25 พ.ย. 2022 เวลา 12:35 • กีฬา
โยชิเทรุ นิชิ : เชฟคู่บุญ ผู้ร่วมเดินทางไปกับทีมชาติญี่ปุ่นตั้งแต่ปี 2004 | Main Stand
กับช่วงเวลาที่มีทั้งสมหวังและผิดหวังในทัวร์นาเมนต์ระดับนานาชาติของฟุตบอลทีมชาติญี่ปุ่นตลอดช่วงเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา สิ่งหนึ่งที่ทำให้นักเตะ โค้ช และทีมงาน รู้สึกได้ถึงความสุขในต่างแดนเสมือนได้อยู่บ้าน นั่นคือฝีมือการปรุงอาหารจากปลายจวักของ โยชิเทรุ นิชิ
เขาเป็นเชฟใหญ่ให้ทีมชาติมาตั้งแต่ปี 2004 เขาเดินทางร่วมกับทีมมาแล้วกว่า 130 ประเทศ ผ่านประสบการณ์ในทัวร์นาเมนต์ฟุตบอลโลกมานักต่อนัก ซึ่งฟุตบอลโลก 2022 นี้ถือเป็นฟุตบอลโลกครั้งที่ 5 ของเจ้าตัวเข้าไปแล้ว
Main Stand จะพาแฟน ๆ มาทำความรู้จักกับ โยชิเทรุ นิชิ เชฟประจำทีมชาติญี่ปุ่น กับจุดเริ่มต้นเส้นทางเชฟ สู่การรังสรรค์เมนูให้ทัพซามูไรบลูมาเป็นเวลาเกือบ 20 ปี
จุดเริ่มต้นสู่งานเชฟให้ทีมชาติ
โยชิเทรุ นิชิ (Yoshiteru Nishi) เกิดและเติบโตที่เมืองมินะมิโซมะ จังหวัดฟุกุชิมะ เขาตัดสินใจไปหางานทำในเมืองหลวงของประเทศอย่างโตเกียว หลังสำเร็จการศึกษาในระดับมัธยม
และนั่นทำให้โยชิเทรุได้พบกับอาชีพ "เชฟ" ที่กลายเป็นงานประจำเรื่อยมา เขาเริ่มฝึกงานในร้านอิซากายะของเพื่อน เป็นพนักงานเสิร์ฟ กระทั่งกลายมาเป็นพ่อครัวประจำร้าน จากนั้นก็มีโอกาสทำงานสายนี้มาโดยตลอด
"ผมเคยทำข้าวผัดในสมัยที่เป็นเด็ก จากนั้นผมก็ไม่เคยทำอาหารอีกเลย แต่ผมก็ได้เรียนรู้เรื่องราวใหม่ ๆ ในทุก ๆ วัน ดังนั้น ผมจึงสนุกในกับมัน" นิชิ กล่าวกับ note.jfa.jp
โยชิเทรุ นิชิ เป็นเชฟอยู่ที่โตเกียวเรื่อยมาจนกระทั่งสร้างครอบครัวและมีลูก เมื่อลูกเริ่มโตขึ้นเขาก็เริ่มมองถึงการกลับไปอยู่บ้านเกิดที่ฟุกุชิมะ เพื่อให้ได้อยู่กับสภาพอากาศที่โปร่งโล่งสบายกว่าในโตเกียว
"ตอนนั้นลูกผมเรียนอยู่ชั้นประถมศึกษา และผมอยากเลี้ยงดูลูกภายใต้สภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยธรรมชาติอย่างที่ฟุกุชิมะ" นิชิ กล่าวกับ fukushima-hook.jp
บังเอิญว่าในเวลานั้นจังหวัดฟุกุชิมะมีศูนย์ฟุตบอลแห่งชาติแห่งแรกของประเทศ หรือ เจ-วิลเลจ (J-Village) ก่อตั้งขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี 1997 พอดิบพอดี
การที่มีศูนย์กีฬาใหญ่ระดับชาติมาตั้งในจังหวัดบ้านเกิดก็นับเป็นโอกาสก้าวหน้าในเส้นทางอาชีพ ทำให้ในวัย 35 ปี ณ ตอนนั้นเขาตัดสินใจกลับมาอยู่บ้านเกิดเพื่อสมัครเป็นพ่อครัวอยู่ที่นี่
และแล้วเชฟนิชิก็ได้เข้ามาเป็นเชฟประจำเจ-วิลเลจ ตามความตั้งใจ และมันยิ่งทำให้เขาสั่งสมประสบการณ์งานด้านอาหารในอีกระดับ ได้เรียนรู้เรื่องโภชนาการและการทำอาหารให้เหมาะสมกับนักฟุตบอลในแต่ละมื้อของวัน
นอกจากจะทำปรุงอาหารให้นักเตะทีมชาติญี่ปุ่นที่เดินทางมาเก็บตัวฝึกซ้อมในหลาย ๆ ครั้งแล้ว เขายังเคยทำอาหารให้ทีมชาติอาร์เจนตินา สมัยมาเก็บตัวซ้อมที่เจ-วิลเลจ ในช่วงฟุตบอลโลก 2002 มาแล้วเช่นกัน
ทั้งหมดนี้กลายเป็บใบเบิกทางชั้นดีให้เขากลายมาเป็นพ่อครัวใหญ่ประจำทีมซามูไรบลูโดยไม่ได้ทำหน้าที่แค่ในศูนย์ฝึกฟุตบอลในบ้านเกิดเท่านั้น เชฟนิชิกำลังจะได้เป็นเชฟที่เดินทางไปกับทีมในทุก ๆ การเก็บตัว ตลอดจนการแข่งขันระดับนานาชาติ เริ่มต้นจากปี 2004
ใส่ใจทุกมุมครัว ปรุงอาหารให้เหมือนอยู่ญี่ปุ่น
นอกเหนือไปจากความอร่อยที่มีเป็นทุนเดิม แน่นอนว่าโจทย์สำคัญที่ โยชิเทรุ นิชิ ต้องเผชิญตลอดการเป็นเชฟให้กับทีมชาติคือการเรียนรู้และเข้าใจเรื่องโภชนาการที่เหมาะกับนักกีฬา เขาต้องคำนึงถึงปริมาณของคาร์โบไฮเดรตเพื่อเพิ่มพลังงานให้ร่างกาย ตลอดจนโปรตีนสำหรับเสริมความแข็งแกร่ง
และทุก ๆ การเดินทางไปยังต่างแดน เขาต้องเดินทางไปเตรียมสถานที่ สื่อสารกับเชฟท้องถิ่น ดูระบบระบายอากาศ ดูความสะดวกเรียบร้อยของครัวในทุกสถานที่เก็บตัวของทีมชาติ ทั้งยังต้องเตรียมวัตถุดิบให้เหมือนกับตอนที่อยู่ญี่ปุ่นให้ได้มากที่สุด ซึ่งแต่ละประเทศก็จะมีโจทย์ยากง่ายแตกต่างกันไป ทั้งเรื่องสภาพภูมิอากาศ ตลอดจนสังคมและวัฒนธรรม
1
ทำให้เชฟนิชิต้องเตรียมตัวล่วงหน้า เขาต้องเดินทางไปก่อนที่นักเตะและโค้ชจะไปถึงเพื่อตรวจเช็กความเรียบร้อยของหน้าที่ตัวเองในวันนั้น ๆ ไปจนถึงสิ่งที่จะต้องเตรียมในวันต่อ ๆ ไป
อย่างในฟุตบอลโลก 2010 ที่แอฟริกาใต้ โยชิเทรุ นิชิ เน้นเรื่องการเพิ่มธาตุเหล็กให้นักกีฬาโดยเน้นเมนูประเภทตับ ผักใบเขียว และเติมธาตุเหล็กลงไปในซุปมิโซะ ฯลฯ เหล่านี้ช่วยให้ความรู้สึกกระปรี้กระเปร่า ลดอาการอ่อนล้า และเพื่อเอื้อต่อการต้องเผชิญกับสภาพภูมิอากาศในพื้นที่
ขณะที่ในฟุตบอลโลก 2022 นี้ เนื่องจากกาตาร์เป็นประเทศโลกมุสลิม การรับประทานหมูที่อุดมไปด้วยวิตามิน B1 ซึ่งว่ากันว่าช่วยให้นักกีฬาฟื้นตัวจากความเหนื่อยล้าได้โดยเร็วคือ "เรื่องต้องห้าม" ส่วนนี้จะถูกทดแทนด้วยเนื้อวัวหรือตับไก่ เพราะมันจะให้คุณค่าทางโภชนาการที่เหมาะสมในลำดับรองลงมา
เชฟนิชิมีปณิธานที่อยู่ในใจของตัวเองในทุก ๆ ครั้งที่ได้เป็นเชฟทีมชาติญี่ปุ่นในต่างประเทศ นั่นคือการทำอาหารให้สมาชิกทีมชาติญี่ปุ่นรู้สึกสบายใจเหมือนเป็นพื้นที่คอมฟอร์ตโซน (comfort zone) ให้ทุกคนมาผ่อนคลาย หรือจะคุยเปิดใจเรื่องแนวทางการเล่น โดยอาหารหลากประเภทจะเป็นสิ่งจรรโลงใจเสมือนได้กินอยู่ที่ "บ้าน"
"สมัยที่ผมเข้าร่วมทีมชาติญี่ปุ่นครั้งแรก มีนักเตะไม่กี่คนที่คุ้นเคยกับการกินอาหารต่างประเทศ ดังนั้นในระหว่างการเดินทาง ผมจึงต้องทำให้สภาพแวดล้อมในการรับประทานอาหารของนักเตะเป็นเหมือนกับตอนที่อยู่ญี่ปุ่น" โยชิเทรุ ให้สัมภาษณ์กับ note.jfa.jp "ผมเชื่อว่ามื้ออาหารมีส่วนในการลดความเครียดของนักกีฬา และช่วยในเรื่องของการพักผ่อน"
"ยิ่งถ้าคุณเสิร์ฟอาหารอร่อย ๆ ให้ทุกคน การสนทนาก็จะมีชีวิตชีวามากขึ้น มันไม่ใช่แค่พื้นที่ที่หล่อเลี้ยงผู้คนเท่านั้น แต่ยังเป็นพื้นที่ที่ทุกคนสามารถสื่อสารกันได้ด้วย"
อนึ่งประสบการณ์ของเขายังเคยถูกสโมสรฟุตบอลในเจ 1 ลีก อาทิ อุราวะ เรดส์, คาชิมา แอนท์เลอร์ส และ คาวาซากิ ฟรอนตาเล จ้างให้ไปเป็นเชฟยามที่ทีมลงแข่งขันในระดับทวีปเอเชียมาแล้ว ภายใต้แนวทางเดียวกันกับทีมชาติ
เพื่อบ้านเกิด … ฟุกุชิมะ
จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวรุนแรงบริเวณนอกชายฝั่งทางตะวันออกของญี่ปุ่น เมื่อปี 2011 ที่ว่ากันว่าเป็นแผ่นดินไหวที่ทรงพลังที่สุดครึ่งหนึ่งเท่าที่ดินแดนอาทิตย์อุทัยเคยประสบมา
จังหวัดฟุกุชิมะที่พ่อครัวนิชิเกิดและเติบโตได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์นี้ไปเต็ม ๆ เพราะโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะถูกคลื่นยักษ์ซัดถล่มแนวป้องกัน ทำลายเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์จนทำให้เกิดหายนะครั้งใหญ่ เกิดการรั่วไหลของสารกัมมันตรังสีจากโรงไฟฟ้า และต้องมีการอพยพประชาชนออกจากพื้นที่เรือนแสน
เจ-วิลเลจ อยู่ห่างจากสถานที่สำคัญที่ได้รับผลกระทบใหญ่ราว 20 กิโลเมตร ทำให้เขาไม่สามารถกลับมาทำงานเชฟในเจ-วิลเลจ เป็นเวลาหลายเดือน ทำให้นิชิต้องเดินทางไปอยู่โตเกียวกับลูก แต่ก็ยังไม่ลืมที่จะเดินทางมายังสถานที่ทำงานที่เขารัก เพื่อคอยทำความสะอาดสถานที่และรอวันกลับมาทำงานอีกครั้ง
ช่วงระหว่างการฟื้นฟูให้เมืองกลับมาเป็นปกติ โยชิเทรุ นิชิ ได้แสดงถึงความตั้งใจในการร่วมฟื้นฟูเมืองให้กลับสู่ภาวะปกติอย่างแท้จริง
ในเดือนกันยายน 2011 หรือ 6 เดือนหลังเหตุภัยพิบัติครั้งรุนแรง นิชิตัดสินใจเปิดครัวชั่วคราวและจำหน่ายอาหารให้ผู้ได้รับผลกระทบ ตลอดจนเจ้าหน้าที่ที่กำลังบูรณะเมืองให้ได้เพลิดเพลินไปกับเมนูที่พร้อมจะช่วยเยียวยาความเหน็ดเหนื่อยทางร่างกายและจิตใจจากฝีมือของพ่อครัวที่คุ้นเคยอีกครั้ง
ในเวลาต่อมาเชฟโยชิเทรุยังได้สร้างความเชื่อมั่นให้กับคนต่างถิ่น บวกกับสร้างรายได้ให้คนในท้องถิ่นด้วยอีกทางด้วยการนำสินค้าทางการเกษตรของจังหวัดมาใช้ประกอบอาหารในเจ-วิลเลจ เรียกได้ว่าพร้อมทำทุกวิถีทางเพื่อมีส่วนร่วมในการฟื้นฟูฟุกุชิมะ
และในระหว่างนั้น เขาก็ยังคงทำงานร่วมกับทีมชาติญี่ปุ่นเหมือนเคย
การเดินทางสู่ฟุตบอลโลกสมัยที่ 5
จากฟุตบอลโลก 2006 ที่ประเทศเยอรมนี จนถึงฟุตบอลโลก 2022 ที่ประเทศกาตาร์ ถึงตอนนี้ โยชิเทรุ นิชิ ในวัย 60 ปียังคงเป็นพ่อครัวใหญ่ผู้ดูแลโภชนาการให้นักเตะ โค้ช และทีมงานกว่า 50 ชีวิต
ความรักและความสนิทชิดเชื้อของเชฟวัยแตะเลข 6 กับขุนพลทีมชาติ ตลอดจนโค้ชและสตาฟมีให้เห็นอยู่บ่อย ๆ อย่างช่วงถ่ายภาพหมู่ทีมชาติที่กาตาร์ เขาก็ถูกเชิญให้มาถ่ายรูปกับทีมด้วย แถมยังมีจังหวะหยอกล้อกับนักเตะและทีมงานที่สื่อถึงความสัมพันธ์อันดีภายในแคมป์
"มันไม่รู้สึกเหมือนทำงาน ผมรู้สึกเหมือนกำลังทำอาหารให้ครอบครัวกินและพยายามสร้างบรรยากาศที่มีแต่ความสุข" โยชิเทรุ นิชิ ย้ำกับ Yomiuri Shimbun ถึงแพชชั่นที่มีต่อทีมชาติ
นอกจากแพชชั่นที่มีต่อหน้าที่การงานที่พร้อมรังสรรค์เมนูออกมาให้ทุก ๆ คนผู้มาทำหน้าที่เป็นตัวแทนประเทศแล้ว สิ่งหนึ่งที่เชฟนิชิ "ฝัน" ไว้ไม่ต่างจากแฟนฟุตบอลญี่ปุ่นทุกคน นั่นคือการได้เห็นทีมชาติผ่านเข้ารอบลึกกว่ารอบ 16 ทีมสุดท้าย เหมือนกับที่พวกเขาเคยทำไว้ในปี 2002, 2010 และ 2018
ซึ่งเชฟนิชิก็พร้อมเต็มที่กับการทำหน้าที่ปรุงอาหารอันถูกหลักโภชนาการ เพื่อเติมพลังงานให้กับขุนพลทีมชาติพร้อมลุยทุก ๆ ภารกิจใหญ่ สมกับคำกล่าวที่ว่า "กองทัพต้องเดินด้วยท้อง"
บทความโดย พชรพล เกตุจินากูล
แหล่งอ้างอิง
โฆษณา