29 พ.ย. 2022 เวลา 12:19 • หุ้น & เศรษฐกิจ
เงินออมนั้นสำคัญอย่างไร?…ในยุคที่คนใช้เงินเดือนชนเดือนยังไม่พอ
อัตราการออมเงิน คือ สัดส่วนของเงินได้ส่วนบุคคลที่หักออกจากรายได้สุทธิ ซึ่งอาจจะเก็บไว้เผื่อฉุกเฉิน ลงทุน หรือเป็นเงินในยามเกษียณก็ได้ ในทางเศรษฐศาสตร์ การออมเงินเปรียบเสมือนเป็นการเลือกระหว่างช่วงเวลา
2
ว่าจะบริโภคตอนนี้ หรือเก็บไว้เพื่อบริโภคในอนาคต โดยแต่ละคนจะออมมากน้อยเท่าไรก็ขึ้นอยู่กับ ความโน้มเอียงส่วนเพิ่มในการออม (Marginal propensity to save) ซึ่งเป็นอัตราที่บ่งชี้ว่า ถ้าเรามีเงินเพิ่มขึ้น เราจะออมเงินเพิ่มขึ้นเท่าไร
📌 อะไรที่มีผลต่ออัตราการออมบ้าง?
สิ่งที่มีผลต่อการออม คือ สิ่งที่ไปกระทบกับความพอใจในการบริโภคต่างเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สถานการณ์ทางเศรษฐกิจ สังคม รวมไปถึงลักษณะของตัวบุคคลหรือประชากรเอง ว่ามีค่านิยมต่อการบริโภคและการออมอย่างไร
สถานการณ์เศรษฐกิจ หากเป็นช่วงที่เศรษฐกิจเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน เศรษฐกิจถดถอย หรือเกิดเรื่องไม่คาดคิดทางเศรษฐกิจขึ้น มีแนวโน้มที่คนจะมีอัตราการออมสูงขึ้น เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับความไม่แน่นอนในอนาคต
การเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ยในตลาด ในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยสูงๆ ทำให้คนใช้จ่ายน้อยและออมเงินเพิ่มขึ้น เนื่องจากคนมองว่าสามารถออมเงินเก็บไว้แล้วค่อยนำมาบริโภคในวันข้างหน้าได้มากกว่าเดิมเพราะดอกเบี้ยสูง
สถาบันแบบเป็นทางการ เช่น การมีการปกป้องสิทธิในทรัพย์สินส่วนบุคคลและควบคุมไม่ให้เกิดการคอร์รัปชั่น ก็ช่วยให้คนรู้สึกอยากออมเงินขึ้นได้ นอกจากนี้ ถ้ามองจากทฤษฎี Ricardian Equivalence หากช่วงที่รัฐบาลทำงบประมาณแบบขาดดุลมากขึ้น ก็มีแนวโน้มที่คนจะออมเงินมากขึ้น เนื่องจากคาดว่าในอนาคตรัฐบาลจะต้องเก็บภาษีมากขึ้น เพื่อมาชดเชยการขาดดุล จึงเก็บออมเงินไว้จ่ายภาษีที่รัฐบาลจะเรียกเก็บในวันข้างหน้า
สถาบันแบบไม่เป็นทางการ เช่น วัฒนธรรมในสังคมเกี่ยวกับมุมมองต่อการเป็นหนี้ อย่างสังคมที่มีการให้ค่าทางวัตถุ ความเป็นสังคมบริโภคนิยม มีแนวโน้มที่จะมีอัตราการออมต่ำ
เช่น สหรัฐฯ มีการบริโภคอยู่ที่ 67-70% ของ GDP และมีอัตราการออมเงินอยู่ที่ 7% ในขณะที่จีนมีการบริโภคอยู่ที่ 38% ของ GDP และมีอัตราการออมเงินอยู่ที่ 46%
📌 การออมเงินมีผลต่อเศรษฐกิจโดยรวมอย่างไร?
การออมเงินเป็นเหมือนดัชนีชี้วัดสุขภาพทางเศรษฐกิจ การมีเงินออมในระดับสูง หมายถึง ผู้บริโภคจะมีเงินสำรองมารองรับเวลามีค่าใช้จ่ายเยอะๆ โดยที่ไม่จำเป็นต้องลำบากเกินไป การมีสัดส่วนของรายได้ที่สามารถแบ่งไปออมได้ หมายถึง ค่าใช้จ่ายน้อย และผู้บริโภคสามารถปรับงบประมาณเอาส่วนของรายได้ที่มากขึ้น เพื่อไปจ่ายส่วนอื่น
หากมองในภาพกว้างๆ การออมยังส่งผลต่อระดับการลงทุนของประเทศ เนื่องจากการออมเงินของครัวเรือนจะกลายเป็นแหล่งเงินกู้ที่สำคัญสำหรับรัฐบาลเวลาต้องการเงิน เพื่อนำใช้เกี่ยวกับโครงสร้างสาธารณูปโภค
เมื่อพิจารณาผลของการออมต่อเศรษฐกิจในระยะสั้น การที่อัตราการออมเงินส่วนบุคคลเพิ่มขึ้น อาจทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจชะลอตัวลงชั่วคราว เพราะเมื่อคนโดยเฉลี่ยออมเงินเป็นสัดส่วนที่มากขึ้น
ทำให้เหลือเงินไปใช้จ่ายซื้อสินค้าและบริการได้น้อยลง โดยเฉพาะสหรัฐฯ ที่โดยปกติแล้วการบริโภคคิดเป็นสัดส่วนกว่า 70% ของ GDP หากการบริโภคลดลงเพียงเล็กน้อยก็อาจจะทำให้อุปสงค์โดยรวมและกิจกรรมทางเศรษฐกิจลดลงได้ ในทางกลับกัน หากอัตราการออมเงินลดลง ก็อาจทำให้เศรษฐกิจเติบโตได้เร็วขึ้นชั่วคราวเช่นกัน
ถ้าถามว่าอัตราการออมเงินมากหรือน้อย แบบไหนดีหรือแย่กว่ากัน ก็ต้องย้อนกลับไปมองว่าสภาพเศรษฐกิจในตอนนั้นเป็นอย่างไร
ถ้าหากอยู่ในช่วงเศรษฐกิจขาลง การออมเงินในสัดส่วนมากๆ ก็อาจจะเป็นปัญหาได้ จริงอยู่ว่าเวลาที่เศรษฐกิจถดถอย คนมักจะกังวลกับอนาคตแล้วออมเงินกันมากขึ้น แต่ในอนาคตอันใกล้ การออมเงินที่เพิ่มขึ้นก็อาจทำให้เศรษฐกิจแย่ลง เนื่องจากไปทำให้การใช้จ่ายของผู้บริโภคลดลง
ในทางตรงกันข้าม หากเศรษฐกิจกำลังขยายตัวไปได้ดี การที่อัตราการออมเงินเพิ่มขึ้นก็อาจช่วยให้การบริโภคอยู่ในระดับที่ยั่งยืน และไม่ทำให้เศรษฐกิจร้อนแรงจนเกินไปจนอาจเร่งให้เงินเฟ้อก่อตัวขึ้นมาได้
เมื่อพิจารณาผลของการออมต่อเศรษฐกิจในระยะยาว การมีอัตราการออมเงินที่สูง ส่งผลให้ประเทศมีผลผลิตทางเศรษฐกิจในระดับที่สูงขึ้น เพราะเมื่อประชาชนออมเงินมากขึ้น เงินนั้นก็จะถูกนำไปปล่อยกู้ให้กับภาคธุรกิจ เพื่อลงทุนในโปรเจ็คใหม่ๆ เมื่อมีการลงทุนเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็น การลงทุนในเครื่องจักร อาคาร และโรงงาน
ก็จะทำให้บริษัทสามารถผลิตสินค้าและบริการออกมาในระบบเศรษฐกิจได้มากขึ้น ทำให้ผลิตภาพของทั้งระบบเศรษฐกิจดีขึ้น แล้วเมื่อเกิดวิกฤติอะไรก็ตาม เศรษฐกิจก็จะมีโอกาสฟื้นตัวได้เร็วขึ้น
นอกจากนี้ การออมเงินยังเป็นเรื่องที่สำคัญมากสำหรับหลายๆ ประเทศที่กำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย เพราะการที่ประชาชนโดยเฉลี่ยมีอัตราการออมเงินสูง ย่อมหมายถึง ความยั่งยืนทางการเงินหลังเกษียณที่มากกว่า
สำหรับประเทศไทย ที่อัตราการออมเงินอยู่ที่ราวๆ 10% มาโดยตลอด ซึ่งถือว่าเป็นระดับที่ไม่เพียงพอ
📌 และก่อให้เกิดความกังวลเรื่องความพร้อมในการเข้าสู่วัยเกษียณ
งานวิจัยจากทางคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ชี้ให้เห็นว่าการออมเงินของคนไทยในสัดส่วน 10% ของรายได้นั้นไม่เพียงพอที่จะใช้ชีวิตหลังเกษียณได้อย่างยั่งยืนในอนาคต อย่างน้อยๆ ที่ควรออม คือ ประมาณ 15% ของรายได้ เนื่องจากจำนวนเงินออมที่เพียงพอต่อการเกษียณในปัจจุบันอยู่ที่ 3 ล้านบาท
นี่จึงอาจจะเป็นอีกหนึ่งความท้าทายของรัฐบาล ว่าจะช่วยสนับสนุนให้ประชาชนมีการออมเงินมากขึ้นอย่างไร ในยุคที่ปัจจุบันแค่มีรายได้ให้เพียงพอใช้ในแต่ละเดือนยังเป็นเรื่องที่ยากลำบากเหลือเกิน…
2
ผู้เขียน : ชนาภา มานะเพ็ญศิริ Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
References:
โฆษณา