21 พ.ย. 2022 เวลา 03:24 • สุขภาพ
5 สัญญาณอันตรายในโรคกระดูกสันหลัง รู้ก่อนหายไวกว่า
โรคกระดูกสันหลังโดยส่วนใหญ่เป็นโรคที่ไม่อันตราย และผู้ป่วยจำนวนมาก อาการสามารถหายไปได้เอง วันนี้หมอจะมาเล่าให้ฟังเกี่ยวกับอาการต่าง ๆ ของโรคกระดูกสันหลังที่เป็นแล้วไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ เพราะนอกจากจะทำให้มีอาการเรื้อรังแล้ว ยังอาจทำให้เกิดความสูญเสียอย่างถาวรได้ด้วย
📌 อาการปวดหลังร้าวลงขา
อาการปวดหลังร้าวลงขา
อาจเกิดจากหมอนรองกระดูกบริเวณเอวปลิ้นออกมาทับเส้นประสาทที่ควบคุมและรับความรู้สึกบริเวณขา อาการปวดมักรุนแรงขณะนั่ง เมื่อนานเข้าขาจะเริ่มชาเหมือนมีไฟฟ้าวิ่งแปล๊บ ๆ ในขา และกล้ามเนื้อข้อเท้าและต้นขาจะอ่อนแรงลงในที่สุด
📌 ปวดคอร้าวลงแขน
ปวดคอร้าวลงแขน
อาจเกิดจากหมอนรองกระดูกหรือกระดูกต้นคอเสื่อมจนกดเส้นประสาทที่ทำหน้าที่ควบคุมการเคลื่อนไหวและรับความรู้สึกของแขน เมื่อเป็นมากจะยกแขนได้ลำบาก และรู้สึกชาตลอดเวลา
📌 เสียการทรงตัว เดินเซ สะดุดล้มบ่อย
เสียการทรงตัว เดินเซ สะดุดล้มบ่อย
อาการที่ดูเหมือนเป็นอาการของผู้สูงอายุ นอกจากนั้นยังไม่ค่อยแสดงอาการปวด ผู้ป่วยส่วนใหญ่จึงรอให้อาการเป็นมากก่อนจึงมาพบแพทย์ อาการเหล่านี้อาจหมายถึงไขสันหลังที่ถูกกดทับที่ถูกซุกซ่อนอยู่ กรณีนี้อุบัติเหตุเพียงเล็กน้อยอาจนำไปสู่ภาวะอัมพาตได้
📌 ปวดหลังรุนแรงในท่านอน
ปวดหลังรุนแรงในท่านอน
โรคกระดูกสันหลังโดยทั่วไปมักเกิดอาการขณะนั่งหรือเดิน และมักดีขึ้นหรือหายไปเมื่อนอนลง อาการปวดหลังรุนแรงขณะนอนราบเป็นอาการที่พบได้น้อย แต่อาจหมายถึงโรคเนื้องอกบางชนิดที่ซ่อนอยู่ในโพรงกระดูกสันหลัง การตรวจเอกซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจะช่วยวินิจฉัยได้อย่างดี
📌 ควบคุมปัสสาวะ อุจจาระลำบาก
ควบคุมปัสสาวะ อุจจาระลำบาก
สาเหตุของอาการนี้จากโรคกระดูกสันหลังมีได้หลายอย่าง เช่น การเกิดอุบัติเหตุอย่างรุนแรงบริเวณกระดูกสันหลัง,​ หมอนรองกระดูกปลิ้นชิ้นใหญ่ที่กดทับเส้นประสาทหลายเส้น หรือโรคโพรงประสาทตีบแคบขั้นรุนแรง อาการนี้ถือเป็นอาการท้าย ๆ ที่จะเกิดขึ้นเมื่อตัวโรคอยู่ขั้นรุนแรงโดยมักมีอาการปวดเรื้อรัง อาการชาหรืออ่อนแรงบริเวณแขนขานำมาก่อน
📌 ตรวจพบก่อนดีอย่างไร
การรักษาโดยการไม่ผ่าตัด เช่น การรับประทานยาแก้ปวดร่วมกับการกายภาพบำบัดที่ถูกต้องมักจะเพียงพอในคนไข้ส่วนใหญ่ แต่เมื่อเส้นประสาทเริ่มสูญเสียการทำงานลงจากการโดนกดทับ การนำสิ่งที่กดทับออกโดยเร็วย่อมจะเปิดโอกาสให้เส้นประสาทได้ฟื้นฟูตัวเองได้ดีกว่า
เทคโนโลยีการผ่าตัดปัจจุบันเช่น กล้องเอ็นโดสโคป เครื่องคอมพิวเตอร์นำวิถี หรือหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด มีส่วนช่วยให้การผ่าตัดปลอดภัยขึ้น แผลที่เล็กลงยังทำให้ผู้ป่วยฟื้นจากการผ่าตัดได้เร็ว และกลับคืนสู่ชีวิตปกติได้เร็วยิ่งขึ้นอีกด้วย

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา