27 พ.ย. 2022 เวลา 00:18 • หุ้น & เศรษฐกิจ
“การเก็บเงิน สำหรับผู้เริ่มต้นทำงาน”
การเก็บเงินสำหรับน้องๆ ผู้เริ่มต้นทำงาน (first jobber) กลุ่มคนอายุช่วง 22-30 ปี เป็นสิ่งที่สำคัญมากๆ เพราะมันเปรียบเสมือนเป็นรากฐานของชีวิตที่จะส่งผลต่อไปในอนาคตระยะยาวเลยทีเดียว
ใครที่เริ่มต้นเก็บเงิน เก็บทอง ศึกษาหาความรู้เรื่องการเงิน การลงทุนในองค์รวม ก็จะสามารถตั้งหลักตั้งฐานต่อยอดชีวิตได้เป็นอย่างดี เสมือนได้เจาะเสาเข็มที่ลึก มั่นคง ทนทาน เทพื้นชั้นล่างเป็นอย่างดี เมื่อฐานล่างดีแล้วจะต่อเป็นบ้านชั้นเดียว บ้านสองชั้น เป็นทาวเฮ้าส์ หรือเป็นอาคารที่สูงเสียดฟ้าเพียงไรก็ได้ ตามแต่ความต้องการของตัวเราเลย
ส่วนใครเริ่มต้นไม่ดี เริ่มทำงานได้เงินเดือน ได้รายได้มา ก็เน้นกินใช้ บริโภคเพื่อความสุขเบื้องหน้าของตนเอง อีกทั้งบางคนก็เริ่มที่จะก่อหนี้ ก่อสินตั้งแต่เยาว์วัย เร่งกู้ซื้อบ้าน กู้ซื้อรถในระดับขนาดที่เกินรายได้ หรือแม้กระทั่งรูดสะบัดด้วยบัตรเครดิต ไม่ว่าจะโทรศัพท์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ทริปต่างประเทศที่ใฝ่ฝัน แล้วมานั่งผ่อนขั้นต่ำทุกๆเดือน
อย่างนี้บอกได้เลยว่า เสาเข็มเริ่มต้นชีวิตช่างอ่อนแอ รากฐานก็เปราะบาง จะคิดจะสร้างอะไรในอนาคตช่วงวัยกลางคน อาจจะต้องมานั่งแก้ไขปัญหา และหนี้สินที่เป็นดินพอกหางหมูจากกรรมของตนเองในวัยรุ่นได้ทำไว้
สำหรับตัวผมเอง กว่าจะรู้ตัว กว่าจะเริ่มศึกษาเรื่องการเงิน และลงมืออย่างจริงจังก็ครั้นอายุปาเข้าไปเลขสองปลายๆแล้ว ยังดีที่ยังไม่ได้ก่อหนี้สินอะไรมากมายจนเกินตัว แต่ก็ยอมรับว่ายังแทบไม่ได้ตอกเสาเข็มหรือเทพื้นฐานของชีวิตสักเท่าไหร่ แต่ด้วยความมุมานะและหักดิบ ผ่านมา 7-8 ปีนี้ ก็มองว่าเสาเข็มและพื้นฐนของตนเองเริ่มจะมั่นคงและเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมามากทีเดียว จึงอยากจะทิ้งคำแนะนำที่เรียบง่ายให้น้องๆ ที่เริ่มต้นทำงาน ที่จะมีเงินเดือนรายได้เป็นของตัวเอง ว่าควรจะเริ่มเก็บออมอย่างไรดี
ในความคิดของผม คิดว่าสำหรับทุกคนต้องเริ่มออมเงินที่เป็นรากฐานที่สำคัญในชีวิต เหมือน ๆ กัน ก็คือ เงินสำรองฉุกเฉิน
“เงินสำรองฉุกเฉิน” เงินตรงนี้คือเป็นเงินก้อนแรกที่ทุกคนต้องเก็บเป็นอย่างยิ่ง สำหรับคำถามต่อไปคือ ควรเก็บเท่าไหร่ดี ตามทฤษฎีคือ เก็บ 6 เท่าของค่าใช้จ่ายต่อเดือน แต่ในความเป็นจริง ผมก็รู้ปัญหาว่าบางที ค่าใช้จ่ายต่อเดือนก็เป็นอะไรที่ไม่แน่นอนบางเดือนก็มีค่าใช้จ่ายที่มากบางเดือนก็มีค่าใช้จ่ายที่น้อย ฉะนั้นอีกแนวทางหนึ่งที่ผมจะแนะนำคือเก็บให้ได้ซัก 5 เท่าของรายได้ต่อเดือน เป็นอย่างต่ำ
ถ้ามีเงินเดือน ๆ ละ 15,000 บาท และทราบว่าตนเองมีรายจ่ายต่อเดือนประมาณ 10,000 บาท ก็เก็บเงินสำรองฉุกเฉินให้ได้สัก 6 เท่าของรายจ่าย ก็คือ 60,000 บาท ส่วนใครไม่เคยจดไม่เคยบันทึก ไม่ทราบว่าตนเองรายจ่ายต่อเดือนเท่าใด ก็เก็บไว้ 5 เท่าของรายได้แทน ก็คือ 75,000 บาท เป็นตัวเลขที่สวยงามและก็ไม่ได้มากจนเกินไป
ประเด็นต่อมาที่ต้องพิจารณาก็คือว่าควรเก็บไว้ที่ไหนดี เราก็ต้องเข้าใจว่าเงินสำรองฉุกเฉินนั้นหัวใจสำคัญคือเวลาที่เกิดเหตุฉุกเฉินเราจะต้องสามารถใช้เงินได้ในทันที หรือไม่เกิน 2 วันก็ต้องใช้เงินดังกล่าวได้ และอีกประเด็นหนึ่งคือเงินนี้ควรเป็นเงินที่ไม่มีความผันผวน นั่นคือเมื่อสะสมไปแล้วจะต้องไม่มีโอกาสที่จะขาดทุน ฉะนั้นเครื่องมืองทางการเงินที่เหมาะสมที่จะเก็บเงินสำรองฉุกเฉิน คือ บัญชีเงินฝาก บัญชีเงินฝากดิจิตัล บัญชีเงินฝากสหกรณ์ออมทรัพย์ หรือ กองทุนรวมตลาดเงิน นั่นเอง
First Jobber
เริ่มเก็บเงินจากตรงนี้ให้ได้ก่อน หากสามารถเก็บออมได้ สิ่งที่ผมพบเจอคือ นอกจากเราจะมีเงินสำรองฉุกเฉินแล้ว มันจะช่วยเปลี่ยนพฤติกรรมและความคิดของเราเกี่ยวกับเงิน เราจะเริ่มมีนิสัยรักการออมมากขึ้น อยากจะศึกษาหาความรู้เรื่องการบริหารเงินและการลงทุนเองแบบอัตโนมัติ หากใครคิดว่าจะเป็นจริงตามที่ผมว่าหรือไม่ ผมขอท้าให้ลองทำดูครับ ผลลัพธ์อันมหัศจรรย์จะเกิดแก่คนที่ลงมือปฏิบัติเพียงเท่านั้นครับ
#บันทึกการลงทุนแนวPassive
โฆษณา