17 พ.ย. 2022 เวลา 23:00 • ธุรกิจ
เมื่อองค์กรเรียกร้อง EQ จากคนทำงาน
“เมื่อ IQ ไม่ใช่ปัจจัยทำนายความสำเร็จ.. หากแต่เป็น EQ” Daniel Goleman นักจิตวิทยา อาจารย์มหาวิทยาลัย และนักวิชาการ ได้ตีพิมพ์บทความลงนิตยสารด้านพฤติกรรมศาสตร์ สำหรับ New York Times มาหลายสิบปี เขาพบว่า ยิ่งศึกษาลงลึกไปในเรื่องความฉลาดทางอารมณ์ หรือ Emotional Intelligence (EQ) มากเท่าไหร่ ก็ยิ่งพบปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับความสำเร็จด้านการงานมากขึ้นเท่านั้น (ไม่เว้นแม้กระทั่งในกลุ่มวิชาชีพที่แทบไม่ได้ทำงานหรือพูดคุยกับคนอย่างวิศวกร Software หรือ Coders)⁣⁣⁣
⁣⁣⁣
เมื่อได้มีการประเมิน 360 องศา และได้พบว่า EQ ที่แบ่งออกเป็น 12 ด้านนั้น เป็นตัวชี้วัดที่แยก Star Performer ออกจากคนทำงานทั่วไป และที่น่าแปลกใจคือ IQ นั้นมีความเกี่ยวข้องเป็น 0 กับความสำเร็จในหน้าที่การงาน ในขณะที่ EQ นั้นเป็นปัจจัยทำงานความสำเร็จ วัดจากการให้คะแนนจากเพื่อนร่วมงาน ⁣⁣⁣
⁣⁣⁣
สิ่งที่น่าสนใจคือ โดยพื้นฐานแล้ว ทุกอาชีพย่อมมีระดับ IQ ที่ทำให้คนๆ นั้นสามารถทำงานได้ ซึ่งเป็น baseline ในการทำงาน แต่ที่น่าประหลาดใจคือ IQ ที่สูงขึ้นไม่มีความเกี่ยวข้องกับระดับของความสำเร็จ ในขณะที่ EQ นั้นสร้างความแตกต่างในหน้าที่การงานอย่างมาก ซึ่งการมี EQ นั้นเป็นตัวบ่งบอกถึงความสำเร็จ 2 ด้านหลักๆ คือด้านงาน กับด้านคน⁣⁣⁣
⁣⁣⁣
ในด้านงานนั้น EQ จะสัมพันธ์กับ ความสามารถในการจัดการตนเอง ความสามารถในการเผชิญกับอุปสรรคระหว่างการทำงาน การต้านทานแรงกดดันและไม่ล้มเลิกไปก่อน ฯลฯ ส่วนด้านคน จะเป็น ความสามารถในการเข้าหาคนอื่นๆ ความสามารถในการสังเกตคน การเข้าใจคน และ ความสามารถในการมีปฏิสัมพันธ์กับคนโดยรวม ฯลฯ ⁣⁣⁣
⁣⁣⁣
แน่นอนว่าอาชีพบางอาชีพ ก็มีโอกาสได้พบปะกับผู้คนน้อยกว่าอาชีพอื่นๆ อาทิ Programmer วิศวกร Graphic Designer ฯลฯ ซึ่งบุคคลเหล่านี้ก็สามารถเลือกได้ว่าจะอยู่ในห้อง ทำงานของตน เขียน code และไม่ข้องเกี่ยวกับคนอื่นๆ แต่ก็เป็นที่ชัดเจนว่า คนย่อมชอบ team player มากกว่า ใส่ใจคนรอบตัวมากกว่า
โดยเฉพาะในโลกที่การทำงานที่มีรูปแบบการผนวกกำลังกันจะลดความผิดพลาด และสร้างความสนุกในการทำงานมากกว่า แม้ว่างานหลักจะเป็นการเขียน code แต่ programmer ก็ย่อมต้องติดต่อประสานงานกับคนอื่น ต้องอธิบายสิ่งต่าง ๆ ต้องโน้มน้าว และต้องเป็น team player ที่ดี ดังนั้น การมีความฉลาดทางอารณ์ที่สูงจะช่วยให้บุคคลนี้ก้าวไปได้ไกลกว่าคนที่เขียน code เป็นอย่างเดียว ⁣⁣⁣
⁣⁣⁣
ในระดับองค์กร ยิ่งเป็นตำแหน่งสูง ๆ อย่าง C-Level อาทิ CEO CFO ฯลฯ ยิ่งต้องพึ่งพา EQ มากกว่าตำแหน่งเล็ก ๆ เสียอีก โดย Daniel Goleman ได้ทำการรวบรวมข้อมูลภายในองค์กรแล้วพบว่าบุคคลที่รับมาจากการแนะนำ ที่มีผลงานโดดเด่นแต่กลับโดนไล่ออก มักมาจากการที่คน ๆ นั้นมีทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่นที่แย่ หรือมี EQ ที่ต่ำ⁣⁣⁣
⁣⁣⁣
Key Takeaway ของเรื่องนี้ ตามที่ Daniel Goleman แนะนำ คือ EQ ควรเป็นสิ่งหนึ่งของแกนการพัฒนาบุคลากร ที่เหล่า HR ควรใส่ใจ เพราะนอกจาก EQ จะส่งผลโดยตรงต่อความสำเร็จด้านการทำงานแล้ว EQ ยังเป็นสิ่งที่สามารถเรียนรู้และพัฒนาได้ตลอดช่วงชีวิตของคนอีกด้วย⁣⁣⁣
⁣⁣⁣
:::::::::::::::::::⁣⁣⁣
⁣⁣⁣
⁣⁣⁣
ความฉลาดทางอารมณ์ทั้ง 12 ด้าน ประกอบไปด้วย ⁣⁣⁣
⁣⁣⁣
✴️ 1. การตระหนักรู้ในตนเอง (Emotional Self-Awareness) ⁣⁣⁣
คือ ความสามารถในการรับรู้อารมณ์ของตนเอง บอกได้ว่าขณะนี้กำลังรู้สึกอย่างไร รู้ว่าอารมณ์ส่งผลต่อการกระทำ หรือ การทำงานอย่างไร ซึ่งเป็นทักษะสำคัญในการพัฒนาทักษะการทำงาน รวมไปถึงการพัฒนาภาวะผู้นำ วิธีการพัฒนาการตระหนักรู้ในตนเองเริ่มได้จากการหมั่นสังเกตร่างกายตนเอง ที่มีปฏิกิริยาตอบสนองหรือเปลี่ยนแปลงต่อเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่มาเป็นสิ่งเร้ารอบตัว และเมื่อร่างกายเปลี่ยนแปลง ก็แสดงถึงภาวะอารมณ์ที่เปลี่ยนไปของตนเองด้วย ⁣⁣⁣
⁣⁣⁣
✳️ 2. ความสามารถในการควบคุมอารมณ์ (Emotional Self-Control)⁣⁣⁣
คือ ความสามารถในการจัดการกับอารมณ์ที่พลุ่งพล่านของตัวเองในสถานการณ์วิกฤตต่าง ๆ ได้ แม้ว่าจะอยู่ในภาวะที่กดดันก็ตาม เช่น สามารถตอบสนองกับบุคคลอื่นที่ใช้อารมณ์ในที่ประชุมด้วยภาวะสุขุม และเป็นเหตุเป็นผล เป็นต้น⁣⁣⁣
⁣⁣⁣
✴️ 3. ความสามารถในการปรับตัว (Adaptability)⁣⁣⁣
คือ ความสามารถในการรับมือกับความเปลี่ยนแปลง สามารถอยู่ในสภาพแวดล้อมการทำงานที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ รับมือกับโจทย์การทำงานที่ประดังประเดเข้ามาได้อย่างมีสติ รวมถึง มีทักษะการแก้ปัญหาในภาวะฉุกเฉินด้วยอารมณ์ที่เป็นกลางได้ ฯลฯ⁣⁣⁣
⁣⁣⁣
✳️ 4. ความพยายามมุ่งสู่ความสำเร็จ (Achievement Orientation)⁣⁣⁣
เป็นตัวบ่งชี้ถึงความพยายามในการทำงานเพื่อให้ถึงมาตรฐานที่วางไว้ ความต้องการและความสามารถในการรับ feedback จากผู้อื่นต่อการทำงานของตนเอง และความพยายามที่จะพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง บุคคลที่มีความฉลาดทางอารมณ์ด้านนี้สูง จะมีแรงจูงใจที่มากไปกว่าเรื่องการรับรางวัล โบนัส หรือ เรื่องผิวเผิน แต่จะมีความต้องการที่จะทำงานให้ดีในตัวเขาเอง รวมถึงการบาลานส์การมุ่งสู่ความสำเร็จส่วนบุคคลและองค์กรได้ และจะมีภาวะผู้นำที่ดี⁣⁣⁣
⁣⁣⁣
✴️ 5. ความสามารถในการคิดบวก (Positive Outlook)⁣⁣⁣
คือ การเห็นข้อดีหรือด้านบวกในตัวคนอื่น ในเหตุการณ์ และสิ่งที่เข้ามาในชีวิต ซึ่งเป็นด้านที่สำคัญต่อภาวะผู้นำมากๆ และเป็นด้านที่สร้างจากความสามารถในการฟื้นตัว (resilience) การมีมุมมองเชิงนวัตกรรม (innovative mindset) และการแสวงหาโอกาสใหม่ๆ เพื่อที่จะพัฒนาความสามารถในการทำงาน และผลลัพธ์⁣⁣⁣
⁣⁣⁣
✳️ 6. ความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น (Empathy)⁣⁣⁣
หมายถึง ความสามารถในการรับรู้อารมณ์ของผู้อื่น เข้าใจในมุมมองที่แตกต่าง มีทักษะการรับฟังอย่างตั้งใจ และสามารถสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะส่งผลต่อการวางตัวในสังคม และการบริหารความสัมพันธ์ในที่ทำงานได้ดี ⁣⁣⁣
⁣⁣⁣
✴️ 7. การตระหนักรู้ในมิติองค์กร (Organizational Awareness)⁣⁣⁣
คือ ความสามารถในการอ่านอารมณ์ของกลุ่มคน และมองเห็นมิติความสัมพันธ์ของผู้คนทั้งในแง่การทำงาน การเมือง การสร้างเครือข่าย และพลวัตรของกลุ่ม ซึ่งความสามารถนี้จะนำไปสู่การตอบสนองต่อกลุ่มคนได้อย่างเหมาะสม และมีผลต่อกลุ่มคนในเชิงบวกได้⁣⁣⁣
⁣⁣⁣
✳️ 8. ความสามารถในการสร้างอิทธิพลเชิงบวกต่อผู้อื่น (Influence)⁣⁣⁣
คือ เป็นทักษะการอยู่รอดในสังคม และเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมากต่อการเป็นผู้นำ ประกอบไปด้วยทักษะการโน้มน้าว การสร้างแรงจูงใจ การทำให้ผู้อื่นเห็นความหมายในสิ่งที่ตนเองทำอยู่ รวมไปถึงการกระตุ้นผู้ร่วมงาน หรือ คนอื่น ๆ รอบตัวให้มีแรงจูงใจ ร่วมกันทำสิ่ง ๆ หนึ่งให้สำเร็จลุล่วงได้
เช่น การพูดโน้มน้าวให้ลูกน้องหรือเพื่อนร่วมทีมเห็นความสำคัญของโปรเจคที่กำลังจะทำ แม้ว่าจะต้องผ่านความยากลำบาก แต่ก็สามารถสร้างแรงจูงใจในทีมให้ประสานงานกัน ช่วยเหลือกันจนงานสำเร็จได้ เป็นต้น ⁣⁣⁣
⁣⁣⁣
✴️ 9. Coach and Mentor⁣⁣⁣
ผู้ที่เราเรียกว่า “Coach” และ “Mentor” คือคนที่มีความสามารถในการสร้างบรรยากาศการเรียนรู้และเติบโตในระยะยาว ผ่านการให้ feedback และการสนับสนุน ไม่ว่าจะด้านองค์ความรู้ การพัฒนาทักษะ รวมไปถึงด้านการจัดการอารมณ์ตนเอง ซึ่งเป็นทักษะที่สำคัญในทุกลำดับขั้นขององค์กร ที่ช่วยให้คนรอบข้างสามารถเติบโตได้ด้วยเช่นกัน⁣⁣⁣
⁣⁣⁣
✳️ 10. การจัดการความขัดแย้ง (Conflict Management)⁣⁣⁣
คือทักษะในการจัดการและช่วยเหลือผู้อื่นในสถานการณ์ที่ตึงเครียด สามารถนำบทสนทนาที่มีความขัดแย้งขึ้นมาให้ทุกฝ่ายได้พูดคุยอย่างเปิดเผย และสามารถลงเอยได้ด้วยบทสรุป หรือ ทางออกของปัญหาได้อย่างมีชั้นเชิง โดยสิ่งที่สำคัญคือการรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างของทุกฝ่าย ในขณะที่นำบทสทนาด้วยพลังงานที่สงบนิ่ง และเอื้อต่อการเสนอทางออก⁣⁣⁣
⁣⁣⁣
✴️ 11. ทักษะการทำงานเป็นกลุ่ม (Teamwork)⁣⁣⁣
คือความสามารถในการทำงานร่วมกับผู้อื่น โดยมุ่งไปสู่เป้าหมายเดียวกัน มีส่วนร่วมในบทสนทนาและการทำงานอย่างกระตือรือล้น กระจายความรับผิดชอบ และทำงานร่วมกับทีมจนเกิดผลสำเร็จ และแชร์ความสำเร็จร่วมกับผู้อื่นเป็น ทักษะส่วนนี้จะนำไปสู่การคิดสร้างนวัตกรรม ผลงานชิ้นใหม่ๆ ได้ รวมไปถึงการสร้างบรรยากาศที่ดีในการทำงาน⁣⁣⁣
⁣⁣⁣
✳️ 12. ทักษะการเป็นผู้นำที่สามารถสร้างแรงบันดาลใจได้ (Inspirational Leadership)⁣⁣⁣
คือความสามารถในการสร้างแรงจูงใจให้กับผู้อื่น และนำทาง สื่อสารให้ผู้อื่นเห็นภาพตรงกับตนเอง ไม่ว่าจะเป็นเป้าหมายของงาน วิสัยทัศน์ รวมไปถึงวิธีการทำงานร่วมกัน โดย “การสร้างแรงบันดาลใจ” นั้น หมายความรวมไปถึงการชี้ให้เห็นความหมายของสิ่งที่ทำ ซึ่งมีความลึกซึ้งมากไปกว่าการแจกงานให้ทำไปเฉยๆ ⁣⁣⁣
⁣⁣⁣
ดังนั้น การจะเป็นผู้ที่สามารถสร้างแรงจูงใจให้กับคนอื่นได้ จำเป็นต้องเริ่มจากที่ตนเองก่อนในแง่ของการมีมุมมองเชิงบวก ความกล้าในการลองสิ่งใหม่ ๆ และเข้าใจตนเอง มองเห็นความสามารถในการลงมือทำสิ่งต่าง ๆ ⁣⁣⁣
⁣⁣⁣
:::::::::::::::::::::⁣⁣⁣
⁣⁣⁣
⁣⁣⁣
ทั้งนี้ นี่ก็เป็น 12 ด้านของความฉลาดทางอารมณ์ที่ Daniel Goleman ได้แจกแจงออกมา ซึ่งแต่ละด้านล้วนสามารถพัฒนาได้ ⁣⁣⁣
⁣⁣⁣
หากคุณเป็นหนึ่งในผู้ที่ต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลงในองค์กรให้หันมาสนใจพัฒนาบุคลากรด้านความฉลาดทางอารมณ์มากขึ้น ทางเราขอแนะนำให้คุณได้รวบรวมข้อมูลงานวิจัยที่มีอยู่ (จำนวนมาก)⁣⁣⁣
ที่เกี่ยวข้องกับผลลัพธ์และความสัมพันธ์ระหว่างความฉลาดทางอารมณ์และการทำงาน คุณจะเห็นว่ามันเป็นสิ่งสำคัญและควรค่าแก่การพัฒนาอย่างยิ่ง และยังมีโปรแกรมจำนวนมากที่ได้ต่อยอดจากงานวิจัยเหล่านี้ในการพัฒนาบุคคลในด้านต่าง ๆ ที่คุณสามารถนำไปพิจารณาจัดอบรมได้ หรือพัฒนาเป็นเกณฑ์ในการคัดเลือกพนักงานเข้ามา ก็จะช่วยให้การทำงานของคุณนั้นง่ายขึ้นไม่มากก็น้อย⁣⁣⁣
⁣⁣⁣
⁣⁣⁣
A Cup of Culture⁣⁣⁣
———–⁣⁣⁣
วัฒนธรรมองค์กร⁣⁣⁣
Corporate culture⁣⁣⁣
Organizational culture⁣⁣⁣
.
.
Resources:
By Gareth Bell, I. (2013). How talent intelligent is your organization? Development and Learning in Organizations: An International Journal, 28(1), 29–31. https://doi.org/10.1108/dlo-12-2013-0096
Emotional intelligence at work: Why IQ isn’t everything | Big Think. (2018, September 30). [Video]. YouTube. https://www.youtube.com/watch?v=7ngIFlmRRPQ
 
Johnson, B. (2022, May 5). What is Emotional Intelligence? – Key Step Media. Key Step Media – Leadership, Mindfulness, Emotional Intelligence. https://www.keystepmedia.com/what-is-emotional-intelligence/
โฆษณา