11 พ.ย. 2022 เวลา 11:07 • ข่าว
[Brief] จับตาท่าทีผู้นำอาเซียนต่อความรุนแรงในเมียนมา ทางออกสู่สันติภาพยังไร้ข้อสรุป
เนื่องจากในวันที่ 10-13 พฤศจิกายน 2565 จะมีการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 40 และ 41 (40TH AND 41ST ASEAN SUMMITS AND RELATED SUMMITS) ณ กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา โดยมีผู้นำประเทศสมาชิกเดินทางไปเข้าร่วมการประชุมอย่างพร้อมหน้า อย่างไรก็ตาม คำถามสำคัญที่บรรดาผู้นำเหล่านี้ต้องตอบและตัดสินใจตลอดเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา คือประเทศสมาชิกอาเซียนจะมีท่าทีอย่างไรต่อสถานการณ์ความรุนแรงในประเทศเมียนมา
นับตั้งแต่มีการยึดอำนาจรัฐบาลพลเรือนโดยกองทัพเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 เมียนมาก็ตกอยู่ภายใต้ความขัดแย้งรุนแรงทั่วประเทศ ข้อมูลจาก ASSISTANCE ASSOCIATION FOR POLITICAL PRISONERS (BURMA) ระบุว่า ตัวเลขอย่างเป็นทางการในปัจจุบันมีผู้ถูกจับกุมทั้งสิ้น 16,116 คน และถูกสังหารจากเผด็จการทหารทั้งสิ้น 2,424 คน
ย้อนกลับไปยังการประชุมอาเซียนในระดับรัฐมนตรี ณ กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา ตัวแทนประเทศมาเลเซียได้เสนอว่า จะอนุญาตให้ ‘รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ’ (National Unity Government: NUG) อันเป็นรัฐบาลพลัดถิ่นของเมียนมา สามารถส่งตัวแทนเข้ามาประจำอยู่ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ได้ ขณะที่ประเทศอินโดนีเซียในฐานะว่าที่ประธานอาเซียนได้ระบุว่า จะมีการกดดันรัฐบาลทหารเมียนมามากขึ้นกว่านี้ หากยังไม่มีความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นในอนาคต
จากผลสรุปมติคณะรัฐมนตรีของไทย ประจำวันที่ 8 พฤศจิกายน 2565 ได้พูดถึงท่าทีของประเทศสมาชิกอาเซียนในการประชุมที่กรุงจาการ์ตาไว้ว่า หลายประเทศต้องการให้มีมาตรการกดดันที่เข้มข้นยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการตัดสินใจที่จะไม่เชิญผู้แทนเมียนมาระดับการเมืองเข้าร่วมการประชุมอาเซียนอีกต่อไป และเสนอให้ผู้แทนพิเศษของประธานอาเซียนดำเนินการติดต่อกับ NUG อย่างเปิดเผยและเป็นทางการ
ขณะที่ประเทศไทย ลาว และกัมพูชา แสดงท่าทีต่อต้านแนวคิดดังกล่าว เนื่องจากให้เหตุผลว่าเมียนมามีความขัดแย้งระหว่างชาติพันธุ์ที่หยั่งรากลึก จึงควรให้อาเซียนคงการติดต่ออย่างเป็นทางการกับรัฐบาลทหารเมียนมาเอาไว้ และติดต่อกับ NUG ด้วยความรอบคอบมากขึ้น
จากความเห็นของประเทศสมาชิกที่ไม่ตรงกันดังกล่าว จึงทำให้ไม่สามารถหาข้อสรุปของการประชุมได้ ด้วยเหตุนี้การประชุมสุดยอดอาเซียนที่กำลังจะมาถึงจึงจำเป็นต้องหยิบเรื่องนี้ขึ้นมาพูดคุยกันใหม่อีกครั้ง
ขณะเดียวกัน ท่าทีที่รัฐบาลทหารเมียนมามีต่ออาเซียนยังคงมีลักษณะเดิมเสมอมา ดังที่ได้โต้ตอบการประชุมอาเซียน ณ กรุงจาการ์ตา ข้างต้นว่า “การกดดันรูปแบบใดก็ตาม มีแต่จะส่งผลร้ายมากกว่าผลดี”
ดังนั้นการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 40 และ 41 ที่กำลังจะจัดขึ้นนี้ เวทีอาเซียนอาจจะกลายเป็นเวทีระหว่างประเทศแห่งเดียวที่สามารถเสนอแนวทางแก้ไขความรุนแรงที่กำลังเกิดขึ้นในเมียนมาได้ แต่หากข้อสรุปในการหาทางออกร่วมกันมีความล่าช้า ก็จะยิ่งทำให้ประชาชนในประเทศเมียนมาเกิดความสูญเสียมากขึ้นเรื่อยๆ
การประชุมสุดยอดอาเซียนที่กำลังจะเกิดขึ้นในช่วง 3-4 วันข้างหน้านี้ จะเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความน่าเชื่อถือของประชาคมอาเซียนและประเทศสมาชิกทั้งหมดต่อสายตาประชาคมโลกอีกด้วย
ที่มา:
- Statement of the Chair of the Special ASEAN Foreign Ministers’ Meeting 27 October 2022, ASEAN Secretariat, Jakarta
- Thai PBS World
- Chairman’s Statement on the ASEAN Leaders’ Meeting
- รัฐบาลทหารพม่าบอกอาเซียน “การกดดันสร้างผลร้ายมากกว่าดี”, เดลินิวส์
- สรุปมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ประจำวันที่ 8 พฤศจิกายน 2565, แนวหน้า
---
text: ภูภุช กนิษฐชาต
โฆษณา