11 พ.ย. 2022 เวลา 00:30 • ข่าวรอบโลก
ทำไมคำสั่งถอนทหารรัสเซียออกจากเมือง Kherson จึงสร้างความกังวลใจให้กับประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกี ?
นายเซอร์เก ชอยกู (Sergei Shoigu) รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมของรัสเซีย ได้แถลงการณ์ผ่านทางโทรทัศน์ของรัสเซียเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2565 ว่ารัสเซียได้สั่งให้กองทหารถอนกำลังออกจากฝั่งตะวันตกของแม่น้ำนีเปอร์ (Dnipro) ในยูเครนโดยนายพลเซอร์เก ซูโรวิกิน (Sergei Surovikin) ผู้บัญชาการกองทัพรัสเซียที่ดูแลการทำสงครามในยูเครนรายงานว่า ได้ประเมินสถานการณ์ในปัจจุบันแล้วมีความเห็นว่าควรถอยแนวป้องกันกำลังของทหารรัสเซียออกจากจุดดังกล่าว เนื่องจากไม่สามารถส่งกำลังบำรุงให้ทหารตรงจุดนั้นได้อีกต่อไปแล้ว
2
แม่น้ำ Dnipro
เมืองเคอร์ซอน (Kherson) เป็นเมืองหลวงของแค้วนเคอร์ซอน ตั้งอยู่ตอนใต้ของยูเครน เป็นเมืองท่าที่สำคัญฝั่งทะเลดำ และอยู่ริมแม่น้ำนีเปอร์ ซึ่งเป็นแม่น้ำที่ยาวที่สุดในยูเครน ถูกรัสเซียเข้ารุกรานในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 และผนวกเข้าเป็นดินแดนของรัสเซียจากการทำประชามติเมื่อกันยายน 2565 ความสำคัญของแค้วนเคอร์ซอนคือ เป็นประตูสู่คาบสมุทรไครเมียที่รัสเซียยึดครองตั้งแต่ปี 2557
2
ในห้วง 8 เดือนที่ผ่านมา รัสเซียได้พยายามใช้ยุทธวิธีปฏิบัติการในเคอร์ซอน อย่างไรบ้าง ?
และนี่คือ ไทม์ไลน์ที่สำคัญในเคอร์ซอน
✴️24 กุมภาพันธ์ รัสเซียข้ามจากแหลมไครเมีย เข้าสู่เคอร์ซอน พร้อม ๆ กับที่กองกำลังของมอสโกโจมตีเมืองต่าง ๆ ของยูเครน ในปฏิบัติการพิเศษทางทหารของประธานาธิบดี ปูติน
✴️2 มีนาคม กระทรวงกลาโหมของรัสเซียแถลงว่า เคอร์ซอน อยู่ภายใต้การควบคุมของรัสเซียโดยสมบูรณ์
1
✴️21 มีนาคม ยูเครนแถลงว่า กองกำลังของรัสเซียใช้ระเบิดและยิงใส่ เพื่อสลายผู้ประท้วงที่ฝักไฝ่เคียฟ ซึ่งเรียกร้องให้ถอดผู้ว่าการภูมิภาคเคอร์ซอน ที่ได้รับการแต่งตั้งจากรัสเซีย
✴️25 พฤษภาคม ประธานาธิบดี ปูติน เสนอให้สัญชาติรัสเซียแก่ผู้อยู่อาศัยในเคอร์ซอน และแค้วนซาปอร์ริซเซีย (Zaporizhia) ที่อยู่ติดกัน
✴️10 กรกฎาคม ยูเครนเรียกร้องให้พลเรือนในแค้วนเคอร์ซอน อพยพก่อนที่จะมีการวางแผนตอบโต้
✴️20 กรกฎาคม สะพานอันโตนิฟสกี (Antonivskyi) ซึ่งเป็นจุดผ่านแดนสำหรับกองกำลังรัสเซียเข้าสู่พื้นที่ที่ยึดครองบนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำนีเปอร์ ได้รับความเสียหายจากการยิงถล่มของยูเครน
✴️27 กรกฎาคม สะพานอันโตนิฟสกี ถูกยูเครนถล่มอีกครั้งด้วยจรวด (HIMARS) ที่สหรัฐอเมริกาจัดหาให้
✴️23-27 กันยายน รัสเซียจัดให้มีการลงประชามติในภูมิภาคยูเครนทั้ง 4 แค้วน (โดเนตสก์, ลูฮันสก์, เคอร์ซอน และซาปอร์ริซเซีย) และลงนามผนวกดินแดนทั้ง 4 เข้าร่วมรัสเซียอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2565
3
✴️3 ตุลาคม ยูเครนประกาศชัยชนะในการเข้ายึดหมู่บ้านหลายแห่งตามแนวแม่น้ำนีเปอร์ คืนสู่ยูเครน
✴️13 ตุลาคม ผู้ว่าการเคอร์ซอน เรียกร้องให้พลเรือนอพยพออกจากเคอร์ซอนเพื่อความปลอดภัย
✴️21 ตุลาคม ประธานาธิบดียูเครน เรียกร้องให้ตะวันตกเตือนรัสเซียไม่ให้ระเบิด"เขื่อน Nova Kakhokva" ในเคอร์ซอน ซึ่งจะทำให้น้ำท่วมใหญ่ในตอนใต้ของยูเครน โดยข้อกล่าวหานี้มอสโกแถลงว่า เคียฟมีแผนที่จะทำลายเขื่อนแล้วโทษรัสเซียเป็นต้นเหตุ
✴️1 พฤศจิกายน รัสเซียสั่งให้พลเรือนที่อาศัยตามแนวชายฝั่งของแม่น้ำนีเปอร์ อพยพออกจากพื้นที่
4
✴️8 พฤศจิกายน กองทัพยูเครนแถลงว่า กองทหารรัสเซียปล้น และทำลายโครงสร้างพื้นฐานในเคอร์ซอนจนขาดแคลนน้ำและพลังงาน และนี่คือการ "ก่อวินาศกรรม"
✴️9 พฤศจิกายน รัสเซียประกาศถอยกองทัพออกจากเคอร์ซอน โดยนายพลเซอร์เก ซูโรวิกิน กล่าวว่า การตัดสินใจเรื่องนี้เพื่อ "รักษาชีวิตของทหารและความพร้อมรบของกองกำลัง"
หากเคียฟตัดสินใจปล่อยน้ำจากอ่างเก็บน้ำหรือโจมตีด้วยจรวดบนเขื่อน Kakhovka จะสร้างกระแสน้ำที่ท่วมพื้นที่ในวงกว้าง และทำให้พลเรือนเสียชีวิตจำนวนมาก การถอยกองกำลังของเราจากฝั่งขวาของแม่น้ำ Dnipro ภายใต้เงื่อนไขเหล่านี้ เป็นการสมควรที่จะจัดระเบียบการป้องกันตามแนวพรมแดนของแม่น้ำ Dnipro
นายพลเซอร์เก ซูโรวิกิน (Sergei Surovikin)
เหตุการณ์นี้ อาจแสดงให้เห็นว่ายูเครนกำลังกลับมาเป็นฝ่ายที่ได้เปรียบในสงครามครั้งนี้ และยังเป็นการแสดงให้ชาติตะวันตกเห็นว่า คุ้มค่าในการส่งเงินและอาวุธให้กับยูเครน
2
แต่การตัดสินใจถอนกำลังทหารโดยไม่ปรากฏท่าทีของประธานาธิบดีรัสเซียครั้งนี้ ทำให้ประธานาธิบดียูเครน และกองทัพยูเครน มีความวิตกกังวลว่าจะเป็นอุบายทางทหารของรัสเซีย และไม่เชื่อว่าทหารรัสเซียทั้งหมดจะออกไปจากเคอร์ซอน
ซึ่งก็มีรายงานจากพลเรือนว่า พบทหารรัสเซียปะปนอยู่กับพลเรือนในเคอร์ซอน และมีความเคลื่อนไหวในกองกำลังทหารรัสเซียซึ่งถอนออกจากฝั่งตะวันตกของแม่น้ำนีเปอร์ ไปปรากฎความเคลื่อนไหวในฝั่งตะวันออกของแม่น้ำนีเปอร์ มีการสร้างป้อมปราการหลายแห่ง
3
ก่อนประกาศถอนกำลังทหารในเคอร์ซอน ทางการรัสเซียได้ระบุว่า ได้อพยพพลเรือนประมาณ 70,000 คน ออกจากเมืองเคอร์ซอนแล้ว และมีสัญญาณว่า กำลังอพยพเจ้าหน้าที่ทางการออกจากเมืองด้วย
1
นอกจากนี้ท่าที่ของผู้บัญชาการรบฝั่งรัสเซียฉายา "นายพลอาร์มาเกดดอน" ก็ผิดแปลกไปจากการใช้ยุทธวิธีการรบในสงครามครั้งก่อน ๆ ทำให้ประธานาธิบดียูเครนหวาดระแวงถึงยุทธศาสตร์ที่แท้จริงของรัสเซีย การประกาศย้ายกองกำลังทหารออกจากฝั่งตะวันตกของแม่น้ำนีเปอร์ แต่กลับมีกองกำลังทหารรัสเซียไปตั้งแนวรับบนฝั่งตะวันออกของแม่น้ำนีเปอร์ พร้อมหน่วยทหารที่มีความเชี่ยวชาญในการรบเป็นพิเศษ และมีการส่งกำลังเสริมทหารราบทางทะเลเข้ามาประจำหน่วย ก็ไม่ใช่เรื่องที่ยูเครนจะนิ่งนอนใจได้
อย่างไรก็ตาม เกิดคำถามถึงยูเครนว่า จะทำอย่างไรกับพื้นที่ที่ตนยึดคืนมาได้พร้อมกับความเสียหายในโครงสร้างพื้นฐาน ขาดแคลนน้ำและพลังงาน ในขณะที่ก้าวเข้าสู่ฤดูหนาว จะช่วยเหลือประชาชนพลเมืองของตนอย่างไร ?
2
ข้อมูลบางส่วนจาก : Reuters/ Tass News/ Al Jazeera
1
โฆษณา