19 พ.ย. 2022 เวลา 01:30 • ข่าวรอบโลก
ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ไม่เข้าร่วมประชุม APEC 2022 สหรัฐอเมริกา ได้ หรือ เสีย🧭
การที่ผู้นำสหรัฐอเมริกาตัดสินใจไม่เข้าร่วมประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเซีย-แปซิฟิก ซึ่งจัดขึ้นในประเทศไทยระหว่างวันที่ 18-19 พฤศจิกายน 2565 โดยแจ้งเหตุผลว่า ต้องเข้าร่วมงานแต่งงานหลานสาวของตนเอง และส่งรองประธานาธิบดี กมลา แฮร์ริส เข้าร่วมประชุมแทนนั้น เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางถึงเหตุผลที่แท้จริง รวมทั้งมีการวิเคราะห์ถึงผลได้ผลเสียที่สหรัฐอเมริกาจะได้รับ
1
และนี่คือบทวิเคราะห์ จากนักวิชาการและสื่อในต่างประเทศที่น่าสนใจ
🔷 สำนักข่าว THE DIPLOMAT ซึ่งตั้งอยู่ในสหรัฐอเมริกา เป็นสำนักข่าวที่เขียนบทความเกี่ยวกับภูมิภาคเอเซียแปซิฟิก ได้เขียนบทวิเคราะห์ว่า การที่ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ไม่เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ ผลเสียจะตกอยู่กับสหรัฐอเมริกาและตัวประธานาธิบดี ไบเดน เอง โดยเห็นว่า
การที่ประธานาธิบดี ไบเดน เดินทางมายังเอชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อเข้าร่วมประชุมสุดยอดอาเซียนที่กัมพูชา และยังเดินทางไปเข้าร่วมประชุม G-20 ที่อินโดนีเซีย แต่กลับไม่สามารถเข้าร่วมประชุม APEC ที่ประเทศไทยด้วยเหตุผลที่ต้องเข้าร่วมงานแต่งงานของหลานสาว ถือเป็นการ "เย้ยหยัน" ประเทศไทย ซึ่งในทางกลับกัน ผู้นำระดับโลกคนอื่น ๆ เช่น สี จิ้นผิง ของจีน คิชิดะ ฟูมิโอะ ของญี่ปุ่น และ
แอนโธนี อัลบาเนซี ของออสเตรเลีย ต่างเข้าร่วมประชุมแบบทวิภาคี (ตัวต่อตัว) กับไทย
ในขณะที่ประธานาธิบดี ไบเดน ไม่เข้าร่วมประชุม การปรากฏตัวของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง จึงยิ่งโดดเด่น และจะเป็นปัญหาอย่างยิ่งต่อสหรัฐอเมริกา เนื่องจากเป็นการตอกย้ำการรับรู้ของชาติสมาชิกอาเซียนถึงการให้ความสำคัญของสหรัฐอเมริกากับการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจในภูมิภาค มีระดับที่ลดลง
และที่น่าแปลกใจยิ่ง ก็คือ สหรัฐอเมริกามีกำหนดจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับรัฐมนตรีของเอเปกและการประชุมสุดยอดผู้นำในปีหน้าช่วงปลายเดือนตุลาคม ซึ่งสิ่งที่ผลักดันให้สหรัฐอเมริกาตัดสินใจเป็นเจ้าภาพการจัดประชุม ก็เนื่องมาจากอิทธิพลทางเศรษฐกิจของจีน ได้แผ่ขยายทั่วทั้งภูมิภาค และยังคงเติบโตในอัตราที่น่าตกใจ ดังนั้น การที่ผู้นำสหรัฐอเมริกาไม่ปรากฏตัวในเวทีที่ควรต้องฉกฉวยโอกาส ก็เป็นเรื่องแปลก
ย้อนความผิดพลาดในการประชุม APEC ปี 2556 อดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามา พลาดการประชุม โดยมอบหมาย จอห์น เคอร์รี รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา เข้าร่วมประชุมแทน โอบามา ได้ยอมรับว่า เป็นการกระทำที่ไม่สมควร
เหมือนผมไม่ไปปรากฏตัวในงานสังสรรค์ที่ถูกจัดเตรียมไว้สำหรับตัวผมเอง
อดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามา
และในครั้งนี้อาจเป็นการเปิดโอกาสให้ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง เหมือนเมื่อปี 2563 ที่อดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ไม่เข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำในภูมิภาคเอเซียตะวันออก ทางกรุงปักกิ่งฉวยโอกาสนี้สรุปรายละเอียดข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคหรือ RCEP และแสดงความตั้งใจว่าจะเข้าร่วมข้อตกลงความครอบคลุมและความก้าวหน้าเพื่อหุ้นส่วนทางการค้าภาคพื้นเอเซียแปซิฟิก หรือ CPTPP ที่สหรัฐอเมริการได้ถอนตัวไป
🔷 เสก โสพาล นักวิจัยประจำศูนย์ Democracy Promotion Center ของมหาวิทยาลัยริทสึเมคังเซียแปซิฟิก ประเทศญี่ปุ่น ระบุว่า หากประธานาธิบดี ไบเดน เลือกเข้าประชุมด้วยตนเองก็จะมีความสำคัญ เพราะจะเป็นเจ้าภาพเอเปคในปีหน้า ซึ่งจะมีการจัดพิธีส่งมอบการเป็นประธานต่อในการประชุมครั้งนี้ และเป็นการสร้างภาพลักษณ์ทางการเมืองที่สำคัญต่อประเทศไทย
แต่การที่ประธานาธิบดี ไบเดน ไม่เข้าร่วมการประชุมนั้น แม้ไม่ได้บ่งชี้ว่าสหรัฐอเมริกาให้ความสำคัญต่อกลุ่มเอเปคน้อยลง แต่อาจบ่งชี้ถึง "ความคลางแคลงใจทางยุทธศาสตร์" ที่เพิ่มขึ้นระหว่างสหรัฐอเมริกาและไทย เช่น สถานการณ์เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ประเทศไทยซึ่งเป็นพันธมิตรด้านความมั่นคงของสหรัฐอเมริกา กลับเลือกที่จะงดออกเสียงในการลงมติของสหประชาชาติเพื่อไม่รับรองการผนวกดินแดนของยูเครนโดยรัสเซีย
อย่างไรก็ตาม คงต้องรอหลังจากปิดการประชุม เมื่อถึงวันแถลงผลการประชุม APEC 2022 คงเห็นถึงความสัมพันธ์ของไทย กับประเทศต่าง ๆ ทั้งในระดับทวิภาคี และพหุภาคี ที่จะนำมาซึ่งโอกาสของประเทศไทย อีกทั้งคงยืนยันได้ว่าบทวิเคราะห์ดังกล่าวข้างต้น จะถูกต้องมากน้อยเพียงใด📌
โฆษณา