28 พ.ย. 2022 เวลา 03:43 • ความคิดเห็น
ความเจ๋งของการเป็นจูเนียร์
เวลาโตเป็นผู้ใหญ่มากๆ เรามักจะโหยหาความเป็นเด็ก คิดถึงความฝันที่ไม่มีกรอบมาครอบ คิดถึงความสนุกความซนจากความไม่รู้และไม่กลัวอะไร และเป็นวัยที่มีอนาคตอันไกลให้ลุ้นให้ตื่นเต้นเมื่อเทียบกับผู้ใหญ่ที่แสนจะมีข้อจำกัดและความเครียดมากมาย เราจึงมักจะบอกเด็กๆว่าใช้ชีวิตให้เต็มที่เดี๋ยวจะเสียดายตอนโต
ในมุมคล้ายๆกัน ผมเองก็คิดถึงความสนุกกับสิ่งที่สมัยก่อนตอนทำงานใหม่ๆมี แต่ตอนนี้เหือดหายไปหมดแล้ว และยังรู้สึกเสียดายแทนน้องๆจูเนียร์ทั้งหลายที่หลายครั้งนึกถึงแต่เงินเดือนเป็นหลัก แก่งแย่งชิงดีกับเพื่อนร่วมงานแทนที่จะได้สนุก ได้ตักตวงโอกาสในช่วงที่เพิ่งเริ่มงานได้อย่างเต็มที่
ผมเริ่มงานในไทยที่แรกที่บริษัทหลักทรัพย์เอกธำรง ในยุคที่ตลาดหุ้นกำลังบูมเมื่อยี่สิบกว่าปีก่อน หลังจากสมัครงานไปร้อยกว่าที่แล้วมีแต่ที่เอกธำรงที่รับผม ผมเริ่มต้นด้วยเงินเดือนหมื่นแปดพันบาท ตำแหน่งเจ้าหน้าที่วานิชธนากรซึ่งเป็นตำแหน่งที่จูเนียร์สุดของบริษัท (ที่น่าตกใจคือผ่านไปยี่สิบห้าปีแล้วเงินเดือนเริ่มต้นยังไม่ค่อยต่างจากเดิมเลย)
2
ในช่วงสามสี่ปีที่ทำงาน เป็นช่วงที่ผมเรียนรู้มากที่สุดในชีวิต มีทั้งพี่ๆที่เก่งๆนิสัยดีคอยสอนงาน มีเพื่อนร่วมงานที่ฉลาดและขยัน และอยู่ในช่วงที่อุตสาหกรรมกำลังเติบโต มีเคสต่างๆให้ทำไปผิดไปเรียนรู้ไปเยอะมากๆ ในตอนนั้นทำงานหนัก กลับดึกตื่นเช้า บางทีแทบไม่ได้นอนก็มีแต่ไม่เคยมีความรู้สึกเหนื่อยเลย
1
ผมไม่คิดว่าตัวเองจะมีวันนี้ได้เลยถ้าไม่ได้ผ่านโรงเรียนกวดวิชาที่เข้มข้นขั้นสูงสุดในช่วงสามปีนั้น ตอนที่ผมเดินออกมาจากบริษัทหลักทรัพย์เอกธำรงในตอนนั้นก็มีเงินเดือนแค่สองหมื่นห้าพันบาท จำนวนเงินไม่ได้ขึ้นอะไรมากมายจากวันแรก แต่เลเวลประสบการณ์ที่ได้รับนั้นอัพขึ้นมาหลายขั้นอย่างประเมินค่าด้วยเงินไม่ได้และเป็นรากฐานสำคัญที่ทำให้ผมเติบโตในหน้าที่การงานในหลายปีต่อมา
1
การเป็นจูเนียร์นั้นดีอย่างไร?
ถ้าย้อนกลับไปคิดถึงช่วงนั้นเมื่อเทียบกับตอนที่กลายเป็นซีเนียร์แก่ๆแล้ว คิดได้เยอะเลยนะครับ
ประการแรก ในตอนนั้นความรับผิดชอบที่ต้องแบกอนาคตแบกทีมงานไว้นั้นไม่มีต้องมีเลย แถมมีนายๆคอยช่วยประคองให้เวลาทำผิด ทำพลาดอะไรก็ไม่ถึงกับกระทบธุรกิจบริษัท มีพี่ๆคอยช่วยชี้แนะ คอยสอน พี่เอ้ก นิทิต พุกกะณะสุต เจ้านายผมในตอนนั้นเคยบอกว่าพวกเราเหมือนเด็กที่ได้เรียนหนังสือฟรี มีเคสให้เรียนฟรีแถมมีเงินเดือนให้ด้วย
ซึ่งมาคิดตอนนี้ก็เป็นจริงมากๆ อะไรที่ได้ทำได้ลองนั้นเป็นความรู้ใหม่ๆทุกวัน ทั้งทักษะในการทำงาน ทักษะด้านคน การได้ดูคนเก่งๆเขาทำงานกันก็เป็นเหมือนการฉีดความรู้เข้าเส้นแบบเฉียบพลัน ขนาดที่เรียน MBA สองปียังไม่ได้อะไรเลยด้วยซ้ำ
ประการที่สอง พลังแห่งวัยหนุ่มนั้นทำให้การทำงานหนักและยาวแทบไม่มีผลกระทบอะไรต่อร่างกาย ไม่เหมือนตอนนี้ที่นอนดึกหน่อยก็โทรม เครียดหน่อยโรคก็รุมเร้า ไม่อึดไม่ทนเหมือนวัยเริ่มงานใหม่ๆ ตอนที่ผมทำงานใหม่ๆเป็นยุคคอมฟอร์ทร้อย ในตอนนั้นประเทศไทยรถติดหนักกว่านี้มาก
ผมจำได้ว่าต้องออกจากบ้านตั้งแต่ก่อนหกโมงทุกวันเพื่อไปทำงานให้ทันแปดโมงครึ่ง แต่กว่าจะเลิกงานแต่ละวันก็มีสามสี่ทุ่ม มีเคสด่วนก็ตีหนึ่งตีสอง แปดโมงเช้าก็มาใหม่พร้อมเพื่อนๆร่วมงานด้วยความคึกคักได้ ความเต็มที่กับชีวิตในวัยที่มีฮอร์โมนมีร่างกายแบบนั้นไม่มีอีกแล้วในวัยผมตอนนี้
ประการที่สาม ความไม่มีห่วงให้พะวง ในการทำงานใหม่ๆส่วนใหญ่ก็ไม่มีครอบครัวไม่มีลูกกัน ไม่มีภาระให้คิดมาก ไม่มีค่าใช้จ่ายที่ต้องระวังให้ทำอะไรเสี่ยงๆก็จะไม่ได้ ไม่มีการแบ่งเวลาจากการลุยงานเพื่อครอบครัว ความอิสระในการใช้ชีวิต การทุ่มให้กับงานด้วยความมันส์จึงทำได้อย่างเต็มที่ไม่ต้องเกรงใจใคร ไม่อยู่ในโหมดตั้งรับเหมือนกับเมื่อมีครอบครัวแล้ว จุดมุ่งหมายในชีวิตก็จะเปลี่ยนไป ห่วงหน้าพะวงหลังมากขึ้นมาก
ประการที่สี่ก็คือ ในช่วงของการเป็นจูเนียร์ในบริษัทนั้น มีสารแห่งความ “ไม่รู้” เต็มตัวไปหมด ทำให้ใจเปิดกว้างมากๆในการเรียนรู้จากพี่ที่เก่งๆ ได้นั่งฟังได้ทำงานร่วมกับเซียนในวงการแบบครูพักลักจำอย่างเต็มที่ ผมจำได้ถึงการได้นั่งปลายโต๊ะฟังพี่เตา บรรยงค์ พงษ์พานิช ควบคุมดูแลการประชุมจัดโครงสร้างทางการเงินของลูกค้าแบบสดๆ
ได้ติดตามไปนั่งขอบห้องเห็นพี่ๆและผู้บริหารระดับสูง ปตท สผ จัดการการไป Roadshow ต่างๆประเทศในระดับธุรกรรมหมื่นล้าน ได้เป็นตัวเล็กๆกับทีมที่ได้ทำงานกับวาณิชธนากรระดับโลก โอกาสแบบนี้เอาเงินกี่บาทก็คงซื้อไม่ได้ ซื้อได้ก็ไม่อิน ไม่เข้าใจเท่ากับได้เป็นตัวเล็กในเรื่องใหญ่แบบนั้นได้
นอกจากนั้น สารแห่งความไม่รู้ที่ออกมาทางแววตาและสีหน้านั้นก็ทำให้พี่ๆเอ็นดู เห็นเราเป็นเด็กที่ยังไม่มีประสบการณ์ ก็อยากสอนอยากถ่ายทอดให้ ในตอนนั้นผมมีครูดีๆเต็มไปหมดที่มานั่งสอนผมทำโครงสร้างทางการเงิน ทำ Financial Model ช่วยตรวจงานเขียน อบรมเรื่องกฏ ระเบียบที่สำคัญ พาไปเจอผู้บริหารระดับสูงตัวเป็นๆ สอนการเข้าสังคมต่างๆแบบทำไปเรียนไป ผมยังจำแม่นถึงเรื่องหลายเรื่องได้ดีแม้กระทั่งเรื่องเล็กๆที่สำคัญ
มีครั้งหนึ่งผมได้นั่งรถไปกับหัวหน้าใหญ่ที่มีคนรถขับเป็นครั้งแรก ผมเดินนำหน้าไปก่อน เข้าประตูซ้ายหลังแล้วนั่งเลย หัวหน้าใหญ่ผมก็บอกให้ผมลงมาแล้วเดินไปข้างขวา พร้อมสอนมรรยาทในการนั่งรถกับผู้ใหญ่ เป็นต้น เรื่องแบบนี้พอเรามีสารแห่งความไม่รู้มากๆแล้ว ทุกอย่างคือความรู้ทั้งสิ้น ซึ่งยากมากกับคนในวัยผมตอนนี้ที่ผ่านอะไรมามาก การที่จะยอมรับว่าตัวเองไม่รู้นั้นยากยิ่งกว่ายาก
ประการสุดท้าย ก็คือโอกาสในการสร้างกัลยาณมิตร พรรคพวกเพื่อนฝูงที่คบหากัน ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เหมือนตอนที่เป็นมัธยมหรือมหาวิทยาลัย ที่ทำให้เรามีสังคม มีเพื่อนที่เติบโตมาด้วยกัน ผ่านเหตุการณ์ลำบากและสำเร็จด้วยกัน และเมื่อต่างคนต่างแยกย้ายไปแล้ว ไปเติบโตตามที่ต่างๆก็ยังช่วยเหลือกันอยู่เสมอ
โอกาสแบบนี้พอมีตำแหน่งใหญ่ก็จะเข้าลักษณะยิ่งสูงยิ่งหนาว ความสัมพันธ์แบบเจ้านายกับลูกน้องยังไงก็ไม่เหมือนเพื่อนฝูงร่วมงานกัน แถมการเมืองการแก่งแย่งชิงดีในตำแหน่งสูงที่มีน้อยกว่าจำนวนคนที่อยากได้ตำแหน่งยิ่งทำให้การสร้างกัลยาณมิตรนั้นทำได้ยากกว่าตอนที่อยู่ในระดับจูเนียร์มากๆ
พอย้อนถึงข้อดีและความสนุกตื่นเต้นในช่วงของการเป็นจูเนียร์ในบริษัทได้แล้ว ก็เลยพาลคิดต่อไปว่า ข้อดีเหล่านั้นจะไม่มีเลยถ้าจูเนียร์มุ่งคิดแต่เรื่องเงินเดือน เรื่องตำแหน่งเป็นหลัก พยายามถีบคนรอบข้างเพื่อตัวเองขึ้นสูง หรือพยายามทำตัวว่ารู้เยอะ โอ้อวด น่าหมั่นไส้จนไม่มีใครอยากสอน
1
ผมก็เลยอยากชวนจูเนียร์ในบริษัททั้งหลายในตอนนี้ให้ใช้ความเป็นจูเนียร์ให้คุ้มที่สุด เรียนรู้ให้มากๆ ช่วยเหลือคนเยอะๆ ทำตัวไม่รู้ไว้มากๆ กล้าๆลองผิดลองถูกให้เต็มที่ ใช้พลังในวัยหนุ่มสาวให้คุ้มก่อนที่ธรรมชาติจะเอาพลังนั้นคืนไป
สิ่งที่สำคัญที่สุดในการทำงานระดับจูเนียร์สำหรับผมนั้นไม่ใช่เงินเดือนหรือตำแหน่งแต่เป็นการพัฒนาตัวเองให้มีพื้นฐานการเป็นซีเนียร์ที่ดีที่เก่งในอนาคตได้ ก็คือการหาสองสิ่งให้เจอที่สำคัญมากๆและเราควรจะทำตัวให้ได้สองสิ่งนี้มาให้มากที่สุดในช่วงที่เป็นพนักงานระดับผู้น้อย
ซึ่งก็คือการหาเมนเทอร์ (Mentor) หาโค้ช ทำตัวให้พี่ๆที่เก่งๆอยากสอนเราอยากสนับสนุนเรา กับการหากัลยาณมิตร หาเพื่อนร่วมงานในองค์กรที่ทำให้เราอยากมาทำงาน ช่วยเหลือกัน ปรารถนาดีต่อกันให้มากที่สุด
แล้วเงินเดือน ความก้าวหน้าในตำแหน่งและหน้าที่การงานจะมาเอง ..จากประสบการณ์ของผม
และสุดท้ายก็อยากจะจบประโยคถึงจูเนียร์ทุกท่าน เป็นประโยคที่ Steve jobs เคยยกมาปิดปาฐกถาที่พูดกับนักศึกษาที่กำลังจะจบที่ Stanford ไว้ จ๊อบส์ใช้ประโยคจากหน้าสุดท้ายหนังสือ Whole Earth Catalog ฉบับสุดท้ายที่ฝังในใจเขาตั้งแต่เป็นจูเนียร์เช่นกัน
หน้าสุดท้ายของ Catalog นั้นเขียนไว้ว่า..
Stay Hungry Stay Foolish
Steve jobs
โฆษณา