1 ธ.ค. 2022 เวลา 06:00 • ไลฟ์สไตล์
เพราะอะไร “อกหัก” แล้วทรมานเหมือนติดยา ? เปิดคำอธิบายเชิงวิทยาศาสตร์และจิตวิทยา
แม้ความรักคือสิ่งสวยงาม แต่หากรักนั้นเจอทางตันจนต้องจบความสัมพันธ์ลง ย่อมทิ้งความเจ็บปวดและทรมานเอาไว้ บางคนมองว่าอาการ “อกหัก” เป็นเรื่องความรู้สึกที่เราสร้างขึ้นมาเอง
เพราะอะไร “อกหัก” แล้วทรมานเหมือนติดยา ? เปิดคำอธิบายเชิงวิทยาศาสตร์และจิตวิทยา
แต่จริงๆ แล้วมีคำอธิบายทางวิทยาศาสตร์และจิตวิทยาที่ชี้ว่าอาการเหล่านี้ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสมองสั่งการ เมื่อยามมีความรักใครหลายคนมักจะรู้สึกว่า ไม่ว่าจะทำอะไรชีวิตก็มีความสุขรื่นเริงเสมอ โลกนี้เป็นสีชมพูไปหมด แต่หากวันใดความรักนั้นจบลง กลับรู้สึกเหมือนโลกทั้งใบพังทลาย มีแต่ความเจ็บปวดและทรมาน แม้ว่าอาการ “อกหัก” จะเป็นเรื่องของหัวใจและความรู้สึก แต่รู้หรือไม่? ต้นเหตุที่ทำให้มาจาก “สมองสั่งการ” และอธิบายได้ด้วยวิทยาศาสตร์และจิตวิทยาว่ามีความคล้ายกับอาการของคนติดยาเสพติด
เนื่องจากความรักเป็นเรื่องพื้นฐานในชีวิตที่มนุษย์ทุกคนต้องพบเจอ ไม่ว่าจะเป็นความรักของพ่อแม่ พี่น้อง เพื่อน หรือคนรัก เมื่อมีความรักคนเราจะรู้สึกมีความสุข สดชื่น และได้รับพลังด้านบวกมากขึ้น จนเป็นที่มาของชุดคำพูดที่ว่า “คนเรารักด้วยใจไม่ใช่สมอง” แต่นั่นอาจจะไม่ถูกต้องทั้งหมด!
  • “ความรัก” กับสารเคมีใน “สมอง” เป็นของคู่กัน
อารมณ์และความรู้สึก ถือเป็นส่วนประกอบสำคัญของ “ความรัก” แต่ความจริงแล้ว “สารเคมีในสมอง” ก็เป็นปัจจัยที่สำคัญไม่แพ้กัน ซึ่งสารเคมีในสมองที่เกี่ยวข้องกับความรักแบ่งได้ 3 ประเภท ได้แก่
1. ความใคร่
เกิดจากสัญชาตญาณ หรือแรงขับภายในที่ดึงดูดซึ่งกันและกัน โดยมี “ฮอร์โมนทางเพศ” คอยขับเคลื่อน สำหรับผู้ชายจะมีฮอร์โมนเพศชาย คือ “เทสโทสเตอโรน” ส่วนผู้หญิงมีฮอร์โมนเพศหญิง คือ “เอสโตรเจน” โดยฮอร์โมนทั้งสองมีศูนย์กลางการควบคุมอยู่ในสมองส่วน “ไฮโปทาลามัส” ซึ่งเป็นสมองส่วนที่อยู่ด้านล่างของกลีบสมองส่วนหน้า ทำหน้าที่ควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย การเต้นของหัวใจ ความดันเลือด ความต้องการพื้นฐานของร่างกาย
2. ความหลงใหล
มักถูกเรียกอีกอย่างว่า “การตกหลุมรัก” ซึ่งทำให้มนุษย์ตกอยู่ในภวังค์แห่งความรัก อาจทำอะไรโดยที่ไม่รู้ตัว โดยการทำงานของสมองจะเกี่ยวข้องกับกลุ่มสารเคมีหลายชนิด ได้แก่ “โดปามีน” (Dopamine) เป็นสารแห่งความสุขที่จะหลั่งออกมาหลังรู้สึกพึงพอใจ “อีพิเนฟริน” (Epinehrine) หรือ อะดรีนาลีน กระตุ้นให้เกิดความรู้สึกตื่นเต้น เขินอาย เวลาเจอคนที่ชอบ และ “เซโรโทนิน” (Serotonin) ส่งผลต่อการแสดงออก เช่น การเผลอยิ้ม การหลบตาคนที่ชอบ เป็นต้น (รวมถึงการร้องไห้เมื่ออกหักด้วย)
3. ความผูกพัน
จะเกิดในความสัมพันธ์ระยะยาว ถูกกระตุ้นจากฮอร์โมน 2 ชนิดคือ “ออกซิโตซิน” (Oxytocin) ฮอร์โมนด้านความสัมพันธ์ หากคู่รัก หรือคนในครอบครัวมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกันอยู่เสมอ จะทำให้สมองหลั่งสารชนิดนี้ออกมามาก และ “วาโสเปรสซิน” (Vasopressin) เป็นฮอร์โมนที่มีส่งผลต่อคู่รัก ทำให้เกิดความรู้สึกอยากใช้ชีวิตร่วมกัน
นอกจากฮอร์โมนต่างๆ ที่เป็นปัจจัยให้เกิด “ความรัก” แล้ว ส่วนประกอบของความรักยังมีทฤษฎีร่วมด้วย เรียกว่า “ทฤษฎีสามเหลี่ยมแห่งความรัก” (Triangular Theory of Love) โดย โรเบิร์ต สเติร์นเบิร์ก อาจารย์ภาควิชาจิตวิทยาประจำมหาวิทยาลัยเยล ได้อธิบายองค์ประกอบของความสัมพันธ์ที่ก่อให้เกิดความรักไว้ 3 ประเด็น ดังนี้
📌ความสนิทสนม (Intimacy) เป็นองค์ประกอบด้านอารมณ์ที่ทำให้คนรู้สึกผูกพันกัน เกิดความเข้าใจ เกิดความเอื้ออาทรกัน โดยความรู้สึกนี้จะค่อยๆ เกิดขึ้นเมื่อมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกันเป็นเวลานาน และเป็นส่วนหนึ่งในองค์ประกอบของทุกความสัมพันธ์
📌ความใคร่หลง (Passion) หรือความเสน่หา เป็นแรงขับภายใน เรียกว่า แรงดึงดูดทางเพศ
📌ความผูกพัน (Commitment) เป็นการตัดสินใจ หรือเป็นองค์ประกอบในด้านความคิดที่มีการผูกมัด หรือมีการทำสัญญาต่อกันว่าจะใช้ชีวิตร่วมกันในระยะยาว ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ที่ผ่านมา
  • การมีความรักเปรียบเสมือนการเสพยาเสพติด?
ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า “การเสพติด” เกิดขึ้นจากยาเสพติดมีฤทธิ์สั่งให้สมองกระตุ้นการหลั่ง Dopamine ออกมาจำนวนมาก ทำให้ผู้เสพรู้สึกมีความสุข เมื่อได้เสพ และรู้สึกซึมเศร้า โหยหา เกรี้ยวกราด เมื่อไม่ได้ใช้ยา ทำให้ผู้เสพต้องการใช้ยาเสพติดอีกหลายครั้ง จนร่างกายเลิกที่จะผลิต Dopamine ด้วยตัวเอง
ดังนั้น คำกล่าวที่ว่า “ความรักไม่ต่างจากยาเสพติด” นั้นไม่ใช่เพียงแค่วาทกรรมเท่านั้น แต่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงในด้านวิทยาศาสตร์ที่มีการทดลองมาแล้ว โดยนักประสาทวิทยา Lucy Brown และ Helen Fisher เพื่อทำความเข้าใจสมองของผู้ที่ “อกหัก” แต่กำลังโหยหาและต้องการคืนดีกับคนรักเก่า เพื่อเปรียบเทียบกับ “ผู้ต้องการยาเสพติด”
อ่านความสัมพันธ์ระหว่างสมองและหัวใจเพิ่มเติม:
1
โฆษณา