29 พ.ย. 2022 เวลา 01:08 • หุ้น & เศรษฐกิจ
ยุโรป ได้รับผลกระทบมากที่สุดใน OECD จากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว
ขณะนี้เศรษฐกิจโลกกำลังต่อสู้กับวิกฤติพลังงานครั้งใหญ่ที่สุด นับตั้งแต่ทศวรรษ 1970
วิกฤติครั้งนี้ผลักดันอัตราเงินเฟ้อให้สูงเป็นประวัติการณ์ในหลายประเทศ ฉุดการเติบโตเศรษฐกิจทั่วโลก
โดยคาดว่า ในปี 2023 เศรษฐกิจโลกคาดว่าจะลดลงเหลือ 2.2% และฟื้นตัวในปี 2024 ที่ 2.7% ซึ่งจะได้การเติบโตจากกลุ่มประเทศในเอเชียเป็นกลไกหลักเร่งการเติบโตของเศรษฐกิจโลก
ในขณะที่ยุโรป อเมริกาเหนือ และอเมริกาใต้จะเผชิญการเติบโตเศรษฐกิจแบบช้า ๆ และยุโรปจะได้รับผลกระทบหนักที่สุดในกลุ่ม OECD จากการที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัว
จากข้อมูลของ OECD การที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัวนั้นส่งผลกระทบไปยังประเทศอื่น ๆ ไม่เท่ากัน
โดยใน Euro Zone การเติบโตในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้จะลดลง ส่งผลให้ทั้งปี 2022 การเติบโตทางเศรษฐกิจคาดว่าจะอยู่ที่ 3.3% และจะหดตัวอย่างมากในปี 2023
ซึ่งสาเหตุก็มาจาก ราคาพลังงานและราคาอาหารที่สูง ความเชื่อมั่นภาคธุรกิจตกต่ำ ปัญหาคอขวดของอุปทานอย่างต่อเนื่อง และผลกระทบจากนโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้น
รายได้ที่สามารถใช้จ่ายได้จะปรับตัวลดลง 2022 ถึง 2023 ถึงแม้ว่าค่าจ้างจะเพิ่มขึ้น แต่ด้วยอัตราเงินเฟ้อที่ 8.3% ในปี 2022 และ 6.8%
ในปี 2023 กำลังกัดกินกำลังซื้อของผู้บริโภค ทำให้การบริโภคภาคเอกชนลดลง โดย OECD คาดการณ์ว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจจะลดลงเหลือ 0.5% ในปี 2023 ก่อนที่จะฟื้นตัวในปี 2024 ที่อัตรา 1.4%
อย่างไรก็ตาม ผลกระทบด้านราคาพลังงานที่ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง การหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานอาจเลวร้ายลง เช่น การหันไปใช้เชื้อเพลิงชนิดอื่น ที่ไม่ใช่พลังงานที่เคยนำเข้าจากรัสเซีย
การต้องลดการใช้ก๊าซในอุตสาหกรรมลง หรือ ฤดูหนาวปีนี้ที่อาจหนาวมากกว่าปกติ
นอกจากนี้ ความเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในจีนจะส่งผลกระทบต่อการเติบโตทั่วโลกและความต้องการที่ลดลงใน Euro Zone
OECD คาดการณ์ว่า GDP ของเยอรมนีจะลดลง 0.3% ในปีหน้า
เนื่องจากเศรษฐกิจของเยอรมนีส่วนใหญ่ขับเคลื่อนโดยอุตสาหกรรม ซึ่งพึ่งพาการส่งออกพลังงานของรัสเซียเป็นอย่างมาก
ในขณะที่เศรษฐกิจฝรั่งเศส ซึ่งพึ่งพาก๊าซและน้ำมันของรัสเซียน้อยลง
คาดว่าจะขยายตัว 0.6% ในปีหน้า และอิตาลีคาดว่าจะขยายตัว 0.2% แต่ก็มีแนวโน้มที่จะหดตัวในหลายไตรมาส
เศรษฐกิจอังกฤษคาดว่าจะหดตัว 0.4% ในปีหน้า อันเป็นผลมาจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น อัตราเงินเฟ้อที่สูง และความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจที่ลดลง
เศรษฐกิจสหรัฐฯ คาดว่าจะทำงานได้ดีขึ้น และคาดว่าอัตราการเติบโตจะลดลงจาก 1.8% ในปีนี้เป็น 0.5% ในปี 2023 และจากนั้นจะเพิ่มเป็น 1.0% ในปี 2024
จีน ซึ่งไม่ได้เป็นสมาชิก OECD เป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศเขตเศรษฐกิจหลักที่คาดการณ์ว่าการเติบโตจะสดใสขึ้นในปีหน้า หลังจากการล็อกดาวน์จากโควิด เศรษฐกิจของจีนคาดว่าการเติบโตจะเพิ่มขึ้นจาก 3.3% ในปีนี้เป็น 4.6% ในปี 2023 และ 4.1% ในปี 2024
สงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ราคาพลังงานพุ่งสูงขึ้นในหลายพื้นที่
ส่งผลกระทบต่อไปยังห่วงโซ่อุปทานและผลักดันอัตราเงินเฟ้อให้สูงขึ้น
ในเดือนที่ผ่านมา อัตราเงินเฟ้อของยุโรปอยู่ที่ 10.6% ซึ่งมากกว่าเป้าหมายของ ECB ที่ 2% ถึง 5 เท่า และอัตราเงินเฟ้อคาดว่าอาจอยู่ในระดับสูงต่อไปอีก หากปัญหาขาดแคลนพลังงาน ราคาอาหารแพง การขาดแคลนปุ๋ย หรือ ปัญหาด้านสภาพอากาศที่เลวร้ายยังคงอยู่
ซึ่งอาจทำให้ความเสี่ยงที่จะเกิด Recession เพิ่มขึ้นจากการที่ธนาคารกลางใช้นโยบายแบบเข้มงวด
แม้ว่าความเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยจะเพิ่มใน Euro Zone แต่ ECB ก็จะยังคงขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป ธนาคารกลางยุโรปจะยังคงใช้นโยบายเข้มงวด เพิ่มอัตราดอกเบี้ยเงินฝากอีก 50 basis points ในเดือนหน้า เนื่องจากกังวลว่าอัตราเงินเฟ้อจะฝังรากลึกลงไปในระบบเศรษฐกิจ
การเปลี่ยนแปลงในเดือนธันวาคมจะตามมาด้วยการขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 50 basis points ในไตรมาสถัดไป ทำให้อัตราดอกเบี้ยเงินฝาก สูงขึ้นเป็น 2.50% และ refinancing rate สูงขึ้นตามเป็น 3.00%
Bangkok Bank Post ฉบับวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565
ผู้เขียน : ณิศรา วาดี Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶️ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
References :

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา