเข้าไปยึด
สุดท้ายก็ไม่ดีทั้งนั้น
เพราะยึดข้างหนึ่ง อีกข้างก็จะตามมาด้วย
เหมือนในกำเหรียญไว้ในมือ
ก็จะได้ทั้งหัวทั้งก้อยมาในคราเดียว
รักสุขก็จะได้ทุกข์เป็นของแถมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ในข้อนี้หากฝึกบ่อยๆ นอกจากความโกรธแล้ว
ยังช่วยกำจัดลดทอนพลังความคิดด้านลบได้ทั้งหมด
เช่นความเศร้าความเหงาความเบื่อต่างๆ
จิตใจจะเป็นกลาง หนักแน่นมากขึ้น
5. รู้จักอยู่ รู้จักจุดอ่อนจุดแข็งของตน
คือให้รู้จักสังเกตตัวเอง
หากเราโกรธใครบ่อยๆ
เวลาอยู่ใกล้ก็ให้ระวัง
บางครั้ง กับคนบางคน
ให้สังเกตดูเถิดว่า เราก็โกรธเขา
โกรธคนๆนี้ จนกลายเป็นความเคยชิน
เพียงเห็นหน้ายังไม่ทันทำอะไร
ใจก็วูบๆไหวๆ ความหงุดหงิดก็เริ่มเข้ามา
ตรงนี้ควรหลีกเลี่ยงการปะทะ
ทั้งนี้ในกรณีที่เลี่ยงไม่ได้จริงๆ
เช่นเป็นคนในครอบครัว เป็นสามีภรรยา
เป็นลูก เป็นเจ้านาย ลูกน้อง เพื่อนฝูง
อย่างนี้ก็ให้ยกเอาสิ่งที่เขาทำขัดใจเรา
มาเป็นเครื่องมือในการฝึกใจของเรา ฝึกอภัย
ดีกว่าปล่อยใจของเราให้ตกต่ำไป
เพราะมัวแต่ทะเลาะกับเขา
ให้เอาความขัดแย้ง
นั้นมาบ่มเพาะความรัก เมตตา
ขอให้เรารับทราบไว้ว่า โดยมากแล้ว
หากไม่ลงรอยกันแต่มีความจำเป็นต้องอยู่ร่วมกัน
ตัดกันไม่ขาด แยกกันไม่ขาด
สิ่งนี้มักเกิดจากมีบุญกรรมสัมพันธ์ร่วมกันมานาน
กลายเป็นแรงกรรมผูกพัน ผูกรั้งไม่ให้ไปไหน
อย่างนี้ยิ่งต้องรู้จักระวัง ระงับ สำรวม
อย่าไปสร้างกรรมให้กันและกันเพิ่มขึ้น
1
***ฝากไว้ให้คิดเพื่อประโยชน์ของตนเอง***
การเป็นคนโกรธง่าย ไม่มีอะไรดี
มีแต่เสียประโยชน์ เสียทั้งสุขภาพกายใจ
ทำลายความสัมพันธ์ ทำลายหน้าที่การงาน
ทำลายบารมีในตน
กลายเป็นคนที่สร้างความทุกข์ให้ผู้อื่น
และตนเองก็หาความสุขได้ยาก
5 ข้อนี้ ฝึกแรกๆจะทำได้ยาก
แต่ขอให้อดทนฝึกทำทุกข้ออย่างสม่ำเสมอ
สำคัญคือต้องมีกำลังใจ และวินัย
ฝึกแรกๆอย่าปล่อยใจ
ตามความเคยชินของตัวเอง
สุดท้ายแล้วเราต้องมีความเข้าใจว่า
การลดมานะอัตตาของตน
ลดความโกรธเกลียดของตน
เราไม่ได้ทำเพื่อใคร
แต่เราทำเพื่อยกระดับจิตใจของตนเอง
เพื่อความสุขของเราเอง
จริงอยู่สิ่งนี้ไม่ใช่ของง่าย แต่ถ้าทำได้
วันหนึ่ง รู้จะสัมผัสถึงความเบาใจของชีวิต
มีชีวิตที่เบาขึ้น สบายขึ้น
ถึงวันนั้นเราจะยินดี และรู้สึกขอบคุณตนเอง
รู้สึกภูมิใจว่า เราสามารถข้ามผ่านตัวตนเก่าๆ
ไปสู่ตัวตนใหม่ที่ดีกว่าเดิม
และสิ่งนี้คือการมอบความรัก
และความเมตตาให้ตนเองอย่างแท้จริง...
บทความดีๆจากเพจ : พศิน อินทรวงค์😊
โฆษณา